ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
มีเทวรูปของพระเป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูองค์หนึ่ง ซึ่งในเมืองไทยพบไม่มากนัก คือ “พระอรรธนารีศวร”
คำว่า “อรรธนารีศวร” (สะกดเป็นอักษรโรมันว่า Ardhanarishwara) เป็นคำภาษาแขก แปลตามรูปศัพท์ว่า พระเป็นเจ้าผู้ทรงเป็นครึ่งสตรี คือ “อรรธ/อัฒ” แปลว่าครึ่ง (เหมือน “อัฒจันทร์” แปลว่าครึ่งดวงจันทร์ คือครึ่งวงกลม) “นารี” คือผู้หญิง และ “ศวร” คือพระผู้เป็นเจ้า
ปฏิมากรรมหรือจิตรกรรมรูปพระอรรธนารีศวรมักแสดงรูปพระศิวะ (หรือพระอิศวร) กับพระเทวีปารวตี (หรือพระอุมา) ผู้เป็นชายา รวมอยู่ในรูปเดียวกัน โดยแบ่งครึ่งตรงกลางร่างจากศีรษะจรดปลายเท้า ส่วนมากซีกขวาจะเป็นพระศิวะ และซีกซ้ายเป็นพระเทวี
ฝั่งที่เป็นพระศิวะจะไว้ผมมวยผม เพราะพระศิวะทรงเป็นโยคี ทัดพระจันทร์เป็นปิ่น ในมืออาจถือตรีศูล (สามง่าม) อันเป็นอาวุธประจำพระองค์ และมีงูเป็นสังวาลย์ ส่วนฝั่งซ้ายที่เป็นพระเทวีก็จะแสดงเพศเป็นหญิงคือมีหน้าอก และแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างสตรี เช่นสวมกำไล และนุ่งผ้ายาวกรอมเท้า รูปปฏิมาโบราณที่พบในอินเดียก็มักทำตามคตินิยมเช่นนี้ อย่างรูปที่เอามาให้ดูกันเป็นภาพสลักหินประดับผนังด้านนอกเทวาลัยที่เมืองมรดกโลกมามัลละปุรัม ในรัฐทมิฬนาฑู อินเดียภาคใต้
ส่วนในเมืองไทย รูปพระอรรธนารีศวรที่เก่าแก่ที่สุด พบที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นปางประทับนั่งขัดสมาธิ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ หรือราว ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว ปัจจุบันประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี ก็เป็นในทำนองเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว เช่นเราจะสังเกตเห็นตาที่สามกลางหน้าผากฝั่งพระศิวะที่มีเพียงครึ่งเดียว และหนวดที่มีเฉพาะเหนือริมฝีปากของหน้าซีกขวา ส่วนซีกซ้ายจะแลเห็นทรวงอกของพระเทวี เช่นเดียวกับผ้านุ่งของเทวรูป จะเห็นว่าทางฝั่งขวานุ่งผ้าสั้น ชายผ้าอยู่ที่ใต้เข่า ส่วนฝั่งซีกพระเทวี ชายผ้านุ่งจะยาวถึงเหนือข้อเท้า เป็นต้น
ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะคนสำคัญของเมืองไทย อธิบายไว้ในหนังสือ “รากเหง้าแห่งศิลปะไทย” (๒๕๕๓) ว่ารูปพระอรรธนารีศวรองค์นี้ “สะท้อนให้เห็นถึงหลักปรัชญาของลัทธิไศวะที่กล่าวว่า จักรวาลนั้นประกอบด้วยสองส่วนที่แตกต่างกัน ดังปรากฏในจารึกเขมรว่า พระอิศวรและพระเทวีทรงรวมอยู่ในกายอันเดียวกัน อันเป็นเหตุแห่งจักรวาล”
ในโลกยุคใหม่ที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มคนเพศที่สาม (Hijra) ในอินเดียก็รับเอา “พระอรรธนารีศวร” เป็นเทพอุปถัมภ์ของตนองค์หนึ่ง ด้วยถือว่ามีความ “กำกวม” ทางเพศ คือเป็นทั้งหญิงและชายในร่างเดียวกัน เหมือนกันพวกเธอๆ ซึ่งร่างเป็นชายแต่ใจเป็นหญิง
ความรับรู้เรื่องนี้ก็แพร่หลายมาถึงเมืองไทยด้วย เช่นตามเว็บบอร์ดต่างๆ ก็เคยเห็นมีกลุ่มเพศที่สาม (รวมถึงชายรักชาย) เข้าไปสอบถามเรื่องการบูชาพระอรรธนารี เช่นว่าควรใช้คำสวดอย่างใด หรือต้องบูชาอย่างไร จึงจะได้สมความปรารถนาในความรัก
เรื่องแบบนี้ ถ้าจะถามกันจริงๆ ก็คงต้องบอกว่า ทำอย่างใดแล้วสะดวก ทำอย่างไรแล้วสบายใจ ก็ทำไปเถิด เพราะเทวะท่านคงไม่ได้มีปัญหาอะไรนักกับเรื่องเล็กน้อยเพียงเท่านั้น
เหมือนอย่างที่มีผู้ศรัทธาสร้างรูปพระอรรถนารีศวร ตามสไตล์เทวรูปแขก “ร่วมสมัย” ประดิษฐานไว้ในศาลด้านหน้าตึกสูงสมัยใหม่ย่านถนนสุขุมวิทในกรุงเทพฯ ผู้มาสักการะต่างถวายเครื่องบูชาไปตามความถนัด มีทั้งที่ถวายตุ๊กตารูปวัวและตุ๊กตารูปสิงห์ อันเป็นเทวพาหนะของพระศิวะและพระแม่อุมาตามตำราต้นฉบับ
แต่ก็เห็นมีที่เอาช้างไม้ตัวเล็กๆ มาวางถวายแบบถวายศาลพระภูมิบ้านเราเช่นกัน
ศรัณย์ ทองปาน
เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสาร สารคดี