ลาก่อน สตีเฟน ฮอวคิง สุดยอดอัจฉริยะบนรถเข็น
สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ : เรียบเรียง
เช้าวันนี้ (14 มีนาคม 2018) สำนักข่าวต่างประเทศได้ประกาศข่าวการจากไปอย่างสงบของ สตีเฟน ฮอวคิง ในวัย 76 ปีด้วยความอาลัย
ฮอวคิงเกิดเมื่อวันที่ 8 มกราคม 1942 ที่ประเทศอังกฤษ เป็นเด็กเก่งคณิตศาสตร์ แต่พ่ออยากให้เรียนเคมีเพื่อให้ได้ทุนเรียนต่อ อย่างไรก็ตามฮอวคิงก็สอบได้ทุนเรียนที่ยูนิเวอร์ซิตีคอลเลจด้านคณิตศาสตร์กับฟิสิกส์ จนจบปริญญาตรีในวัย ๒๐ และด้วยการพิจารณาจากคณะกรรมการมหาวิทยาลัยว่าเป็นเด็กสติปัญญาขั้นอัจฉริยะ จึงได้ไปเรียนต่อที่เคมบริดจ์ ทำวิทยานิพนธ์เรื่องเอกภพวิทยา เกี่ยวกับกำเนิดและจุดจบของจักรวาล ซึ่งต้องอาศัยทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ที่เขาสนใจมานาน
ที่เคมบริดจ์นี่เอง ฮอวคิงพบว่าร่างกายตนเองป่วยเป็นโรค Lou Gehrig’s disease หรือรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่าโรค ALS (Amyotrophic lateral sclerosis) ซึ่งทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงลงเรื่อยๆ จนเคลื่อนไหวอย่างคนปรกติไม่ได้ แม้แต่หมอก็คาดว่าเขาน่าจะเสียชีวิตก่อนเรียนจบปริญญาเอก แต่เขาได้รับกำลังใจอบอุ่นจากคนรักคือ เจน วิลด์ และทั้งสองได้แต่งงานกันในที่สุดขณะที่ฮอวคิงมีอายุแค่ 23 เป็นอัมพาตเกือบทั้งตัวและพูดไม่มีเสียงแล้ว
โชคดีที่ฮอวคิงไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์สายทำการทดลอง หรือนักดาราศาสตร์ที่ต้องส่องกล้องโทรทรรศน์ แต่เขาชอบการใช้ความนึกคิด ร่างกายจึงไม่ใช่อุปสรรคของการทำงานด้านทฤษฎี
ฮอวคิงพบว่าการอธิบายกำเนิดของจักรวาลไม่อาจใช้ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์อย่างเดียว แต่ยังต้องใช้ทฤษฎีควอนตัมมาร่วมคิดด้วย โดยในการศึกษาหลุมดำ ฮอวคิงพบว่ามีรังสีเปล่งออกมาจากหลุมดำได้ จากที่เคยคาดว่าไม่มีอะไรเล็ดรอดออกมาจากหลุมดำได้เลย รังสีนี้จึงได้รับการตั้งชื่อว่า รังสีฮอวคิง (Hawking radiation)
ในวัย 39 ฮอวคิงได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ลูเคเชียนทางคณิตศาสตร์ เช่นเดียวกับที่เซอร์ไอแซก นิวตันเคยได้รับ
แม้ฮอวคิงจะต้องนั่งรถเข็นและใช้อุปกรณ์สังเคราะห์เสียงช่วยสื่อสารจากการกดปุ่มคำบนแป้นคอมพิวเตอร์ แต่เขาสามารถคำนวณสมการในสมอง โดยไม่ต้องเขียนไล่ลำดับการคำนวณออกมาแต่อย่างใด
ปี 1988 หนังสือ A Brief History of Time ผลงานของฮอวคิงได้รับการจัดพิมพ์เผยแพร่ และกลายเป็นเบสต์เซลเลอร์ระดับโลก พิมพ์ไปกว่า 10 ล้านเล่ม ทั้งที่หลายคนอาจอ่านไม่เข้าใจ แต่ถือว่าเป็นหนังสือที่ต้องมีในบ้าน
ฮอวคิงได้การยกย่องว่าเป็นนักฟิสิกส์อัจฉริยะหลังไอน์สไตน์ และเป็นความหวังของการค้นพบทฤษฎีที่จะอธิบายธรรมชาติของจักรวาลทั้งหมด
เมื่อโลกเข้าสู่ยุคการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกกันอย่างจริงจังไม่กี่ปีมานี้ ฮอวคิงเป็นคนหนึ่งที่ออกมาเตือนถึงภัยอันตรายจากการเผชิญหน้ากับชีวิตต่างดาวที่อาจมีสติปัญญาสูงล้ำกว่ามนุษย์โลก
“We are just an advanced breed of monkeys on a minor planet of a very average star. But we can understand the Universe. That makes us something very special.”
“However difficult life may seem, there is always something you can do and succeed at.”
เป็นบางส่วนจากคมความคิดของฮอวคิง อัจฉริยะผู้เกิดในวันและเดือนตรงกับวันตายของ กาลิเลโอ กาลิเลอิ 300 ปีก่อน
อ้างอิง : บทความ “ฮอว์คิง สุดยอดอัจฉริยะผู้พิการ” หนังสือสุดยอดนักฟิสิกส์โลก เขียนโดย ดร. สุทัศน์ ยกส้าน จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สารคดี
เครดิตภาพ : https://bdsmovement.net/impact/stephen-hawking-boycotts-israel-conference