ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
วัดค้างคาวตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ในเขตตำบลบางไผ่ อำเภอเมือง นนทบุรี ตรงข้ามกับวัดเขมาภิรตารามที่อยู่ทางฝั่งตะวันออก
ทุกวันนี้ สิ่งสำคัญที่ทำให้คนรู้จักวัดค้างคาวมากที่สุดคือกิตติศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์ของ “หลวงพ่อเก้า”
ที่แปลกก็คือ “หลวงพ่อเก้า” องค์นี้มิได้เป็นพระประธานในโบสถ์วิหาร หากแต่ประดิษฐานอยู่ในซุ้มทางด้านหน้าอุโบสถ
หลวงพ่อเก้าเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ทำด้วยปูนปั้น เป็นปางห้ามญาติ คือยืนยกพระหัตถ์ (มือ) ขวาแสดงปางประทานอภัย พระหัตถ์ซ้ายทอดลงแนบพระองค์
และที่เรียกกันว่า “หลวงพ่อเก้า” นั้น คงเนื่องมาจากนิ้วพระหัตถ์ซ้ายนี้เอง มีให้เห็นเพียงสี่นิ้ว เข้าใจว่าคงมีนิ้วก้อยที่จมฝังหายไปในผนังอุโบสถด้านหลัง ดังนั้นเมื่อนับจำนวนนิ้วพระหัตถ์ซ้ายขวาที่เห็นรวมกันแล้ว จึงมีเพียงแค่ “เก้านิ้ว”
อาจเพราะนามนี้เองพ้องเสียงกับคำว่า “ก้าว” จึงทำให้มีผู้เคารพนับถือกันมาก โดยสิ่งบนบานสำคัญของหลวงพ่อเก้าคือประทัด ส่วนจะต้องบนกันกี่ร้อยกี่พันกี่หมื่น ก็คงแล้วแต่ว่าเรื่องร้อนใจที่ขอให้หลวงพ่อท่านช่วยขจัดปัดเป่าจะหนักหนาสาหัสเพียงใด
จากเครื่องทรงของหลวงพ่อเก้าที่เห็นในปัจจุบัน ท่านน่าจะประดิษฐานอยู่ตรงนี้อย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายแล้ว อุโบสถหลังนี้เองก็เป็นโบราณสถานซึ่งขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากรไว้แล้วตั้งแต่ปี 2536* หากเดินดูรอบๆ โบสถ์ยังจะพบใบเสมาหินทรายแดงลวดลายงามอัศจรรย์ อย่างที่อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ เรียกว่าแบบ “อโยธยา-สุพรรณภูมิ” อีกแปดทิศ 16 ใบ ซึ่งจากลวดลายก็น่าจะมีอายุเก่าแก่ยิ่งขึ้นไปอีก คือไม่ต่ำกว่าสมัยอยุธยาตอนกลาง ยิ่งเป็นเครื่องยืนยันอายุสมัยของวัดแห่งนี้เพราะใบเสมานั้นมักติดวัดมาแต่แรกสร้าง
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีงานจำหลักไม้สมัยอยุธยาชิ้นสำคัญหลายชิ้นในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ข้างสนามหลวง) ที่มีประวัติว่าได้มาจากที่วัดค้างคาว เช่น ธรรมาสน์ฐานกลม ซึ่งเป็นของพิเศษที่ไม่เคยพบที่ไหน ตลอดจนตู้พระธรรมที่แกะสลักภาพชาดกแล้วปิดทองระบายสีด้วยฝีมืออันเลิศทั้งใบ รวมถึงมีตู้พระธรรมประดับกระจกสีเต็มทั้งใบ ที่ปัจจุบันไปอยู่ไกลถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม อยุธยา ก็มีประวัติว่าได้มาจากวัดค้างคาว นนทบุรีนี่เอง
จึงน่าสนใจค้นคว้ากันต่อว่า เพราะเหตุใดงานพุทธศิลป์ชั้นเลิศสมัยอยุธยาจึงจำเพาะมาตกคลั่กกันอยู่ที่วัดค้างคาว หรือวัดนี้เคยมีความสำคัญอย่างใดในยุคนั้น เช่นมีสมภารเจ้าวัดรูปใดรูปหนึ่งที่มีคนนับถือศรัทธามาก จึงมีผู้นำข้าวของอันดีวิเศษมาถวายไว้ให้ จนหลงเหลือเป็นหลักฐานสำคัญของบ้านเมืองจนบัดนี้
*การขึ้นทะเบียนโบราณสถานของวัดค้างคาว อยู่ใน “ราชกิจจานุเบกษา” เล่ม 110 ตอนที่ 217 วันที่ 22 ธันวาคม 2536 หน้า 67 ตาม “ประกาศกรมศิลปากร
เรื่องขึ้นทะเบียนโบราณสถาน” โดยเขตขึ้นทะเบียนครอบคลุมพื้นที่พุทธาวาสทั้งหมด เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 71 ตารางวา
ศรัณย์ ทองปาน
เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสาร สารคดี