ผลงานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 13
งานภาพสารคดีดีเด่น
เรื่อง : พรรณภา แสงยะรักษ์
ภาพ : กัลยกร แสงสิงแก้ว

“ค่ายมวยเกียรติบุษบา” เป็นค่ายมวยเก่าแก่ในจังหวัดเชียงใหม่ ช่วงเวลาพักเบรกของนักมวยที่นีjจะเป็นการซิตอัปเพื่อวอร์มร่างกายให้แข็งแรง

“วอต’ส ยัวร์ เนม?”
“มาย เนม อีส แดงเงอร์”

ระหว่างที่จ้องชายวัยกลางคนกำลังพันผ้าที่มือฉันอยู่ เสียงสนทนาหนึ่งก็ดังเข้ามาดึงความสนใจจากผ้าพันมือไปยังต้นเสียงฝรั่งตาน้ำข้าวคนนั้น ดูเหมือนว่าเขากำลังเข้ามาทักทายและขออะไรบางอย่างจากลุงแดง เกษม สุวรรณ์ ชายวัยกลางคนที่บอกว่าตนอายุ 47 ขวบ ไม่ใช่ 47 ปี ฉันคิดว่าคำว่า “ขวบ” คงทำให้แกดูเด็กลงกว่าคำว่า “ปี” กระมัง

“ยูจะบาย หรือฟอร์ เรนต์ ฟอร์ เรนต์” มิสเตอร์แดงเงอร์สนทนาภาษาอังกฤษโต้ตอบอย่างรู้จุดประสงค์ของคู่สนทนา

“อ้อ ฟอร์ เรนต์” ชายหนุ่มตอบ ก่อนเดินไปหยิบผ้ามาพันมือเพื่อซ้อมมวย

ก่อนฉันจะถามว่าลุงแดงใช้ชื่อ “แดงเงอร์” ในการแนะนำตัวกับชาวต่างชาติทุกคนหรือเปล่า แกก็พูดขึ้นมาก่อนว่า

“ฝรั่งยังมีจื้อยาว เฮาก่อเติมเหียน้อยก้า จากแดงเป๋นแดงเงอร์” (ชื่อฝรั่งยังยาวหลายพยางค์ ชื่อเราสั้นก็เติมให้ยาวเสียหน่อย จากแดง เป็นแดงเงอร์ )

อดีตนักมวยเมืองเหนืออธิบายความแคลงใจในเรื่องชื่อให้ฉันฟัง ท่าทางแกจะชอบใจกับชื่อแดงเงอร์ของแกมาก ระหว่างที่พันผ้า สายตาแกยังมองไปยังฝรั่งคนนั้นสลับกับฉันแล้วหัวเราะอยู่เบาๆ

นักมวยต่างฝึกซ้อมด้วยการชกกระสอบทรายที่เรียงรายอยู่ตรงหน้าเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กล้ามเนื้อ

“ลุงต้อย” อดีตครูมวยของ “น้องตุ้ม” นักมวยดัง “พร วันชัย” คือชื่อในทางมวยของลุงต้อยราว 20 ปีก่อน

ลุงแดงเป็นครูมวยหรือเทรนเนอร์มวยใน “ค่ายมวยเกียรติบุษบา” หรือที่รู้จักในชื่อ “Lanna Muay Thai” ในสังคมต่างชาติ เป็นค่ายมวยเก่าแก่ในจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันตั้งอยู่ 161 ซอยช่างเคี่ยน ถนนห้วยแก้ว อำเภอเมือง ก่อตั้งมากว่า 30 ปี ที่นี่มีประสบการณ์ในการสร้างนักมวยเก่งๆ มาแล้วหลายคน

หนึ่งในนั้นคือ “ปริญญา เกียรติบุษบา” หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ “น้องตุ้ม” นักมวยสาวประเภท 2 ที่สร้างความฮือฮาเมื่อประมาณปี 2541 ด้วยความเป็นนักมวยที่มีเอกลักษณ์แตกต่างจากนักมวยทั่วไป ทั้งแต่งหน้าขึ้นชก ทั้งมีลีลาการชกที่ดุดัน ทำให้น้องตุ้มโด่งดังและกลายเป็นที่สนใจจากผู้คนในสังคม ถึงขนาดถูกนำเรื่องราวไปตีแผ่ผ่านภาพยนตร์เรื่อง “บิวตี้ฟูลบ๊อกเซอร์”

นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่ฉันมีโอกาสฝึกมวยกับลุงต้อย ทองอินทร์ ศรีวิชัย อดีตครูมวยของ “น้องตุ้ม” นักมวยดัง “พร วันชัย” คือชื่อในวงการมวยของลุงต้อยราว 20 ปีก่อน แกบอกเขาตั้งตามความเป็นสิริมงคล อย่างชัยนี่ก็ชัยชนะ

แม้ตอนนี้จะมีพุง แต่พุงแกแข็งอย่าบอกใครเชียว แกลองท้าให้ฉันถีบระหว่างที่ซ้อมมวยด้วยกัน ฉันรับคำท้าและถีบสุดแรง ไม่รู้ว่าแกเกร็งตัวหรือเปล่า แต่ถีบลุงต้อยแล้วเหมือนถีบกำแพง นอกจากจะแข็งแล้ว แกยังนิ่งไม่สะทกสะท้านต่อแรงถีบ คงมีแต่ร่างของผู้เข้ามาปะทะเท่านั้นที่เซไปมา

“ฮ่าๆ ถีบเขาแล้วตัวเองอย่าล้มสิ” นักมวยใหญ่พูดราวกับว่าแกผ่านเหตุการณ์แบบนี้มาไม่น้อย ฉันน่าจะเป็นคนที่ 1,000 กระมังที่แกเล่นมุกนี้ ตอนนั้นคิดในใจ “ทำไมท้องแข็งอย่างนี้ พุงก็ตั้งใหญ่แต่ทำไมไม่นิ่มเลย”

“ทำไมพุงลุงไม่นิ่มเลยล่ะคะ แข็งโป๊กเลย” ฉันถามออกไปโต้งๆ ทั้งเหนื่อยทั้งหอบ ไม่รู้ตัวเหมือนกันว่าที่ถามนั้นถามด้วยความสงสัยหรือว่าโมโหกันแน่

“เขาเรียกว่าวันแพ็ก วันแพ็กของลุงนี่แข็งนะ เพราะแต่ก่อนอู้ฮูลุงซ้อมเยอะ เตรียมร่างกายมาดี มาตอนนี้ไม่ค่อยชกหนักอย่างแต่ก่อน แต่กินหนักแทน กล้ามเนื้อก็ยังอยู่ แต่ไม่ใช่ซิกซ์แพ็ก เยส ออร์ โน้?” อธิบายเสร็จแกก็หันไปเล่นกับฝรั่งข้างๆ เธอดูงงๆ ไม่ค่อยเข้าใจภาษาไทยเท่าไร แต่ก็พยักหน้าตอบลุงแกไปว่า “เยส เยส”
ตั้งแต่เข้ามาที่นี่ ไม่ยักกะมีคนไทยมาพูดกับฉันสักคนนอกจาก พี่ๆที่อยู่ในค่ายมวย เพราะคนที่มาต่อยมวยที่นี่ เป็นชาวต่างชาติทั้งนั้น คุณลองคิดดูว่าสอนโดยคนเหนือ เรียนโดยคนต่างชาติ ภาษาอังกฤษของที่นี่จะเป็นแบบไหน ฉันมาลองได้ฟังฉันว่าภาษาอังกฤษที่นี่ดูสนุกกว่าที่อื่น สำเนียงแบบเหนือๆ เช่นประโยคเรียกซ้อมของลุงต้อย

“คัมม่อน คัมม่อน พักกำเดียวปอก่ะ” (มานี่ มานี่ พักแป๊บเดียวพอแล้ว)

สิ้นเสียงเรียกจากลุงต้อย ฝรั่งร่างใหญ่รีบผละจากการกินแตงโมและกลับมายังกระสอบทราย เป็นภาพบรรยากาศที่น่าอยู่สำหรับฉัน มาที่นี่เหมือนมาเที่ยวบ้านญาติ แม้จะต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา เราก็ยังใช้ภาษาใจคุยกันได้อยู่ดี

ฉันนั่งแทะแตงโมในถาดต่อจากฝรั่งร่างยักษ์ พลางมองกระสอบทรายที่เคลื่อนไหวไปมาด้วยแรงของคน ผู้ส่งแรงไม่ได้กำหนดทิศทางให้มันหรอกว่าจะต้องแกว่งไปทางไหน คงสนเพียงท่าทางตอนส่งแรงนั้นต่างหาก บ้างชก บ้างถีบ บ้างเตะ เจ้ากระสอบทรายทำได้เพียงส่งเสียงตุ้บตั้บบอกเป็นนัยว่า “เธอกำลังสัมผัสฉัน” ยิ่งเสียงนั้นดังเท่าไหร่ยิ่งแสดงให้เห็นถึงพละกำลังของผู้ที่มาเยือนมัน

ฉันทิ้งแตงโมลงถังขยะ รีบใส่มือลงไปในนวมอันเปียกชุ่มด้วยเหงื่อ แล้วเข้าไปเยือนเจ้ากระสอบทรายราคาเหยียบหมื่นที่ลุงแดงพูดให้ฟังในตอนแรก น่าแปลกที่ฉันทักทายมันด้วยการเตะ แต่มันไม่แกว่งเช่นคนอื่นเลย ความรู้สึกเหมือนถีบท้องลุงต้อยกลับมาอีกครั้ง ฉันหันไปมองน้องฝรั่งข้างๆ ก็ยังดูเมามันกับการปล่อยหมัดกับกระสอบทรายอยู่ แถมยังส่งเสียง เฮ้ อึ๊ด ฮึด ให้ได้ยินอยู่อย่างนั้นพร้อมรัวหมัด รัวเตะ อย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุด

ระหว่างที่ยืนงงเหมือนเด็กหลงทาง แลซ้าย มองขวา ลุงแดงเข้ามาตบบ่า แล้วสอนวิธีเตะที่ถูกต้องให้กับฉัน

“ยืนแบบนี้ ก้าวเฉียง บิดเอว เตะ เวลาเตะให้ขาลงข้างหลัง”

ครูมวยทำให้ดูแล้วพูดอธิบายไปด้วย รอบแรกแกทำให้ดูแบบช้าๆ ถ้าเป็นในหนัง คงเป็นฉาก “สโลว์โมชัน” คล้ายๆ ตอนนางเอกล้มแล้วพระเอกค่อยๆ วิ่งมาอุ้ม หมุนๆ อยู่หลายตลบก่อนจะกลับมายังฉากที่มีความเร็วปรกติ ฉันคงดูงงๆ มั้งลุงเลยทำให้ดูอย่างช้าๆ ก่อนจะทำให้ดูตามแบบฉบับการต่อสู้จริง

ยังไม่ทันจะเตะเป็นลุงฝรั่งอีกคนเข้ามาร่วมวง ลุงแดงบอกแกเป็นเพื่อนลุง ดูท่าแล้วน่าจะมาที่นี่นานพอสมควรถึงสนิทกับลุงแดงขนาดนี้ ฉันไม่รู้ว่าลุงฝรั่งชื่ออะไรเพราะแกไม่ปล่อยให้ถามชื่อเลย พอยื่นมือมาชนกันแล้วแกปล่อยหมัดใส่ฉันไม่ยั้ง ถ้าไม่เรียนการตั้งการ์ดคงมีดั้งหักแน่งานนี้ ต่อยไปด้วยขำฉันไปด้วย ทำให้ฉันนึกถึงภาพตัวเองตอนเล่นกับลุงตอนเด็กๆ

“คีป ลุคกิง”

คู่ต่อสู้แนะนำฉัน คงกลัวฉันไม่ได้ออกหมัด แกเลยลดความเร็วหมัดเปลี่ยนเป็นตั้งรับฉันบ้าง พอถึงทีฉัน ฉันก็รัวไม่ยั้งเหมือนกัน แต่ก็ไม่โดนคนข้างหน้าสักรอบ ฉันคงเหนื่อยจนนั่งหอบ ถ้าไม่ได้ยินเสียง “เบรกกกกก” จากครูแดง ที่จะพูดอยู่บ่อยๆ เป็นเหมือนช่วงเวลาพัก หลังจากปล่อยให้เหล่านัก (ฝึก) มวย ต่อย เตะ แบบเร็วๆ แข่งกับเวลา หรือที่ค่ายเรียกว่า “สปีด”

“ลุงนึก สอนฝรั่งนี่ยากไหม เขาตัวใหญ่ลุงสอนยังไง”

“ครูนึก” หรือ “สมนึก กุลเมือง” วัย 59 ปี อดีตมวยคู่เอกที่ถ่ายทอดทางช่อง 7 ฉายา “กระทิงเปลี่ยวจอมบ้าเลือด” ลุงนึกไม่มีปัญหาในการสอนนักเรียนชาวต่างชาติแต่อย่างใด แกเชื่อว่าถ้าเราสามารถต่อยเป็น เราก็สามารถสอนเขาได้

“ร่างกายเขาแข็งแรงนะ สอนไม่ยาก มุ่งมั่นดี” เป็นคำพูดของลุงนึกที่ออกปากชมนักเรียนชาวต่างชาติที่กำลังชกอยู่บนสังเวียนของค่ายมวย

ระหว่างพักฉันถามลุงนึก หรือ สมนึก กุลเมือง วัย 59 ปี อดีตมวยคู่เอกที่ถ่ายทอดทางช่อง 7 ฉายา “กระทิงเปลี่ยวจอมบ้าเลือด” นั่นก็ฉายาแก ตั้งแต่แขวนนวมมาแกก็ผันตัวมาเป็นครูมวยในค่ายนี้

ลุงนึกตอบว่าไม่ยากหรอก เราชกเป็นก็ต้องสอนเป็น อยู่ที่ชั้นเชิง จะมีก็เรื่องภาษาแต่ก็เรื่องจิ๊บๆ แกพูดอย่างผู้มากประสบการณ์

“อย่างคนนั้นที่ปล้ำๆ กันอยู่ นี่ก็เพิ่งมา แต่ร่างกายเขาแข็งแรงนะ สอนไม่ยาก มุ่งมั่นดี” ลุงพูดพร้อมบุ้ยปากไปอีกสังเวียน สิ่งที่ฉันเห็นด้วยกับลุงคือความมุ่งมั่นในการเรียนของฝรั่งที่เข้ามาที่นี่ แม้แต่ตอนที่ครูไม่ว่างต้องสอนนักเรียนคนอื่น เขาเองไม่เคยปล่อยให้ตัวเองว่าง ไม่ต่อยกระสอบทรายก็วิดพื้น ซิตอัป ไม่ก็ชกลม
“เขามาด้วยความตั้งใจ เราก็สอนอย่างตั้งใจ” ชายสูงวัยกล่าว

ต่อยมาสักพัก ฉันเริ่มหลีกมาหลบอยู่อีกฟากหนึ่งของยิม เห็นเด็กน้อยกำลังเตะกระสอบทราย ถามไปถามมาได้ความว่าชื่อน้องบาส อายุ 13 ปี น้องบอกชกมวยมาตั้งแต่ 7 ขวบแล้ว ตามลุงแท้ๆ มาอยู่ค่ายมวย เป็นเด็กที่ดูแข็งแรงมาก ท้องมีกล้ามเนื้อให้เห็นเป็นก้อนๆ เท่แต่เด็ก

เห็นน้องคุยภาษาอังกฤษกับหญิงชาวต่างชาติ พอเข้าไปทักทาย ตามประสาคนไม่รู้จักใครอย่างฉันจึงได้รู้ว่าเธอเป็นภรรยาลุงของน้องบาส ฉันหันกลับไปสบตาน้องบาส น้องยักคิ้วให้เหมือนเป็นการถามอ้อมๆ ด้วยภาษากายว่า “เจ๋งใช่ไหมล่ะพี่” ฉันยิ้มตอบแล้วมองไปยังลุงน้องบาสที่กำลังง่วนอยู่กับการสอนฝรั่งตีมวยบนสังเวียน พลางคิดในใจ ลุงโชคดีเป็นบ้าเลย ได้ฝรั่งสวยๆ เป็นภรรยา

“ที่นี่เป็นเหมือนบ้าน ทุกคนพูดเล่นกันได้หมด คุยกันได้ทุกเรื่อง”

ด้านนอกของงยิมระหว่างพักเบรก บางคนพักเหนื่อย บางคนรับประทานอาหารเพื่อเพิ่มน้ำตาลให้ร่างกาย

ซิลวี่ วนดูกลัซอีทุ หญิงสาวชาวอเมริกัน สนใจมวยไทยหลังจากได้ดูภาพยนตร์เริ่ง “องค์บาก” เธอเคยผ่านสังเวียนการชกเวทีของเชียงใหม่และพัทยา และเธอยืนยันว่าจะอยู่ที่นี่เพราะเธอรักประเทศไทย

ซิลวี่ วนดูกลัซอีทุ หญิงสาวชาวอเมริกันเดินเข้ามานั่งพักข้างๆ ฉันพูดถึงค่ายมวย หลังจากฉันยิ้มทักทายเธอ อึ้งเหมือนกันที่เธอพูดไทยได้ชัดกว่าฝรั่งคนอื่น ซิลวี่บอกเธอชอบมวยไทยจึงบินมาเรียนที่ไทย โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการดูภาพยนตร์

ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน “องค์บาก” เข้าฉายในอเมริกา ถือเป็นหนังไทยที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในตลาดโลก แม้ว่าความสำเร็จนี้ยังไม่มากเท่าหนังต่างประเทศอีกหลายเรื่องของหลายชาติ แต่เป็นความสำเร็จสูงสุดของหนังไทยในรอบประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของประเทศไทย โดยช่วงสัปดาห์แรกเข้าฉายกลางเดือนกุมภาฯ หนังทำรายได้ในอันดับที่ 17 ของอเมริกา ทั้งที่เข้าฉายเพียง 361 โรงทั่วประเทศ หรือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของโรงฉายหนังที่ได้อันดับหนึ่ง ที่สำคัญยังสร้างแรงบันดาลใจให้คนต่างชาติอย่างซิลวี่ได้รู้จักกับมวยไทย

จากประสบการณ์ชกมวย เธอเคยชกมาทั้งหมด 188 ครั้ง ที่อเมริกา 9 ครั้ง และอีก 179 ครั้งที่ไทย เธอใช้ชื่อ “ซิลวี่ ลานนามวยไทย” ในการชก และเธอไม่เคยแพ้น็อกเสียด้วยสิ เคยแต่น็อกเขา เธอพูดกึ่งหัวเราะ

“ชันน็อกเคาไป 68 ครัง ชนะ 125 ครัง” เธอเล่าความสำเร็จที่ผ่านมาให้ฟัง

เส้นทางบนสังเวียนของซิลวี่ยังไม่จบเพียงเท่านี้ และคงไม่ใช่เร็วๆ นี้เป็นแน่ แม้ตอนนี้จะอายุ 35 ปีแล้ว แต่หญิงสาวบอกฉันยังไม่อยากหยุด “ฉันแข็งแรงมาก” เธอพูดพร้อมเบ่งกล้ามโชว์ ถ้ามองเพียงท่อนแขนนั้น ไม่ต่างอะไรจากแขนผู้ชายเลย เจ้าของร่างบอกว่ามีหลายอย่างที่ตนเองสามารถทำได้ แต่ยังไม่มีเวทีให้ได้ทำ

ฉันถามว่าอะไรที่ซิลวี่อยากทำ เธอบอกว่ากีฬามวยเป็นกีฬาของผู้ชาย แม้ผู้หญิงอย่างเธอจะสามารถทำทุกอย่างเช่นชายชาตรี แต่เวทีที่มีมิได้ตอบโจทย์เส้นทางนี้เท่าไร เวทีใหญ่ๆ อย่างเวทีราชดำเนิน เวทีลุมพินี ผู้หญิงอย่างเธอไม่มีโอกาส เธอจึงทำได้เพียงชกเวทีของเชียงใหม่ พัทยา จากสายตาที่ร่าเริง แวบหนึ่งมีความน้อยใจที่ฉันสัมผัสได้เข้ามาแทรก ก่อนเธอจะกลับมาเป็นปรกติหลังจากพูดว่า “ไม่เป็นไร” แล้วหัวเราะออกมา

นักมวยย่อมมีบาดแผล ยิ่งชกเป็นร้อยครั้งอย่างผู้หญิงใจสู้คนนี้แล้วคงนับไม่ถ้วน กว่า 129 เข็มที่เธอได้ลิ้มลองความเจ็บปวดจากการต่อสู้บนสังเวียน คงมอบประสบการณ์หลายๆ อย่างให้แก่เธอ ฉันถามด้วยความอยากรู้ต่อว่าชกแบบนี้ไม่เจ็บเหรอ

“ซ้อมหนักๆ ไปชกเจ็บนิดโหน่ย ถ้าซ้อมน้อยๆ ไปชกเจ็บมากๆ”

เธอตอบพร้อมทำหน้าเหยเกประกอบการพูด แทนที่จะฟังแล้วคิดตามคำที่เธอพูด ตอนนั้นในใจฉันกลับขำขัน ฝรั่งนี่ดีเนอะ เวลาพูดมีท่าทางประกอบจริงจัง เพราะแบบนี้หรือเปล่า ลุงแดง ลุงต้อย ครูมวยที่นี่จึงเล่นใหญ่ไปกับเขาด้วย

ค่ายมวยเกียรติบุษบาเป็นค่ายมวยที่ดังในต่างประเทศจากปากต่อปาก อีกทั้งที่นี่เคยมีโค้ชมวยอย่าง “แอนดี้ ทอมสัน” ชาวสกอตแลนด์ที่โด่งดัง มาอยู่ที่นี่ประมาณ 20 กว่าปี เปิดเว็บไซต์เกี่ยวกับการออกกำลังกาย หนึ่งในนั้นมีมวยไทย ทำให้ชาวต่างชาติที่มาเรียนส่วนหนึ่งมาจากการติดตามเว็บไซต์ของแอนดี้ ตอนแรกฉันนึกหน้าแอนดี้ไม่ออก ซิลวี่คงเห็นว่าฉันดูงงๆ (อีกแล้ว) เธอจึงลุกขึ้นจูงมือฉันไปดูรูปแอนดี้ที่แขวนบนผนัง

ยังไม่ทันได้ซึ้ง ลุงแดงก็เข้ามากระชากอารมณ์ซึ้งของฉันด้วยการชี้รูปตัวเองสมัยหนุ่มๆ ให้ดูแล้วบอกว่า “สมัยก่อนหล่อ เดี๋ยวนี้ไม่มีผมซะแล้ว” พูดแล้วก็เดินหันหลังให้ฉัน เอามือชี้ไปยังหัวแก อ๋อ แกหัวล้านตรงกลางนี่เองถึงบอกว่าเดี๋ยวนี้ไม่หล่อ ณ ตอนนั้นไม่ใช่แค่ฉันหรอกที่หัวเราะ ซิลวี่เองก็หัวเราะเสียงดังไม่แพ้กัน
ฉันถือโอกาสนั่งอู้การซ้อมมวยแล้วคุยกับซิลวี่ไปเรื่อยๆ จนค่ายมวยเลิก เธอไม่เหมือนฝรั่งคนอื่น เพราะเธอนั่งคุยกับฉันได้เป็นนานสองนาน เป็นเพราะเธอพูดภาษาไทยได้คล่องกระมังฉันจึงสนทนากับเธอได้เรื่อยๆ

ซิลวี่ทำให้ฉันร้องว้าวอยู่หลายเรื่อง ทั้งเรื่องการกินการอยู่ ฝรั่งหัวใจไทยคนนี้กินส้มตำ ข้าวเหนียว ไก่ย่าง เป็นมื้อเช้า ทำสปาเกตตีเป็นมื้อเย็น หนำซ้ำยังเขียนชื่อตัวเองให้ฉันอ่าน เธอบอกว่าภาษาไทยยาก แต่เต็มใจจะเรียนภาษาไทย เพราะอยู่เมืองไทย อยากใช้ภาษาไทย เธอเรียนอ่านภาษาไทยโดยมีหนังสือมวยสยามเป็นสื่อ

“ที่นี่เป็นเหมือนบ้าน ทุกคนพูดเล่นกันได้หมด คุยกันได้ทุกเรื่อง” ความคิดของลุงแดง สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าจะมาจากซีกโลกใด พวกเราก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยมิตรภาพที่มีให้กัน

ตลอดเวลาที่คุยกัน ฉันไม่รู้สึกว่าคุยกับชาวต่างชาติ เพราะเธอมีนิสัยเหมือนคนไทย พูดภาษาไทย รักภาษาไทย ก่อนลากลับฉันถามว่าซิลวี่อยากกลับอเมริกาไหม “ไม่กลับ” เธอตอบทันควัน ฉันนิ่งและจ้องตาเธอ เพราะรู้ว่าเธอน่าจะมีอะไรพูดต่อ และฉันเดาถูก

“ฉันรักมวยไทย ฉันรักคนไทย ฉันรักประเทศไทย” เธอตอบอย่างจริงจัง ครั้งนี้ไม่มีเสียงหัวเราะปนคำตอบดังที่ผ่านมา มีแต่รอยยิ้มที่เธอมอบให้ส่งท้ายบทสนทนาระหว่างเรา

19.00 น. เวลาเลิกของค่ายมวย เหลือแค่ฉันที่ยืนตรงนี้ ระหว่างเดินไปเอารถ ฉันหยุดเดินแล้วมองไปยังสังเวียน มองไปยังกระสอบทราย หากที่นี่ไม่มีสิ่งเหล่านี้ “สังคมฝรั่งตีมวย” คงไม่เกิดขึ้น ท่ามกลางความเงียบ เสียงของลุงแดงผุดขึ้นมาในความคิด

“ถ้าไม่มีฝรั่ง ค่ายนี้คงอยู่ไม่ได้”
“ฉันรักมวยไทย ฉันรักคนไทย ฉันรักประเทศไทย”

เสียงซิลวี่ดังขึ้นมาในหัวฉันราวกับจะตอบเสียงที่ผุดขึ้นมาก่อนหน้านี้ ยืนยันว่าที่นี่จะต้องอยู่ได้ เพราะฉันรักที่นี่

ขอบคุณผู้ให้ข้อมูล

  • นายทองอินทร์ ศรีวิชัย (ลุงต้อย )
  • นายเกษม สุวรรณ์ (ลุงแดง)
  • นายสมนึก กุลเมือง (ลุงนึก)
  • ซิลวี่ วนดูกลัซอีทุ
  • ค่ายมวยเกียรติบุษบา