พรของพระปิยมหาราช

ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


ไม่กี่วันก่อน เพื่อนคนหนึ่งถามขึ้นมาว่า ทำไมจึงมี “ถนนเขียวไข่กา” กับ “ท่าเขียวไข่กา” อยู่ตรงข้างโรงเรียนราชินีบนในกรุงเทพ เป็นชื่อสีประจำสายรถรางที่ไปสุดสายตรงนั้น ? หรือเกี่ยวอะไรกับ “ไข่กา” ?

เรื่องนี้ตอบได้ไม่ยากแต่ต้องอธิบายกันยาวหน่อย

ย้อนหลังไปในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ ยุคนั้นชนชั้นสูงของสยามนิยมเล่น “เครื่องโต๊ะ” กัน

“เครื่องโต๊ะ” ที่ว่านี้คือเครื่องลายครามโบราณของจีน ที่เจ้านายและขุนนางต่างนิยมแสวงหามาสะสม แต่เมื่อเอามาเก็บไว้เฉยๆ นั่งดูอยู่คนเดียวก็ย่อมเหงาๆ ไม่สนุก เมื่อมี “ของดี” ก็ต้องเอามา “อวด” กัน โดยเลือกวาระสำคัญต่างๆ เช่นงานวัด แล้วเอาเครื่องถ้วยชามที่เก็บไว้มาจัดวางในฐานะ “เครื่องบูชา” ตั้งเป็นชุดๆ บนโต๊ะ เรียงรายเข้าแถวกันไว้

จึงกลายเป็นที่มาของคำว่า “เครื่องโต๊ะ”

จิตรกรรมฝาผนังประดับประตูหน้าต่างวัดวาอารามหลายแห่งยุคนั้น ก็นิยมเขียนลาย “เครื่องโต๊ะ” ในความหมายของเครื่องบูชาพระรัตนตรัยไว้ด้วย

เมื่อถึงช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ เรื่องนี้พัฒนาความสลับซับซ้อนจนกลายเป็น “ศาสตร์” มีการจัดประกวด ตั้งกติกาการให้คะแนน และมีการมอบรางวัลระดับชั้นต่างๆ ถือเป็นงานอดิเรกยอดนิยมของท่านผู้ดีในเวลานั้น

ถึงขนาดเมื่อในหลวงรัชกาลที่ ๕ เสด็จฯ เยือนทวีปยุโรป ก็ยังทรงมีพระราชหัตถเลขาบันทึกถึงความเพลิดเพลินพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง เมื่อได้ไปเลือกซื้อเครื่องถ้วยชามจีนของเก่าแบบที่เมืองไทยเสาะแสวงหากันนัก ทว่าเมื่อไปตกค้างอยู่ตามห้างในยุโรปกลับไม่มีใครสนใจ จึงกลายเป็นของไม่มีราคาค่างวดอะไร

ในยุคเดียวกันนั้น พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ขยายพระนครขึ้นไปทางเหนือด้วยการซื้อที่สวน สร้างเป็นเขตพระราชฐานสวนดุสิต (ต่อมาคือ “พระราชวังดุสิต”) ขึ้น และด้วยกระแสแฟชั่น “เครื่องโต๊ะ” จึงทำให้ทรงเลือกขนานนามถนนรอบๆ สวนดุสิต ตามชื่อลวดลาย หรือสีสันของเครื่องถ้วยจีนที่นิยมเล่นกัน

อาจารย์กัณฐิกา ศรีอุดม นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรังสิต เคยค้นคว้าเรื่องนี้เอาไว้ ท่านเปรียบว่าการตั้งชื่อถนนเหล่านี้ด้วยถ้อยคำมงคลในภาษาจีน เช่น “ฮก ลก ซิ่ว” (โชควาสนา บริบูรณ์ลาภผล อายุยืนยาว) และสัญลักษณ์ต่างๆ ที่สื่อความหมายถึง “ฮก ลก ซิ่ว” เช่น พุดตาน (ฮก) ทับทิม (ลก) ประแจจีน (ซิ่ว) เปรียบเสมือนเป็นพระพรที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไว้ให้แก่พระนคร และชาวกรุงเทพฯ ทั้งปวง

แม้นามของถนนต่างๆ ถูกเปลี่ยนแปลงไปในสมัยต่อมา แต่ก็ยังคงมีบางชื่อเหลือตกค้างอยู่ เช่น ซางฮี้/ซังฮี้ (ความสุขสองเท่า) ซึ่งกลายเป็น “ชื่อเล่น” ของสะพานกรุงธนบุรีที่ชาวบ้านเรียกกันจนติดปาก รวมถึงนามของถนนสายสั้นๆ บางสายที่หลงลืมตกหล่นไป จึงยังเหลือชื่อเก่าจากยุค “เครื่องโต๊ะ” อยู่ เช่น ถนนสังคโลก ถนนขาว ถนนเขียวไข่กา ซึ่งคำหลังนี้หมายถึงเครื่องถ้วยเคลือบสีเขียวอ่อน อย่างที่คำไทยเรียกว่าสี “เขียว” (เหมือนเปลือก) “ไข่” (ของอี) “กา”

ทิ้งร่องรอย “พรพระราชทาน” ในพระปิยมหาราช ไว้ให้เราได้เห็นสืบมาจนบัดนี้

*ดูรายละเอียดเรื่องนี้ในบทความ “พร” ของพระนครในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดย กัณฐิกา ศรีอุดม “วารสารเมืองโบราณ” ปีที่ ๓๒ ฉบับที่ ๑ (มกราคม – มีนาคม ๒๕๔๙)


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสาร สารคดี