หมากพลู

ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต



กันยายน 2549 หรือเมื่อ 10 กว่าปีก่อน

2-3 วัน ก่อนจะเปิดใช้สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ อย่างเป็นทางการ ทางหน่วยงานต้นสังกัดจัดพิธีนิมนต์พระสงฆ์ 99 รูปมาสวดพระปริตร อันเป็นบทคุ้มครองป้องกันภัย ท่ามกลางแขกเหรื่อผู้หลักผู้ใหญ่หลายร้อยคน จู่ๆ ก็มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากทางท่าอากาศยาน มีอาการเหมือน “ผีเข้า” อ้างว่าตนเป็น “พ่อปู่” คือวิญญาณเจ้าที่เจ้าทาง ก่อนจะตัดพ้อว่า ไม่มีใครสนใจตนเองเลย แถมยังมาไล่ให้ไปไกลๆ อีก ทั้งที่อยู่มาแต่เก่าก่อน พ่อปู่จึงว่าขอให้ตั้งศาลให้ด้วย แล้วขอหมากพลูกิน ก่อนที่จะมีพระสงฆ์รูปหนึ่งทำหน้าที่เป็น “พระธรรมทูต” เจรจากับพ่อปู่ว่าจะช่วยคุยให้มีการจัดการตามความประสงค์ ว่าแล้วชายผู้นั้นก็เป็นลมล้มพับหมดสติไปอย่างที่คนที่ “ผีเข้า” ควรกระทำ

พ่อปู่ช่างแสนสมถะ เรียกร้องต้องการเพียงน้อยนิด ท่ามกลางอาคารและรันเวย์สนามบินมูลค่านับหมื่นล้าน สิ่งที่ท่านขอมีแค่ศาลเล็กๆ สักหลัง กับหมากพลูสักคำก็พอ

Exif_JPEG_PICTURE

หมาก-พลู ดูจะเป็น “เครื่องเซ่น” หรือ “ของแก้บน” ที่เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่งในสารบบของผีไทย

ในโลกของคนยุคเก่า ของเหล่านี้คือ “ของรับแขก” ที่ต้องเอามาตั้งวางรอไว้ให้พร้อมสรรพ เผื่อ “แขกไปใครมา” จะได้เอามารับรองกัน และแม้ว่าที่จริงแล้ว “การกินหมาก” จะหมายถึงเพียงแค่ “เคี้ยว” แล้ว “คาย” ไม่ได้มีใครกินกันจริงๆ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องจริงจังอย่างยิ่งของสังคม อุปกรณ์หรือเครื่องเคราประกอบการกินหมากนั้น ถือเป็น “ของโชว์” หรือ “ของอวดแขก” ที่จะเห็นได้ก่อนอย่างอื่น ผู้มีฐานะจึงย่อมต้องมีชุด “เชี่ยนหมาก” ที่เป็นของมีค่า จะเป็นทอง เป็นเงิน เป็นนาก (โลหะผสมระหว่างทองคำ เงิน และทองแดง) ก็แล้วแต่ฐานะ ตลอดจน “เครื่องยศ” สำหรับประกอบยศศักดิ์ที่พระราชทานแก่ขุนนาง ก็มีส่วนที่เป็นของใช้เนื่องด้วยการกินหมากไม่น้อย ตั้งแต่พานหมาก หีบหมาก ซองพลู ไปจนถึงกระโถนบ้วนน้ำหมาก

ขณะที่ในประเทศอื่นๆ ใกล้ๆ บ้านเรา อย่างพม่า หรืออินเดีย การกินหมากยังเป็นส่วนสำคัญในวัฒนธรรม หนุ่มแขกที่ไปยืนออตามหน้าแผงขายหมากยังมีให้เห็นทั่วประเทศ แต่ของไทยเราเอง คนทยอยกันเลิกกินหมากมาหลายสิบปี (เหลือแต่ “หมากฝรั่ง” ซึ่งเป็นของขบเคี้ยวจากประเทศนอก แต่มีอาการอย่างเดียวกัน คือเคี้ยวเอารสเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ก่อนจะคายทิ้ง) ดังนั้น คนรุ่นที่ยังกินหมากเคี้ยวหมากกันจริงๆ น่าจะใกล้หมดเต็มที ถ้าจะยังเหลือบ้าง ก็คงมีเฉพาะผู้สูงอายุที่เป็นคนแก่มากๆ ในท้องถิ่นต่างๆ เท่านั้น

กระนั้น เราก็ยังจะเห็นถาดโฟมที่จัด “หมาก” “พลู” พร้อมด้วย “บุหรี่” แพ็คหุ้มพลาสติกแรป วางขายอยู่ในแผงขายดอกไม้พวงมาลัยเสมอ จนถือได้ว่าเป็น “ของไหว้” แบบ “ภาคบังคับ” เพราะถึงแม้คนเป็นๆ จะกินหมากกันไม่เป็นแล้ว แต่แน่นอนว่าเราก็ยังคงต้องเอาอกเอาใจบรรดา “ผีๆ” ที่ตกค้างมาจากอดีตกันอยู่

ที่สำคัญ บรรดาเจ้าพ่อหรือพ่อปู่ทั้งหลาย ท่านคงไม่ชอบ “หมากฝรั่ง” เป็นแน่!


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสาร สารคดี