เล่าเรื่องแบบจดหมาย

วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


ร่องรอยการเรียนรู้ สู่งานเขียนคว้ารางวัล (คนขวาสุด เจ้าของงานเขียนเรื่อง “ย้อนเวลากับจดหมาย”)

ว่ากันว่าการเขียนเรื่องเล่าผ่านรูปแบบจดหมายเป็นหนึ่งในวิธีการที่ง่ายและเก่าแก่ที่สุด แต่จนทุกวันนี้ยังมีคนรุ่นใหม่เขียนสารคดีผ่านรูปแบบที่เรียบง่ายนี้กันอยู่เสมอ

รูปแบบที่เก่าแก่นี้ถ้าทำไม่แนบเนียนจะเสี่ยงต่อความเชย แต่จากที่ได้อ่านเมื่อไม่นานมานี้ มีนักเขียนใหม่อย่างน้อย ๒ คนทำได้อย่างน่าประทับใจ

ในค่ายบางจากฯ รุ่นที่ ๖ เมื่อปลายปีก่อน ภารัตน์ สมาชิกค่ายจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้รูปแบบจดหมายเขียนเล่าเรื่องน้ำตาลมะพร้าวที่อัมพวาถึงเพื่อนชื่อน้ำตาลได้อย่างลงตัวและด้วยภาษาที่ทันสมัย ดังที่เคยนำมาลงให้อ่านกันใน “สารคดี ๑๐๑” เมื่อปลายปีก่อน โดยสารคดีเรื่อง “น้ำตาลหวานใน” นั้นก็คว้ารางวัลที่ ๑ จากการประกวดงานเขียนตอนท้ายค่าย

ล่าสุดเมื่อต้นปีนี้ หลังจบค่ายเยาวชนนักเขียนสารคดีท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ของมหาวิทยาลัยบูรพา รุ่นที่ ๘ เปิดให้ผู้ผ่านโครงการเขียนงานส่งเข้าร่วมประกวดชิงรางวัล ชิ้นที่ได้รับรางวัลที่ ๑ เป็นผลงานของนักเรียนมัธยมโรงเรียนวัดด่านสำโรง เรื่อง “ย้อนเวลากับจดหมาย” ซึ่งผู้เขียนใช้รูปแบบการเล่าเรื่องผ่านจดหมายถึงแม่

ขอยกตัวอย่างมาให้อ่านในที่นี้ได้บางตอน เพราะทั้งเรื่องยาวเกินพื้นที่คอลัมน์

เปิดเรื่องบนหัวจดหมายด้วยข้อความบรรทัดเดียว

บนโลกที่กว้างใหญ่ มีผู้คนมากมาย แต่ทำไมฉันถึงคิดถึงแต่คนบนฟ้ากันนะ?

ต่อด้วยวันเดือนปีที่เขียน

แล้วเริ่มเข้าสู่เรื่องอย่างสนุก (แม้เปิดมาแบบเศร้าๆ -แม่ของเธอไปอยู่บนฟ้าแล้ว) และแนะตัว (ละคร) ให้ผู้อ่านรู้จัก

แม่จ๋ารู้ไหมว่าพรุ่งนี้วันอะไรพรุ่งนี้วันเกิดลูกสาวสุดสวยของแม่ไงคะ พรุ่งนี้หนูก็อายุ ๑๕ ปีแล้วนะ วันนี้พ่อเลยอนุญาตให้หนูออกมาเที่ยวกับเพื่อนๆได้อย่างเต็มที่เลยค่ะ แม่รู้ไหมคะว่าหนูไปเที่ยวที่ไหน ติก ต๊อก ติก ต๊อก ที่ที่หนูกับแม่เคยไปด้วยกันไงคะ แม่บอกว่าแม่ชอบที่นั้นมากเพราะที่นั้นเต็มไปด้วยความกล้าหาญและความเสียสละ แม่รู้ไหมว่าหนูกับเพื่อนๆเดินทางมากันเองเลยนะคะเก่งใช่ไหมล่ะ

หนูกับเพื่อนนั่งรถเมล์มาลงที่ท่าน้ำ แล้วนั่งเรือข้ามฟากแล้วต่อด้วยรถสองแถวก็ถึงป้อมพระจุลแล้วล่ะค่ะ เป็นยังไงบ้างคะโนอาคนสวยของแม่โตเป็นสาวแล้วนะ โนอาคิดถึงแม่มากๆเลยนะคะ แม่รู้ไหมว่าป้อมพระจุลไม่เคยเปลี่ยนไปเลยนะคะ ที่ป้อมยังคงร่มรื่นและสงบสุขเหมือนเดิมตอนที่หนูมากับแม่เลยค่ะ

จากนั้นเธอก็บรรยายสิ่งที่ผ่านให้แม่ได้รู้เห็น ซึ่งนัยหนึ่งก็คือการบอกต่อคนอ่านนั่นเอง เจอใคร ได้ยินเสียงอะไร เธอ (ผู้เขียน) ก็เขียนเล่าไป รวมทั้งเมื่อเธอสัมภาษณ์เข้าไปคนเหล่านั้นในฐานะ “แหล่งข้อมูล”

หนูนั่งเล่นในสะพานสักพักเพิ่มรับอากาศที่บริสุทธิ์ลมเย็นๆบนหลังคามีนกมากมาย มองซ้ายเห็นนกนางนวลเล่นน้ำ หันหลังไปเห็นลิงน้อยอยู่ข้างร้านอาหารหนูชอบบรรยากาศแบบนี้ที่สุดเลยค่ะแม่ แล้วก็มีคุณลุงสองคนเดินเข้ามาในสะพานหนูได้ยินเขาคุยกันว่า

“ลุงรัตรู้ไหมว่าเมื่อก่อนฝรั่งเศสบุกไทย แม่ทัพเรือตายคาป้อมเลยนะชื่อนาวาเอกทีรพัตมั่งตายคาป้อมปืนเลย”
“จริงหรอตาแดง น่าสงสารเนอะแต่ก็ต้องขอบคุณที่ยอมตายเพื่อชาติบ้านเมือง”
“นี้ยังไม่หมดนะมีรูปนึงเป็นรูประหว่างการต่อสู้ ทหารบาดเจ็บแขนขาดแบกลูกปืนส่งให้เพื่อน คิดดูล่ะกันว่ารักชาติและเสียสละมากแค่ไหน”
“ว่าแต่ตาแดงเมื่อก่อนเรือดำน้ำเข้ามาไม่ได้ใช่ไหม”
“ใช่แล้วล่ะเพราะว่าน้ำมันตื้น ที่นี้มีป้อมก็ดีนะเขมรไม่บุก”
หนูได้ยินคุณลุงคุยกันเลยเดินเข้าไปถามว่า
“ลุงคะห่วงยางที่เสียบอยู่ในเหล็กตรงนั้นมีไว้ทำอะไรหรอคะ”
“อ่อนั้นเป็นที่กั้นไม่ให้น้ำซัดตะลิ่งน่ะหนู”
“แล้วปืนที่สู้กับฝรั่งเศสยังอยู่ไหมคะ”
“ยังอยู่สิหนูอยู่ในป้อมนั้นแหละ เนี่ยลุงไปเห็นทากันกระสุนนะใหญ่มากเลย”
“โอโหสงสัยหนูต้องไปดูแล้วล่ะค่ะ”

แม้กระทั่งในการนำเสนอ “ข้อมูลค้นคว้า” เธอก็ใช้วิธีเล่าให้แม่ฟังได้อย่างแนบเนียน อย่างที่คนอ่านไม่รู้สึกว่าผู้เขียนไปคัด (cut) ข้อมูลมาวางแบบไม่ลงแรงทำอะไร

แม่รู้ไหมคะ เรือหลวงแม่กลองขึ้นระวางประจำเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้เคยปฏิบัติภารกิจที่สำคัญต่างๆ เช่น เคยเป็นเรือพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๘ และรัชกาลที่ ๙ เคยร่วมปฏิบัติการในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา เป็นเรือฝึกของนักเรียนนายเรือ และนักเรียนจากทหารเรือ จนถือได้ว่าเป็น ‘ เรือครู’ ของทหารเรือ เรือหลวงแม่กลองต่อที่ประเทศญี่ปุ่น มีระวางขังน้ำ ๑,๔๐๐ ตัน กำลังพลประจำเรือ ๑๗๓ นาย เครื่องจักรชนิดเครื่องจักรไอน้ำแบบข้อเสือข้อต่อ รวมกับเครื่องกังหันน้ำจำนวน ๒ เครื่อง มีกำลัง ๒,๕๐๐ แรงม้า ใบจักรคู่ ความเร็วสูงสุด ๑๗ นอตเพื่อใช้ความเร็วมัธยัสถ์ ๘-๑๐ นอต ปฏิบัติการได้ไกล ๑๖,๐๐๐ ไมล์ อาวุธประจำเรือปืนเรือใหญ่ ๑๒๐/๔๕๔ กระบอก ปืนกล ๒๐ มม. แท่นคู่ ๑ แท่น พาราเวนกวาดทุ่นระเบิด แบบ S Style ๒ ขุด แท่นยิงลูกระเบิดลึก ๒ แท่น รางปล่อยทุ่นระเบิด ๒ ราง เครื่องบินทะเลแบบ บรน.๑ ๑ เครื่อง ปลดระวางประจำการเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๙ รวมเวลาปฏิบัติการ ๕๙ ปี ซึ่งเป็นเรือรบที่ปฏิบัติราชกาลยาวนานที่สุดในกองทัพเรือหนูตื่นเต้นมากๆเลยค่ะ ทุกพื้นที่ของเรือมีความทรงจำของหนูกับแม่อยู่ แม่จำได้ไหมคะที่หนูร้องไห้เพราะไม่กล้าขึ้นไปข้างบน แล้วแม่ก็ปลอบหนพอหนูได้เห็นวิวด้านบนมันทำให้หนูหยุดร้องไห้ในทันทีภาพวิวตอนนั้นยังคงติดตาหนูอยู่ทุกวันนี้เป็นวิวที่สวยมากจริงๆ บนเรือมีปืนและอาวุธมากมายแต่หนูชอบที่สุดคือหม้อหุงข้าวขนาดใหญ่ที่แม่เคยอุ้มหนูลงไปนั่งในนั้น คิดถึงเมื่อก่อนจังเลยนะคะแม่

เธอเล่าเนื้อหาลงในจดหมายถึงแม่ไปจนจบ แล้วเข้าสู่ท่อนจบของงานเขียนด้วยฉากพ่อเรียกเธอ (ผู้เขียน) ลงมากินข้าวเย็น

“โนอา ลงมากินข้าวได้แล้วลูก”
“ค่ะๆกำลังลงไปค่ะพ่อ”

โนอาวางจดหมายที่เธอเขียนไว้ตอนเด็กลงแล้วเช็ดน้ำตา เธอเขียนจดหมายถึงแม่บนฟ้าของเธอปีละฉบับ จนถึงตอนนี้ไม่รู้อะไรดลใจให้เธอกลับมาเปิดอ่านจดหมายนั้น จดหมายฉบับแรกที่เธอเขียนถึงแม่ของเธอ ตอนนี้แม่จะเป็นยังไงบ้างนะ คิดถึงจังเลยโนอาผู้ที่สูญเสียแม่ไปตั้งแต่ยังเด็กเธอไปเที่ยวกับแม่บ่อยครั้ง เมื่อโตขึ้นเธอจึงกลับไปตามสถานที่ที่เคยไปกับแม่ของเธอ แล้วเขียนจดหมายถึงแม่ทุกๆปี ปีละฉบับ เมื่อเธออ่านจดหมายฉบับแรกจบลง ก็ยังเหลือจดหมายอีกหลายฉบับที่เธอเขียนไว้ โนอายังคิดไว้อยู่เสมอว่าจดหมายที่เธอเขียน จะสามารถส่งไปถึงผู้เป็นแม่ที่อยู่บนฟ้าได้

“โนอา เร็วๆลูกข้าวจะเย็นหมดแล้วนะ”
“ค่ะๆมาแล้วค่ะ”
“ทำไมลงมาช้าจังลูก”
“อ่านจดหมายที่เขียนถึงแม่อยู่ค่ะ คิดถึงแม่จังเลยนะคะพ่อ”
“พ่อก็คิดแม่เหมือนกันลูก ป่านนี้จะเป็นยังไงบ้างนะ อยู่ที่ไหน เป็นยังไงก็ไม่รู้ แต่ลูกไม่ต้องเศร้าหรอกนะเพราะแม่ก็อยู่ในตัวหนูและอยู่กับพวกเราเสมอ”

และก่อน “ปิดเรื่อง” เธอยังใช้บทสนทนากับพ่อบนโต๊ะอาหาร ย้อนกลับไปยังใจความสำคัญของเรื่องเป็นหมัดสุดท้ายแบบจงใจจะน็อคคนอ่าน ให้ตรึงใจในงานเขียนของเธอแบบไม่ลืมเลือน

“คนบนโลกมีเป็นล้านจะมีสักกี่คนที่รักเราคะพ่อ จะมีสักกี่คนที่ทำให้เราคิดถึง”
“แต่ก็มีคนกลุ่มนึงนะลูกที่รักประเทศพร้อมที่จะสละชีวิตเพื่อประเทศที่เขารัก”
“ใครหรอคะพ่อ”
“ทหารไงลูก นี่แหละที่แม่ชอบป้อมพระจุลมาก เพราะเป็นแหล่งรวมความเสียสละ ทหารเหล่านั้นก็มีความรัก มีความรู้สึก มีครอบครัวที่ต้องดูแลแต่เขาเลือกที่จะเสียสละเวลาและชีวิตของเขาเพื่อประเทศชาติและความสุขของคนหลายคน เข้าใจไหมพันเอกโนอาของพ่อ”
“เข้าใจละค่ะพ่อ”

หญิงสาวและพ่อของเขาก็กินข้าวต่อโดยไม่มีใครพูดอะไรอีก แต่ภายในใจยังคงคิดถึงว่าแม่จะได้อ่านจดหมายของเธอหรือยัง แม่จะรับรู้ไหมว่าพวกเขาคิดถึงแม่มากแค่ไหน คนบนฟ้าฉันคิดถึงนะ…

เล่าผ่านจดหมาย รูปแบบงานเขียนแสนเรียบง่าย แต่ถ้าทำได้ถึงก็ตรึงใจคนอ่านไม่รู้ลืม


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา