เรื่องเด่นประจำ สารคดี ฉบับที่ 395 (พลิกหลังลายผ้าทอกลางไพร)
“ผ้าทอจอมป่า”
ทรัพย์-ศิลป์ทางปัญญาชาวไพร
อุ้มผางในผืนป่าตะวันตกกลายเป็นแหล่งรวมตัวของดีไซเนอร์
ทั้งนักปลูกฝ้าย ปั่นด้าย ดึงเส้นด้าย ย้อมด้าย ทอผ้า ไปจนนักออกแบบลายผ้า
คนรักงาน craft ได้เห็นเป็นตาวาวให้กระบวนการพึ่งตนแบบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
คนรักวิถี green ต้องทึ่งในศาสตร์-ศิลป์การประยุกต์ดิน น้ำ ป่า แบบพอเพียง
เสน่ห์ยังอยู่ที่งานทุกชิ้นล้วนมีความเป็น “กะเหรี่ยง” ผสมอยู่ทุกมุมผ้า เป็นหลักฐานว่าชีวิตและการทอผสานกลืนเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งใช้ชีวิตอย่างไรก็ถ่ายทอดลงบนผืนผ้านั่นละที่ทำให้เรื่องราวของคนป่าเชื่อมโยงให้คนเมืองเข้าถึงได้ไม่ยาก
ยิ่งกว่านั้นข้างหลังผ้าล้วนเป็นชีวิตที่งดงามในแบบตนไม่ต่างจากงานศิลปะชิ้นหนึ่ง
บนโลกที่ใคร ๆ ขับเคลื่อนไปข้างหน้าหาสิ่งใหม่ พวกเขาเชิญให้เรา back to basic
เปลี่ยนโหมดชีวิตให้เป็นสโลว์โมชัน เสพรากเหง้าที่แสนธรรมดาอันลุ่มลึก
Hey ! It’s Drag Queen : ศิลปะบนกรอบของเพศที่คลุมเครือ
ผลงานอีกหนึ่งชิ้นที่น่าติดตามของนักเขียนและช่างภาพจากค่ายสารคดีครั้งที่ ๑๓ ที่ได้เข้าไปทำความรู้จักกับศิลปะการแสดงของ drag queen
แม้ว่าความหมายของ drag queen จะดูสับสนและคลุมเครือด้วยเพศสภาพ
แต่ท่ามกลางแสงไฟและเสียงดนตรี ตัวตนของผู้แสดงนั้นกลับเด่นชัดและเจิดจรัสดั่งราชินี
สำรวจชีวิต “แรงงานไทย” ในสิงคโปร์
ภายใต้ภาพลักษณ์ “เมืองโลกาภิวัตน์” (global city state) ประเทศพัฒนาแล้ว (developed country) และ “สถานที่ชอปปิง” ของขาชอปจากเมืองไทย
สิงคโปร์ ประเทศที่มีรายได้ต่อหัวประชากรสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอีกภาพหนึ่งที่เราอาจไม่เคยเห็นมาก่อน
สิงคโปร์มีประชากรทั้งหมดราว ๕.๕ ล้านคน ที่น่าสนใจคือมีแรงงานต่างชาติอยู่บนเกาะนี้ราว ๒ ล้านคน จำนวนมากเป็น “แรงงานไร้ทักษะ” (unskilled worker) ที่ทำงานหนักในภาคก่อสร้างและใช้แรงงานเข้มข้น ยังไม่นับแรงงานที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายอีกจำนวนมาก
หนึ่งในนั้นคือ “แรงงานไทย” ที่มีหลักหมื่น และชีวิตของ “คนไทยไกลบ้าน”
กลุ่มนี้ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้เท่าใดนักในประเทศบ้านเกิด