เมื่อนักอนุรักษ์จีนฟ้องบริษัทสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขง
อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม
พื้นที่สร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขาหุยหลง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน โครงการนี้เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ คาดว่าจะแล้วเสร็จปี พ.ศ. ๒๕๖๒ (ที่มาภาพ : www.sixthtone.com)
ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เว็บไซด์ www.sixthtone.com สื่อออนไลน์ในเครือ Shanghai United Media Group รายงานข่าวนักอนุรักษ์จีนยื่นฟ้องบริษัทที่ได้รับสัมปทานสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขาหุยหลง (Huilong Mountain) กั้นแม่น้ำหลิวซู (Luosuo) สาขาของแม่น้ำโขงในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน
นักอนุรักษ์กลุ่มดังกล่าวเป็นเอ็นจีโอมีชื่อว่า เฟรนดส์ออฟเนเจอร์ (Friends of Nature) ยื่นฟ้องบริษัทไชน่ารีซอสเซสสิบสองปันนา จำกัด (China Resources Power Yunnan Xishuangbanna Co. Ltd.) ในฐานะเจ้าของโครงการ รวมทั้งบริษัทคุนหมิงเอ็นจีเนียริ่ง จำกัด (Kunming Engineering Co. Ltd.) ในฐานะผู้จัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ แม้ว่าคุนหมิงเอ็นจีเนียริ่งจะเป็นบริษัทลูกของบริษัทพาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอเปอเรชั่น ออฟ ไชน่า (Power Construction Corporation of China) รัฐวิสาหกิจจีนที่มีมูลค่าทางธูรกิจสูงถึง ๘๗ พันล้านเหรียญ และจัดอยู่ในกลุ่มบริษัท “Fortune Global 500”
โครงการสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขาหุยหลงเริ่มต้นตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ คาดว่าจะแล้วเสร็จปีพ.ศ. ๒๕๖๒ แม้โครงการนี้จะได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลท้องถิ่นยูนนาน อีกทั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปเขตสิบสองปันนาให้ข้อมูลว่าฝ่ายบริหารในท้องถิ่นมีความคาดหวังอย่างสูงต่อโครงการนี้ เพราะเชื่อว่าจะก่อให้ประโยชน์ด้านชลประทาน ดึงดูดนักท่องเที่ยว และแก้ปัญหาความยากจน รวมทั้งคิดว่าไฟฟ้าพลังน้ำคือความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่กลุ่มอนุรักษ์เฟรนดส์ออฟเนเจอร์กลับนำเสนอข้อมูลอีกทางว่า พื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าและพื้นที่ที่จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำเป็นผืนป่าที่มีคุณค่าทางนิเวศวิทยาสูง โครงการจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อพันธุ์ปลา และจะทำให้ป่าสงวนในเขตสิบสองปันนาบางส่วนจมอยู่ใต้น้ำ
หน้าปกรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมข้ามพรมแดน โครงการเขื่องปากแบง ใน สปป.ลาว ที่จะมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงห่างจากชายแดนไทยไม่ถึง ๑๐๐ กิโลเมตร สังเกตบริษัทผู้จัดทำคือรายงานนี้คือ Kunming Engineering Corporation Limited เจ้าเดียวกับโครงการสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขาหุยหลง
เก เฟิง (Ge Feng) ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและนโยบายของกลุ่มเฟรนดส์ออฟเนเจอร์กล่าวว่า “วัตถุประสงค์ของการฟ้องร้องคดีนี้เพื่อคุ้มครองป่าฝนในพื้นที่ การดำรงชีวิตของสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำหลิวซู” ทางกลุ่มยังต้องการให้บริษัทหยุดตัดไม้ในพื้นที่อนุรักษ์ แก้ไขผลกระทบด้านนิเวศวิทยาจากการสร้างเขื่อน รวมทั้งให้ร่วมกับบริษัทด้านวิศวกรรมรับผิดชอบจ่ายค่าชดเชยต่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ก่อสร้าง โดยชี้ว่าบริษัทคาดการณ์ความเสียหายด้านนิเวศวิทยาของโครงการต่ำไป
ก่อนนี้กลุ่มเฟรนดส์ออฟเนเจอร์เคยฟ้องคดีด้านสิ่งแวดล้อมมาแล้วประมาณ ๓๕ คดี หนึ่งในนั้นเป็นการฟ้องผู้จัดทำโครงการเขื่อนในแม่น้ำแดง (Red River) ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลยูนนานเหมือนกัน แต่ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีกลุ่มนักอนุรักษ์ฟ้องบริษัทยักษ์ใหญ่ในกรณีสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขง
ชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงยังเต็มไปด้วยข้อสงสัยว่าอะไรคือสิ่งที่พวกเขาจะได้รับจากโครงการพัฒนา เมื่อเขื่อนได้เข้ามาทำลายระบบนิเวศอันเป็นแหล่งอาหาร
ส.รัตนมณี พลกล้า ผู้ประสานงานและนักกฎหมายมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ชาวไทยให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมารัฐบาลจีนสร้างเขื่อนไว้มากมายทั้งในและนอกประเทศ โครงการนี้เป็นเขื่อนที่ก่อสร้างในประเทศ โดยบริษัทของจีนเอง การฟ้องร้องจึงสามารถทำได้เลย
นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตถึงความก้าวหน้าในกระบวนการยุติธรรมจีนเกี่ยวกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมว่า จีนตั้งใจที่จะคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนมากขึ้น โดยนี่เป็นการฟ้องเอกชนขณะที่เขื่อนกำลังสร้าง ผลกระทบโดยตรงจากตัวเขื่อนยังไม่เกิด คงมีแต่ผลกระทบขณะก่อสร้าง
“หากเปรียบเทียบกับประเทศไทย การฟ้องร้องโครงการใดๆ ของเอกชน โดยการฟ้องตรง จะฟ้องได้ก็ต่อเมื่อมีการก่อสร้างไปแล้ว หรือเกิดผลกระทบขึ้นแล้ว ซึ่งการฟ้องร้องเรื่องเขื่อนในประเทศไทยยังไม่มี เท่าที่ทราบเคยมีการฟ้องการก่อสร้างคอนโดมิเนียมที่เป็นที่อยู่อาศัย เป็นกรณีที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างจึงฟ้องได้ แต่ในกรณีที่จะฟ้องว่าตัวโครงการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสิทธิมนุษยชนที่ไม่เกี่ยวกับการก่อสร้างนั้นยังไม่มี”
ขณะที่ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จังหวัดเชียงราย กลุ่มอนุรักษ์ที่พยายามให้ความรู้เรื่องผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ไม่คำนึงถึงระบบนิเวศและความสัมพันธ์ระหว่างคนกับแม่น้ำโขง อาทิ โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง โครงการสร้างเขื่อนปากแบง เขื่อนไซยะบุรี มีความเห็นว่า
“ถือว่ากลุ่มอนุรักษ์ของจีนพยายามใช้สิทธิ์ที่ตัวเองมีอยู่ตามกฎหมาย ถ้าหากเจ้าของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ยังเพิกเฉยต่อไปก็อาจเกิดการฟ้องร้องในลักษณะเดียวกันทั่วแม่น้ำโขง”
ครูตี๋ยังชี้ว่านี่เป็นปรากฏการณ์ที่ฝ่ายอนุรักษ์พยายามขับเคลื่อนประเด็นปัญหาไปถึงเจ้าของโครงการโดยตรง การฟ้องร้องบริษัทยักษ์ใหญ่โดยกลุ่มคนทำงานอนุรักษ์ในจีนยังถือเป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ในเรื่องการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่นักอนุรักษ์ไทยพยายามชี้แจงมาตลอดว่าข้อกฎหมายยังไม่ก้าวหน้า ยังปกป้องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ไม่ดีนัก เป็นสิ่งที่ต้องทำและช่วยกันสร้างต่อไป
ไม่ว่าผลสุดท้ายของคดีนี้จะเป็นเช่นไร การฟ้องร้องครั้งนี้ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่คือความก้าวหน้าในกระบวนการยุติธรรมด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ที่จะมีผลต่อการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจบริษัทและรัฐบาลจีน
ถึงแม้เป็นการตรวจสอบโดยคนกลุ่มเล็กๆ แต่ก็ถือเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพมากอย่างหนึ่งในการดูแลสิ่งแวดล้อม