ผลงานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 13
งานภาพสารคดีดีเด่น
เรื่อง : เฉลิมชัย กุลประวีณ์
ภาพ : อาทิตย์ ทองสุทธิ์

แม้มีพาหนะยุคใหม่เข้ามาช่วยให้การเดินทางสะดวกขึ้น แต่ไม่อาจเปลี่ยนใจชาวน้ำให้ละทิ้งเรือไปได้

บรื้น…บรื้น

ชายชราผมดกดำ เคราสีขาว กำลังกระตุกเชือกสตาร์ตให้เครื่องยนต์เริ่มทำงาน เครื่องยนต์ของเรือเริ่มส่งเสียงดัง ใบพัดเหล็กเริ่มหมุนปั่นสายน้ำ พร้อมกับที่เรือได้ถูกแรงดันจากใบพัดทำให้ไหลไปกับกระแสน้ำ เรือยนต์ลำสีน้ำตาลไหลไปตามแม่น้ำที่ทั้งสองฝั่งมีบ้านเรือนบ้าง ผักน้ำเช่นผักบุ้งบ้าง เรือลำนี้กำลังพาผมไปร่วมพิธีกรรมวันพระที่วัดสุทธาโภชน์ หรือที่ชาวบ้านในเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร รู้จักกันในนามวัดมอญ

หากจะพูดถึงการเดินทางในปัจจุบัน หลายคนคงนึกถึงวิธีเดินทางได้หลากหลายวิธี และการเดินทางที่ผมกำลังเดินทางอยู่นั้น อาจจะเป็นหนึ่งในคำตอบของใครหลายๆ คน

การเดินทางโดยเรือในสมัยก่อนแตกต่างจากสมัยปัจจุบันอย่างมาก อย่างที่ในหนังสือ เรือ วัฒนธรรมชาวน้ำลุ่มเจ้าพระยา ของ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ความว่า เรือไม่ใช่แค่พาหนะที่ใช้สัญจรในน้ำ หากเป็นที่อยู่อาศัยที่ทำมาหาเลี้ยงชีพ เป็นเครื่องแสดงความศักดิ์สิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ เป็นแหล่งรวมศิลปวิทยาการหลากหลายแขนง และที่สำคัญ เรือยังสะท้อนวิถีชีวิตของคนไทยที่ผูกพันกับสายน้ำ

ไม่เพียงเท่านั้นในสมัยก่อนเรือยังสะท้อนถึงประเพณี ตลอดจนการดำเนินชีวิตที่ควบคู่ไปกับการใช้เรืออีกด้วย แต่น่าเสียดายในปัจจุบันหลายคนกลับรู้จักเรือในฐานะทางเลือกหนึ่งในทางการเดินทางเท่านั้น

ลุงแดง ชาวน้ำริมคลองลำปลาทิว ที่ผูกพันกับเรือมาตั้งแต่จำความได้

พาหนะของครอบครัวชาวน้ำ

เล่นเรือ ขายเรือ สู่พิพิธภัณฑ์เรือ

นอกจากเรือจะเป็นพาหนะโดยสารสำหรับใครหลายๆ คนแล้ว เรือยังเป็นทั้งของเล่น ของขาย และของให้ความรู้สำหรับเขาคนนี้อีกด้วย พี่อนันต์-อนันต์ชัย ชุนนิตินันท์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์อนันต์ชัยไทยโบทและคนทำเรือจำลอง วัย 49 ปี เล่าให้ฟังเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์นี้จากความชอบของเขาในวัยเด็ก
“พี่ผูกพันกับเรือมาก่อนจากการที่ต้องไปเรียนหนังสือ ต้องนั่งเรือไปเรียน จนมาทำงานพี่ก็ยังนั่งเรือ” นอกจากพี่อนันต์จะใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทางแล้ว เจ้าของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังบอกอีกว่าชอบเรือจากของเล่นในวัยเด็ก แม้จะทำงานแล้วก็ยังซื้อเรือบังคับ เรือจำลองมาเก็บสะสมอยู่เสมอ

“ตอนเรียนสถาปัตย์พี่ก็อ่านหนังสือเรื่อง ‘ลักษณะไทย’ หนังสือเล่มนี้เล่าว่าศิลปวัฒนธรรมไทยมาจากสายน้ำ โดยความเชื่อของลักษณะทางภูมิศาสตร์ของคนไทยแต่โบราณเกี่ยวข้องกับสายน้ำ แล้วสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวกับน้ำก็คือเรือ”

ด้วยความสนใจในสิ่งประดิษฐ์ชนิดนี้ สถาปนิกหนุ่มได้ไปศึกษาที่วิทยาลัยการต่อเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่แล้วพิษเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้สถาปนิกหนุ่มต้องผันตัวมาเป็นคนทำเรือจำลองขายแทนอาชีพเดิมก่อนที่จะมาทำพิพิธภัณฑ์ไว้เผยแพร่ชนิดของเรือและวิถีชีวิตทางน้ำ

“คนในอดีตมองเรือเป็นปัจจัยที่ 5 เรือไม่ใช่แค่พาหนะ เรือมันผูกพันกับวิถีชีวิตจนเป็นภูมิปัญญา เป็นวัฒนธรรม เป็นประเพณี ใช้เรือตั้งแต่ลงเบ็ดหาปลา หาเพื่อนหาญาติ เดินทางไกล ขนส่งสินค้า การสงคราม ตลอดจนการประกอบพิธีกรรมต่างๆ คนไทยเรานี้เก่ง เป็นคนช่างคิด และเป็นคนเปิดกว้างรับความคิดจากคนอื่นมาใช้ประยุกต์เข้ากับงานตัวเอง เอาข้อดีของคนอื่นมาใช้” คนทำเรือวัยย่าง 50 ปี เล่าถึงความสัมพันธ์ของวิถีชีวิตของคนในอดีตกับเรือ

ตัวอย่างมีให้เห็นอย่างเช่นเรือบด พี่อนันต์อธิบายว่าเรือบดมีลักษณะคล้ายเรือชูชีพของเรือฝรั่ง เขาเรียกกันว่าโบต (boat) แต่คนไทยเรียกเพี้ยนมาเป็นเรือบด สิ่งนี้สะท้อนถึงการแลกเปลี่ยนทางศิลปวัฒนธรรมผ่านการประกอบเรือ

การใช้เรือของคนไทยในอดีตมีแต่ความผูกพันกับวิถีชีวิตอย่างแนบแน่น ไม่ว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรก็จะมีเรือเป็นส่วนหนึ่งเสมอ แต่วิถีชีวิตแบบนี้แตกต่างจากวิถีชีวิตของคนในปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด เรือถูกนำมาใช้ในการท่องเที่ยว การเดินทางและประเพณีเป็นส่วนใหญ่

“เรือปัจจุบันอยู่ในบริบทของการท่องเที่ยว เช่นในตลาดน้ำอัมพวา ก็มีการนำเรือมาเป็นจุดเด่นในการท่องเที่ยว หรืออีกแบบเป็นการขนส่งชนิดหนึ่งเช่นเรือด่วนเจ้าพระยา ส่วนในต่างจังหวัดก็มีแบบท่องเที่ยวให้เห็น แต่ก็มีที่ใช้ในวิถีชีวิต เช่น การทำสวน การขับเรือตามร่องสวน ใช้เรือในการบรรทุกน้ำเพื่อใช้ในการให้น้ำต้นไม้ แต่ที่เห็นได้มากคือทุกวันนี้จะอยู่ในประเพณีเป็นส่วนใหญ่ เช่น การแห่พระ การโยนบัว อู่เรือบางอู่ก็ต้องผันตัวจากการสร้างเรือมาเป็นการซ่อมเรือแทน” เจ้าของพิพิธภัณฑ์พูดเสริมความคิดของผม

ส่วนสาเหตุที่บริบทของเรือในอดีตและปัจจุบันไม่เหมือนเดิม พี่อนันต์ชัยเล่าต่อว่าที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะการเข้ามาของรถยนต์และถนนมันสะดวกสบายกว่า คนเลยไม่ค่อยนิยมใช้เรือ หันมาใช้รถแทนเสียมากกว่า

“ทุกวันนี้พี่รู้สึกว่าตัวพี่เองเหมือนคนไทยในอดีต เรื่องของเรือมันอยู่ในชีวิตของพี่ ไม่ใช่แค่งาน เรือมันไม่ได้สอนให้เร็ว มันสอนให้ช้า เข้ากับวิถีชีวิตคนในปัจจุบันที่เร่งรีบ ถ้าเขาได้นั่งเรือ เขาจะรู้จักชีวิตที่ช้าลง ชีวิตที่ไม่เร่งรีบและนิ่งขึ้น”

จากคำกล่าวของเจ้าของพิพิธภัณฑ์และคนทำเรือ ทำให้ผมรู้สึกว่าการนั่งเรือเพื่อที่จะเดินทางไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาแม้จะเป็นเรือด่วนก็ตาม ก็ไม่ได้รวดเร็วเหมือนกับการนั่งรถ แต่มันก็ได้อยู่กับตัวเราเองและสภาพแวดล้อมที่เคลื่อนไปอย่างช้าๆ ไม่ใช่โลกอีกใบในรถที่ปิดกั้นตัวเราจากสภาพแวดล้อม

ทิวทัศน์ริมคลองลำปลาทิว ธรรมชาติที่ยังสมบูรณ์

ชาวน้ำออกมาจับจ่ายตลาดเช้าที่ท่าเรือตลาดสดหัวตะเข้

ขับเรือ แล่นเรือ อยู่กับเรือ

ผมเดินทางมาที่คลองลำปลาทิว ข้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร จุดหมายอยู่ที่บ้านของชายชราคนหนึ่งที่ยังคงใช้เรือยนต์ในการดำเนินชีวิต ใช้เวลาไม่นานผมก็เจอบ้านไม้ริมคลองที่มียอ (อุปกรณ์ไว้จับปลา) อยู่หน้าบ้าน และมีที่จอดเรืออยู่ข้างๆ บ้านไม้

“หายากแล้วนะคนที่มีอายุยังใช้เรืออยู่ในบริเวณนี้” คำพูดจากชายชราผมดกดำ ไว้เคราสีขาว หรืออีกชื่อหนึ่ง ลุงแดง-สมชาย ทองทา ชาวประมงและคนขับเรือยนต์แทนรถยนต์วัย 66 ปี เล่าว่า คนแถวนี้หาปลาหาอะไรก็ใช้เรือ คนบ้านนี้ก็ขับเรือกันเป็นหมด ใช้เวลาไม่นาน แต่ก็มีบางบ้านที่การใช้รถเริ่มเข้ามา การใช้เรือเลยเริ่มน้อยลงไป ในตอนเรายังเด็กพอเริ่มขับได้แล้วก็ลองลงเรือขับใช้เวลาไม่นาน ส่วนรถยนต์ไม่เคยคิดจะลอง เราขับไม่เป็น (หัวเราะ) เพราะเราเคยชินกับเรือด้วย

“เมื่อก่อนเราก็ใช้เรือพายธรรมดานี่แหละ เพราะเงินทองเมื่อก่อนก็หายาก พอต่อมาก็มีเรือเครื่อง พอมีเรือเครื่องก็ไม่อยากพายแล้ว” ชายชราแนะนำเรือที่จอดอยู่ข้างบ้านให้ผมฟัง

“พูดถึงเรือเนี่ย พอตายเมื่อไรก็เลิกใช้เมื่อนั้น เรื่องรถเรื่องราก็ไม่มีโอกาสแล้วเพราะเรามีอายุมากแล้ว” ลุงแดงพูดไปยิ้มไป ก่อนที่จะชวนผมนั่งเรือเดินทางรับลมไปตามคลองลำปลาทิว

ชายชรากระตุกเชือกสตาร์ตให้เครื่องยนต์เริ่มทำงาน เครื่องยนต์ของเรือเริ่มส่งเสียงดัง พร้อมกับใบพัดเหล็กเริ่มหมุนปั่นสายน้ำ ลุงแดงประคองหางเรืออย่างมั่นคงพร้อมรับแรงดันจากเรือ ก่อนที่เรือจะเคลื่อนที่ไปกับกระแสน้ำในทิศทางที่ต้องการ ระหว่างที่แล่นเรือไปสักพักก็มีเสียงของรถที่แล่นผ่านสะพานตรงหน้าแข่งกับเสียงเครื่องยนต์ของเรือ

“ลุงเสียดายไหมที่ขับรถไม่เป็น”

“ถ้าถามว่าเสียดายไหม ก็มีลูกหลานเราที่ใช้รถแล้ว ก็ใช้ลูกหลานเรา ถ้าเราขับเองก็ลงน้ำหมด (หัวเราะ) แต่จริงๆเราก็เสียดายโอกาส ถ้ายังขับได้อยู่ก็อยากขับรถ” ลุงแดงบอกกับผมก่อนที่จะเลี้ยวไปตามทางแยกในริมคลอง

สายลมผสมกับละอองจากน้ำในคลองปะทะเข้ากับใบหน้า ผมมองดูบ้านเรือนที่อยู่ริมสองฝั่งคลองไปเรื่อยๆ บรรยากาศเงียบไปนานก่อนที่ลุงแดงจะเอ่ย “เรือมันก็เป็นพาหนะอย่างหนึ่ง มันสะดวกสบายกว่ารถ ไปได้เร็วกว่า เรือในความหมายที่มากกว่าพาหนะ มันก็เป็นเครื่องมือที่เราใช้ทำมาหากินนั่นแหละ” ชายชรากล่าว

ลุงแดงเคยประกอบอาชีพประมง อยู่กินและใช้ชีวิตบนเรือเพื่อจับปลาไปขายในตลาด หรือจะเดินทางไปที่ไหนไกลๆ เช่นจังหวัดนนทบุรี ก็จะใช้เรือในการเดินทางแทนรถ เพราะสะดวกกว่า

อนันต์ชัยไทยโบท พิษฟองสบู่สร้างคนสืบสานเรือไทย

นอกจากการเดินทาง การทำมาหากินแล้ว ลุงแดงยังบอกอีกว่าเรือยังถูกนำมาใช้งานในประเพณีเช่นการแข่งเรือ ที่จะใช้คนเข้าร่วมมากกว่า 60 คน

“ปรกติลุงใช้เรือเดินทางไปไหนมาไหน มันกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตลุงไปแล้ว” ลุงแดงกล่าวทิ้งท้ายก่อนที่จะชวนผมไปที่วัดมอญซึ่งอยู่ไม่ไกล

ระหว่างทางไปวัดชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงมีการสัญจรโดยใช้เรือบ้างประปราย บางคนใช้เรือในการส่งของ บางคนใช้เรือในการเก็บพืชผักตามลำน้ำ เรือยังคงเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตผู้คนละแวกนี้

สรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยและกาลเวลา แม้วันนี้ผู้คนใช้เรือกันน้อยลง แต่สำหรับใครหลายคน เรือยังมีความหมายสำหรับพวกเขา

มันอาจเป็นตัวแทนของความผูกพันระหว่างคนกับสายน้ำที่ยังหลงเหลือถึงทุกวันนี้