สารคดีชีวิต : ชั้นเชิงในการเล่าเรื่อง
วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี
เป็นปรากฏการณ์ที่น่าชื่นใจ
โครงการเขียนประวัติชีวิตบุพการี “หอมกลิ่นลำดวน” เปิดรับผู้สนใจเข้าร่วมอบรมรุ่นละ ๕๐ คน เพียงช่วงเวลาสั้นที่ประกาศข่าวออกไป ก็มีผู้สมัครครบเต็มทั้งสองรุ่น ทั้งยังมีผู้แสดงความจำนงเพิ่มเติมมาอีกจำนวนมาก
นี้ย่อมเป็นข้อบ่งชี้ว่าการเขียนเรื่องชีวิตจริงในแนวสารคดี ยังเป็นที่สนใจของคนยุคนี้ ถือเป็นบรรยากาศที่น่าชื่นใจในสังคมการอ่านการเขียน
คณะวิทยากรที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์แนะนำแนวทางการเขียน ไล่เรียงมาแต่ ธีรภาพ โลหิตกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (สารคดี) ปี ๒๕๕๘ ผู้เป็นเจ้าภาพเจ้าของโครงการ อรสม สุทธิสาคร มือวางอันดับหนึ่งของเมืองไทยด้านสารคดีชีวิต สมปอง ดวงไสว นักเขียน นักวัฒนธรรมชุมชน สุชาติ ชูลี ผู้เขียนเรื่องราวของแม่ใน “ดั่งนกขมิ้นหลงรัง” ฯลฯ และนักเขียนสารคดีมากฝีมืออีกคับคั่ง ตั้งแต่สายวันที่ 21 เมษายน 2561 ต่อเนื่องไปถึงวันรุ่งขึ้น และมาพบกลุ่มกันอีกทีในวันที่ 12 พฤษภาคม ที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้า เชิงสะพานผ่านฟ้า
ร่วมเรียนรู้ฟังบรรยาย ปรึกษาแลกเปลี่ยน ฝึกเขียน นำเสนอและรับคำวิจารณ์ติชม
ในเชิงหลักการ งานเขียนประวัติชีวิตบุคคลก็คือ ”สารคดีชีวิต” ซึ่งสามารถนำสูตรการเขียนสารคดีชีวิตมาใช้ได้เลย
แต่สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้หมายมั่นจะเป็นนักเขียนอย่างเต็มตัว อาจเริ่มจากจับหลักง่ายๆ เพียง 2 ข้อ คือ การสัมภาษณ์ กับชั้นเชิงในการเล่าเรื่อง
การสัมภาษณ์ เป็นเครื่องมือหลักในการดึงเรื่องราวจากชีวิตคนออกมาเป็นงานเขียน บุพพการีที่เราอยู่ด้วยมาตั้งแต่เกิด รับรู้และได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ต่างๆ มามากอย่างแน่นอน แต่ก็ย่อมมีบางเรื่องบางด้านที่เราไม่รู้ละเอียด การสัมภาษณ์จะช่วยเราไขข้อมูลส่วนนี้ออกมาได้
ส่วนชั้นเชิงในการเล่าเรื่อง จะช่วยให้เรื่องเล่าของเราไปพ้นความธรรมดาทั่วไป เป็นที่ติดอกติดใจคนอ่าน เป็นความรื่นรมย์อันชวนติดตาม ซึ่งนำไปสู่การชื่นชมยอมรับคนเขียนในฐานะ-นักเขียน ผู้เล่าเรื่อง
ผมได้รับเชิญให้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้วยในช่วงท้ายการอบรมวันแรก ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งและตอบรับเข้าร่วมด้วยความเต็มใจ แต่พูดตามจริงเมื่อดูรายนามคณาวิทยากรที่จัดขบวนทัพกันมาอย่างแน่นหนาแล้ว ผมคงมาช่วยเสริมในลักษณะของ “เชิงอรรถ” ตามท้ายในเรื่องที่ท่านอื่นๆ บรรยายไปแล้วเท่านั้น
ในเรื่องชั้นเชิงการเล่าเรื่องนั้น ถ้าเราลองนึกย้อนจากหนังที่สร้างจากชีวิตจริงหลายๆ เรื่องที่เคยดู จะมองเห็นตัวอย่างชัดเจน
ในเรื่อง Life of Pi (ชีวิตอัศจรรย์ของพาย) ซ้อนชั้นในการเล่าเรื่องด้วยการเปิดให้คนดูเห็นตั้งแต่ต้นเรื่องว่า เรื่องราวทั้งหลายที่ท่าน (คนดู) จะได้เห็นในหนังเรื่องนี้ เป็นคำเล่าของพาย (ตัวเอกของเรื่อง) เล่าให้นักเขียนคนหนึ่งฟัง เป็นการมาสัมภาษณ์พายที่บ้าน ในวันที่เขาเป็นหนุ่มใหญ่แล้ว ทั้งคู่คุยกันไปทานอาหารด้วยกันไป พายเล่าเรื่องราวของเขาตั้งแต่วัยเด็กในอินเดียจนถึงวันที่ออกไปลอยล่องอยู่บนเรือลำน้อยกับเสือโคร่งตัวหนึ่ง จนข้ามไปถึงอีกฟากของมหาสมุทรด้วยกัน ภาพที่คนดูเห็นส่วนใหญ่เป็นภาพอดีตผ่านปากคำของพาย ซึ่งคนทำหนังนำมาแปลงเป็นภาพ ตัดสลับกับภาพปัจจุบัน ที่เขานั่งคุยกับนักเขียนฝรั่งที่มาสัมภาษณ์
เรื่อง Frida ผู้กำกับเล่าเรื่องเองแบบผู้รู้เหตุการณ์ทุกอย่าง
หนังไทยก็อย่าง คนล่าจันทร์ หรือ มหาลัยเหมืองแร่ ทั้งสองเรื่องนี้เล่าโดยเสียงของ “ผม” ที่เป็นตัวเองของเรื่อง
ในโลกของงานเขียนก็มีแบบอย่างอยู่มากมายให้เห็น ในประเด็นชั้นเชิงการเล่าเรื่อง
เรื่อง “แอนโทนีกับคลีโอพัตรา” ที่แอนดรูว์ แมทธิวส์ นำเรื่องราวจากวรรณกรรมเอกของเชคสเปียร์ มาเขียนเล่าใหม่เป็นวรรณกรรมสำหรับเด็ก ในชั้นเชิงการเล่าที่น่าสนใจ โดยผู้เขียนให้ เซอร์เวียส องครักษ์ชองแอนโทนีเป็น “ผู้เล่าเรื่อง”
เขา (เซอร์เวียส) มีความเหมาะสมและสมจริงที่จะรับบทบาทนี้ เพราะเป็นคนใกล้ชิดที่สุดซึ่งอยู่กับแอนโทนีตลอด จนลมหายใจสุดท้ายของเจ้านาย
ผู้เขียนใช้เสียงของเซอร์เวียสออกมาเล่าตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง
เด็กๆ อย่ากรู้เรื่องของแอนโทนีกับคลีโอพัตราไหม ข้าจะเล่าให้ฟัง ข้าอยู่ในเหตุการณ์นั้นมาตั้งแต่ต้น ในคืนที่จูเลียส ซีซาร์ ถูกสังหาร และแอนโทนียืนกล่าวสุนทรพจน์อยู่เหนือร่างของเขาที่หน้ารัฐสภาแห่งกรุงโรม
ครบความหมดในย่อหน้าเดียว เป็นการเปิดเรื่องแบบ “จับ” ผู้อ่านได้ “อยู่มือ” เร่งเร้าใจให้ต้องตามต่อ
ทั้งด้วยฉายฉาก และเปิดตัวละคร
เนื้อเรื่องต่อจากนั้นดำเนินผ่านคำเล่าของเซอร์เวียสไปตลอดทั้งเรื่อง โดยบางช่วงผู้เขียนแสดงให้เห็นภาพเหตุการณ์ แต่ผู้อ่านก็เข้าใจได้ว่านั่นเป็นเรื่องราวที่ซ้อนอยู่ในคำเล่าของตัวละครหลักที่เป็นผู้เล่าเรื่องนั่นแล
อย่างในตอนที่แอนโทนีเจอหน้าคลีโอพัตราครั้งแรก
“นางไม่ใช่ราชินี” แอนโทนีอุทานแผ่วเบา “นางคือเทพธิดา”
คลีโอพัตราก้าวขึ้นมาบนท่าเทียบเรือ เสียงโห่ร้องของฝูงชนดังกึกก้องราวเสียงคลื่นที่ซัดสาดท่ามกลางพายุ
แอนโทนีก้าวออกไปข้างหน้าแล้วกล่าวว่า “ในนามของสภาสูงแห่งโรมและชาวโรมัน ข้าขอต้อนรับนางและขอได้โปรด…” ทันใดนั้นเองเขาต้องนิ่งอึ้งด้วยความประหลาดใจ เมื่อคลีโอพัตราคุกเข่าลงตรงหน้า
ฝูงชนพากันเงียบกริบ
แอนโทนีขมวดคิ้วแล้วก้มลงพยุงคลีโอพัตราลุกขึ้น
“ท่านช่างให้เกียรติข้ามากเหลือเกิน” นางกล่าวพลางน้อมศีรษะลง
“เรายังมีเรื่องต้องหารือกันอีกมาก” แอนโทนีกล่าว “แต่พูดที่นี่คงไม่เหมาะ ค่ำนี้ข้าขอเชิญท่านไปรับประทานอาหารเย็นในเมืองกับข้า”
“ข้าเกรงว่าจะไม่ได้” คลีโอพัตราตอบ
ไม่ค่อยมีใครกล้าพูดว่า ‘ไม่’ กับแอนโทนี ข้าเห็นเขาหน้าบึ้งตึงเพราะความโกรธ แต่คลีโอพัตราเงยหน้ามองเขา
“โปรดมารับประทานอาหารเย็นในเรือกับข้าเถิด” นางบอก “ข้าอยากรู้ว่าอาหารอียิปต์จะถูกปากท่านเพียงใด ท่านน่าจะมาลิ้มลองรสชาติแปลกใหม่ดีกว่า”
พอแอนโทนีสบตาคลีโอพัตรา ความโกรธของเขาก็มลายหายไป “นับเป็นเกียรติอย่างสูงสำหรับข้า”
ผู้อ่านเห็นภาพ ได้ยินเสียง (สนทนา) เห็นสีหน้าอารมณ์ของตัวละคร โดยไม่ลืมว่าทั้งหมดนั้นมาจากเสียงเล่าของเซอร์เวียส (ข้า)
หรือแม้ในตอนที่แอนโทนีอยากจบชีวิตตัวเองตอนท้ายเรื่อง คนเล่า (เซอร์เวียส) ก็อยู่ด้วย ซึ่งผู้เขียนได้ “สำแดง” ให้เห็นเป็นภาพเหตุการณ์เช่นกัน และเซอร์เวียสก็ออกมาปรากฎตัวในฐานะตัวละครด้วย
“ฆ่าข้าเสียเถิดเซอร์เวียส” เขาบอก “ข้าไม่มีทางบากหน้าไปอ้อนวอนขอความเมตตาจากซีซาร์หรอก”
“นายท่าน” ข้าพูดขึ้น “ข้ารู้ว่าราชินีหลบซ่อนอยู่ที่ไหน ท่านจะได้พบนางภายในหนึ่งชั่วโมง ท่านต้องตามไปที่…”
“จะให้ข้าอยู่อย่างหวาดกลัว แล้วรอให้ซีซาร์ตามล่าข้าจนเจองั้นหรือ” แอนโทนีถาม “ไม่มีวันหรอกเซอร์เวียส ชีวิตของข้าจบสิ้นแล้ว รับดาบไปสิ แล้วฆ่าข้าเสีย”
“ข้าทำไม่ได้” ข้าบอก “ข้ายินดีตายเพื่อท่าน แต่จะไม่ทำตามที่ท่านขอ”
“อย่างนั้นข้าจะลงมือเอง” แอนโทนีพูด
เขาใช้มือทั้งสองข้างปักดาบลงหกลางหัวใจ แต่ปลายดาบพลาดไปโดนกระดูกหน้าอกและถากลงมาจนถึงท้อง เขาดึงดาบออกแล้วขว้างมันออกไปนอกกระโจม พลางร้องโหยหวนด้วยความชิงชังตัวเอง
ในแง่กลวิธีการเล่าเรื่องต้องนับว่าเรื่องนี้โดดเด่นอย่างแตกต่างจากเรื่องอื่นๆ ในชุดเดียวนั้น แม้แต่เรื่อง “โรมิโอกับจูเลียต” ก็เล่าเรื่องชั้นเดียวแบบผู้เขียนรู้เห็นเหตุการณ์ทุกอย่าง (มุมมองพระเจ้า) ที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไป
ในงานเขียนสารคดีก็มีตัวอย่างที่ชัดเจนในแง่ชั้นเชิงการเล่าเรื่อง ในหนังสือ “พ่อ” สารคดีคัดสรรของเยาวชนนักเขียนจากโครงการ TK Young Writer Academy 2008
ทั้งยังมีจุดเกี่ยวโยงกับโครงการ “หอมกลิ่นลำดวน” ตรงที่เป็นประเด็นเรื่องบุพพารี (พ่อ) ด้วยเช่นกัน ซึ่งผู้เขียน(หนุ่มสาว) แต่ละคนก็วาดลวดลายในการหยิบประเด็นและสร้างสรรค์วิธีการเล่าเรื่องกันอย่างสุดฝีมือ
เรื่อง “ตัวเลือกปรนัย บนทางไปบ้านพ่อ” ของ ศศิวรรณ โมกขเสน เล่าถึงหลักคำสอนของในหลวงกับวังสวนจิตรลดา ผสานกับเรื่องของพ่อ-ลูกที่เป็นแบบอย่างบางด้านอีก ๓ คู่ ออกแบบการการเล่าเรื่องเป็น ๔ ตอนย่อย แบบตัวเลือกในข้อสอบปรนัยเรียง ก ถึง ง แล้วนำไปสู่การการเลือกคำตอบตอนท้ายเรื่อง
สุทธิ์สวาท ยะหัตตะ เล่าเรื่องพ่อของตัวเองที่เป็นพ่อค้าขายหัวหอม โดยตั้งชื่อเรื่องว่า “หอมพ่อ” สื่อความหมายสองนัย ถึงการแสดงความรัก และหัวหอมแดงที่พ่อขาย โดยบอกเรื่องนี้กับผู้อ่านตั้งแต่ประโยคเปิดเรื่อง
พ่อฉันขายหอม…
เปล่า…ไม่ใช่การขายหอมฟอดใหญ่เพื่อการกุศล
แต่เป็นหอมแดง แลกกับกระดาษบางๆ เพื่อสมทบการศึกษาของลูกสาว
วันไหนได้กระดาษสีเทาเป็นปึกๆ พ่อยิ้มแป้นกลับบ้าน…
อรรวี วิสรรคชาติ เล่าเรื่องลุงทองเหมาะ แจ่มแจ้ง ชาวนาที่เดินตามรอย “พ่อ” บนวิถีเกตรทฤษฎีใหม่ ในรูปแบบจดหมาย ใช้น้ำเสียงพ่อของเธอ (อรรวี) เขียนเล่าเรื่องที่ได้ไปสัมผัสสวนเกษตรของลุงทองเหมาะด้วยกันมา เป็นจดหมายเล่าให้พี่ชายของเธอฟัง
เปิดเรื่องด้วยที่อยู่-ที่บ้าน วันที่-ตอนค่ำวันหลับจากลงพื้นที่ คำขึ้นต้น-ชื่อลูกชาย แล้วก็เล่าเรื่องไปเช่นเดียวกับที่ผู้เขียนเล่าแบบมุมมองเพระเจ้า เพียงเปลี่ยนเป็นน้ำเสียงพ่อ ก็เกิดการเกาะเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง “พ่อ” ที่ตั้งไว้เป็นธีมเล่ม-อย่างเสริมน้ำหนักและสร้างเสน่ห์ให้งานเขียนชิ้นนี้ และยังสะท้อนถึงฝีมือการสร้างสรรค์ของผู้เขียนอย่างน่าชื่นชม
หลากหลายตัวอย่างทั้งหนัง นิยาย และสารคดี ที่ยกมาเล่าสู่กันนี้ เพื่อจะยืนยันให้เห็นว่ากลวิธีการเล่าเรื่องเป็นสิ่งน่าใส่ใจและสร้างสรรค์กันได้ ซึ่งจะส่งผลอย่างสำคัญต่อความสำเร็จของสารที่ต้องการจะสื่อ และกล่าวอย่างถึงที่สุดก็คือความสำเร็จของงานชิ้นหนึ่งชิ้นนั้นนั่นเอง