สารคดีสนทนา : อย่าแต่งเติม แต่จงหยิบใช้จากสิ่งที่มี

วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


สารคดี ๑๐๑ ตอนนี้จะอ้างอิงถึงพี่ธีรภาพ โลหิตกุล นักสารคดียุคใหม่รุ่นบุกเบิก

ผมรู้จักพี่ธีร์แบบ “รู้จักตัว” เมื่อราว ๑๕ ปีมานี้ หลังรู้จักผ่านตัวหนังสือมาตั้งแต่แกออกหนังสือชุดสายน้ำเล่มแรกๆ

มีโอกาสได้คุย ได้ซักถาม ต่อมาเคยได้เดินทางด้วยกัน กินนอนด้วยกันก็มี ทำให้ได้เรียนรู้ ได้เลียนแบบ ได้จดจำ กระทั่งได้นำมาบอกเล่าต่อ

ด้วยเรื่องที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้มีมากและยาวนาน บางเรื่องจึงอาจคลาดเคลื่อนบ้างในรายละเอียด ผมจะใช้วิธี “อ้างอ้อม” กับใจความส่วนนี้ และใช้วิธี “อ้างตรง” กับเรื่องที่ยืนยันได้ชัดเจนแบบไม่ตกหล่น

คราวหนึ่งผมถามพี่ธีร์ว่า งานเขียนสารคดีเราแต่งฉากบ้างได้ไหม อย่างเราไปเจอพื้นที่ในวันที่ฟ้ามัวหม่น เราจะบรรยายว่าท้องฟ้าแจ่มใสได้ไหม?

ตอนนั้นผมเพิ่งเริ่มหัดเขียนสารคดี พอเข้าใจสารคดีในภาพรวมว่าต้องเป็นเรื่องจริง แต่ในรายละเอียดที่เป็นเรื่องก้ำกึ่งบางทีเราอาจอยากดัดเติมเสริมแต่งบ้าง

อย่างเราไปเที่ยวตามภูเขายอดดอย ก็ย่อมอยากเจอแดดจ้าฟ้าใส จะได้เก็บภาพสวยๆ มาอวดคนอื่น แต่เกิดดินฟ้าอากาศไม่เป็นใจ คนถ่ายรูปทำอะไรไม่ได้ แต่ภาพวาดแต่งเติมเอาได้ ในงานเขียนเราจะทำอย่างภาพวาดได้ไหม?

พี่ธีร์ตอบสั้นๆ แต่ล้ำลึกว่า “มันก็อาจทำได้ แต่ในงานสารคดีเราจะหยิบใช้สิ่งที่มีอยู่จริง”

หากผู้เขียนจะบิดเบือนฉากไปดังว่า เอาเข้าจริงผู้อ่านก็คงไม่รู้ และแย้งไม่ได้ เพราะตามความเป็นจริงวันที่ภูเขาแดดจ้าฟ้าแจ่มก็มีอยู่จริง

แต่พี่ธีร์คงไม่อยากให้นักเขียนมือใหม่เสียนิสัย

และผมก็ค่อยๆ ได้เรียนรู้ต่อมาว่า การหยิบใช้สิ่งที่มีอยู่นั้นเป็นหัวใจสำคัญข้อหนึ่งของงานสารคดี ซึ่งกินคลุมปริมณฑลกว้างไกลไปถึงการเลือกข้าง ความเป็นกลาง-ไม่เป็นกลางในงานเขียนด้วย ซึ่งเอาไว้ว่ากันต่อไปในวาระอื่น

แต่ในประเด็นนี้ขอให้ชัดเจนว่า นักสารคดีที่ดีไม่ควรเสียนิสัยไปกับการแต่งเติม แต่ขอให้รู้จักหยิบใช้จากสิ่งที่มีอยู่

หากเราเจอภูเขาในวันที่ท้องฟ้าไม่แจ่มใส แล้วไม่อยากได้ฉากมัวๆ ในงานเขียน ก็จงอย่าไปเขียนถึงภาพกว้าง ลองก้มลงมองมุมแคบๆ ในจุดเล็กๆ คนถ่ายภาพรู้ว่าฟ้าที่หม่นมัวนั้นจะขับสีสันของดอกไม้ใบหญ้าให้สดใสขึ้น หรือแม้กระทั่งการถ่ายภาพบุคคลก็ให้ความนุ่มนวล ไม่แข็งกระด้างอย่างการถ่ายในแสงแดดจัดๆ นักเขียนก็สามารถหันมาหยิบใช้ฉากมุมแบบนี้ แทนการไปแต้มสีท้องฟ้าให้เสียจรรยาบรรณนักเขียนสารคดี

เมื่อให้พูดถึงนิยามของงานเขียนสารคดี

พี่ธีร์บอกว่า “หัวใจของสารคดีมิได้อยู่ที่เพียงเนื้อหา หรือข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริง (face) เท่านั้น หากยังอยู่ที่รูปแบบ หรือศิลปะการนำเสนอ อันเกิดจากการใช้ ‘จินตนาการ’ ในการสร้างสรรค์ของผู้เขียนด้วย นั่นคือผมยืนยันเสมอมาว่าสารคดีเป็นงานเขียนที่ต้องใช้จิตนการ”

ดังนั้น

“ถ้าจะเขียนสารคดีโดยมีแต่ข้อมูลแห้งๆ ก็ไม่จำเป็นต้องเขียน สู้ไปขอแผ่นพับแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดต่างๆ ของ ททท. หรือของกรมศิลปากร กรมอุทยานแห่งชาติ ฯลฯ เอาไปแจกคนอ่านยังเป็นการประหยัดเวลาและสมองดีกว่า แต่ถ้าจะเขียนสารคดี ก็ต้องใส่ใจทั้งข้อมูล กลวิธีนำเสนอ ลีลาการร้อยเรียงเรื่องราว และภาษสำนวนที่สละสลวย”

จุดเดียวที่นักสารคดียุคใหม่รุ่นบุกเบิกคนนี้เน้นย้ำ “กฎเกณฑ์ประการเดียวที่บังคับงานเขียนสารคดีไว้ คือข้อมูลที่นำเสนอต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบได้ มีความถูกต้องแม่นยำ แต่ไม่เคยมีกรอบหรือกฎเกณฑ์ใดๆ บังคับให้นักเขียนสารคดีนำเสนอข้อมูลอย่างทื่อๆ กลับจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่นักเขียนสารคดีต้องรังสรรค์กลวิธีและลีลาการนำเสนอแบบที่เป็นตัวของตัวเองออกมาให้ผู้อ่านได้ประจักษ์”

คนเขียนสารคดีหัดใหม่หากเข้าใจหลักเกณฑ์ข้อแรกนี้ได้ชัดตรง ก็เหมือนตั้งเข็มมุ่งได้ถูกทางหรือติดกระดุมเม็ดแรกได้ถูกต้อง

การก้าวเดินต่อไปโอกาสที่จะหลุดหลงออกนอกเส้นทางก็เป็นไปได้น้อย


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา