๑๔ เหตุการณ์ที่ทำให้ป่าทุ่งใหญ่ฯ เป็นพื้นที่พิเศษ
เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม
๑
ระหว่างปี พ.ศ.๒๑๓๓ – พ.ศ.๒๑๔๘
สันนิษฐานว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเคยหยุดทัพบริเวณทุ่งใหญ่ และใช้เป็นฐานที่มั่นเพื่อเตรียมรบกับข้าศึกทางฝั่งพม่า จนเป็นที่มาของคำว่า “ทุ่งใหญ่นเรศวร”
ส่วนคำว่า “ทุ่งใหญ่” มีที่มาจากการมี “ทุ่งหญ้า” กว้างใหญ่ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของพื้นที่ เป็นระบบนิเวศทุ่งหญ้าเขตร้อนแบบสะวันนาที่มีต้นไม้ขึ้นอยู่ห่างๆ กัน เป็นสังคมทุ่งหญ้าที่มีพื้นที่รวมกันมากกว่า ๕๐,๐๐๐ ไร่ รายล้อมด้วยป่าหลายชนิด เช่น ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าไผ่ ถือเป็นลักษณะเด่นของป่าเขตทุ่งใหญ่
การผสมผสานของทุ่งหญ้าและป่าไม้ทำให้ทุ่งใหญ่เป็นแหล่งน้ำแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย และหลบภัยของสัตว์ป่า
สังคมทุ่งหญ้าสะวันนากระจายอยู่บริเวณตอนกลางของพื้นที่ทุ่งใหญ่ รวมแล้วมากกว่า ๕๐,๐๐๐ ไร่ ในเขตนี้มีต้นไม้ขึ้นอยู่ห่างๆ กัน การผสมผสานของทุ่งหญ้าและป่าไม้ชนิดต่างๆ ทำให้ทุ่งใหญ่เป็นแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัยและหลบภัยของสัตว์ป่านานาชนิด จากภาพนี้เป็นทุ่งหญ้าที่เกิดจากการทำการเกษตรของชาวไทยภูเขาที่เคยอาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก อ.อุ้มผาง จ.ตาก ทำให้เกิดปัญหาด้านการล่าสัตว์ บุกรุก แผ้วถางพื้นที่ กระทั่งในปี ๒๕๓๒-๒๕๓๗ กรมป่าไม้จึงร่วมกับกองทัพภาคที่ ๓ ดำเนินโครงการอพยพราษฎรชาวไทยภูเขามาที่ อ.พบพระ จ.ตาก จนครบทุกครัวเรือน (ขอบคุณข้อมูลจาก คุณเพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก จ.บุรีรัมย์)
๒
๒๓ กรกฎาคม ๒๕๐๕
หนังสือพิมพ์สยามรัฐตีพิมพ์บทความของ เย็น การดี เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ความตอนหนึ่งว่า
“สองวันที่ผมได้ไปพักผ่อนหาความสำราญใจอยู่ที่ไร่ของเพื่อน ได้พบว่ามีรถจี๊บตรากงจักรขับเข้าไป เพื่อทำการล่าสัตว์ในเขตตำบลนาสวย ซึ่งไปถึงโป่ง “ตะเลอะเชอะ” มีรถจีบเข้าไป ๔ คัน สังเกตผู้ที่อยู่บนรถแต่ละคนดูท่าทางมากไปด้วยยศแทบทั้งสิ้น ถามเพื่อนผมดูเขาบอว่าพวกนี้มากันหลายเที่ยวแล้ว โดยใช้อิทธิพลของสี ใช้ความใหญ่ของยศและตำแหน่ง เข้าไปล่าสัตว์พวกพรานชาวบ้านที่เคยนำคณะนี้เข้าไปล่า เล่าว่ารถจี๊ป ๔ คัน ยิงกันเที่ยวละยี่สิบตัวบ้าง สามสิบตัวบ้าง มีทั้งกวาง เก้ง วัวแดง และกระทิง ยิงแล้วก็ทิ้งขว้างอยู่ในป่านั้นหละ เพราะไม่มีปัญญาจะขนออกมาหมด”
ถือเป็นการบันทึกถึงเหตุการณ์ล่าสัตว์โดยกลุ่มผู้มีอิทธิพลครั้งแรกๆ ในป่าแถบทุ่งใหญ่
ผืนป่าตะวันตกทั้งหมดมีพื้นทีประมาณ ๑๑.๗ ล้านไร่ เท่ากับประมาณ ๑๒ เท่าของพื้นที่กรุงเทพมหานคร เฉพาะทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกกับตะวันออกรวมกันมีพื้นที่ประมาณ ๒ ล้านไร่ (ภาพ : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร)
๓
มกราคม ๒๕๑๖
เกษม รัตนไชย เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ถูกส่งเข้ามาสำรวจป่าทุ่งใหญ่ซึ่งขณะนั้นยังมีสถานะเป็นป่าสงวน เพื่อเตรียมจัดตั้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พบคณะนายทหารและนายตำรวจ ละเมิด พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๐๓ ด้วยการเข้ามาล่าสัตว์ป่าโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย เมื่อรายงานไปยังกรมป่าไม้ ข่าวก็เริ่มแพร่กระจายไปยังนิสิตนักศึกษากลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งนักข่าวหนังสือพิมพ์
ซากสัตว์ป่าจากการกินทิ้งกินขว้าง ถูกกลบไว้บริเวณที่ตั้งแคมป์ริมห้วยเซซ่าโหว่ (ภาพ : หนังสือบันทึกลับจากทุ่งใหญ่)
๔
ตลอดเดือนเมษายน ๒๕๑๖
ตั้งแต่ต้นเดือน คำพูดจากเจ้าของร้านปืนแห่งหนึ่งเข้าหูอาจารย์เกษตรศาสตร์ ว่ามีกลุ่ม “พรานบรรดาศักดิ์” เข้ามาซื้อกระสุนเตรียมออกล่าสัตว์ นักศึกษาที่เดินทางไปยังบ้านคลิตี้ กาญจนบุรี ก็ได้ข่าวลักษณะนี้เช่นกัน
ตัวแทนนักศึกษากลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติจาก ๔ มหาวิทยาลัย คือ เกษตรศาสตร์ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ และมหิดล รวมถึงนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยจึงเดินทางเข้าพื้นที่ ดักซุ่มตามจุดที่จะเข้าสู่ทุ่งใหญ่ พบขบวนรถ ยีเอ็มซี. รถจิ๊ป กำลังข้ามแม่น้ำแควใหญ่โดยแพขนานยนต์ ต่อมาพบการตั้งแคมป์บริเวณริมห้วยเซซ่าโหว่ มีเฮลิคอปเตอร์จอดอยู่ด้วย ๑ ลำ เมื่อนักศึกษาและเจ้าหน้าที่เข้าไปสอบถาม ก็ถูกถามกลับว่าเป็นนักศึกษากลุ่มอนุรักษ์ฯ ใช่ไหม เกษม รัตนไชย เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ถูกถามว่าคุณคือผู้รายงานการเข้ามาครั้งก่อนของพวกตนใช่หรือเปล่า
“แก๊งค์ล่าสัตว์” ไม่มีท่าทีสะทกสะท้าน ถึงแม้รู้ดีว่าการล่าสัตว์ในเขตนี้ผิดกฎหมาย แต่ก็บอกว่าทำไปเพราะต้องการผ่อนคลายอารมณ์ ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายเพราะสัตว์ป่ามีจำนวนมาก ล่าเท่าไหร่ก็ไม่หมด ตกดึกยังมีการจุดพลุและกระสุนส่องวิถีฉลองวันเกิดให้นายตำรวจระดับรองผู้กำกับ
เฮลิคอปเตอร์จอดอยู่บริเวณที่ตั้งแคมป์ของแก๊งค์ล่าสัตว์ ริมห้วยเซซ่าโหว่ เมื่อเมษายน ๒๕๑๖ มีผ้าขาวม้าพาดอยู่บริเวณแพนหางท้ายลำ (ภาพ : หนังสือบันทึกลับจากทุ่งใหญ่)
๕
๒๙ เมษายน ๒๕๑๖
ตรงกับวันอาทิตย์ นักศึกษาส่วนหนึ่งเดินทางกลับ ระหว่างทางพบซากสัตว์ถูกยิงตายจำนวนมาก นักศึกษาส่วนหนึ่งย้อนกลับไปยังจุดตั้งแคมป์ของแก๊งค์ล่าสัตว์ก็พบว่าแคมป์ถูกรื้อหมดแล้ว เหลือแต่ซากสัตว์ กีบกระทิง หนังกวาง หนังชะมด
บ่ายนั้นเกิดเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ทหารหมายเลข ทบ.๖๑๐๒ ตกที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม เป็นเฮลิคอปเตอร์ที่บินมาจาก จ.กาญจนบุรี มีคณะทหาร ตำรวจ เสียชีวิต ๖ คน ทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย พบซากสัตว์ป่าโดยเฉพาะกระทิง เนื้อใส่กล่องกระดาษ รวมทั้งปืนล่าสัตว์ ในกองเพลิง
กลุ่มนักศึกษาอนุรักษ์ธรรมชาติ ๔ สถาบัน และศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์เปิดโปงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทันที โดยมีหลักฐานประกอบทั้งบุคคลและภาพถ่าย
ด้านรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ออกมาชี้แจงว่าผู้ตายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ บินไปตรวจราชการลับบริเวณตะเข็บชายแดนช่วงที่นายพลเนวินจากพม่าเดินทางมาเยือนไทย ชี้แจงว่ารูปถ่ายที่ทหารตำรวจยืนล้อมซากสัตว์ป่านั้นเป็นภาพเก่า ถ่ายโดยไม่รู้ว่าใครเป็นคนยิงสัตว์ป่า เนื้อสัตว์ที่อยู่ในเครื่องบินอาจเป็นของที่คนอื่นฝากมา…
หน้าปกหนังสือ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” รูปช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวปิด วาดโดย “อาจารย์ตั้ม” เส้นลายมือชื่อหนังสือ เขียนโดยเด็กนักเรียนชั้น ป.๑ โรงเรียนแห่งหนึ่ง ราคาสมทบทุนค่าพิมพ์ ๕ บาท
๖
พฤษภาคม ๒๕๑๖
หนังสือ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” วางขายครั้งแรกริมรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีบันทึกว่านักศึกษาเอาโต๊ะตัวเล็ก ๒ ตัวมาตั้งที่ริมรั้ว ตะโกนขายว่า
“พ่อแม่พี่น้องครับ โปรดมาดูความชั่วของคนที่เอาทรัพย์สินของทางราชการไปเสวยสุขกัน”
“โปรดมาเอาความจริงไปอ่าน”
“ช่วยสนับสนุนทุนให้เราเพื่อเอาไปพิมพ์ชุดต่อไปด้วยครับ” อย่างไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพลเผด็จการที่แผ่ซ่านทั่วสังคมไทย
วันนั้นท้องสนามหลวงมีตลาดนัดขนาดใหญ่ ผู้คนต่างมองเข้ามาด้วยสายตาลังเล ว่าจะเข้ามาซื้อหนังสือดีหรือไม่ แล้วก็เริ่มมีคนเข้ามาซื้อไปคนละเล่มสองเล่ม มอบเงินสนับสนุนค่าพิมพ์ ๕ บาท ๑๐ บาทบ้าง หนังสือล็อตแรกราว ๑,๐๐๐ พันเล่มขายหมดในเวลาอันรวดเร็ว ว่ากันว่าพิมพ์เพิ่มอีก ๒๐๐,๐๐๐ เล่มก็ขายหมดใน ๒ สัปดาห์
ผลสืบเนื่องจากการลักลอบล่าสัตว์ รวมทั้งเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงเดือนสองเดือนนี้สร้างความโกรธแค้นให้กับนักศึกษา ประชาชน สะสมความไม่พอใจจนบานปลายเป็นเหตุการณ์ประท้วงขับไล่รัฐบาลจอมพลถนอม วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ หรืออีกครึ่งปีต่อมา
๗
๒๔ เมษายน ๒๕๑๗
ราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษเล่ม ๙๑ ตอนที่ ๗๒ ลงวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๗ ประกาศให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มีเนื้อที่ทั้งสิ้น ๒,๐๐๐,๐๐๐ ไร่ ตั้งอยู่ท้องที่อำเภอทองผาภูมิและอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
ประยูร จรรยาวงษ์ นักวาดการ์ตูนการเมืองที่ประกาศวางปากกามากว่า ๒ ปี ทนไม่ไหวต่อกรณีการล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่ กลับมาวาดการ์ตูนเป็นรูปกระทิงและสัตว์ป่าที่ถูกล่านอนตายคลุมธงชาติ ประท้วงการให้สัมภาษณ์ของฝ่ายรัฐบาลจอมพลถนอมว่าเฮลิคอปเตอร์ที่ตกไปราชการลับ (ภาพ : หนังสือบันทึกลับจากทุ่งใหญ่)
๘
๑ กันยายน ๒๕๑๗
ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ลักลอบตั้งแคมป์ล่าสัตว์ป่าในป่าทุ่งใหญ่ตามมาด้วยเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกเมือ่ปีก่อน รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการที่ขึ้นมาสอบสวนคดี โดยมีนายทหารและนายตำรวจเป็นคณะกรรมการ ๖ ใน ๙ คน มี กมล วรรณประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน เมื่อส่งสำนวนการสอบสวนไปยังศาลกาญจนบุรี ทางศาลใช้เวลาจนถึงวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๑๗ ตัดสินพิพากษาจำคุก แกละ หมื่นจำปา ผู้เป็นนายพราน ระยะเวลา ๖ เดือน ส่วนจำเลยอีก ๙ คน ศาลมีคำตัดสินยกฟ้องทั้งหมด
ต่อมา กมล วรรณประภา ยังได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลสมัยนายสัญญา ธรรมศักดิ์
สืบ นาคะเสถียร ร่วมเวทีคัดค้านเขื่อนน้ำโจนที่ตัวเมืองจังหวัดกาญจนบุรี ตามโครงการนี้จะมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำแควใหญ่หรือแม่น้ำแม่กลองตอนบนที่จะส่งผลให้มีน้ำท่วมป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี ประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ ไร่
๙
ช่วงปี ๒๕๓๐
รัฐบาลมีแนวโน้มอนุมัติโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ผลของการสร้างเขื่อนจะทำให้ผืนป่าประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ ไร่ต้องจมน้ำ และสัตว์ป่าล้มตายจำนวนมาก จึงเกิดการต่อต้านอย่างหนักจากชาวเมืองกาญจน์ นักอนุรักษ์ ศิลปิน คนท้องถิ่น นักศึกษา ประชาชน หนึ่งในข้าราชการที่ออกมาต่อต้านการสร้างเขื่อนน้ำโจนคือ สืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นักอนุรักษ์คนสำคัญของเมืองไทย
เมื่อสืบมีโอกาสเดินป่าทุ่งใหญ่ ได้นั่งเครื่องบินสำรวจทางอากาศ สืบพบกระทิงฝูงกระทิงมากถึง ๕๐ ตัว เป็นกระทิงฝูงใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบในเมืองไทย
เหตุการณ์ต้านเขื่อนน้ำโจนในป่าทุ่งใหญ่น่าจะเป็นช่วงแรกๆ ที่สืบมักใช้คำพูดตอนเริ่มต้นอภิปรายว่า “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า”
หน้าปกรายงาน “Nomination of The Thung Yai – Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuary to be a U.N.E.S.C.O.” ที่ สืบ นาคะเสถียรได้ทุ่มเทเขียนร่วมกับ เบลินด้า สจ๊วต ค๊อก เพื่อเสนอให้เขตรักษ์พันธ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยแข้งเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ จนสำเร็จในที่สุด (ภาพ : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร)
๑๐
๔ เมษายน ๒๕๓๑
รัฐบาลมีมติระงับการสร้างเขื่อนน้ำโจนอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ฝั่งนักอนุรักษ์ยังไม่นิ่งนอนใจ มองหามาตรการระยะยาวในการป้องกันไม่ให้มีการเสนอโครงการก่อสร้างเขื่อนในเขตป่าอนุรักษ์อีก เกิดแนวคิดในการเสนอให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก โดยมีสืบ นาคะเสถียร และเบลินดา สจ๊วต ค็อกซ์ เป็นผู้รับหน้าที่เขียนรายงานนำเสนอ
๑๑
๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๔
ผนวกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำโจนจำนวน ๒๗๙,๕๐๐ ไร่ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
๑๒
ปี ๒๕๓๔
แยกการบริหารงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ออกเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดตาก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี พื้นที่คงเหลือในเขตจังหวัดกาญจนบุรีมี ๑,๓๓๑,๐๖๒ ไร่
ยูเนสโกมีมติประกาศให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในชื่อ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง” จากภาพเป็นแผ่นป้ายมรดกโลกบริเวณจุดชมวิว สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง (ภาพ : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร)
๑๓
ธันวาคม ๒๕๓๔
ผลการประชุมคณะกรรมการองค์การยูเนสโก สมัยที่ ๑๕ เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย มีมติประกาศยกย่องให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยใช้ชื่อว่า “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง” กินพื้นที่ครอบคลุม ๖ อำเภอ ของ ๓ จังหวัด ได้แก่ อำเภอบ้านไร่ อำเภอลานสัก อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี อำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิจังหวัดกาญจนบุรี และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก มีพื้นที่ ๒,๒๗๙,๕๐๐ ไร่ หรือ ๓,๖๔๗ ตารางกิโลเมตร (เฉพาะส่วนที่อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมีพื้นที่ ๒,๗๘๐ ตารางกิโลเมตร) นับเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของไทย ก่อนที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จะได้รับการประกาศในเวลาต่อมา
๑๔
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก พบกลุ่มนักท่องเที่ยว ๔ คน พร้อมซากสัตว์ป่าถูกชำแหละ ได้แก่ เสือดำ เก้ง ไก่ฟ้าหลังเทา รวมทั้งอาวุธปืนและกระสุน บริเวณที่เรียกว่าห้วยปะชิ ระหว่างหน่วยพิทักษ์ป่าทิคอง กับหน่วยฯ มหาราช ห่างออกไปจากเส้นทางท่องเที่ยว ทินวย-ทิคอง-มหาราช ซึ่งเป็นบริเวณที่เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรไม่อนุญาตให้ตั้งแคมป์
หนึ่งในผู้ต้องหามี เปรมชัย กรรณสูตร ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทยเดเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) โดยผู้ต้องหาให้การปฏิเสธทุกกรณี
สังคมทุกภาคส่วนเรียกร้องให้การดำเนินคดีนี้เป็นไปอย่างมีมาตรฐานและโปร่งใส เนื่องจากเห็นว่าผู้ต้องหามีตำแหน่งใหญ่โต มีต้นทุนทางสังคมสูง
บทสรุปของเหตุการณ์สำคัญในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรครั้งล่าสุดจะเป็นอย่างไร
จะเหมือนหรือต่างออกไปจากคดีล่าสัตว์ในป่าทุ่งใหญ่เมื่อ ๔๕ ปีก่อน ?
เก็บตกจากลงพื้นที่ เสวนา จาก ๑๖ ถึง ๖๑ คลี่ม่านเกมล่าสัตว์ ‘ทุ่งใหญ่’ เกมชีวิตอภิสิทธิ์ชน ? อังคารที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ โดยชมรมนักนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร