พระพุทธรูป “หูยาน”

ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


คนไทยเรามักจะนึกเอาว่า คนที่มีติ่งหูยาวหรือ “ยาน” ลงมา เป็น “คนมีบุญ” และเป็นคน “อายุยืน”

ต้นทางของความคิดเรื่องนี้ย่อมเกิดจากพระพุทธรูปที่คนไทยพุทธคุ้นตา

พระพุทธรูปที่เราพบเห็นกันมักมีติ่งหูยาวลงมามากกว่าหูคนปกติอย่างเราๆ ท่านๆ ในโลกทัศน์ของชาวพุทธ พระพุทธเจ้าหรือผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ ต้องสั่งสมบุญญาธิการบารมีมามากมายเป็น “อสงไขยชาติ” คือนับไม่ได้คำนวณไม่ถูก ยิ่งกว่านั้น ในพุทธประวัติที่คนจำได้ “ขึ้นใจ” พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานเมื่อมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา พระพุทธรูปจึงเป็นทั้งสัญลักษณ์ของ “ผู้มีบุญ” และ “อายุยืน”

คนที่มีลักษณะคล้ายกับพระพุทธรูปคือมีติ่งหูยื่นยานลงมา จึงพลอยถูกนับเนื่องว่าเป็น “คนมีบุญ” และ “อายุยืน” ไปด้วย

ที่จริง พระพุทธรูปนั้นมิได้สร้างขึ้นมาให้เป็น “รูปเหมือน” ของพระพุทธเจ้า อย่างภาพถ่ายหรือรูปพอร์เทรต แต่เป็นสัญลักษณ์แสดง “อุดมคติ” บางอย่าง ลักษณะส่วนมากของพระพุทธรูปจึงมุ่งหมายไปในทางที่จะทำให้ใกล้เคียงกับ “มหาบุรุษ” หรือที่เรียกกันในคัมภีร์ว่า “มหาปุริสลักษณะ” โดยเชื่อว่าพระพุทธองค์มีรูปลักษณ์เช่นนั้น

“มหาปุริสลักษณะ” ประกอบด้วยลักษณะใหญ่ๆ ๓๒ ประการ เช่น มี “ฝ่าเท้าตั้งแนบสนิทดี” และ “ในฝ่าเท้ามีจักรลักษณะ” คือหมายถึงว่าเวลายืน ฝ่าเท้าทั้งหมดจะแนบลงกับพื้นเต็มทั้งฝ่าเท้า รอยพระพุทธบาทที่สร้างกันมาจึงต้องทำเป็นรูปรอยฝ่าเท้าเต็มๆ (ไม่มีอุ้งเท้าเว้าแหว่งให้เห็นแบบรอยเท้าคนทั่วไปเวลาเดินย่ำน้ำมา) และมักทำเป็นลวดลายธรรมจักรอยู่ตรงกลาง

มหาปุริสลักษณะข้ออื่นๆ ก็มีได้แก่ “ส้นเท้ายาว” “นิ้วมือนิ้วเท้ายาว” “แข้งเหมือนแข้งเนื้อทราย” “ยืนตัวตรง ไม่โค้งลำตัว จะใช้ฝ่ามือลูบได้ถึงเข่า” ฯลฯ

แต่ทั้งหมด ไม่มีข้อไหนเลยที่พูดถึงติ่งหูยื่นยาว

ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่เกี่ยวกับมหาปุริสลักษณะ

หากแต่ช่างผู้สร้างพระพุทธรูปตั้งแต่โบราณมา ทำส่วนติ่งหูยื่นยาวนี้ เพื่อสื่อถึงชาติกำเนิดดั้งเดิมของพระพุทธเจ้า ที่ทรงเป็นคนในวรรณะกษัตริย์ คือเป็นเจ้าชายสิทธัตถะมาก่อน

ตามประเพณี พระจักรพรรดิ หรือเจ้าชายเจ้าหญิงย่อมสวมต่างหูหรือ “ตุ้มหู” ที่มีน้ำหนักมาก ถ่วงหูไว้จนติ่งหูยื่นยานลงมา ลักษณะเช่นนี้คงนับถือกันในสมัยนั้นว่าเป็นความงาม เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวชจึงทรงตัดมวยผมที่เป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นสูง และถอดเครื่องประดับร่างกายต่างๆ ออกจนหมดสิ้น

รวมถึงต่างหูหรือ “ตุ้มหู” ที่ว่านั้นด้วย

หากแต่เนื้อส่วนติ่งหูที่เคยถูกถ่วงน้ำหนักไว้จนยืดยานด้วย “ต่างหู” ย่อมมิอาจหดกลับคืน จึงยังคงยื่นยาวอยู่เช่นนั้น

ถ้าสังเกตให้ดี ช่างที่เข้าใจคติเรื่องนี้ นอกจากจะทำส่วนปลายพระกรรณ (ติ่งหู) ของพระพุทธรูปให้ยื่นยาวลงมาแล้ว ยังจะแสดงให้เห็น “ร่อง” ผ่ากลาง ยาวลงมาเกือบตลอดติ่งหูที่ว่านั้นด้วย

เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่านี่คือ “ร่องรอย” ที่หลงเหลือตกค้างจากการสวมใส่ต่างหูเป็นเวลานาน อันสื่อถึงราชสถานะของพระพุทธองค์นั่นเอง

หมายเหตุ : ผู้สนใจอาจค้นดูคติเรื่องมหาปุริสลักษณะต่างๆ ที่กล่าวถึงในที่นี้ ได้จากหนังสือชื่อ “ลักษณะของบุรุษ สตรี และประติมา” (๒๕๐๕) ของอาจารย์แสง มนวิทูร อดีตข้าราชการนักอ่านศิลาจารึกของกรมศิลปากรผู้ล่วงลับไปแล้ว


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสาร สารคดี