ผลงานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 13
งานภาพสารคดีดีเด่น
เรื่อง : อภิชยา ทองศรี
ภาพ : แพรวระวี รุ่งเรืองสาคร

“มีคนมาเที่ยวแล้วเขาถ่ายรูป แต่มันไม่ติดต้นไม้ มันติดแต่เทวดา”

ป้าเอ่ยด้วยน้ำเสียงปรกติราวกับพูดเรื่องลมฟ้าอากาศ แต่แววตาที่บ่งบอกว่าไม่ได้ล้อเล่น ทำให้คนฟังชะงักและรู้สึกขนลุกขึ้นมาเล็กน้อย

ใต้ร่มเงาของผู้เฒ่าอายุกว่า 100 ปี จามจุรียักษ์ให้ความร่มรื่นและเป็นอาหารตาแก่คนที่มาเยือน แต่ขณะเดียวกันก็มีมนต์แห่งความขลังล่องลอยอยู่ในบรรยากาศ อาจเป็นเพราะกลิ่นของธูปที่นักท่องเที่ยวแวะเวียนกันมาจุด ผ้าสียาว 12 เมตร ที่ต้องใช้มากกว่าสามคนในการผูกรอบลำต้น หรือเสียงของการเขย่ากระบอกเซียมซีในศาลที่ดังไม่ขาดสาย แม้ว่าจะไม่มีใบเซียมซีให้เก็บกลับไป

พูดถึงสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดไม่ไกลกรุงเทพฯ อย่างกาญจนบุรี ที่แรกที่นึกถึงคงเป็นสะพานข้ามแม่น้ำแคว หรือสุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรัก อาจเพราะในแบบเรียนวิชาสังคมพื้นฐาน กาญจนบุรีมักถูกพูดถึงในแง่ของประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียเป็นส่วนใหญ่

ดังนั้นครั้งแรกที่ได้ยินชื่อของต้นจามจุรียักษ์ เราจึงเกิดความสับสนเล็กน้อย และเผลอนึกไปถึงต้นจามจุรีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย แต่หลังจากได้ค้นหาข้อมูลและเก็บรูปของต้นไม้ใหญ่ไว้ในความทรงจำแล้ว เราก็ตัดสินใจได้ทันทีเลยว่าจะต้องไปดูให้ได้สักครั้ง

ด้วยระยะทางที่ไม่ไกลมากนัก ต้นจามจุรีหรือต้นก้ามปูยักษ์ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองของกาญจนบุรี ถ้าวัดจากศาลากลางของจังหวัดก็ขับเข้ามาเพียง 12 กิโลเมตรเท่านั้น แม้จะตั้งอยู่ในพื้นที่ของกองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 1 (กองผสมสัตว์) กรมการสัตว์ทหารบก แต่ที่นี่ก็จัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีคนแวะเวียนมาอยู่เสมอ

กลับสู่ธรรมชาติ

เราออกเดินทางในช่วงเช้าที่รถยังไม่เยอะ ใช้เวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ ก็เลี้ยวเข้าตัวเมืองจังหวัดกาญจนบุรี แต่เพราะไม่คุ้นเคยเส้นทาง จึงเลือกที่จะขับรถไปตามเส้นทางที่ Google maps แนะนำ วิ่งอยู่บนถนนคอนกรีตสองเลนที่ไม่มีเส้นตีแบ่งถนน ผ่านสถานที่ท่องเที่ยวแนะนำอย่างเขื่อนแม่น้ำแม่กลอง วัดถ้ำมุนีนาถ ก่อนจะตรงไปตามทางเรื่อยๆ

แม้ว่าแอปพลิเคชันแผนที่จะบอกเราว่าอีกไม่กี่กิโลเมตรจะถึงจุดหมาย แต่ตามเส้นทางที่เรามากลับไม่มีอะไรเลย ไม่มีทั้งป้ายบอกทาง บ้าน หรือแม้แต่รถคันอื่น ภาพข้างหน้าจะมองซ้ายหรือขวาก็เห็นแต่ป่า จนเกิดความวิตกว่าอาจจะหลงทางขึ้นมา ถึงอย่างนั้นก็ทำใจดีสู้เสือเชื่อ GPS ไปก่อน

สิ่งที่ปลอบประโลมความกังวลในตอนนี้มีเพียงทิวทัศน์ของสองข้างทาง ภาพป่าแสนอุดมสมบูรณ์ที่โอบล้อมถนน ปะทะกับแสงแดดอ่อนๆ ในยามเช้านั้นสวยงามราวกับภาพวาด ผืนป่ามีต้นไม้ใหญ่ประดับอยู่ข้างหลัง แทรกด้วยต้นตะแบกที่ออกดอกสีม่วงอมชมพูอยู่ไกลๆ ส่วนพื้นที่ข้างทางที่ติดกับถนนก็มีต้นไม้เล็กที่ประดับด้วยดอกไม้สีขาว เกิดความคิดขึ้นมาว่าอาจจะโชคดีแล้วที่ได้เห็นทัศนียภาพมหัศจรรย์แบบนี้

แต่สุดท้ายป้ายบอกทางก็ปรากฏขึ้นบนเส้นทาง เรารู้สึกใจชื้นขึ้นและขับไปตามทางนั้นต่อ จนในที่สุดก็เลี้ยวเข้ามาถึงจุดหมาย สิ่งแรกที่สายตามองเห็นคือพุ่มไม้ใหญ่สีเขียวชอุ่ม จัดว่าใหญ่กว่าที่เคยเห็นมาทั้งชีวิตเสียอีก ก่อนจะไล่มองลงไปเห็นโคนต้นไม้แข็งแรงขนาดใหญ่ ชวนให้รู้สึกตื่นเต้นขึ้นมาทันที เรารีบขับรถไปจอดตรงลานดินด้านข้างก่อนจะลงมาสำรวจ

ที่เที่ยวที่มีเพียงต้นไม้หนึ่งต้น

การยืนคุยกับพ่อค้าแม่ขายแถวนั้นทำให้ตระหนักได้ว่า Google maps พาเราขับอ้อม แทนที่จะใช้เส้นทางปรกติที่ชาวบ้านแถวนั้นใช้ คือการเข้าทางประตูหน้าที่เป็นเขตของกองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 1 และมีป้ายบอกทางชัดเจน แอปพลิเคชันตัวนี้พาเราไปวนเข้าจากทางด้านหลัง ซึ่งเป็นทางที่ไม่ค่อยมีคนผ่าน

หากคิดในแง่ดี การหาทางเข้าจากทางที่ไม่ค่อยมีคนมา ทำให้รู้สึกเหมือนกำลังหาสมบัติที่ซ่อนไว้ และทำให้ความประทับใจที่มีต่อต้นไม้ยักษ์ต้นนี้มีมากขึ้นอีก (แม้การเข้าทางด้านหน้าจะใกล้กว่ามากก็ตาม)

หลังเดินสำรวจ สิ่งที่สะดุดตาที่สุดคือลำต้นที่ปกคลุมด้วยเปลือกไม้สีน้ำตาลเข้มขนาดประมาณ 10 คนโอบ เมื่อมองขึ้นไปจะเห็นกิ่งก้านไม้ใหญ่ที่ขนาดจะพอๆ กับลำต้นของต้นไม้ทั่วไปอยู่แล้ว แต่ละกิ่งยังแยกสาขาออกไปทุกทิศจนเกิดเป็นพื้นที่ร่มเงาขนาดใหญ่ ส่วนตรงโคนลำต้นมีแถบผ้าเจ็ดสีผูกอยู่หลายชั้น รากใหญ่แผ่ออกไปรอบข้าง กินวงกว้างไม่แพ้กิ่งเขียวชอุ่มด้านบน

นอกจากต้นไม้ใหญ่ สถานที่แห่งนี้ก็มีเพียงร้านค้าเล็กๆ อีกห้าถึงหกร้านตั้งเรียงเป็นแถวยาว และถัดจากร้านค้ามาเป็นเพิงสำหรับนั่งพัก ข้างกันเป็นศาลเจ้าแม่จามจุรี และตรงพื้นที่ถัดออกไปด้านหลังมีบ้านอยู่สามหลัง พร้อมห้องน้ำที่ทหารจัดทำไว้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว

ว่ากันตามตรง เดินไม่ถึง 5 นาทีก็เห็นได้ครบทุกอย่างแล้ว

อย่างไรก็ตามความโชคดีอยู่ที่เรามากันในวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งนอกจากจะมีนักท่องเที่ยวจากหลายถิ่นที่อยู่มากันมากมายแล้ว ยังมีกลุ่มทหารจำนวนหนึ่งกับม้าอีกสองสองตัวคอยให้บริการนักท่องเที่ยวที่ต้องการขี่ม้าเล่นรอบต้นไม้และถ่ายรูปด้วย โดยมีค่าใช้จ่ายเพียง 50 บาท

คนส่วนใหญ่จะมาพร้อมกล้อง ไม่ว่าจะกล้องคอมแพกต์ กล้องโปรขนาดใหญ่ หรือใช้ไอโฟนต่อกับไม้เซลฟี ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็เจอกลุ่มวัยรุ่นและคู่รักยืนถ่ายรูปตามมุมต่างๆ

ธารณา พาณิชวัฒนาเจริญ นักท่องเที่ยวที่เราพูดคุยด้วยกล่าวว่า เธอรู้จักต้นจามจุรียักษ์จากละคร เห็นว่าบรรยากาศดีและอยู่ไม่ไกลกรุงเทพฯ มากนักจึงเลือกมาเที่ยวที่นี่ “หนูเห็นจากเรื่อง O-Negative ฉากที่นางเอกมากับพระเอก ก็คิดว่าสวยดีเลยลองมาตามรอยถ่ายรูป”

นอกจากละคร ที่ตรงนี้ยังถูกใช้เป็นสถานที่ในการถ่ายทำโฆษณาและมีสื่อมาทำข่าวหลายสำนักเช่นกัน เสกสรรค์ เพชรดี ชาวบ้านในพื้นที่เล่าให้ฟังว่า โฆษณาของเหล้ารีเจนซี่ก็มาถ่ายทำที่นี่ และเคยมีนักข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐถ่ายรูปไปลง หลังจากนั้นข่าวก็กระจายไปทั่วและเป็นผลให้นักท่องเที่ยวกลุ่มวัยรุ่นและครอบครัวมากันมากขึ้น

“คนเห็นว่าลักษณะมันคล้ายกับต้นบอนไซ ใครมาก็บอกว่าสวยมาก” ลุงเสกสรรค์เล่าด้วยความภูมิใจ

รายละเอียดในจามจุรี

แม้จะมีคนมาท่องเที่ยวไม่ขาดสาย และเป็นสถานที่ถ่ายทำละครและรายการต่างๆ แต่ข้อมูลและประวัติของต้นจามจุรียักษ์ต้นนี้กลับมีน้อยเหลือเกินในความคิดเรา

เมื่อลองถามกลุ่มทหารที่เป็นคนดูแลพื้นที่และให้บริการม้าขี่แก่นักท่องเที่ยว คำตอบที่ได้กลับมามีเพียงหน้าตาที่งงงวยและการส่ายหน้าพลางยิ้มขอโทษ ไม่แปลกนักเพราะทหารหลายคนเพิ่งย้ายมาอยู่ในพื้นที่ได้ไม่กี่ปีและไม่รู้รายละเอียดมากนัก ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็ช่วยกันชี้ไปที่ป้ายสีน้ำตาลเข้มที่อยู่ใต้เพิงข้างศาลให้เรา

บนป้ายปรากฏตัวหนังสือสีขาวเขียนยาวเต็มแผ่น สรุปโดยสังเขปได้ว่า ต้นจามจุรียักษ์มีอายุมากกว่า 100 ปี อ้างอิงจากการสอบถามผู้สูงอายุในพื้นที่ซึ่งมีอายุ 95 ปี ว่าตั้งแต่เขาหนุ่มๆ ต้นจามจุรีก็โตมากแล้ว นอกจากนั้นก็เป็นลักษณะทั่วไปที่แสดงให้เห็นถึงความใหญ่โตของต้นไม้ เช่น เส้นผ่าศูนย์กลางร่มเงาหรือเส้นรอบวงลำต้น และอีกส่วนเป็นข้อมูลจำเพาะของพันธุ์ไม้ เช่น ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อวงศ์ ลักษณะของใบ ที่อ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจเท่าไรนัก

ต้นใหญ่ที่มีความศักดิ์สิทธิ์

จรินทร์ สำแดงเดช คือคุณป้าที่ขายน้ำมะพร้าวอยู่ในเพิงข้างต้นไม้ใหญ่ และปลูกบ้านห่างออกไปไม่ถึง 10 เมตร พยายามอธิบายความศักดิ์สิทธิ์ของจามจุรีต้นนี้ให้เราฟังหลังพูดคุยกันได้สักพัก

“ขอเรื่องงานแล้วก็ขอหวย แล้วแต่ว่าใครจะมาขออะไรเขา ได้หมด” ป้าจรินทร์กล่าวด้วยน้ำเสียงเป็นกันเอง

คนไทยอยู่คู่กับวัฒนธรรมการนับถือต้นไม้ใหญ่มายาวนาน ในจังหวัดหนึ่งมักจะมีต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์อย่างน้อยหนึ่งต้นที่มีผู้ศรัทธาวนเวียนกันมาขอเลขเด็ดประจำงวดกันเสมอ ต้นจามจุรียักษ์แห่งจังหวัดกาญจนบุรีต้นนี้ก็เป็นเสมือนต้นแห่งโชคลาภที่คนแวะเวียนเข้ามาบนบานและขอเลขกันเรื่อยๆ ทั้งยังโด่งดังเพราะคนเริ่มบอกกันปากต่อปากว่าที่นี่คนมาขอเลขแล้วถูกกันเยอะ

ป้าจรินทร์เล่าให้ฟังว่า คนส่วนใหญ่นิยมมาขอหวยกัน ซึ่งวิธีการก็ไม่ยาก เพียงแค่ไปไหว้ตรงศาลเจ้าแม่จามจุรี จุดธูปเก้าดอก แล้วเขย่ากระบอกเซียมซี (ซึ่งคนแถวนี้เรียกว่า “ติ้ว”) เลขอะไรหล่นลงมาก็เอาเลขนั้นไปแทงหวย ส่วนวิธีแก้บน ป้าจรินทร์กล่าวว่าใช้ได้ทุกอย่าง แล้วแต่ว่าเราพูดไว้ว่าจะเอาอะไรมาให้เขา แต่เจ้าแม่จะชอบชุดไทยสวยๆ เป็นพิเศษ

ทั้งนี้ทั้งนั้นการขอเลขกับต้นจามจุรียักษ์ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน เพราะคนที่ขอเลขไปแล้วถูกมักจะเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไกล สำหรับแม่ค้าหรือชาวบ้านแถวนี้ป้าจรินทร์บอกว่าเจ้าแม่ไม่ให้ ให้ขายของต่อไป

“บางคนบอกว่าเจ้าแม่ไปบ้านเขาเลยนะ ไปเข้าฝันบอกให้มาเที่ยวที่นี่ จะมีคนนั่งรออยู่ เป็นเด็กกับคนแก่สองคน แล้วเขาก็ให้ลูกสาวมาขอเลข ปรากฏว่าถูกไป 2 แสนกว่าบาท เมื่อ 2 วันที่แล้วเขายังมาแก้บนอยู่เลย” ป้าจรินทร์เล่าด้วยรอยยิ้ม

คล้ายว่าป้าจะเริ่มเครื่องติด เธอเล่าเรื่องคนที่มาขอแล้วได้ดังหวังคนแล้วคนเล่า ทั้งเรื่องหวย เรื่องงาน และเรื่องอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ของรุกขเทวดาที่สถิตในต้นจามจุรียักษ์

เรื่องที่ 1 “มีทหารคนหนึ่งเขามาของานที่นี่ ตั้งแต่ยศเป็นนายสิบ เขาก็มาขอเรื่อยๆ ทีละขั้นจนทุกวันนี้ได้เป็นยศใหญ่ จนเขาเลี้ยงโต๊ะจีนเลยนะ”

เรื่องที่ 2 “เด็กกรุงเทพฯ คนหนึ่งเขาทำงานอยู่ธนาคาร มาเอากุมารทองที่นี่ไปเลี้ยง ให้อยู่บ้านเขาทุกวัน ตอนแรกเขาแค่มาไหว้ศาล แต่กุมารทองก็ตามเขาไปถึงบ้านเขาเลยเลี้ยงไว้ ทุกวันนี้เวลากุมารทองอยากกลับมาที่ต้นจามจุรี ผู้หญิงคนนั้นก็จะพามา แต่ส่วนมากเขาจะมาตอนทำบุญศาลประจำปี”

และเรื่องที่ 3 “แฟนป้าเจอประจำ ตอนไม่สบายเขาจะช่วยไว้ เมื่อก่อนเราไปขุดหินบนเขา แฟนก็โดนของมาจากบนเขา ก็ได้ต้นไม้ช่วยไว้ เพราะเราต้องผ่านเขาเข้ามาบ้านเรา”

ลุงเสกสรรค์ที่นั่งอยู่ในวงด้วยกันก็ไม่น้อยหน้า เล่าประสบการณ์ของตัวเองเสริมทับ “ลุงบนครั้งแรกว่าอยากจะให้ลูกสอบงานราชการได้ แล้วก็ได้จริงๆ ลุงเลยเอาผ้าสีมาผูก ปัจจุบันลูกลุงจะเกษียณแล้ว”

และ “เคยมีแม่ค้าจากตลาดวงเวียนใหญ่มาเยี่ยมชม มากันหนึ่งคันรถบัส เขาเห็นข่าวว่ามีคนขอหวยเคยถูกก็เลยมาขอบ้าง แล้วก็ถูกจริงๆ สามตัวบนเลยด้วย แถมถูกกันทั้งคันรถบัส ได้เป็นเงินไม่รู้กี่ล้าน หลังจากนั้นเขาก็มาแก้บนกัน จ้างนางรำมาจากกรุงเทพฯ ให้มารำแก้บนถวาย” ลุงเสกสรรค์เล่าอีกเรื่องทิ้งท้าย

ชำนาญ สนะพันธุ์ ชาวบ้านที่ดูแลศาลรับไม้มาเล่าต่อ ลูกชายของเขาเคยพูดไม่ดีกับต้นไม้ เลยทำให้ประสบอุบัติเหตุเข้า “ลูกชายลุงเคยพูดเล่นว่า ต้นไม้ต้นนี้ถ้าโค่นไปขายคงได้เงินหลายบาท หลังจากนั้นเขาขับรถกลับไปถึงบ้านก็เกิดรถคว่ำ แต่เขาไม่เป็นไรนะ ทีนี้แม่เขาเป็นห่วงเลยต้องวนรถกลับมาขอโทษแทนลูก”

ยิ่งพูดคุยเรายิ่งพบว่าแต่ละคนมีเรื่องเล่าของตัวเอง เรื่องเหล่านี้นอกจากจะแสดงความนับถือและความเชื่อที่มีต่อต้นจามจุรียักษ์แล้ว ยังแสดงให้เห็นความสัมพันธ์และความสำคัญที่ต้นไม้มีต่อชาวบ้านในละแวกนี้ด้วย

แน่นอนว่าหลังจากที่มีการบอกปากต่อปากว่าต้นจามจุรีแห่งนี้ศักดิ์สิทธิ์และสามารถขอเลขได้ ก็ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางกันมามากมาย ผลดีก็ไม่ได้ตกอยู่ที่ใครนอกจากชาวบ้านเอง ลุงเสกสรรค์เล่าให้ฟังว่ากลุ่มพ่อค้าแม่ค้าเพิ่งมาวางขายของกันไม่กี่ปีมานี้ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่ไทยรัฐลงข่าว และนักท่องเที่ยวมากันสม่ำเสมอไม่เว้นวันธรรมดา ทำให้ชาวบ้านที่นี่สามารถขายของได้ทุกวัน

นอกจากจะเป็นการสร้างรายได้ให้ชาวบ้านแล้ว คนซื้อยังได้ประโยชน์ด้วย เพราะของส่วนใหญ่ที่วางขายเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ถ้าไม่ปลูกเองก็ไปรับมาจากสวนของคนที่รู้จัก ทำให้ได้สินค้าราคาถูก เพราะไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางให้หลายต่อ

เริ่มต้นแห่งศรัทธา

ความเชื่อเรื่องการบูชาต้นไม้ใหญ่อาจจะดูงมงาย แต่ก็เกี่ยวพันกับความเชื่อทางศาสนาและการขัดเกลาพฤติกรรมทางสังคมเช่นกัน

งานวิจัยของ ชนินทร์ ผ่องสวัสดิ์ เรื่อง “คติความเชื่อเกี่ยวกับการบูชารุกขเทวดาในสังคมไทยมีอิทธิพลมาจากศาสนาฮินดูหรือพุทธศาสนากันแน่?” ให้ข้อมูลว่า การบูชารุกขเทวดาในสังคมไทยนั้นมีต้นกำเนิดมาจากการบูชาผี แต่เมื่อเวลาผ่านไปความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาฮินดูและพุทธได้เข้ามามีอิทธิพลในสังคม จึงมีการผนวกผีให้กลายเป็นเทพหรือเทวดาไปโดยปริยาย จนคติความเชื่อเรื่องพุทธ พราหมณ์ ผี ถูกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันจนแยกไม่ออก

ประเด็นสำคัญคือความเชื่อเรื่องการบูชาเทวดามีมาตั้งแต่ก่อนที่พุทธศาสนาจะเผยแผ่เข้ามาในไทยอีก

แม้ความเชื่อจะมีมานานแล้ว แต่เมื่อพยายามถามถึงที่มาของการนับถือและไหว้ต้นจามจุรียักษ์ต้นนี้ ผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าไรนัก แม้แต่ชาวบ้านในละแวกก็ไม่สามารถหาคำตอบได้ “ผู้รู้เก่าๆ เขาไม่อยู่แล้ว” ลุงเสกสรรค์ว่าไว้อย่างนั้น

แต่ที่แน่ชัดคือ จามจุรียักษ์อยู่ด้วยลำต้นของตัวเองมาแต่ต้น ไม่เคยมีใครเข้าไปยุ่ง ปล่อยให้อยู่และดูแลตัวเองตามธรรมชาติ แต่ว่าสิ่งที่ได้กลับออกมาดีกว่าที่คาดไว้ โดยปรกติแล้วกิ่งของต้นจามจุรีจะเปราะและหักง่าย แต่สำหรับต้นจามจุรียักษ์ต้นนี้ ลุงเสกสรรค์บอกว่าอึดมาก แม้กิ่งจะแห้งขนาดไหนก็ไม่ยอมหล่น

“ที่นี่เวลาลมมาทุกอย่างพังหมด ร้านค้านี่พอดีเลย แต่เขาไม่หักนะ ไม่มีกิ่งหักเลย” ป้าจรินทร์เสริม

สมัยก่อนตอนที่ต้นจามจุรียักษ์ยังไม่กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว บริเวณรอบต้นไม้ยังรกไปหมด ถนนยังไม่ตัดเข้ามาด้วยซ้ำ ส่วนถนนลาดยางที่ใช้กันอยู่ตอนนี้เพิ่งได้งบจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเมื่อปี 2549 แต่ลุงชำนาญ ผู้ดูแลศาลเจ้า เล่าให้ฟังว่า ในอนาคตรถอาจจะเข้ามาไม่ได้ เพราะรากและกิ่งของต้นไม้จะแผ่ออกไปเรื่อยๆ

“ได้ยินแว่วๆ ว่าต่อไปทหารเขาจะให้จอดรถอีกฝั่ง และทำสะพานข้ามมาตรงนี้” ลุงชำนาญกระซิบ

คำพูดของลุงแสดงถึงความพยายามของชาวบ้านที่จะอยู่อย่างไม่รบกวนธรรมชาติ ทำให้นึกไปถึงห้องน้ำที่ทหารสร้างไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว แม้จะมีการต่อท่อประปาเข้ามา แต่หากดูให้ละเอียด จะเห็นว่าการวางท่อประปาจะทำบริเวณหน้าดินและหลีกเลี่ยงบริเวณรากเสมอ แม้จะเป็นรายละเอียดเล็กๆ แต่ก็ทำให้เห็นถึงความใส่ใจที่มีต่อต้นไม้

ใช้ความเชื่อรักษาโลก

สุจิตต์ วงษ์เทศ เคยแสดงทัศนะในบทความที่ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ไว้ว่า การนับถือต้นไม้ใหญ่แต่ดั้งเดิมเป็นวิธีที่ช่วยรักษาธรรมชาติ โดยตอนหนึ่งในบทความเขียนไว้ว่า

“การนับถือต้นไม้ใหญ่ หรือธรรมชาติอื่นๆ มีข้อห้ามว่าการลบหลู่ล่วงล้ำสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะทำให้เกิดโชคร้ายแก่ตัวผู้กระทำและอาจหนักถึงต่อชุมชน ความเชื่อเหล่านี้จึงนับเป็นการควบคุมสังคมให้อยู่ในกรอบระเบียบที่เหมาะสมไปด้วย ทำให้คนไม่กล้าตัดไม้ ไม่ทำลายแหล่งน้ำ และไม่ทำอะไรที่จะเป็นการล่วงเกินสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา”

ตรงกับความเห็นในงานวิจัยของ ชนินทร์ ผ่องสวัสดิ์ ซึ่งมองว่าการบูชารุกขเทวดาเป็นความเชื่อที่ช่วยในการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ให้อยู่คู่กับสังคมมนุษย์สืบไป ใช้วิธีการอ้างสิ่งลึกลับเพื่อสร้างความกลัวในสังคม เป็นอุบายแยบยลที่บรรพบุรุษใช้เป็นเกราะชั้นดีในการพิทักษ์ผืนป่า

การใช้อุบายที่เล่นกับความเชื่อของคนยังมีมาถึงปัจจุบัน อย่างช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาก็มีการส่งข้อความต่อกันไปว่า

“ห้ามให้เด็กอ่อนกว่า 6 เดือนกินกล้วย ไม่งั้นนางตานีจะคิดว่าเป็นลูกและพาไปอยู่ด้วย”

ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากความเชื่อของคนโบราณที่ชอบให้เด็กอ่อนกินกล้วยเป็นอาหารเสริม แต่ความจริงแล้วกล้วยนั้นย่อยยาก และทำให้ลำไส้อุดตันจนมีเด็กเสียชีวิตมาหลายคนแล้ว ด้วยแนวคิดแบบหนามยอกต้องเอาหนามบ่ง จึงมีคนออกอุบายเพื่อสร้างความกลัวและทำให้คนหยุดพฤติกรรมดังกล่าว

ในทำนองเดียวกัน ความใส่ใจต่อต้นจามจุรียักษ์ของชาวบ้านก็เกิดจากความกลัวในพลังที่มองไม่เห็น

ความเชื่อเรื่องรุกขเทวดาทำให้คนเกิดความยำเกรงต่อธรรมชาติ และช่วยต่อชีวิตให้พื้นที่ป่าที่กำลังลดลง การใช้ความกลัวเรื่องผีสางอาจจะเป็นวิธีแบบไทยๆ ที่ได้ผลที่สุดในการขัดเกลาพฤติกรรมของคน

ภาพของสังคมเมืองแบบทุนนิยมอาจจะดูศิวิไลซ์ตามมาตรฐานตะวันตก แต่มันคงจะขาดสีสันน่าดูหากขาดพื้นที่แห่งความเชื่อและความศรัทธา

Giant believe

หลายครั้งเราอาจพบผ้าสีถูกพันไว้ตามสถานที่ต่างๆ ครั้งนี้ต่างออกไป เป็นครั้งแรกที่อยากรู้ถึงความเป็นไปของผ้าสีที่ถูกพันไว้ที่ต้นจามจุรียักษ์แห่งนี้ เหมือนมีมนต์ขลังห้อมล้อมสถานที่แห่งนี้อยู่ ผู้คนต่างมาผูกผ้าสีไว้ด้วยเหตุผลต่างๆ ที่ลำต้นขนาดใหญ่ประมาณ 10 คนโอบ โดยส่วนใหญ่จะมาขอหวย แก้บน หรือขอขมาเจ้าแม่จามจุรี ตามคำบอกเล่าของคุณลุงชำนาญ สนะพันธ์ ผู้ดูแลศาลเจ้าในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ซึ่งในช่วงวันหยุดจะมีทหารนำม้ามาให้นักท่องเที่ยวได้ขี่รอบต้นจามจุรีในราคา 50 บาทต่อ 1 รอบ จึงทำให้ได้รู้ว่าใกล้ๆ นี้มีการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 1 (กองผสมสัตว์) กรมการสัตว์ทหารบกตั้งอยู่ ซึ่งบริเวณโดยรอบนี้ก็เป็นพื้นที่ของทหารทั้งหมด รวมทั้งการสร้างศาลเจ้าแม่จามจุรีที่อยู่ไม่ไกลจากกันนัก ให้คนได้สักการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อสำรวจโดยรอบจะเห็นทางฝั่งตู้ที่ใส่ของเล่นนั้นเป็นส่วนของการไหว้กุมารทอง ใช้ธูปห้าดอก และส่วนของด้านขวาสำหรับไหว้เจ้าแม่ ซึ่งผู้ที่มาไหว้หรือผู้ที่ได้รับเลขเด็ดไปก็จะนำชุดไทยมาถวายท่าน ใช้ธูปเก้าดอก ลุงชำนาญเล่าให้ฟังถึงรายละเอียดของศาล รวมทั้งเรื่องแปลกๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับต้นจามจุรีมากมาย เช่น มีคนพูดจาไม่ดีเกี่ยวกับต้นจามจุรี แล้วตอนขากลับรถก็คว่ำ จึงรีบกลับมาขมาเจ้าแม่ หรือสัปดาห์ก่อนมีผู้ถูกหวย 2 แสนบาทจากการขอเลขเด็ดที่นี่ และมีจุดสำคัญอีกอย่างหนึ่งนั่นคือเซียมซี ที่ไม่มีกระดาษให้ลุ้นผลเหมือนที่อื่นๆ มีแค่ตัวเลข ประชาชนจึงมาขอเลขเด็ดที่นี่ตามการบอกเล่าต่อๆ กัน ยิ่งสอบถามข้อมูลก็ดูเหมือนว่าจะมีสิ่งน่าสนใจโผล่ขึ้นมาเรื่อยๆ ภาพอลังการที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าก็อาจเป็นเพียงใบเบิกทางที่นำพาไปเจอกับเรื่องราวอภินิหารที่ไม่เคยรู้มาก่อน