บาตรแตก
ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
เคยได้ยินหลวงพ่อเจ้าอาวาสของวัดเล็กๆ แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ปรารภให้ฟังระหว่างคุยกันเรื่องโน้นเรื่องนี้ ว่าทางวัดกำลังมีข้อพิพาทเรื่องที่ดินกับบ้านข้างๆ วัด ทะเลาะกันรุนแรง ท่านเล่าว่ามีคนบอกให้เอา “บาตรแตก” ไปโยนใส่บ้านนั้น บอกว่าในวัดหาง่าย มีเยอะแยะ แต่หลวงพ่อว่าฉันไม่ทำอย่างนั้นหรอก “มันบาป…” ท่านว่า
เมื่อเรียนถามที่มาที่ไป ท่านอธิบายว่า โบราณเชื่อว่าทำอย่างนั้นแล้ว ที่ตรงนั้นหรือบ้านนั้นจะฉิบหายวายวอด ไม่มีความสุขความเจริญอีกเลย
เมื่อลองค้นๆ ดู พบว่าบางทีแม้แต่บาตรที่ไม่แตก เพียงแต่ “รั่ว” ก็ถือเป็น “ของไม่ดี” หรือเป็น “อาถรรพณ์” แล้ว อย่างที่เคยเห็นเอกสารยุคหลังเหตุการณ์ “พฤษภาเลือด” เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ เมื่อรัฐบาลประกาศนิรโทษกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนร่วมในการปราบปรามประชาชนช่วงการชุมนุมเรียกร้องไม่เอา “นายกฯ คนนอก” เดือนต่อมา “องค์กรสลัมเพื่อประชาธิปไตย” อ้างว่าในเมื่อรัฐออกกฎหมายให้ผู้เข่นฆ่าประชาชนพ้นผิด จึงต้องหันไปพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์แทน ด้วยการจัดพิธีสาบแช่งทรราชย์ คั่วพริกคั่วเกลือ และนำ “ของไม่ดี” เจ็ดอย่าง ได้แก่ “อิฐวัดร้าง บาตรก้นรั่ว ครกก้นทะลุ สากหัก โลงผีใช้แล้ว กระดูกผีตายโหง” มาเข้าพิธี ที่หน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
เรื่องนี้ดูเผินๆ ก็น่าแปลก ที่ “บาตร” หนึ่งในอัฐบริขารของสงฆ์ จะสามารถกลายเป็น “ของไม่ดี” ไปได้ ทั้งที่ก็เป็นเพียงภาชนะใส่อาหารเท่านั้น บางคนอาจสงสัยว่าคำ “บาตรแตก” อาจฟังคล้ายสำนวนไทย “บ้านแตกสาแหรกขาด” กระมัง จึงให้ผลคล้ายๆ กันนั้น แต่ที่จริง ต้นทางของความเชื่อเรื่องนี้คงมาจากว่าคนโบราณนั้น ถือกันว่าอะไรที่เป็นของวัดของสงฆ์จะไม่ให้เอาเข้าบ้าน ถือเป็นสิ่งที่อยู่ “ผิดที่ผิดทาง” และของที่อยู่ “ผิดที่ผิดทาง” อย่างนี้ ย่อมถือเป็นอัปมงคล
จนชั้นแต่พระพุทธรูปที่เดี๋ยวนี้ตามบ้านก็มีห้องพระหิ้งพระเป็นปกติทั่วไป แต่สมัยก่อนนั้น ต้องเป็นเฉพาะในวังหรือบ้านของผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่เท่านั้น ถึงจะมีพระพุทธรูปประดิษฐานได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเอาไปไว้ในห้องนอน เพราะต้องมี “หอพระ” ปลูกอยู่แยกต่างหากจากเรือนที่อาศัย
ต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ – ๖ เมื่อสร้างวังสร้างบ้านเป็นตึกฝรั่งกันหมดแล้ว ก็ยังมีหลายวังหลายบ้านที่ปลูกเป็นห้องหรือหอสูงกว่าอาคารส่วนอื่น เพื่อใช้เป็นหอพระห้องพระ ไว้ประดิษฐานพระพุทธรูปและอัฐิของบรรพบุรุษ
ธรรมเนียมนี้ ไม่เฉพาะแต่ในเมืองไทย คนพุทธในที่อื่นๆ ก็คงถือปฏิบัติกัน ยังเห็นร่องรอยชัดเจนในบ้านคนมอญคนพม่า ทั้งในเมืองพม่าหรือในเมืองไทย เช่นทางแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จะเห็นเหมือนตู้เล็กๆ ทำเป็นกระเปาะ ต่อห้อยออกมาจากฝาบ้าน มีหลังคาของตัวเองต่างหาก ถ้าเป็นคนเมืองก็คงต้องนึกว่าเป็นที่ไว้ “คอยล์ร้อน” พัดลมแอร์ แต่ที่จริงก็คือหิ้งพระ ที่ทำเป็นห้องเล็กๆ ต่างหาก
ความเชื่อหรือวัฒนธรรมย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัยตลอดเวลาดังที่กล่าวมา เช่นพระพุทธรูปซึ่งเคยเป็นของอยู่แต่ในวัด ก็ยังย้ายเข้าบ้านคนได้ คิดว่าต่อไป “บาตรแตก” ก็คงกลายเป็นของหายาก เพราะสมัยหลังๆ มานี้ บาตรพระที่เห็นส่วนใหญ่กลายเป็น “บาตรปั๊ม” สแตนเลสกันแทบทั้งนั้น คงไม่ค่อยแตกหรือรั่วง่ายๆ เหมือนบาตรเหล็กสมัยก่อน ที่ใช้แผ่นเหล็กชิ้นๆ มาเชื่อมตีประสานกันแล้ว
ศรัณย์ ทองปาน
เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสาร สารคดี