ส่วนหนึ่งของสกู๊ปวันและเวลานิตยสารไทย
รวบรวมและเรียบเรียง : ศรัณย์ ทองปาน

  • ในทศวรรษ 2490 มีนิตยสารสำหรับผู้หญิง/แม่บ้าน ปรากฏตัวมากขึ้น โดยทั่วไปมักมีคอลัมน์ปกิณกะ ความรู้สำหรับแม่บ้าน งานฝีมือ เรื่องสั้น และที่สำคัญคือการตีพิมพ์นวนิยายต่อเนื่องกันเป็นหลัก ที่โดดเด่นคือนิตยสารรายสัปดาห์ สตรีสาร (2491) ศรีสัปดาห์ (สิงหาคม 2494) และ สกุลไทย (พฤศจิกายน 2497)

ทศวรรษนี้ยังเป็นช่วงเวลาขอ วีรธรรม นิตยสารรายสัปดาห์ของคณะภราดาเซนต์คาเบรียล (2500) จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่แก่นักเรียนของโรงเรียนในเครือคาทอลิกและเยาวชนผู้สนใจ โดยเน้นเรื่องราวที่ “เหมาะสม” สำหรับ “เด็กผู้ชาย”

นิตยสาร Starpics นิตยสารว่าด้วย “หนังฝรั่ง” เล่มแรกของประเทศไทย เริ่มต้นโดยพี่น้องสกุลเตชศรีสุธี ก็เติบโตขึ้นจากโรงพิมพ์ห้องภาพสุวรรณ ที่พิมพ์โปสเตอร์ดาราฝรั่งขายมาก่อน Starpics เล่มแรกออกวางตลาดในเดือนตุลาคม 2508

ในทศวรรษนี้ นิตยสารชัยพฤกษ์ ของไทยวัฒนาพานิชซึ่งเริ่มต้นในปี 2497 ออกนิตยสารฉบับใหม่ในเครืออีกหลายเล่ม ได้แก่ ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์ และ ชัยพฤกษ์ฉบับนักศึกษาประชาชน ในปี 2512

ส่วนนิตยสารรายเดือนที่มุ่งเน้นสารคดี เรื่องสั้น ขำขัน และการ์ตูน คือ ต่วย’ตูน (2514) ซึ่งเริ่มต้นจากการที่ วาทิน ปิ่นเฉลียว และ ประเสริฐ พิจารณ์โสภณ ศิษย์เก่าจากนิตยสารชาวกรุง ร่วมกันตั้งสำนักพิมพ์ และรวบรวมการ์ตูนที่วาทินวาดจากนิตยสารชาวกรุง รวมเล่มเป็นพ็อกเกตบุ๊กในชื่อ รวมการ์ตูนของต่วย พิมพ์ออกมาขายเป็นชุดๆ ต่อมาจึงขอต้นฉบับจากนักเขียนในค่าย ชาวกรุง เช่น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช รัตนะ ยาวะประภาษ นพพร บุญยฤทธิ์ วสิษฐ เดชกุญชร พิมพ์รวมกับการ์ตูนของวาทิน ออกเป็นนิตยสารรายสะดวก ใช้ชื่อว่า ต่วย’ตูน และขำขัน ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น ต่วย’ตูน รายเดือนในเวลาต่อมา

นิตยสารรายเดือนสำหรับผู้หญิงทำงาน เช่น ลลนา (2516) ซึ่งตั้งชื่อตามบุตรสาวของบุรินทร์ วงศ์สงวน ผู้ก่อตั้ง

ลลนา มาโด่งดังด้วยบรรณาธิการระดับสุวรรณี สุคนธา และนันทวัน หยุ่น และยังเป็นแหล่งรวบรวมนักเขียนคนดังแห่งยุคมากมาย พร้อมกันนั้น ลลนา ยังนำสมัยด้วยการออกแบบรูปเล่ม และให้ความสำคัญแก่ภาพประกอบ อันเป็นเสมือนต้นทางของนิตยสารผู้หญิงรุ่นต่อมา

นอกจากนี้ทศวรรษนี้ยังเป็นจุดกำเนิดของ บ้านและสวน (กันยายน 2519) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของนิตยสารในเครืออมรินทร์พริ้นติ้ง

นิตยสารที่เกิดขึ้นใหม่ในทศวรรษนี้มีมากมายหลายแนว น่าสังเกตว่าส่วนใหญ่ตั้งชื่อเป็นภาษาไทยอย่างตรงไปตรงมา อย่าง นิตยสารแม่บ้าน (ตุลาคม 2520) ของพลศรี คชาชีวะ หรือนิตยสารผู้หญิง/แฟชั่น เช่น นิตยสารสตรี แพรว (กันยายน 2522)

ตามมาด้วย นิตยสารวรรณกรรม เช่น ถนนหนังสือ (2526) โดยสุชาติ สวัสดิ์ศรี และ นิตยสารสารคดี (กุมภาพันธ์ 2528) นิตยสารรายเดือนมุ่งนำเสนอบทความและภาพถ่ายที่มีคุณภาพ เน้นการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับเรื่องราวประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม

นิตยสารชื่อไทยที่เกิดขึ้นในทศวรรษนี้ก็มีความโดดเด่นไม่น้อยเช่น สีสัน (พฤศจิกายน 2530) นิตยสารว่าด้วยการวิจารณ์ศิลปะ โดยเฉพาะในวงการดนตรีและภาพยนตร์ ของทิวา สาระจูฑะ ซึ่งพัฒนาเป็นสถาบันในเวลาต่อมา โดยมีการมอบรางวัล “สีสันอวอร์ด” ให้แก่ศิลปินไทยที่มีผลงานดีเด่น

ทศวรรษนี้ยังถือได้ว่าเป็นยุคเฟื่องฟูของนิตยสารสำหรับผู้เยาว์ที่เน้นหนักความรู้ควบคู่ความบันเทิง อาทิ ไดโนสาร (สิงหาคม 2533) นำทีมโดยสุชาดาจักรพิสุทธิ์

พลอยแกมเพชร (กุมภาพันธ์ 2535) ถือเป็นหมุดหมายสำคัญเล่มหนึ่งในกลุ่มนิตยสารแฟชั่น/ผู้หญิงที่เน้นการตีพิมพ์ภาพแฟชั่นและนวนิยาย โดยให้ความสำคัญแก่คุณภาพกระดาษ ภาพถ่ายแฟชั่นและการจัดรูปเล่มที่ประณีตงดงาม ตลอดจนภาพประกอบโดยฝีมือศิลปินไทยชั้นครู

นิตยสาร รู้รอบตัว ของบริษัทซีเอ็ดยูเคชั่น เมื่อถึงปี 2535 ก็เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น UpDATE

 

เมื่อถึงทศวรรษ 2530 ท่ามกลางบรรยากาศที่เป็น “สากล” มากขึ้น นิตยสารเกิดใหม่มักตั้งชื่อภาษาอังกฤษแทน เช่น นิตยสารผู้ชาย Trendy Man (กันยายน 2535)

เมื่อเศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด การซื้อลิขสิทธิ์นิตยสารที่มีชื่อเสียงในโลกตะวันตก หรือที่เรียกกันว่าเป็นนิตยสาร “หัวนอก” มาจัดทำขึ้นเป็นฉบับภาษาไทยเกิดขึ้นมากมาย รุ่นแรกๆ เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี ๒๕๓๗ ได้แก่ Elle นิตยสารผู้หญิงจากฝรั่งเศส ของค่ายบางกอกโพสต์ ตามมาด้วย Esquire นิตยสารผู้ชายจากฝั่งอเมริกา (ตุลาคม 2538)

 

จากความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจไทย ในครึ่งแรกของปี ๒๕๔๐ ยังมีการซื้อนิตยสาร “หัวนอก” เข้ามาจัดทำเวอร์ชั่นไทยแลนด์อย่างต่อเนื่อง เช่น เครือ ดิฉัน ส่งนิตยสารผู้หญิง/แฟชั่น/ไลฟ์สไตล์จากฝั่งอเมริกาคือ Cosmopolitan (เมษายน 2540) ลงแผง

ส่วนที่เป็นเนื้อหาหนักแน่นจริงจังขึ้นคงได้แก่ Open (2542) โดยภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ซึ่งเน้นประเด็นทางสังคม และ a day (กันยายน 2543) โดยวงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ นิตยสาร “แนว” ที่ประกาศตัวบนปกฉบับแรกว่านี่คือการมาถึงของ NEW AGE

ช่วงปลายทศวรรษ ๒๕๔๐ สถานการณ์โดยรวมของนิตยสารยังดูเหมือนจะสดใส รายงานสภาวะธุรกิจนิตยสารประจำปีของบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ระบุว่าในปี 2547 มีนิตยสารออกใหม่ถึง 92 ฉบับ และเพิ่มอีก 96 ฉบับในปี 2548

ในจำนวนนี้ ที่น่าสนใจได้แก่ ฅ. คน (พฤศจิกายน 2548) นิตยสารสารคดีชีวิต ซึ่งต่อเนื่องจากรายการโทรทัศน์ “คนค้นฅน” ของบริษัททีวีบูรพา จำกัด

เครือนานมีบุกเบิกนิตยสารส่งเสริมการอ่านสำหรับเยาวชนด้วย นิตยสารความรู้วิทยาศาสตร์สำหรับเด็ก Go Genius (พฤษภาคม 2548)

ในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษ โลกนิตยสารเดินหน้าต่อไป เกิดนิตยสารที่เน้นความสนใจเฉพาะกลุ่มแยกย่อยมากมาย เช่นเครือ GM ที่ทยอยเปิดนิตยสารครอบคลุมความสนใจของ “ลูกค้า” มาจนเมื่อถึงทศวรรษนี้ก็มีนิตยสารในเครือนับ ๑๐ ฉบับ หนึ่งในนั้นมี 247 Free Magazine (2550) รวมอยู่ด้วย

การจัดซื้อลิขสิทธิ์นิตยสารต่างประเทศในทศวรรษนี้ก็ยังมีให้เห็น และยิ่งดูเหมือนจะมีความหลากหลายมากขึ้นด้วย เช่นที่ค่ายโพสต์ซื้อลิขสิทธิ์นิตยสารวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน Science Illustrated มาจัดทำตั้งแต่ปี 2551

การจัดซื้อลิขสิทธิ์นิตยสารต่างประเทศก็ยังเกิดในฉบับภาษาไทยอย่างนิตยสารผู้ชาย Playboy (เมษายน 2555) และ GQ (กันยายน 2557)

ติดตามไทม์ไลน์สกู๊ปวันและเวลานิตยสารไทย
ต่อได้ที่นิตยสารสารคดี ฉบับ 397 มีนาคม 2561