ผลงานค่ายสารคดีครั้งที่ 13
งานเขียนสารคดีดีเด่น
เรื่อง : ภาวิณี คงฤทธิ์
ภาพ : มานิตา ตันติพิมลพันธ์

MAYDAY! (ป้ายรถ) เมล์ CAN HELP YOU

สมาชิกกลุ่ม Mayday กำลังเริ่มต้นประชุมเกี่ยวกับอนาคตของระบบรถเมล์กรุงเทพ

ป้ายรถเมล์ที่กลุ่ม Mayday ออกแบบและทดลองใช้จริงบริเวณสี่แยกคอกวัว

 

เมื่อคุณได้ยินคำว่ารถเมล์ คำแรกที่โผล่ขึ้นมาในหัวคุณคืออะไร ร้อน บริการไม่ดี อันตราย ไร้ศักยภาพ ถ้าคุณมีความคิดอย่างนั้น ฉันอยากให้คุณลองเปิดใจแล้วมารู้จักอีกแง่มุมหนึ่งของรถเมล์ ผ่านกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ยังคงเชื่อมั่นในระบบขนส่งสาธารณะไทยอย่าง MAYDAY

เมล์ I introduce myself ?

ฉันเดินทางมาที่ Once again hostel โฮสเทลขนาดกลางแห่งเกาะรัตนโกสินทร์ ด้วยการตกแต่งภายในสไตล์โมเดิร์น คาเฟ่เก๋ๆ ที่เป็นทั้งแผนกต้อนรับและร้านกาแฟ คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาจากทั่วทุกมุมโลก ถ้าเรามองเผินๆ ก็ไม่ต่างจากโฮสเทลอื่นๆ แต่ถ้าเราลองมองลึกลงไปถึงรายละเอียด เราจะเจอเรื่องราวดีๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ เพราะที่นี่คือจุดเริ่มต้นของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เรียกตัวเองว่า MAYDAY (เมล์เดย์) กลุ่มคนที่ยังมองเห็นสิ่งดีๆ ของรถเมล์ ประกอบไปด้วย ศา-ศานนท์ หวังสร้างบุญ ผู้ที่รวมตัวทุกคนเข้าด้วยกัน ณ Once Again Hostel แวน-วริทธิ์ธร สุขสบาย กราฟิกดีไซเนอร์และพ่วงตำแหน่งแฟนพันธุ์แท้รถเมล์ไทย หนูลี-สุชารีย์ รวิธรธาดา และ อุ้ม-วิภาวี กิตติเธียร สองกูรูด้านขนส่งสาธารณะ และ เนย-สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล นักสื่อสารที่สนใจปัญหาสังคม

“จุดเริ่มต้นจริงๆ ก็มาจากวันที่มีการเคลื่อนพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 มายังสนามหลวง แวนไปด้วย นั่งรถเมล์มา วันนั้นเขาเจอทั้งผู้บริหาร ผู้จัดการ บริษัทเก่าที่เคยทำงาน เฮ้ย ในวันที่คนมันไม่มีทางเลือกจริงๆ ทุกคนก็สามารถที่จะใช้รถประจำทางได้ ถ้าเขารู้ว่าจุดมุ่งหมายที่เขาจะไปคืออะไร” อุ้มเล่าให้ฟังถึงความคิดแรกที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดกลุ่มเมล์เดย์ขึ้นมา

ช่วงแรกของเมล์เดย์นั้นเคว้งคว้างพอสมควร ถึงแม้จะมีธงในใจแล้วว่าจะช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับรถเมล์ แต่ก็เกิดคำถามตามมาว่าจะไปเริ่มต้นตรงไหน เนยเล่าติดตลกให้ฟังว่า ตอนนั้นนั่งรถเมล์เป็นว่าเล่น เคยทั้งนั่งรถเมล์ไปเรื่อยๆ ดูเส้นทาง หรือจับเวลารถเมล์ แต่สุดท้ายก็มาลงตัวที่โปรเจกต์ป้ายรถเมล์ เพราะได้ฟังเรื่องเล่าจากแวนเลยเกิดเป็นไอเดียตรงนี้ขึ้นมา

“วันนั้นเราอยู่ตรงนั้นด้วยและก็เห็นวิกฤตว่าคนเข้ามาเยอะมาก และคนก็หลงกันเต็มไปหมด มันวุ่นมายมากๆ พวกเราเลยมีความคิดที่อยากจะช่วย มันคงจะดีถ้าคนสามารถรู้ได้ว่าต้องขึ้นรถตรงไหนและจะไปส่งถึงไหน จากวันนั้นก็เริ่มก่อตัวเป็นเมล์เดย์เพื่อให้ความรู้เรื่องสายรถเมล์ต่างๆ ขึ้นมา”

งานแรกที่ทำกันในนามเมล์เดย์คือแผ่นพับแผนที่รถเมล์บริเวณสนามหลวง จะบอกถึงจุดจอดรถและเส้นทางเดินรถต่างๆ ภายในเกาะรัตนโกสินทร์ นำไปใช้ครั้งแรกกับอาสาสมัคร Volunteer for dad ธรรมศาสตร์ หลังจากจบงานนี้กลุ่มเมล์เดย์เล็งเห็นว่า สิ่งที่คนมองข้ามอย่างป้ายรถเมล์ ถ้าเราใส่ใจสักหน่อย อาจช่วยแก้ปัญหาระบบขนส่งสาธารณะได้ และทำให้คนใช้รถเมล์ได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก กลุ่มเมล์เดย์จึงคิดที่จะผลักดันโปรเจกต์ป้ายรถเมล์อย่างจริงจัง

“พวกเรายังถือว่าใหม่มากๆ ในวงการขนส่งสาธารณะ ก็เลยไปปรึกษาอาจารย์ที่เคยสอนเรามาเช่นที่ธรรมศาสตร์ อาจารย์หลายๆ คนที่เขาทำเกี่ยวกับขนส่งสาธารณะแนะนำว่างาน RISE นี่ก็น่าสนใจ แต่มันเป็นระบบรางนะ เราต้องทำยังไงก็ได้ให้รถเมล์ที่เราจะนำเสนอไป plug in กับงานนี้ให้ได้” นักสื่อสารประจำกลุ่มเมล์เดย์บอกให้เราฟัง ก่อนจะหยิบคอมพิวเตอร์คู่กายและเปิดภาพโปรเจกต์ที่นำไปเสนอที่งาน RISE ให้เราดู

งาน RISE หรือชื่อเต็มๆ ก็คือ Thai Rail Industry Symposium and Exhibition การประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางราง เท่าที่ดูจากชื่อฉันนึกไม่ออกเลยว่ารถเมล์จะไปมีส่วนเกี่ยวข้องได้อย่างไร เพราะไม่ว่าจะอ่านแบบไหน ระบบขนส่งทางรางคงหมายถึงพวกรถไฟฟ้าไม่ก็รถใต้ดินเป็นแน่ ระหว่างที่ฉันได้ดูภาพโปรเจกต์ของเมล์เดย์ เนยก็เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นว่า

“ตอนไปออกงาน RISE เรามีเป้าหมายเลยว่าต้องทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น เพราะงานนั้นจะมีรัฐมนตรี คนใหญ่คนโตเกี่ยวกับวงการขนส่งสาธารณะมากันเยอะมาก คนอื่นก็เอารางรถไฟฟ้าไปโชว์เต็มไปหมด แต่เราไปแบบรถเมล์ เราทำเป็นภาพรถเมล์ใหญ่ๆ สีเหลืองเต็มบูทเลย เราดึงดูดคนด้วยภาพ กราฟิกต่างๆ ของแวนทำให้บูทเราโดดเด่นขึ้น เพราะบูทส่วนใหญ่ก็จะเป็นตัวหนังสือกันทั้งนั้น คนก็จะเข้ามาถามเยอะว่านี่คืออะไร เราทำอะไรกัน เราก็อธิบายให้เขาฟังว่า การที่ขนส่งระบบรางมันจะได้ผล ไม่ได้ได้ผลด้วยตัวมันเองคนเดียว ด้วยผังเมืองบ้านเราด้วย ด้วยวิถีชีวิตอะไรต่างๆ มันยังต้องพึ่งพารถเมล์อยู่ รถเมล์จะเป็น supporter ที่ดีต่อระบบรางได้”

เมื่อได้ฟังคำตอบจากปากของเนยฉันก็หายสงสัย เพราะถ้าฉันเป็นหนึ่งในรัฐมนตรี หรือคนที่มีอำนาจที่จะมาจัดการปัญหาพวกนี้ได้ ฉันก็คงให้โอกาสพวกเขาได้ลองทำโปรเจกต์ป้ายรถเมล์ขึ้นมาดู เพราะในขณะที่คนอื่นเอาแต่วิ่งเข้าหาในสิ่งที่พวกเราไม่มี คนกลุ่มนี้กลับหันมามองว่าตัวเองมีอะไร และหาทางที่จะฟื้นคืนศักยภาพที่ตัวเองมี เพื่อที่จะก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

ป้ายรถเมล์ที่กลุ่ม Mayday ทำร่วมกับ Yak ตั้งอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

ระบบขนส่งรถเมล์ยังมีความจำเป็นต่อชีวิตของคนในกรุงเทพ

WHY “ป้ายรถเมล์”

หลังจากงาน RISE ผ่านไป เมล์เดย์ก็ได้รับโอกาสจากสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ผ่านการติดต่อจากสมาคมจักรยานแห่งประเทศไทย ให้ลองมาทำป้ายรถเมล์ตามที่เสนอโปรเจกต์ เมล์เดย์จึงร่วมมือกับ สจส. จัดทำป้ายรถเมล์นำร่องสีขาวติดตั้งไว้ประจำถนนราชดำเนินกลาง มาพร้อมข้อมูลสายรถเมล์ให้เพียงพอต่อการใช้งานเบื้องต้น แถมด้วยการตกแต่งด้วยกราฟิกเพื่อให้อ่านง่าย เหมือนที่คนสมัยนี้ชอบพูดกัน น้อยแต่มาก เรียบแต่โก้

แต่ฉันก็ยังคงไม่เข้าใจอยู่ดี ท่ามกลางปัญหาที่มากมายของรถเมล์ ทำไมเมล์เดย์ถึงต้องเลือกมาแก้ปัญหาเรื่องป้ายรถเมล์ ทั้งที่จริงก็มีปัญหาที่อื่นที่ใหญ่กว่านี้อีกตั้งเยอะที่รอการแก้ไข

“เมล์เดย์เรามีคอนเซ็ปต์คือ small change, big move ป้ายรถเมล์อาจจะดูเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ของระบบทั้งระบบ แต่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เราเชื่อว่าเป็นอย่างนั้น ก็เหมือนพวกเราที่มาจากคนธรรมดาด้วยซ้ำ แต่ก็สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้” อุ้ม สาวความรู้แน่นพูดประโยคนี้พร้อมแววตาที่เป็นประกาย

ฉันมาทราบภายหลังว่าประโยคสั้นๆ โดนใจคนฟังข้างต้น มาจากความคิดของนักสื่อสารสาวอย่างเนย ที่ทำให้ประโยคนี้กลายเป็นคำคมประจำเมล์เดย์ไปเลย

อุ้มกล่าวต่อว่า “แวนมีความเชี่ยวชาญด้านรถเมล์ เขารู้เรื่องรถเมล์มาตั้งแต่เด็กๆ พวกสายรถเมล์อะไรอย่างนี้เขาจะรู้เยอะมาก แล้วพอมานั่งคุยๆ กัน เราก็เลยรู้ว่าจริงๆ แล้วที่มันเกิดปัญหาการเดินทางเนี่ยเพราะคนไม่รู้ข้อมูล พอเขารู้ข้อมูลปุ๊บเนี่ย เขาสามารถวางแผนการเดินทางได้ หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้ เราก็เลยคิดว่าลองมาทำป้ายรถเมล์ใหม่ดีไหม ไม่ต้องเปลี่ยนอะไรมาก แค่ดึงศักยภาพเดิมมาใช้ให้เกิดผลที่ดีขึ้นมา”

ฉันเอะใจทันทีที่ได้ยินประโยค “ดึงศักยภาพเดิมมาใช้” ป้ายรถเมล์ปรกติมีศักยภาพของมันด้วยเหรอ หน้าที่ของมันอาจจะมีไว้บอกว่าตรงนี้รถเมล์จอด แต่ฉันก็ยังไม่เห็นว่ามันจะดึงศักยภาพอะไรออกมาได้เลย และเหมือนว่าสาวนักวิชาการอย่างอุ้มจะรู้ว่าฉันคงข้องใจกับประโยคที่เธอบอกแน่ๆ

“เราก็ใช้ตัวโครงป้ายเหมือนเดิมเลย ป้ายสีน้ำเงิน แต่เดิมจะบอกแค่เลขหมาย แต่พื้นที่ข้างล่างยังเหลืออยู่ เราก็เลยนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ที่ตรงนั้นระดับสายตาของเรายังอ่านได้ เราเอาพื้นที่ตรงนั้นมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม เคยมีสมัยหนึ่งที่ กทม. เอามาติดเป็น Bangkok WiFi แต่ตอนหลังก็ไม่ได้ใช้อะไร ปล่อยว่าง ก็แค่เอาป้ายของเมล์เดย์ไปติดเพิ่มเติม ไม่ต้องทำอะไรใหม่”

อุ้มยิ้มทันทีที่เห็นว่าฉันทำสีหน้าเข้าใจในสิ่งที่เธอบอก ฉันเริ่มคิดตามสาวนักวิชาการคนนี้ และถามเธอต่อไปทันทีว่าเธอเอาไอเดียมาจากไหน เธอตอบมาสั้นๆ ง่ายๆ ว่า

“ตอนที่ทำป้าย เราก็แค่คิดว่า ถ้าเราไม่รู้ เราอยากจะรู้อะไรบ้าง ก็แค่นั้นเอง”

คนหลายชนชั้นยังคงนิยมใช้ระบบขนส่งรถเมล์

ป้ายรถเมล์โดยกลุ่ม Mayday ถือเป็นป้ายนำร่องที่เป็นความหวังของชาวกรุงที่จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากสิ่งที่กรุงเทพมีอยู่แล้ว

The project that you เมล์ want to know

คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ นอกจากจะเป็นนักคิด นักสร้างสรรค์ ฉันขอยกให้เป็นนักกลยุทธ์ฝีมือดีอีกด้วย ฉันได้พูดคุยกับเนยเพิ่มเติมจนรู้ว่า จริงๆ แล้วเมล์เดย์แบ่งพาร์ตการทำงานเป็นสองแบบ โดยทำงานควบคู่กันไปพาร์ตออฟไลน์ก็จะเป็นป้ายต่างๆ ที่เราเห็นกันตามท้องถนน ตอนนี้มีนำร่องอยู่แล้วสองป้าย ป้ายแรกที่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน ทำร่วมกับ สจส. และป้ายที่ 2 ที่อนุสาวรีย์ชัยฯ ทำร่วมกับ YAK เอกชนผู้ได้รับสัมปทาน แต่กว่าจะมีป้ายครอบคลุมทุกพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น ทางเมล์เดย์ก็รู้ดีว่ามันคงเป็นเรื่องยากและใช้เวลานาน

เพจเฟซบุ๊ก maydaySATARANA เลยถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางด้วยรถเมล์ โดยทำเป็นอินโฟกราฟิกสีสันสดใส เพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจ เป็นการตอบสนองคนสมัยนี้ที่โลกออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ฉันขอเรียกกลยุทธ์นี้ว่าป่าล้อมเมือง เวอร์ชัน 2017 เพราะถ้าในอดีตเราใช้การตีตลาดจากพื้นที่ต่างจังหวัดเข้ามาสู่ภายในตัวเมืองหลวง ในปัจจุบันเราก็มีพื้นที่ออนไลน์ไว้แสดงความคิดออกมาและต่อยอดความคิดเหล่านั้นจนสามารถกลายมาเป็นเรื่องจริงในโลกออฟไลน์ได้เหมือนอย่างที่เมล์เดย์กำลังทำอยู่

“เราอยากให้คนทุกคนเห็นและรู้ข้อมูล ตอนเราไปติดตั้งป้าย ก็ได้ไปคุยกับ สจส. คือตัวเขาก็มีแผนของเขาอยู่แล้ว อยากทำ QR code อยากทำเป็นแอปพลิเคชัน เราเลยเอาสถิติไปบอกเขาว่าจริงๆ แล้วมันก็ยังมีคนที่ไม่ได้เข้าถึงสมาร์ทโฟน แต่ต้องยังเดินทางอยู่ในพื้นที่บริเวณนี้ จริงๆ ถ้ามีป้ายที่เป็น offline เขาเห็นสามารถดูได้ที่ไม่ต้องพึ่งโทรศัพท์ หรือนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ไม่รู้จักแอปฯ อะไรแบบนี้ก็น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ขึ้น” อุ้มอธิบายด้วยน้ำเสียงจริงจังขณะเล่าถึงวิธีการทำงานที่แบ่งเป็นสองพาร์ตอย่างออฟไลน์และออนไลน์

สำหรับตัวเพจ MAYDAY หน้าที่หลักๆ ก็คือแชร์ข้อมูลเส้นทางของรถเมล์ โดยอินโฟกราฟิกทั้งหมดก็เป็นฝีมือของแวน กราฟิกดีไซเนอร์ประจำเมล์เดย์ แต่ถ้าเป็นเรื่องการพูดคุย การตอบคำถามทั้งหมด นักสื่อสารอย่างเนยจะเป็นคนรับผิดชอบเอง เนยได้บอกเล่าความคิดเห็นเกี่ยวกับเพจ MAYDAY ไว้อย่างน่าสนใจ

“เราว่าเพจ MAYDAY มันดีมากๆ เลย มันเป็นสังคมที่ทุกคนกล้าแชร์ กล้าบอก คิดภาพเหมือนตอนเราอยู่ในห้องเรียนตอนเด็กๆ ถ้าถามว่ามีใครจะเสนออะไรไหม ก็ไม่มีใครกล้าพูด กล้าถาม ในนี้เหมือนแบบทุกคนไม่ว่าจะเป็น expert ทางด้านขนส่งมวลชนหรือไม่ ทุกคนกล้าเสนอไอเดียหมดเลย กล้าที่จะบอก เราคิดว่ามันเป็นพื้นที่ที่ดีมาก เราอยากรักษาตรงนี้ไว้ โดยนำเสนอออกมาเป็น MAYDAY คิดอย่างนี้แล้วคุณคิดยังไง”

เนยกล่าวต่อไปอีกว่า “ตอนนี้เราก็วางแผนที่จะทำเว็บไซต์อย่างเฟซบุ๊กคนก็ใช้เยอะแต่มันอาจจะเก็บข้อมูลที่เป็นชิ้นเป็นอันได้ไม่เต็มที่มากนัก ต่อไปเราอาจจะมีเว็บไซต์ที่เป็นเหมือนเวทีให้คนมาแชร์ข้อมูลกัน อันนี้ก็ยังวางแผนกันอยู่ แต่ที่แน่ๆ ที่นี่จะเป็นคลังไอเดียของคนที่สนใจขนส่งสาธารณะ เพราะเมล์เดย์ก็เป็นคนที่ชอบแชร์ไอเดียอยู่แล้ว ที่นี่ก็น่าจะเป็นเหมือนที่ให้ทุกคนได้มาปล่อยของกัน”

ฉันได้ฟังเรื่องราวจากทั้งอุ้มและเนย ดูเหมือนเมล์เดย์จะให้อะไรกับสังคมมากมาย แล้วตัวเมล์เดย์เองจะได้อะไรกลับคืนมา “ยังไม่ได้อะไรเลยค่ะ” อุ้มกล่าวด้วยน้ำเสียงติดตลก ก่อนที่จะเล่าแผนในอนาคตให้เราฟังว่าเมล์เดย์ในตอนนี้ยังเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรอยู่ แต่ในอนาคตอาจจะเปลี่ยนตัวเองไปเป็น SE หรือ social interprise เพราะเมล์เดย์มีเป้าหมายแค่ให้อยู่ได้ ขอแค่มีเงินมาหมุนให้สามารถทำโปรเจกต์อื่นๆ ได้ก็พอแล้ว

MAY BE เมล์’s DAY

เท่าที่เราได้ฟังมาคนกลุ่มนี้มีความเชื่อมั่นในขนส่งสาธารณะของไทยโดยเฉพาะรถเมล์ พวกเขาเชื่อว่าขนส่งสาธารณะของไทยนั้นยังมีศักยภาพแต่แค่ขาดการดึงศักยภาพนั้นออกมาใช้งาน แต่เราก็ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่าคนส่วนใหญ่มีความเห็นที่เป็นลบมากกว่าเป็นบวกเมื่อพูดถึงรถเมล์ ตัวเมล์เดย์เองก็เล็งเห็นถึงปัญหาเรื่องนี้

“ที่แย่ๆ ก็มีเรายอมรับ แต่ที่ดีก็มีเหมือนกัน เช่น พวกสาย 73ก พนักงานบริการดีมาก คนขับก็ขับดี วันนั้นก็ไปนั่งกับพี่แวน พี่แวนอินมาก ก็โทร.ไปแจ้งที่เบอร์ร้องเรียน แต่โทร.ไปชมนะ เพราะรู้สึกว่าส่วนใหญ่คนจะโทรไปด่า ถ้าดีก็เสมอตัว เราอยากให้คนที่ทำดีได้รับคำชมบ้าง เขาจะได้มีกำลังใจ เมล์เดย์ก็คิดเหมือนกันว่าอยากให้คนที่เขาทำดีอยู่แล้วมีกำลังใจ ในอนาคตอาจจะไปสัมภาษณ์เขาเกี่ยวกับแนวคิดการทำงาน อยากให้คนในเพจได้รู้ว่า เฮ้ย กระเป๋ารถเมล์ที่ตั้งใจทำงานก็มีนะ เราอยากให้คนเห็นว่ามันก็มีนะคนที่อยากให้ขนส่งมวลชนมันพัฒนาและทำงานอย่างตั้งใจ” เนยว่า

เนยเล่าว่ามีพี่ที่รู้จักคนหนึ่งสมัยเรียนนั่งรถเมล์ไปโรงเรียนทุกวัน จนมีอยู่วันหนึ่งครูให้นักเรียนยกมือว่าใครมาโรงเรียนด้วยรถเมล์บ้าง ทั้งห้องมีแค่สามคน เพื่อนต่างหันมามองแล้วหัวเราะกัน เขาอายมาก ทั้งที่จริงไม่ใช่เรื่องที่น่าอายเลย เนยเล่าให้ฉันฟังพร้อมกับแววตาที่ไม่เข้าใจ

“เราว่าสิ่งสำคัญที่คนยังมองว่ารถเมล์ไม่โอเคอาจจะอยู่ที่วิธีคิดของคนด้วยนะที่รู้สึกว่ารถเมล์ก็เป็นขนส่งชั้นล่างสุด คนขับรถเมล์เองหรือคนที่ให้บริการเองก็ถูกแนวคิดแบบนั้นครอบเข้าอีกทีนึง เขาก็รู้สึกว่าเขาต่ำต้อย เขาทำไปก็เพื่อเลี้ยงชีวิตของเขาไปอย่างนั้น ไม่ได้มีความภูมิใจในงานของตัวเองมากขนาดนั้น ฉะนั้นผลมันเลยออกมาเป็นแบบนี้ เราเคยนั่งรถเมล์แล้วเห็นสติกเกอร์ที่แปะอยู่บนรถว่า ‘ชีวิตอาภัพ สุดท้ายก็เป็นได้แค่คนขับรถเมล์’ เฮ้ย เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ เราเคยไปคุยกับพี่ที่เป็นคนขับ shuttle bus ของมหิดล ศาลายา แล้วพี่เขาเล่าให้เราฟังใหญ่เลยว่ารถเมล์ทำงานยังไง เดินรถยังไง พี่เขาเล่าด้วยสายตาที่ภาคภูมิใจมาก คือเรารู้สึกว่า เราอยากให้ทุกคนรู้สึกภาคภูมิใจในงานของเขาแบบนั้นเหมือนกัน” เธอว่า

ฉันได้ฟังแล้วก็คิดตาม ตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่ภาพในหัวของเราตีความว่านั่งรถเมล์เท่ากับจน ตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่สังคมมองรถเมล์เป็นแบบนั้น ก็ไม่น่าแปลกใจถ้าคนให้บริการจะรู้สึกว่างานที่ตัวเองทำไม่มีคุณค่า ลามไปถึงตัวคนขึ้นเองก็รู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อย ฉันเองก็ทำได้แค่นั่งรถเมล์ ฉันไม่มีรถส่วนตัวขับ การมีรถเป็นของตัวเองเลยกลายเป็นเป้าหมายของคนกรุงเทพฯ หรืออาจจะเป็นของคนไทยไปแล้ว

“เราอยากจะเปลี่ยนความคิดของคนไทยที่มองว่าขนส่งสาธารณะคือสิ่งที่เราต้องหลีกหนี เราอยากให้คนมองว่าขนส่งสาธารณะเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยและเป็นเรื่องธรรมดาของคนทุกคน นั่งรถเมล์ก็ธรรมดา ขับรถก็ธรรมดา เราอยากให้มันเท่าเทียมกันได้สักที” เนยบอกถึงปณิธานของเมล์เดย์

เส้นทางของเมล์เดย์เรียกได้ว่าเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น และดูท่าทางจะเป็นเส้นทางที่ยาวไกลไม่แพ้จำนวนป้ายของรถเมล์ที่รอการปรับปรุง แต่ฉันก็มั่นใจว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้จะสามารถผ่านมันไปได้ เพราะพวกเขามีความเชื่อ เชื่อว่าคนเล็กๆ อย่างพวกเขาสามารถเปลี่ยนอะไรบางอย่างได้ เหมือนดังสโลแกน small change, big move คำแค่สี่คำที่ได้อธิบายตัวตนของเมล์เดย์ไว้หมดแล้ว

“เราอยากจะบอกว่าอยากให้เปิดใจ อยากให้ลองมาใช้ขนส่งสาธารณะดู ไม่ต้องใช้ทุกวันก็ได้ วันว่างๆ ก็มาลองใช้ดู เราก็จะเห็นว่าข้อดีมันคืออะไร ข้อเสียมันคืออะไร พอเรารู้อย่างนี้ ข้อดีเราก็เก็บไว้ ข้อเสียเราอย่าทนอยู่กับมัน ถ้าเราพูดอะไรออกมาได้ก็บอกเจ้าหน้าที่ ไม่ก็บอกเมล์เดย์ก็ได้ เราอยากให้ทุกคนมาช่วยกัน ถ้าทุกคนมาช่วยกันมันต้องดีมากแน่ๆ” คือข้อความสุดท้ายที่เมล์เดย์อยากจะบอกกับเราทุกคน