เมื่อ “ต้าถัง” ลงมาฟังเสียงประชาชน เขื่อนปากแบงบนแม่น้ำโขง
อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


เรือลำน้อยแล่นผ่าน “ดอนเทด” ที่ตั้งเขื่อนปากแบง ห่างชายแดนเชียงรายเข้าไปในลาว ๙๗ กิโลเมตร การสร้างเขื่อนจะทำให้วิถีชีวิต และการคมนาคมในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าเรือท่องเที่ยวหรือเรือบรรทุกสินค้า แม้ว่าสันเขื่อนจะถูกออกแบบให้มี “ช่องทางเดินเรือ” ก็ตาม (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

วันจันทร์ที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๑ น่าจะเป็นอีกวันประวัติศาสตร์ของชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำโขง เมื่อตัวแทนบริษัทต้าถัง (ลาว) เขื่อนไฟฟ้าปากแบง จำกัด ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานจากจีนผู้ได้รับสัมปทานสร้างเขื่อนปากแบงในลาว เดินทางมารับฟังความคิดเห็นชาวบ้าน ณ โฮงเฮียนแม่น้ำของ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทยักษ์ใหญ่ลงมาพบปะพูดคุยกับชาวบ้านด้วยตนเอง โดยมีเครือข่ายประชาชนไทย ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขง นักวิชาการ องค์กรต่างๆ และสื่อมวลชนเข้าร่วมราว ๑๕๐ คน

เขื่อนปากแบงเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขงส่วนที่ไหลอยู่ในเขตแดนลาว ห่างจากชายแดนเชียงรายประมาณ ๙๗ กิโลเมตร

ลำพังการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงทางตอนบนในจีน แม้อยู่ห่างไทยหลายร้อยกิโลเมตร ยังก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อแม่น้ำโขงมาตลอด ๒ ทศวรรษ ไม่ว่าระดับน้ำที่ขึ้นลงไม่เป็นเวลา ปริมาณปลาและสัตว์น้ำน้อยลง คราวนี้มีโครงการสร้างเขื่อนห่างจากชายแดนไม่ถึงร้อยกิโลเมตร ย่อมสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้คนที่อาศัยอยู่ริมโขงเป็นธรรมดา

ถึงแม้ว่าระบบผลิตไฟฟ้าของเขื่อนปากแบงจะเป็นแบบน้ำไหลผ่าน (Run off river) ไม่มีการสร้างอ่างเก็บน้ำ แต่ก็ยังมีคำถามตามมามากมาย เช่นการสร้างคันคอนกรีตกั้นแม่น้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อระดับน้ำหรือไม่ น้ำจะเอ่อมาถึงเขตแดนไทยไหม การเดินทางของปลาแม่น้ำโขงที่มีรายงานว่าอาจสูงถึง ๓ ล้านตัวต่อชั่วโมง จะมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร

หรือจะนำวิธี “บันไดปลาโจน” ที่เคยล้มเหลวมาแล้วกับเขื่อนก่อนหน้ามาใช้อีกครั้ง

ในเอกสารประกอบโครงการเขื่อนปากแบง ไฟฟ้าที่ได้จะถูกขายให้ไทยราว ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเก็บไว้ใช้เองในลาว

พี่น้องไทยริมโขงคงไม่รังเกียจไฟฟ้า ไม่ได้ต่อต้านการพัฒนา ยินดีถ้าผู้ด้อยโอกาสจะมีโอกาสเข้าถึงไฟฟ้ามากขึ้น แต่คนกลุ่มนี้เองที่รู้ดีที่สุดว่าแม่น้ำโขงมีความสำคัญอย่างไร รู้ดีว่าแม่น้ำนานาชาติสายนี้ไม่ได้เป็นของ “ใคร” หรือ “ประเทศใด” ประเทศหนึ่ง

การพัฒนาแม่น้ำโขงจึงต้องคำนึงถึงองค์ความรู้เพื่อให้เป็นหลักฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน

บรรยากาศ “การเจรจาพูดคุย กรณีเขื่อนปากแบง ครั้งที่ ๑” เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๑ ณ โฮงเฮียนแม่น้ำของ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีผู้เข้าร่วมประมาณ ๑๕๐ คน ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ที่ตัวแทนบริษัทต้าถัง (ลาว) เขื่อนไฟฟ้าปากแบง จำกัด ผู้ได้รับสัมปทานสร้างเขื่อนปากแบงเดินทางมารับฟังความคิดเห็นชาวบ้านในพื้นที่ไทยด้วยตนเอง

ตัวแทนหลายฝ่ายทั้งไทย ลาว จีน ถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก มีทั้งตัวแทนกรมนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน สปป.ลาว ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทที่ปรึกษา Norconsult นักวิชาการ รวมทั้งกลุ่มรักษ์เชียงของ

ก่อนหน้าการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ที่ชื่อว่า “การเจรจาพูดคุย กรณีเขื่อนปากแบง ครั้งที่ ๑” ตัวแทนชาวบ้านได้รับการติดต่อมาว่าจะเป็นการประชุมร่วมกับตัวแทนบริษัทจากจีน แต่ก็พบว่ามีตัวแทนของรัฐบาลลาวเข้าร่วม คือ ดร.จันแสวง บุนนอง อธิบดีกรมนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน สปป.ลาว รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทที่ปรึกษา Norconsult

ในช่วงหนึ่งของการเจรจา ครูตี๋ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของแลกเปลี่ยนว่า “เรื่องเขื่อนเป็นปัญหา เป็นประเด็นกันมาโดยตลอด ทางคุณก็บอกว่าเป็นพลังงานสะอาด แต่จริงๆ ยุคนี้เราก็เข้าใจกันอยู่ว่ามันมีผลกระทบ ประเด็นที่ผมเป็นกังวลคือเรื่องการระบายตะกอน กับการอพยพของปลา ถ้าหากมีการสร้างเขื่อนทางปลาผ่านมันจะเอื้อต่อการผ่านของปลาจริงมั๊ย อย่างที่เขื่อนไซยะบุรีก็ต้องมีการออกแบบใหม่ ผลสำเร็จหรือสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับไหนก็ยังตอบไม่ได้ ยังเป็นปัญหาที่ค้างกันอยู่”

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงแง่มุมความคุ้มค่ากับบริษัทต้าถัง

“เขื่อนปากแบงผลิตไฟฟ้าประมาณ ๙๐๐ เมกกะวัตต์ ใช้เวลาสร้าง ๕-๖ ปี ลงทุนประมาณ ๒,๔๐๐ ล้านดอลล่าร์ แต่ถ้าต้าถังมองพลังงาน ที่สะอาดยิ่งกว่าพลังงานน้ำ นั่นคือแสงอาทิตย์ ผมอยากยกตัวอย่างให้เห็นที่อาบูดาบีเขาผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ ๑,๒๐๐ เมกกะวัตต์ ใช้เวลาสร้างแค่ ๒ ปี ลงทุนแค่ ๙๐๐ ล้านดอลล่าร์ การลงทุนตอนนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน ความคุ้มค่าเรื่องเขื่อนเมื่อก่อนอาจจะมี แต่ในอนาคตเรื่องนี้ผมว่าเป็นใหญ่ที่ต้องมาคิดว่าคุ้มค่าขนาดไหน”
นอกจากนี้วงประชุมยังแลกเปลี่ยนว่าการพัฒนาพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงไม่สามารถพูดคุยกันทีละเขื่อนอีกต่อไป แต่จะต้องมองเขื่อนชุดทั้งหมดในแม่น้ำโขงตอนล่างประมาณ ๑๑ โครงการ ทั้งเขื่อนปากแบง เขื่อนสานะคาม เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนดอนสะโฮง และเขื่อนอื่นๆ ที่จะตามมาอีกมากมาย

แม้ผลิตไฟฟ้าแบบน้ำไหลผ่าน (Run off river) ไม่มีอ่างเก็บน้ำ แต่เขื่อนปากแบงจะทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนสูงขึ้น โดยไม่มีความชัดเจนว่าน้ำจะสูงมาถึงเขตไทยหรือไม่ จากภาพเป็นบริเวณแก่งผาได ชายแดนไทย พื้นที่สุดท้ายที่แม่น้ำโขงหายเข้าไปในเขตแดนลาว (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

แม้การพูดคุยครั้งนี้จะเป็นไปด้วยมิตรภาพ แต่ตัวแทนผู้เข้าร่วมทางฝั่งไทยยืนยันว่านี่ไม่ใช่การยินยอม

ดังแถลงการณ์หลังประชุมสิ้นสุดลงว่า “การเจรจาครั้งนี้เป็นเพียงครั้งแรก และไม่ใช่การยินยอมใดๆ เราเห็นว่าจำเป็นต้องเอาความรู้ การเก็บข้อมูล วิจัย นำมาประกอบการตัดสินใจ เราต้องมีความรู้เพื่อการตัดสินใจในทรัพยากรของภูมิภาค สำหรับกรณีของเขื่อนปากแบงนั้นเราพบว่าการศึกษาที่ใช้อ้างอิง เป็นข้อมูลเก่าที่บางชิ้นเก่ากว่า ๑๕ ปี จึงไม่เพียงพอที่จะตัดสินใจดำเนินโครงการ”

ด้วยเหตุนี้การประชุมเจรจากันครั้งต่อๆ ไปจึงสำคัญ เพื่อสร้างองค์ความรู้ เอาความรู้เป็นผู้นำ

เมื่อทุกฝ่ายเริ่มจะตระหนักแล้วว่าแม่น้ำโขงไม่ได้เป็นของใครหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง

เก็บตกจากลงพื้นที่


tei

ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

อีกภาคหนึ่งของ “เจ้าชายหัวตะเข้” นักเขียนสารคดีที่เรียนจบมาด้านวิทยาศาสตร์ สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และกีฬาเป็นพิเศษ