เรื่องธรรมดาๆ น่าสนใจขึ้นได้ ด้วยกลวิธีการนำเสนอ

วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


ค่ายลายลักษณ์วรรณศิลป์ปีนี้เป็นรุ่นที่ ๔ แล้ว ถือเป็นค่ ายอบรมการเขียนที่รวมยอดฝีมือด้านวรรณศิลป์ระดับศิลปินแห่งชาติไว้มากที่สุดก็ว่าได้

ปีนี้ผู้สมัครมาร่วมค่ายได้พบกับ กฤษณา อโศกสิน เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อัศศิริ ธรรมติ สถาพร ศรีสัจจัง อดุล จันทรศักดิ์ มาลา คำจันทร์ ชมัยภร บางคมบาง ไพฑูรย์ ธัญญา ศักดิ์สิริ มีสมสืบ ไพวรินทร์ ขาวงาม รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ และวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง สองท่านหลังไม่ใช่ศิลปินแห่งชาติ แต่ได้รับเชิญในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิด้านวรรณศิลป์

เข้ารับการอบรมราว ๖๐ คน จะได้เรียนรู้การเขียนทั้งในประเภท เรื่องสั้น นวนิยาย กวีนิพนธ์ สารคดี

เรียนรู้ทั้ง fiction และ non fiction ไปด้วยกัน

ในวงใหญ่ผมจึงลองแลกเปลี่ยนแบ่งปันเรื่องที่เป็นประเด็นร่วมของทั้งเรื่องแต่ง (fiction) และเรื่องไม่แต่ง (non fiction) คือเรื่องที่ว่าด้วยกลวิธีการนำเสนอ ซึ่งในงานทั้ง ๒ กลุ่มสามารถสร้างสรรค์ได้อย่างไม่จำกัด และมีผลอย่างยิ่งต่อความน่าสนใจของงานเขียน

ภาพโดย สุชาติ ชูลี

เรื่องธรรมดาๆ น่าสนใจขึ้นได้ ด้วยกลวิธีการนำเสนอ หรือวิธีการเล่า

อย่างมีเรื่องเล่าว่า

มีคนตกน้ำที่ท่าเรือ คนยืนมุงกันอยู่เต็ม แต่ยังไม่มีใครลงไปช่วย จนครู่หนึ่งจึงมีคนผลักใครคนหนึ่งลงไป เขาตกลงไปแล้วก็ช่วยคนตกน้ำขึ้นมาด้วย คนที่ไม่รู้ก็พากันชื่นชมว่าเขาช่างมีจิตอาสา

ถือเป็นเรื่องที่มีประเด็น ควรแก่การนำมาเล่า แต่แบบที่เล่ามาถือว่ายังราบเรียบมาก ทั้งยังเป็นการเล่าตามลำดับเวลาแบบตรงไปตรงมาอย่างเหมาะจะเป็นจดหมายเหตุ

แต่หากเป็นงานสารคดีที่จะให้น่าอ่านอย่างสมค่างานวรรณศิลป์ เราควรใส่ใจต่อวิธีการเล่าด้วย และโดยไม่ลืมรายละเอียดด้านข้อมูล
อย่างแรกผู้เขียนควรสืบ(เก็บข้อมูล) ให้รู้ว่า เป็นท่าเรือแห่งไหน? เหตุเกิดเวลาไหน?
สิ่งนี้จะกลายเป็นฉากที่สมจริงและได้บรรยากาศเมื่อนำมาเขียน
อย่างว่า…

ที่ท่าพระจันทร์ เวลาเช้า ขณะที่ผู้คนกำลังเบียดเสียดรอเรือข้ามฟาก

ตูม!
เมื่อหันไปตามเสียงก็เห็นใครคนหนึ่งกำลังผุดโผล่อยู่ริมโป๊ะรอเรือ จากกิริยาอาการดูออกว่าเขาว่ายน้ำไม่เป็น

คนบนฝั่งหันรีหันขวาง มองหน้ากันไปมาเหมือนหารือหรือเกี่ยงกันอยู่ในทีว่าใครจะลงไปช่วย แต่ยังไม่มีใครยอมเป็นผู้เสียสละ เพราะอย่างน้อยก็เปียก เปื้อน รวมทั้งเสี่ยงด้วย

การเล่าแบบหลังนี้เราจะเห็นว่ามีทั้งฉากสถานที่ที่ชัดเจน เวลา เสียง ภาพ(ตามที่ผู้เขียนบรรยาย) รวมทั้งทัศนะของผู้เขียน (ที่ใส่มาแบบเนียนๆ ว่าที่ใครไม่ลงไปช่วยคงเพราะกลัวเปียกและเสี่ยงอันตราย)

ตูม!
น้ำแตกกระจายใกล้จุดแรกอีกครั้ง ใครคนหนึ่งตามลงไปช่วยคนเคราะห์ร้าย เขาทำสำเร็จ พาคนตกน้ำขึ้นฝั่งสำเร็จ

พลเมืองดีที่มุงดูกันอยู่เต็มท่าเรือพากันปรบมือชื่นชมที่เขามีจิตอาสา

แต่เมื่อเดินผละพ้นฝูงชนออกมาแล้ว เขาถ่มน้ำลายแล้วสบถอย่างหัวเสีย “แมร่ง ตะกี้ใครมันผลักกูลงไปวะ”

ข้อมูลที่ละเอียดช่วยให้เราบรรยายและฉายภาพเหตุการณ์ได้ละเอียดลออ-หนึ่ง

กับอีกเรื่องง่ายๆ คือการใช้สรรพบ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงการเรียก “เขา” หรือเรียกชื่อตัวละคร (แหล่งข้อมูล) ซ้ำๆ

และจากเรื่องนี้เราจะเห็นเคล็ดลับสำคัญจุดหนึ่ง คือการซ่อน หรือขยัก จุดเปลี่ยน จุดหักมุม จุดที่เป็นใจความสำคัญเอาไว้จุดระเบิดในตอนจบ

วิธีการนี้เห็นมีใช้กันแม้แต่ในหนังสือนิทานเด็ก

หนังสือภาพสำหรับเด็กเรื่อง “คุณหมอเดอโซโต” ของ วิลเลียม สตีก พิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี ๒๕๒๕ เป็นหนังสือสำหรับเด็กแต่ข้ามชั้นไปรับรางวัลใหญ่ Newbery ที่มอบให้งานวรรณกรรม ด้วยวิธีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจ ฉบับภาษาไทยแปลโดย ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลสวัสดิ์ เมื่อปี ๒๕๕๒

เป็นเรื่องของหนูที่เป็นทันตแพทย์ เปิดคลินิกทำฟันให้สัตว์ทุกชนิด อุปกรณ์พร้อมสรรพ ไม่ว่าสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่คุณหมอช่วยทำฟันให้ได้หมด เว้นแต่สัตว์ที่เป็นอันตรายต่อหนูเท่านั้น

วันหนึ่งมีหมาจิ้งจอกตัวหนึ่งมายืนร้องไห้วิงวอนให้ช่วยรักษาฟันผุที่กำลังเจ็บปวดทรมาน

คุณหมอกับภรรยาปรึกษากันแล้วยอมให้มันเข้ามาในร้าน

หมอปีนบันไดขึ้นไป แล้วก้าวเข้าไปในปากหมาจิ้งจอก ตรวจแล้วอธิบายว่าต้องถอนฟันซี่ผุออก โดยหมอจะทำฟันซี่ใหม่ใส่ให้ จากนั้นหมอให้ดมยาสลบเพื่อจะได้ไม่เจ็บตอนถอนฟัน

พอหมาจิ้งจอกเริ่มสลึมสลือเพราะฤทธิ์ยา มันก็พึมพำออกมา

“ฉันชอบกันแบบดิบๆ…โรยเกลือสักนิด…แล้วจิบไวน์ตามสักหน่อย”

ภรรยาเอาแท่งไม้ให้คุณหมอค้ำปากหมาจิ้งจอกค้างไว้ แล้วถอนฟันต่อไปจนเสร็จ จากนั้นก็นัดให้หมอจิ้งจอกมาใส่ฟันซี่ใหม่ในวันรุ่งขึ้น

เรื่องราวดำเนินเข้าสู่ครึ่งหลังของเรื่องเริ่มเข้มข้นด้วยการคิดหาทางออกที่ปลอดภัยให้ตัวเอง

เป็นฉากที่เขม็งเกลียวด้วยความเครียดที่อาจต้องเลือกระหว่างสวัสดิภาพของตนกับจรรยาบรรณอันสูงส่งของการเป็นทันตแพทย์

ผู้เขียนแสดงด้วยบทสนทนา การให้รายละเอียด และคลี่คลายได้อย่างแนบเนียน-โดยไม่ต้องบอกตรงๆ ว่า หาทางออกได้แล้ว

“จะโรยเกลือกินฉันดิบๆ เลยเรอะ เราไม่น่าไว้ใจเจ้าหมาจิ้งจอกนั่นเลย”
“เขาไม่รู้ตัวหรอกว่าพูดอะไรออกมา” ภรรยาคุณหมอกล่าว “เขาจะทำร้ายเราได้ยังไง เราช่วยเขานี่นา”
“ก็เพราะมันเป็นหมาจิ้งจอกน่ะซี” คุณหมออธิบาย “หมาพวกนี้เจ้าเล่ห์จะตาย”

คืนนั้น คุณหมอและภรรยากลุ้มใจมากจนนอนไม่หลับ “พรุ่งนี้เราควรให้เขาเข้ามาในร้านดีไหม” ภรรยาคุณหมอตั้งคำถาม

“ถ้าฉันเริ่มทำงานอะไรไว้ ก็ต้องทำต่อให้จบ พ่อของฉันท่านก็ทำแบบนี้” คุณหมอตัดสินใจแน่วแน่

“แต่เราต้องเตรียมป้อนกันตัวเองไว้ด้วยนะ” ภรรยาคุณหมอแนะนำ ทั้งสองคุยกันอยู่นานจนหาวิธีได้สำเร็จ “ฉันว่ามันต้องได้ผลแน่” คุณหมอพูดอย่างมั่นใจแล้วหลับไป สักพักก็ส่งเสียงกรนดังลั่น

ถ้าเล่าเรื่องแบบเป็นเส้นตรงตามลำดับเวลา คนอ่านต้องรู้ตั้งแต่ตอนนี้แล้วว่าวิธีป้องตัวเองที่คุณหมอคิดได้คืออะไร

แต่ผู้เขียนที่มีชั้นเชิงในการเล่าเรื่อง เลือกที่จะขยักไว้ก่อน ให้คนอ่านตามต่อ ไปรู้ตอนท้ายเรื่อง

สายวันรุ่งขึ้นหมาจิ้งจอกมาตามนัด อาการปวดหายไปแล้ว และมันก็ตั้งใจมาเต็มที่ว่าต้องกินหนูทั้งคู่หลังจากทำฟันเสร็จ

พอหมอเดอโซโตเข้าไปอยู่ในปากมันก็ทำทีเป็นหุบปากลงล้อเล่น หมอดุเขาว่า จริงจังหน่อย งานยังไม่เสร็จ

เมื่อใส่ฟันทองให้แล้ว หมอก็เสนอว่ามียาวิเศษที่ใช้เพียงครั้งเดียวจะไม่ปวดฟันอีกเลย เพิ่งปรุงขึ้นมา หมาจิ้งจอกอยากทดลองใช้เป็นรายแรกไหม

หมาจิ้งจอกตอบรับ หมอถือถังใส่น้ำยาก้าวกลับเข้าไปในปากหมาจิ้งจอกอีกครั้ง ใช้แปรงทายาลงบนฟันทีละซี่ แล้วบอกให้มันหุบปากแน่นๆ ขบฟันค้างไว้สักพัก

แต่เมื่อจะจะอ้าปากอีกครั้ง ฟันของมันติดกันแน่นมาก

“อ้อ หมอลืมบอกไป” หมอเดอโซโตอธิบาย “คุณจะอ้าปากไม่ได้สักวันสองวันนะ ต้องรอให้น้ำยาซึมเข้าเนื้อฟันก่อน แต่ไม่ต้องห่วง ต่อไปคุณจะไม่ปวดฟันอีกแล้ว”

หมาจิ้งจอกอึ้งไป มันได้แต่จ้องมองคุณหมอกับภรรยา ทั้งสองเพียงแต่ยิ้มแล้วก็ยืนรอ หมาจิ้งจอกจึงได้แต่ส่งเสียงผ่านฟันที่ติดกันว่า “กอบกุนมากกั๊บ” พลางลุกออกไปโดยพยายามทำท่าให้สง่าผ่าเผยที่สุด

ผู้เขียนเฉลยให้คนอ่านได้รู้แล้วว่าคุณหมอเอาตัวรอดได้อย่างไร เรื่องราวจบลงแบบโล่งใจ หากเป็นอย่างนิทานอีสปโบราณก็คงปิดเรื่องด้วยคำสอน นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า… ความฉลาดทำให้เอาตัวรอด คิดดีชีวีเป็นสุข ฯลฯ อะไรทำนองนั้น

แต่หนังสือเด็กยุคใหม่จบด้วยฉากธรรมดาแบบสบายๆ แต่ให้การสั่งสอนโดยไม่ต้องบอกว่ากำลังสอน และแน่นอนว่าเด็กได้ซึมซับเอาไว้แล้ว-ด้วยรอยยิ้มกริ่มเมื่ออ่านจบ

ฉากปิดเรื่องในเรื่อง คุณหมอเดอโซโต เป็นฉากที่บันได ต่อเนื่องมาจากตอน …ลุกออกไปโดยพยายามทำท่าให้สง่าผ่าเผยที่สุด

แล้วหมาจิ้งจอกก็เดินโซซัดโซเซลงบันไดไปอย่างงุนงง

ในที่สุดคุณหมอเดอโซโตกับภรรก็เอาชนะหมาจิ้งจอกได้ ทั้งสองหอมแก้มแสดงความยินดีต่อกัน แล้วหยุดพักทำงานในวันนั้น


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา