บทความพิเศษ เนื่องในเหตุการณ์ล่าเสือดำและสัตว์ป่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก

โดย ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

เสือดำจ้าวป่าถูกล่าในป่าทุ่งใหญ่ฯ ภายในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ โดยคณะที่มีประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทยเดเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) รวมอยู่ด้วย เบื้องต้นพบซากเสือดำถูกชำแหละ และถลกหนัง

Panthera pardus ชื่อวิทยาศาสตร์ของ “เสือดำ” เป็นคำเดียวกับชื่อวิทยาศาสตร์ของ “เสือดาว” ในทางสัตวศาสตร์ทั้งสองจัดเป็นสัตว์ชนิดเดียวกัน แม้สีสันภายนอกแตกต่างกันก็ตาม

หนึ่งในเหตุผลที่ใช้อธิบายว่าเสือดาวธรรมดากับเสือดาวดำเป็นสัตว์ชนิดเดียวกัน คือเสือดาวธรรมดาเวลาออกลูกบางทีก็เป็นสีดำ บางทีในครอกเดียวกันมี ๒ ตัว ตัวหนึ่งเป็นเสือดาวสีธรรมดา อีกตัวหนึ่งเป็นเสือดำ ลูกของเสือดำบางทีก็ออกมาเป็นเสือดำ บางทีก็ออกมาเป็นเสือดาวสีธรรมดา

แม้มองผ่านๆ จะเห็นว่าเสือดำมีสีดำขลับทั้งตัว แต่ถ้ามองดูใกล้ๆ ในที่มีแสงสว่าง จะเห็นลายจุดเข้มแสดงออกมาอย่างชัดเจน

นักสัตวศาสตร์จำนวนหนึ่งเห็นกันว่าเสือดำมีต่อมทำสีดำหรือเมลานินมากเกินไป จึงถือว่ามันเป็นแต่เพียง “Melanism” หรือ “Spots”

อย่างไรก็ดี รายงานชิ้นหนึ่งในต่างประเทศกล่าวว่า เมื่อสวนสัตว์แห่งหนึ่งทดลองให้เสือดำกับเสือดำผสมพันธุ์กันกลับได้ลูกออกมาเป็นเสือดำล้วนๆ ทุกครอก จนทำให้นักวิจัยเริ่มหวั่นไหว…หรือเสือดำจะเป็นสัตว์อีกพันธุ์หนึ่งแยกไปต่างหากกันแน่ ?

เสือดำกับเสือดาวเป็นสัตว์ชนิดเดียวกัน ถ้ามองผ่านๆ จะเห็นว่าเสือดำมีสีดำขลับทั้งตัว แต่ถ้ามองดูใกล้ๆ ในที่มีแสงสว่าง จะเห็นลายจุดแสดงออกมาอย่างชัดเจน เสือดำยังมีขนาดและรูปร่างเหมือนเสือดาวทุกประการ

เสือดำอาศัยทั้งในป่าโปร่ง ป่าทึบ ป่าที่มีโขดหิน พบในทวีปแอฟริกา เอเชีย ตั้งแต่แมนจูเรียลงมาถึงอินโดจีน เขตไทย มาเลเซีย และชวา ในเมืองไทยมีรายงานว่ามีมากที่สุดทางภาคใต้ ยิ่งลงไปทางตอนใต้ก็ยิ่งมีเสือดำมากขึ้น โดยเฉพาะที่ส่วนปลายของแหลมมลายู ขณะที่เสือดาวสีธรรมดาก็ยิ่งมีน้อยลง

ซี.บี.คลอส รายงานเรื่องนี้ไว้ในวารสาร Royal Asiatic Society ว่า “เสือดาวทางทิศใต้ของมะละกาลงไปเป็นเสือดำทั้งหมด ไม่มีเสือดาวสีธรรมดาเลย”

การเปลี่ยนแปลงของสีจากเหลืองเป็นดำนี้ตรงกับแนวคิดข้อหนึ่งว่า “อากาศร้อนและฝนชุก สัตว์มักเปลี่ยนเป็นสีดำ” และ “ยิ่งลงต่ำทางทิศใต้ สีก็ยิ่งดำขึ้น”

ขณะที่นักล่าสัตว์ชาวต่างประเทศบางคนตั้งข้อสังเกตว่า เสือดาวทางภาคใต้ชอบจับลิงจับค่าง ธรรมชาติจึงเปลี่ยนสีของมันให้ดำเข้ากับสีอันค่อนข้างมืดทึบของป่าดงดิบที่ฝูงลิง ค่าง ชะนี ชอบอาศัย แต่ก็ยังไม่วายมีความเห็นต่างตามมาว่า ไม่ว่าจะสีดำหรือสีเหลืองจุดดำมองลงมาจากที่สูงก็เห็นยากพอๆ กัน อีกอย่างเสือดาวสีธรรมดาก็มีสีบริเวณหลังเข้ม และมีจุดดำแน่นถี่อยู่แล้ว

เสือดำกินสัตว์ป่าทุกชนิดที่จับได้ เช่น หมู กวาง ลิง นกยูง สุนัข แมลง แม้แต่ปู และปลาในน้ำ มันอาจจะกระโดดจากต้นไม้เพื่อจับเหยื่อบนพื้นดิน แล้วลากเหยื่อขึ้นมากินบนต้นไม้ เพื่อไม่ให้สัตว์อื่นแย่ง

เสือดำเป็นเสือขนาดใหญ่ รองลงมาจากเสือโคร่ง มีนิสัยอยู่ง่าย กินง่าย กินสัตว์ป่าแทบทุกชนิดที่จับได้ เช่น หมูป่า กวาง ลิง นกยูง สุนัข แมลง บางครั้งก็ลงไปในน้ำเพื่อกินปู กินปลา เสือดำจึงเป็นสัตว์นักล่าที่ช่วยควบคุมประชากรสัตว์ป่า ทำให้ระบบนิเวศอยู่ในภาวะสมดุล

เสือดำผสมพันธุ์ได้ตลอดปี ตั้งท้องนาน ๙๘-๑๐๕ วัน ออกลูกครั้งละ ๑-๕ ตัว อายุเฉลี่ย ๒๐ ปี

ในหนังสือ ธรรมชาตินานาสัตว์ เล่ม ๑ สำนักพิมพ์สารคดี นพ.บุญส่ง เลขะกุล ให้ความเห็นเกี่ยวกับความดุร้ายของเสือดำเมื่อเทียบกับเสือชนิดอื่นว่า “เสือดำและเสือดาวธรรมดา ตามความเห็นของข้าพเจ้าเห็นว่ามีนิสัยและความดุคล้ายคลึงกัน บางตัวดุมาก บางตัวดุน้อย เป็นนิสัยของแต่ละตัวไม่เกี่ยวกับสีเหลืองหรือสีดำ ตำราของฝรั่งบางเล่มกล่าวว่า เสือดำดุกว่าเสือดาวธรรมดามาก แต่เท่าที่สายตาของพวกเราๆ เห็นนั้น เราก็มักจะเข้าใจเอาว่าเสือดำดุกว่า ทั้งนี้เพราะเสือดำสีของมันดำ ตาของมันเขียวๆ ทำให้ดูน่ากลัวขึ้นกว่าเดิม เท่าที่เราเห็นกันในเขาดินวนาก็รู้สึกว่าสีสันอันดำมืดของมันชวนให้ดูน่ากลัวขึ้นกว่าเสือดาวตัวเหลืองๆ จริง”

เสือดำรูปร่างปราดเปรียว ถ่ายติดด้วยกล้องดักถ่ายอัตโนมัติบริเวณผืนป่าแม่วงก์-คลองลาน ป่าผืนเดียวกับป่า “ทุ่งใหญ่” หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก (ภาพ : เฟซบุค WWF-Thailand วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๗)

เมื่อเข้าไปในป่า น้อยคนจะนึกถึงเสือดำ เราอาจนึกถึงสัตว์ใหญ่อย่างเสือโคร่ง ช้าง วัวแดง หมีควาย หรือสัตว์เล็กลงไปอย่างลิง ค่าง นกยูง นกเงือก ฯลฯ เรื่องเสือดำลึกลับราวกับสีของมันเวลากลางคืน

ในภาพยนตร์เรื่อง “เดอะ ไลอ้อน คิงส์” (The Lion King) เรื่องราวของสิงโตเจ้าป่า และผองเพื่อนสิงสาราสัตว์ ไม่มีเสือดำเป็นตัวละครหลัก

แต่อย่างน้อยๆ ในวรรณกรรมเยาวชนอมตะ “เมาคลีลูกหมาป่า” (The Jungle Book) มีตัวละครหลักเป็นเสือดำ “บาเคียร่า” ผู้คอยดูแลช่วยเหลือเมาคลี ช่วยให้ทารกน้อยได้มีชีวิตอยู่ในความคุ้มครองของครอบครัวหมาป่า

นักอนุรักษ์ยุคปัจจุบันอาจคุ้นเคยกับชื่อป่า “แม่วงก์” หรือ “อุทยานแห่งชาติแม่วงก์” แต่ถ้าจะย้อนเวลาไปสัก ๓๐ หรือ ๔๐ ปี นักอนุรักษ์ “รุ่นพ่อ” หรือ “รุ่นพี่” ต่างเคยรณรงค์ต่อต้านการทำไม้ การสร้างเขื่อน รวมถึงการเปิดให้ผู้มีอิทธิพลเข้าไปลักลอบล่าสัตว์ในป่า “ทุ่งใหญ่ฯ” กันมาแล้ว (ภาพ : นิตยสารสารคดี)

เมาคลีลูกหมาป่าสร้างขึ้นโดยมีฉากหลังเป็นป่าดงดิบของอินเดีย

แต่นอกเหนือจากอินเดีย เนปาลในพื้นที่เอเชียใต้ เสือดำยังอาศัยในภูมิภาคเอเชียตั้งแต่แถบแมนจูเรียลงมารวมทั้งไทย

ในเมืองไทยนอกจากป่าทางภาคใต้ เสือดำยังอาศัยใน “ป่าตะวันตก” ผืนป่าอนุรักษ์ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศและของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอาณาเขตคลอบคลุมพื้นที่ถึง ๑๑.๗ ล้านไร่ ใน ๖ จังหวัด ได้แก่ ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี ประกอบด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติรวมกันถึง ๑๗ แห่ง

เมื่อพูดถึงป่าตะวันตก นักอนุรักษ์รุ่นใหม่อาจคุ้นกับชื่อป่า “แม่วงก์” หรือ “อุทยานแห่งชาติแม่วงก์” องคาพยพหนึ่งของผืนป่าตะวันตก ที่เคยผ่านการรณรงค์ต่อต้านเขื่อนแม่วงก์เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

แต่ถ้าจะย้อนเวลาไปไกลกว่านั้นสัก ๓๐ หรือ ๔๐ ปี นักอนุรักษ์ “รุ่นพ่อ” หรือ “รุ่นพี่” ต่างเคยรณรงค์ต่อต้านการทำไม้ การสร้างเขื่อน รวมถึงการเปิดให้ผู้มีอิทธิพลเข้าไปลักลอบล่าสัตว์ในป่า “ทุ่งใหญ่ฯ” ซึ่งหมายถึง “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร” ที่กว้างใหญ่ไพศาล ปัจจุบันแบ่งออกเป็นเขตทุ่งใหญ่ฯ ด้านตะวันตกและตะวันออก

หากป่าแม่วงก์มีเสือดำ ยืนยันด้วยภาพจากกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ โครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง โครงการร่วมระหว่างกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับ WWF-ประเทศไทย ช่วยให้ผู้คนได้เห็นภาพถ่ายของเสือดำรูปร่างปราดเปรียว หันมองมาทางกล้อง แสดงออกถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่า
ป่าทุ่งใหญ่ฯ ที่อยู่ใกล้กับป่าแม่วงก์ก็มีเสือดำเช่นกัน

ยืนยันด้วยภาพซากเสือดำที่ถูกคนยิงตาย…ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

พื้นที่พบซากเสือดำถูกชำแหละ รวมทั้งเก้ง ไก่ฟ้าหลังเทา อยู่ระหว่างหน่วยพิทักษ์ป่าทิคอง กับหน่วยฯ มหาราช เรียกว่าบริเวณห้วยปะชิ เป็นบริเวณที่เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรไม่อนุญาตให้ตั้งแคมป์ ห่างออกไปจากเส้นทางท่องเที่ยว ทินวย-ทิคอง-มหาราช

ในระดับชาติ พื้นที่บริเวณนี้ได้รับประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ ได้รับการรบกวนจากกิจกรรมของคนไทยน้อยที่สุด

ในระดับโลก องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก้ ประกาศให้ทุ่งใหญ่ฯ เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติร่วมกับป่าห้วยขาแข้ง เมื่อปี ๒๕๓๔ โดย สืบ นาคะเสถียร ทำรายงานยื่นเรื่องเสนอต่อยูเนสโก ในชื่อ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง” แสดงให้เห็นความสมบูรณ์และหลากหลายของผืนป่า

ทุ่งใหญ่อยู่ในตำแหน่ง “ศูนย์กลาง” หรือเรียกว่าเป็น “ไข่แดง” ของป่าตะวันตก เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำแควน้อยและแควใหญ่ เป็นพื้นที่ดีเด่นด้านวิวัฒนาการทางชีวภาพ-ชีวาลัย สัตว์ที่พบในป่าตะวันตกประกอบไปด้วยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่า ๑๕๐ ชนิด นก ๔๐๐ ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน ๙๖ ชนิด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ๔๓ ชนิด ปลาน้ำจืด ๑๑๓ ชนิด โดยมีสัตว์อีกหลายชนิดยังไม่ได้รับการสำรวจและยืนยันอย่างเป็นทางการ

สัตว์ป่าเหล่านี้หลายชนิดเป็นสัตว์อนุรักษ์ใกล้สูญพันธุ์

ในระดับชาติ เสือดำเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ๒๕๓๕ ที่อนุญาตให้เพาะพันธุ์ได้

ในระดับโลก เสือดำจัดให้อยู่ในบัญชีที่ ๑ ของไซเตส คือชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ ห้ามค้าโดยเด็ดขาด รวมทั้งอยู่ในบัญชีแดงของ IUCN อยู่ในสถานะสัตว์ป่าที่มีความเสี่ยงขั้นอันตรายต่อการสูญพันธุ์ (Vulnerable) จากการถูกล่าอย่างหนัก และรุกพื้นที่ป่า

เมื่ออยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและมรดกโลกทางธรรมชาติ การล่าสัตว์ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าเสือดำหรือสัตว์ชนิดใ

หนึ่งชีวิตที่ปลิดปลิวไปจากปลายกระบอกปืนคือการเหยียบย่ำธรรมชาติ

ความอัปยศอย่างการล่าสัตว์ไม่ควรเกิดขึ้นในป่ามรดกโลก