“ด้วยแววตานี้ที่ เทพา เป็นสิ่งยืนยันว่าสังคมไทยยังมีความหวัง”

รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์
คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลา

อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


หนึ่งในภาพถ่ายของ วันชัย พุทธทอง จัดแสดง ณ ร้าน Art café by Brown sugar ชั้น ๑ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร‬ ทุกภาพถ่ายด้วยโทรศัพท์มือถือ อัดด้วยระบบขาวดำ  วันชัยเคยให้สัมภาษณ์ว่า การต่อสู้ของประชาชนเหมือนผลงานศิลปะ ที่แม้แต่จิตรกรเอกระดับโลกก็ไม่สามารถรังสรรค์ให้สวยงามเทียบเท่าพลังแห่งความจริงที่ปรากฏขึ้นตรงหน้า (ภาพ : วันชัย พุทธทอง)

“ปัญหาคือการที่รัฐและสังคมสร้างตัวตนและความหมายของชาวบ้านในเชิงด้อยศักยภาพและด้อยโอกาส มันทำให้ชาวบ้านถูกตรึงอยู่ในความสงบเสงี่ยม ชาวบ้านในความหมายของสังคมทั่วไปจึงเป็นพวกที่ต้องสงบเสงี่ยม เจี๋ยมเจี้ยม เจียมตัว ไม่มีตัวตนในสังคม

“ชาวบ้านจะถูกทำให้มีตัวตนขึ้นมาบ้าง ก็ในยามถูกเรียกร้องให้เสียสละ หรือยอมรับการพัฒนาที่ตนเองไม่มีส่วนกำหนด

“กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเป็นเพียงกรณีหนึ่งของชุมชน ชาวบ้าน ในกระแสการรุกรานใหญ่ของรัฐที่นับวันจะตัดขาดการมีส่วนร่วม

“ข้อเรียกร้องของเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เพียงแต่ได้รับการเพิกเฉยแต่ยังมีการใช้กลไกอำนาจรัฐคุกคาม ทำร้ายชาวบ้าน ทั้งใส่ร้ายป้ายสี จับกุมคุมขัง ตั้งข้อหา ทั้งที่ข้อเรียกร้องและการเคลื่อนไหวของพวกเขาเป็นไปอย่างเปิดเผย…

“เปิดเผยความต้องการที่จะยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีในโอกาสที่มาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดสงขลา ช่วงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เพื่อบอกเล่าความทุกข์ยาก และขอให้ทบทวนยกเลิกโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่อำเภอเทพา ซึ่งก็เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการจัดประชุมเพื่อให้คณะรัฐมนตรีเข้าถึงปัญหา ดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอยู่แล้ว

“การแสดงออกอย่างออกหน้าออกตาในการประชุมร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน ตรงกันข้ามกับการแสดงท่าทีรังเกียจเดียดฉันท์ การสลายการชุมนุมกิจกรรมเดินเทใจให้เทพา ทั้งที่ชาวบ้านแสดงออกด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน สงบ สันติ ภายใต้การใช้สิทธิ เสรีภาพตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองจึงเป็นการละเมิดสิทธิ อันเกิดจากวิธีคิดแบบเผด็จการ-อำนาจนิยม การมองชาวบ้านเป็นศัตรูจึงไร้ซึ่งมนุษยธรรมและความชอบธรรมใดๆ

“การดำเนินคดีด้วยข้อกล่าวหา ร่วมกันเดินหรือแห่อันเป็นการกีดขวางการจราจร ปิดกั้นทางหลวง หรือกระทำการบนถนนหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะ ต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่ พาอาวุธไม้คันธงปลายแหลมเข้าไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ ก็เป็นวิธีทางการเมือง โดยอาศัยกระบวนการทางกฎหมายและศาล เพื่อให้ชาวบ้านหุบปาก เป็นการฟ้องคดีปิดปากหรือฟ้องให้หุบปาก เพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน”

“กรณีเทพาอาจเป็นตัวอย่างเล็กๆ เท่านั้นเองที่บอกว่าชาวบ้านกำลังถูกตัดมือ ตัดแขน ตัดขา ตัดขาดการมีส่วนร่วม

“กรณีเทพาคือรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดว่าถึงแม้ท่านจะดำเนินคดีหรือดำเนินการทางกฎหมาย แต่พลังใจอันแข็งแข็งของชาวบ้านก็จะยังมีอยู่ต่อไป ในการมุ่งมั่นปกป้องฐานทรัพยากรชุมชน

“ผมเห็นด้วยกับคำพูดที่ว่า ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ การจับคุมและคุมขังจึงเป็นบททดสอบอันสำคัญของหัวใจที่มีความกล้าหาญ อดทน เสียสละ อุทิศตน ยืนยันสิทธิประชาชนในการปกป้องชุมชน ปกป้องทรัพยากรเพื่อความยั่งยืน ท่ามกลางความเสื่อมทรุด ศีลธรรม และจริยธรรมทางการเมืองที่แสนจะเปราะบาง ปนเปื้อน แอบแฝงด้วยผลประโยชน์อันมากมาย

“ด้วยแววตาเช่นนี้ของพี่น้องที่เทพา และที่อื่นๆ คือสิ่งยืนยันกับเราทั้งหลายว่าสังคมไทยยังมีความหวัง ในวันอันมืด ที่จะร่วมกันขับไล่เงามืดแห่งอำนาจรัฐและทุนอันอยุติธรรมที่กดหัวชาวบ้านไว้ เพื่อผลแห่งชัยชนะและการเข้าถึงอำนาจของชาวบ้านและสังคมไทยในบั้นปลาย

“ด้วยแววตานี้คือหน้าต่างแห่งโอกาสของการปฏิบัติการ เคลื่อนไหว เรียกร้องสิทธิเสรีภาพตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ กติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง และสิทธิอันเกิดจากสามัญสำนึกพื้นฐานของการปกป้องชุมชน เพื่อให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่สวนทางกับการพัฒนาที่ยั่งยืนยุติลง พร้อมๆ กับการแสวงหาอิสรภาพ สิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยในความหมายของชาวบ้าน

“แววตานี้เท่านั้นที่เปิดปาก เปล่งเสียงสิทธิ ขณะอำนาจเผด็จการเสื่อมลงทุกวัน

“แววตาแบบนี้เท่านั้นที่สังคมไทยต้องเทใจให้เทพา”

เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐ ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเดินเท้าจาก อ.เทพา ไปสู่ อ.เมืองสงขลา ระยะทางประมาณ ๘๐ กิโลเมตร ในชื่อกิจกรรม “เทใจให้เทพา หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน เดิน…หานายกฯ หยุดทำลายชุมชน” หวังยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีที่จะมาตรวจราชการและประชุม ครม สัญจรที่จังหวัดสงขลา (ภาพ : จิราพร อาวะภาค)

เจ้าหน้าที่ตรึงกำลัง กั้นกรวย ปิดถนน ๒ ช่องทาง สกัดชาวบ้านไว้ไม่ให้เดินทางต่อไปพบนายกรัฐมนตรี บริเวณข้างมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา ก่อนเกิดเหตุการณ์สลายชาวบ้านที่ริมหาดเก้าเส้งในเวลาต่อมา มีการจับกุมและดำเนินคดีกับชาวบ้าน ๑๗ คน โดยมีเยาวชนอายุไม่ถึง ๑๘ ปี รวมอยู่ด้วย ๑ คน (ภาพ : จิราพร อาวะภาค)

รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ บนเวทีเสวนางานเปิดนิทรรศการภาพถ่าย “เทพา…ในแววตาชาวบ้าน” (ภาพ : จิราพร อาวะภาค)

สถานการณ์ล่าสุดของการแสดงออกเพื่อยับยั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับวันวาเลนไทน์ ชาวบ้านจำนวน ๖๖ คนประกาศอดอาหารบริเวณถนนราชดำเนิน หน้าอาคารสหประชาชาติหรือ UN มาถึงชั่วโมงที่ ๔๕ แม้มีบางคนขอถอนตัวด้วยปัญหาสุขภาพ ความดันสูง แต่ชาวบ้าน ๖๖ คนนี้คือผู้ที่ยอมต่อสู้ด้วยวิธีอหิงสา มีรายงานว่าเฉพาะวันวาเลนไทน์มีผู้ร่วมอดอาหารเพิ่ม (ภาพ : สมยศ โต๊ะหลัง)

เก็บตกจากลงพื้นที่

  • วงเสวนาในนิทรรศการภาพถ่าย “เทพา…ในแววตาชาวบ้าน” ผลงานของ วันชัย พุทธทอง ชั้น ๑ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร‬ วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
  • งานจัดแสดงวันที่ ๙ มกราคม – ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ณ ร้าน Art café by Brown sugar

tei

ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

อีกภาคหนึ่งของ “เจ้าชายหัวตะเข้” นักเขียนสารคดีที่เรียนจบมาด้านวิทยาศาสตร์ สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และกีฬาเป็นพิเศษ