BILLbilly01 - “บิลลี่” ณัฐดนัย ชูชาติ “ที่มาเป็นตรงนี้ได้ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ผมเรียนจาก ยูทูบ”

วิชญดา ทองแดง  สัมภาษณ์
ศรัณย์ ทองปาน  เรียบเรียง
จิตรทิวัส พรประเสริฐ  ภาพ

หนุ่มน้อยผิวคล้ำ ผมดำ หน้าตาเฉลียวฉลาดคนนี้ปรากฏตัวในคลิปยูทูบพร้อมหมวกดำและภาษาอังกฤษสำเนียงสากล จนใคร ๆ คิดว่าเขาคงไม่ใช่คนไทย หรืออย่างน้อย ๆ ก็ต้องเป็นลูกครึ่ง

แต่ “บิลลี่” ณัฐดนัย ชูชาติ คือเด็กไทย วัย ๒๐ ต้น ๆ ที่ไม่เคยไปอยู่เมืองนอกและไม่ใช่ลูกครึ่ง เขาเพิ่งจบปริญญาตรีเมื่อเทอมที่ผ่านมาในสาขาภาพยนตร์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เขาก็มีแผนการสำหรับอนาคตของตัวเองไว้ชัดเจนแล้วตั้งแต่ยังเป็นเด็กมัธยมฯ ต้นหัวเกรียน ณัฐดนัยเริ่มอัปโหลดคลิปเต้นของเขาขึ้นยูทูบอยู่พักใหญ่ ก่อนจะหันมาปักใจหลงรักการทำดนตรีและงานภาพยนตร์ นำไปสู่การผลิตคลิปคัฟเวอร์เพลงสากลออกเผยแพร่อย่างต่อเนื่องกว่า ๑๐๐ คลิปตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมา

คลิปเพลง “Habits (Stay High)” ที่เขาคัฟเวอร์ผลงานของ Tove Lo ศิลปินสวีเดน โดยมี “วี” วิโอเลต วอเทียร์ มาร่วม featuring มียอดผู้ชมแล้วกว่า ๗๐ ล้านครั้งภายในเวลาไม่ถึง ๒ ปี และคงยังเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ส่วน BILLbilly01 ซึ่งเป็นแชนเนลของเขาในยูทูบก็มียอดผู้ติดตาม (subscriber) ใกล้ล้านคนเข้าไปทุกขณะ

ขณะเดียวกันเขายังมีวงดนตรี Tilly Birds ที่ทำเพลงไทยร่วมกับเพื่อน ๆ และมีผลงานออกมาแล้วจำนวนหนึ่งด้วย

ทั้งหมดนี้เริ่มต้นขึ้นจากการดูคลิปเต้นในยูทูบก่อนจะตัดสินใจเข้าสู่วงการยูทูบเบอร์ กระทั่งกลายเป็น YouTube partner ระดับ “อาชีพ” ที่สร้างรายได้ให้ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนจนถึงวันนี้

ถ้าให้อธิบายสิ่งที่คุณทำ จะอธิบายว่าอย่างไร
จริง ๆ ก็ไม่ได้อธิบายยาก จริง ๆ ก็เป็นสิ่งที่เขาทำกันมาหลายรุ่นแล้วครับ คือทำงานศิลปะ ศิลปะของผมก็คือดนตรี ผมสร้างดนตรีขึ้นมา อาจจะใช้เครื่องมือด้านภาพยนตร์มาช่วยให้สื่อสารได้ง่ายขึ้น ให้เสพได้ง่ายขึ้น กินอร่อยขึ้น แต่สิ่งที่ผมต่างกับศิลปินยุคก่อน ๆ คือตอนนี้ช่องทางมีมากขึ้น มีช่องทางดิจิทัล ช่องทางออนไลน์ ซึ่งผมจะใช้ช่องทางนี้เป็นหลัก

คุณเริ่มต้นเข้าสู่วงการได้อย่างไร
ผมถือว่าตัวเองเป็นเด็กเนิร์ดคนหนึ่ง แต่ก่อนก็ติดเกมเหมือนเด็กทั่วไป พอได้มาเจอสิ่งที่ชอบก็จะตั้งใจทำ แต่ก่อนเขาฮิตควงปากกากัน ผมก็ฝึกจนเก่งมาก ต่อมาก็มาหัดเล่นรูบิก จนเข้าประกวดได้ที่ ๒ มายากลก็เล่นมาแล้ว โยโย่ก็เล่นมาแล้ว ทำมาหมด แต่มาสะดุดจริง ๆ ตอนเต้น พอมา ม. ๓ ผมก็ตกหลุมรักการเต้น ได้แข่งเต้น ประกวดจริงจังมาก ทำให้รู้จักยูทูบด้วย ผมได้ดูคลิปเต้น และได้โพสต์วิดีโอเต้นลงในนั้นด้วย ตอนนั้นอยู่ ม. ๓ หัวยังเกรียนอยู่เลย

เพลงแรกที่เต้นลงยูทูบคือ “Morning After Dark” ของ Timbaland ตอนแรกคิดจะอัปโหลดขึ้นเฟซบุ๊กอย่างเดียว แต่เผอิญนึกได้ว่ามียูทูบด้วย ก็เลยอัปโหลดเผื่อไป อีกสัก ๓ อาทิตย์พอกลับมาดูอีกทีมีคนดูไม่น้อย แบบหลักหมื่นด้วย ผมก็แบบ…อื้อหือ…อุ๊ย…อะไรเนี่ย ทำอีกสักตัวไหม แล้วก็ทำอีกตัว อีกตัว แล้วก็เรื่อย ๆ ๆ ๆ

ครั้งแรกที่ยอดวิวขึ้นหลักล้าน ตอนนั้นอยู่ ม. ๕ กำลังจะขึ้น ม. ๖ ตอนล้านหนึ่งก็ดีใจมาก ตื่นเต้น แปลกใหม่ ก็ฉลองคนเดียว (หัวเราะ) เพราะบอกคนอื่นก็ไม่มีใครอินด้วย

แล้วเปลี่ยนมาเป็นการทำดนตรีได้อย่างไร
ผมเริ่มเรียนดนตรีตอน ม. ปลาย ถือว่าเริ่มช้าครับ  ที่เรียนดนตรีเพราะอยากทำเพลงเต้นให้ตัวเองเต้น…แค่นั้นเองครับ ผมเรียนเปียโนเพราะคิดว่าสำหรับคนที่อยากคอมโพสเพลงน่าจะเรียน แล้วก็ไม่ผิดหวัง คิดถูกมากที่เรียนเปียโนก่อน คิดถูกจริง ๆพื้นฐานผมเป็นคนฟังเพลงอยู่แล้ว ชอบฟังเพลงมาก พี่สาวก็เป็นไอดอลคนหนึ่ง พี่สาวฟังเพลงเยอะ ผมว่าผมฟังเยอะแล้ว พี่สาวนี่คูณสามเลย เราฟังทุกแนว ไม่จำกัดว่าต้องเป็นเพลงแนวเต้น เพลงคลาสสิกก็ฟัง เฮฟวีเมทัล ใต้ดินผมก็ฟัง เป็นเด็กวัยรุ่นที่ชอบฟังเพลง พอมีโอกาสเล่นดนตรีก็เหมือนเปิดโลกของเรา พอลองแต่งเพลงครั้งแรกก็เลยค้นพบว่านี่แหละ สนุกกว่าเต้นอีก อยากทำสิ่งนี้ไปจนตาย คือการแต่งเพลงที่ชอบ

หมายความว่าคุณเริ่มแต่งเพลงเอง ก่อนที่จะคัฟเวอร์เพลงของศิลปินคนอื่น
ผมเริ่มแต่งเพลงก่อน ส่วนการคัฟเวอร์คิดไปอีกทางว่าอยากฝึกฝนตัวเองด้วย  การทำให้ได้นั้นต้องใช้ความสามารถ เราก็อาศัยการคัฟเวอร์เป็นตัวพาเราไปตรงนั้น คือผมแต่งเพลงตั้งแต่ ม. ๔ แต่ได้ปล่อยเพลงนั้นกับวง Tilly Birds ตอนอยู่ปี ๒ คือใช้เวลาฝึกอยู่ ๔ ปี ทำมาสี่เวอร์ชันซึ่งมันก็ดีกว่าอันแรกเยอะมาก มาก ๆ เลยครับผม ก็เป็นประสบการณ์จากที่เราทำคัฟเวอร์มาเกือบ ๆ ๑๐๐ เพลง มันก็ฝึกตัวเราได้เยอะ และสร้างฐานคนดูให้เราได้

ผมเริ่มทำคัฟเวอร์มาตั้งแต่ตอนที่เต้นแล้ว เช่นตอนคริสต์มาส เราก็ทำเพลงคัฟเวอร์ คนดูก็งงว่าบิลลี่มาแนวไหนเนี่ย เดี๋ยวก็เต้น เดี๋ยวก็ทำเพลง พออยู่มหาวิทยาลัยปี ๑ ก็รู้สึกว่าอิ่มตัวกับการเต้นแล้ว ก็อยากลองคัฟเวอร์ดู เพราะเราจะได้ไปทำอย่างอื่นได้เต็มที่ ต้องไปอยู่หน้ากล้องด้วย จัดไฟ ทำกัน ๓ วัน ได้มาคลิปหนึ่ง เสียงตอบรับดีมาก เพื่อนชอบมาก คนดูที่เคยดูผมเต้นก็อาจจะงง ๆ หน่อย แต่ก็มีคนที่ชอบ ผมก็ดีใจ เอ้า ! เสาร์หน้าเอาใหม่ ทำกันทุกอาทิตย์ จนถึงวันนี้

ตอนเด็ก ๆ คิดว่าจะเข้าคณะนิเทศฯ เพราะตอนทำคลิปเต้นได้เห็นโปรดักชันเห็นการตัดต่อ ก็เลยคิดว่าหรือว่าเราชอบทำหนัง ตอนกรอกแอดมิชชันเลยเลือกนิเทศฯ จุฬาฯ ที่เดียวเลย ไม่มีอันดับ ๒-๓-๔ พุ่งมาที่นี่เลย

ชีวิตในมหาวิทยาลัยให้อะไรกับคุณบ้าง
พูดตรง ๆ เลย การเข้ามาเรียนนิเทศฯ ไม่ได้ช่วยเรื่องสกิลการตัดต่ออะไรอย่างที่นึก แต่สิ่งที่ได้คือมุมมอง ความคิดที่โตขึ้น ได้พัฒนาศักยภาพในการทำงาน ซึ่งอาจจะไม่ได้ให้โดยตรง แต่ให้เราผ่านการฝึก ผ่านการสั่งงาน ได้พัฒนาตัวเอง ได้พังลิมิตตัวเอง จากที่เคยคิดว่านี่เหนื่อยแล้ว มันยังมีที่เหนื่อยกว่านี้  อีกอย่างก็คือผู้คน สังคม ตอนเรียนมัธยมฯ เหมือนมีผมบ้าอยู่คนเดียว แต่พอมาที่นี่ทุกคนเป็นตัวประหลาดหมด ทุกคนพร้อมจะลุยไปกับเรา

มีวิธีเลือกเพลงอย่างไรในการคัฟเวอร์
ง่ายมาก คือตามใจผมเลย แล้วก็นักร้องชอบอะไรด้วย สำคัญที่สุดคือต้องมีนักร้องก่อน วันนั้นต้องนัดนักร้องให้ได้ก่อน แล้วค่อยมาคุยกันว่าจะทำเพลงอะไร ถ้าเราอยากทำ แล้วเขาไม่อยากทำ…ไม่ทำ เขาอยากทำ เราไม่อยากทำ…ไม่ทำ  แต่ไม่จำเป็นต้องชอบนะครับ คือแรก ๆ ผมอาจจะทำเพลงที่ชอบ ช่วงหลังผมค่อนข้างจะโอเพนหมด แต่จะมีเกณฑ์ค่อนข้างเอนไปทางที่จะทำเพลงที่ผมไม่ชอบ เพราะการทำเพลงที่ไม่ชอบ เราจะรู้ว่าเพลงนี้มีข้อผิดพลาดอะไร แล้วเราอยากเปลี่ยนอะไร แต่ถ้าเราทำเพลงที่เราชอบอยู่แล้วเราจะเจอทางตัน เพราะเราชอบมันแล้ว เราจะเปลี่ยนมันได้อย่างไร

ในคลิปจะเห็นแต่คุณเล่นดนตรี ไม่ค่อยเห็นร้องเอง
ผมต้องทำหลายเรื่อง ผมคิดเรื่องร้องอย่างเดียวไม่ได้ เอานักร้องมาร้องง่ายกว่า

นักร้องที่มาร้องให้คุณในคลิปมาจากไหนบ้าง
เริ่มที่คณะนิเทศศาสตร์ อย่างพี่วี (วิโอเลต วอเทียร์) ก็รุ่นพี่ หลาย ๆ คนก็เป็นเพื่อน เป็นรุ่นพี่หรือรุ่นน้อง เราก็ชวนมาร้องกัน แล้วพอถึงคนอื่น ๆ ก็อาจจะเป็นเพื่อนของพวกเขาอีกที แล้วก็เพื่อนของเพื่อนของพวกเขาอีกที เพราะวงการนี้ก็ไม่ได้ใหญ่ ทุกคนรู้จักกันหมด

เขามาช่วยร้องแล้วได้อะไรตอบแทนไหม
ได้ความสนุก ได้ผลงาน คือทุกคนมาสนุกจริง ๆ ครับผม ไม่มีใครมาคิดเรื่องสตางค์เรื่องผลประโยชน์กันเลย ผมก็ต้องเลือกคนที่เขาอยากมาสนุก ไม่ใช่อยากมาหาผลประโยชน์ อย่างเวลานัด ผมจะนัดเที่ยงวันเสาร์ถึงเที่ยงวันอาทิตย์ ๒๔ ชั่วโมง ถ้าใครไม่ว่างก็ยากแล้ว มันเป็น requirement แรกที่ต้องมา คือใจต้องมา ถือเป็นด่านแรก คือเราสร้างงานที่ทุกคนชอบ ทุกคนก็อยากมาทำงานกับเรา

คุณคัฟเวอร์เพลงสากลทั้งหมด แล้วจัดการเรื่องลิขสิทธิ์อย่างไร
ตรงนี้ซับซ้อนครับ แต่ถ้าพูดสั้น ๆ ก็คือ ผมอยู่กับเน็ตเวิร์กคือ MCN หรือ multi-channel network เป็นเน็ตเวิร์กที่ทำงานกับ
ยูทูบ ผมอยู่กับเจ้าหนึ่งที่อเมริกา ที่ต้องอยู่อเมริกาก็เพราะเรื่องนี้แหละครับ คือเขาสามารถเคลียร์เรื่องลิขสิทธิ์ให้ได้ ง่าย ๆ ก็คือแบ่งเปอร์เซ็นต์ไปเลย

แบ่งรายได้กันอย่างไร
ลิขสิทธิ์ก็แล้วแต่เจ้านะครับ อาจจะประมาณ ๑๕-๒๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนของเน็ตเวิร์กก็แล้วแต่สัญญาของแต่ละคน อาจจะอยู่ประมาณ ๒๕-๓๐ เปอร์เซ็นต์ บวก ๆ กันแล้วผมก็จะได้ไม่เกินครึ่ง

แล้วรายได้ของยูทูบเบอร์มาจากไหน

พูดง่ายที่สุดคือมาจากยอดวิว แต่มันพูดยากครับว่ามายังไงเป๊ะ ๆ เพราะมันไม่มีใครตอบได้จริง ๆ ทุกอย่างมันขึ้นลงตลอดเวลา อย่างวิวคนไทยกับวิวคนอเมริกันก็ไม่เท่ากัน เขามีค่ากว่าเราครับ (หัวเราะ) ทุกอย่างขึ้นกับจำนวนโฆษณาที่ลงในประเทศนั้น ๆ มันแปรผันตามหลาย ๆ ปัจจัย ทำให้ตอบยากจริง ๆ  คือถ้าเราเป็นยูทูบพาร์ตเนอร์ คือตกลงกับยูทูบว่าเราจะให้คลิปนี้สร้างรายได้ เขาก็จะเอาโฆษณามาลง และทุก ๆ วิวที่ดูและมีโฆษณาลง คือทุก ๆ วิวที่มีรายได้อันนี้คือทางตรง ๆ เลย ซึ่งยูทูบเบอร์เมืองนอกเขาก็อยู่กันได้ด้วยทางนี้  แล้วก็จะมีทางอ้อม คือการเอา sponsorship มาลง การไทอินสินค้า พวกนี้เป็นทางอ้อม คนไทยจะใช้ทางนี้กันเยอะ เพราะว่าทางแรกในเมืองไทยจะยังไม่รอด เพราะโฆษณาประเทศเราจะยังไม่เยอะขนาดนั้น เมืองนอกเขาอาจจะเยอะกว่านี้หกเท่าเจ็ดเท่า ในแง่ปริมาณโฆษณาในยูทูบคือถ้า ad concentration มันเยอะ มันจะทำให้หนึ่งวิวของคนประเทศนั้นมีค่ามากกว่าครับผม อย่างตอนนี้วัดกันสมมุติคร่าว ๆ คือ วิวคนไทยคือวิวละ ๑ เหรียญ อเมริกาตอนนี้ ๖ เหรียญต่อหัว ซึ่งทำให้เมืองนอกเขาอยู่กันได้ด้วยวิธีแรก

ผู้ชมของคุณมาจากที่ไหนบ้าง
เป็นคนไทย ๘๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ อาจเป็นเพราะนักร้องที่มาร้องเป็นที่รู้จักในประเทศไทย ทำให้คนไทยเข้ามาดูกันเยอะ ถึงแม้ผมจะตั้งเป้าหมายว่าให้คนทั้งโลกดูก็ตาม นี่คือเหตุผลที่ทำไมผมพูดภาษาอังกฤษ  อันดับ ๒ คืออินโดนีเซีย แล้วก็ฟิลิปปินส์ รอบบ้านเรานี่ก็ฟังหมด

คุณคิดว่าการเป็นยูทูบเบอร์เป็นอาชีพได้ไหม
ได้นะครับ เป็นไปได้เลย ผมก็เป็นอยู่ แต่ว่าถ้าจะให้แนะนำ ฝากถึงคนที่อยากจะเป็น คือมันจะไม่ได้ง่ายนะ พูดเลยมันไม่ใช่อาชีพที่มากรอกใบสมัครแล้วจะเป็นได้ มันเป็นอาชีพที่ได้มาด้วยหยาดเหงื่อ ด้วยน้ำตา กว่าจะมาถึงตรงนี้ได้ มันผ่านอะไรมาเยอะมาก แต่สิ่งแรกที่ต้องมีคือต้องมีใจกับมัน

ต้องมีแพสชัน ที่เราชอบสิ่งสิ่งหนึ่ง แล้วอยากให้คนอื่นได้ดู แต่ถ้าคิดว่าผมอยากเป็นยูทูบเบอร์ ผมอยากได้สตางค์ อันนี้ไม่รอดแล้ว เพราะสักวันหนึ่งพอไม่ได้สตางค์เราก็จะเลิกทำ แต่คนที่เขาชอบ เขาไม่เลิกทำแค่เพราะเขาไม่ได้สตางค์ แล้วจะไม่มีอะไรมาหยุดเขาได้ เชื่อว่ายูทูบเบอร์คนอื่น ๆ อันดับต้น ๆ ของโลกหรือของไทยก็มีตรงนี้เหมือนกัน

สมมุติว่าถ้าโลกนี้ยังไม่มียูทูบ คุณคิดว่าตอนนี้จะทำอะไรอยู่
เห็นผมเป็นเด็กยุคใหม่แบบนี้ แต่จริง ๆ ผมค่อนข้างอยู่สองโลกนะครับ เช่นดนตรีสมัยนี้เป็นดนตรีดิจิทัลใช่ไหมครับ อาจจะเป็นคนคนเดียวทำ แต่ผมก็ศึกษาโลกเก่าสมัยโน้นที่ยังใช้เงินเป็นล้าน ๆ ทำเพลงอยู่ ผมอ่านหนังสือ ผมศึกษาเพลงตั้งแต่ยุคหินจนยันยุคนี้ ผมอ่านหมด ผมไม่อยากปิดตัวเอง เราอยู่วงการนี้แล้ว เราอยากเป็นที่ ๑ ก็ต้องศึกษาให้ได้ว่าอะไรเป็นอะไร ต้องเอาสองโลกมาบวกกัน  อย่างที่ผมทำเพลงผมก็อยู่ทั้งสองโลกเหมือนกัน  ในช่อง BILLbilly01 ผมทำเพลงเป็นเมนสตรีม แต่วงผมก็จะทำเพลงอัลเทอร์เนทีฟหน่อย

จริง ๆ ผมก็อยากอยู่ในโลกเก่านะครับ ถ้าเลือกเกิดได้ ผมอาจจะไปเกิดในยุค ๘๐ (ทศวรรษ ๑๙๘๐) ก็ได้ อยากแต่งเพลง แล้วไปเล่นในผับให้คนมาดู แล้วก็ดัง อะไรอย่างนี้ แต่สมัยนี้มันไม่ได้แล้ววิธีนั้น