“รูปเคารพ” ของใคร ?
ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
นักโบราณคดีหรือนักประวัติศาสตร์ศิลปะมักอธิบายหรือ “สันนิษฐาน” เรื่องการเผยแผ่ลัทธิความเชื่อทางศาสนาในยุคโบราณ ด้วยหลักฐานที่เป็น “รูปธรรม” โดยเฉพาะรูปปั้นรูปหล่อที่เป็น “รูปเคารพ” เช่นว่าหากขุดพบเทวรูปพระศิวะในระหว่างขุดแต่งซากโบราณสถานสักแห่ง ก็จะตีความว่าสิ่งก่อสร้างนั้นเป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ที่นับถือพระศิวะ และขยายความต่อไปได้ว่า ชุมชนแห่งนั้น นับถือศาสนาฮินดู เป็นต้น
แต่ “จริงๆ” แล้ว เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ?
แน่นอน เรื่องเกิดก่อนเราเกิดตั้งเป็นร้อยเป็นพันปี ไม่มีใครรู้หรอก – แต่ถ้าลองนึกเทียบเคียงจากตัวอย่างใกล้ๆ ตัวในยุคร่วมสมัย คือที่เราๆ ท่านๆ เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ บางทีก็อาจจะทำให้ตั้งข้อสงสัยกับการให้คำอธิบายง่ายๆ ทำนองนั้น
วัดหลายแห่งในเมืองไทย ที่ถือกันว่าเป็นวัดในศาสนาพุทธหินยานนิกายเถรวาท นิยมสร้างรูป “เจ้าแม่กวนอิม” ไว้ให้คนบูชา
เจ้าแม่กวนอิมเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เทพเจ้าในศาสนาพุทธแบบมหายาน แต่เป็นเวอร์ชั่นท้องถิ่นเมืองจีน จึงผสมกับตำนานพื้นเมือง แล้วกลายเพศเป็นสตรี
บางแห่งสร้างเจ้าแม่กวนอิมไว้ใหญ่โต ฝีมือประณีตวิจิตรพิสดารมาก หลายแห่งมีวิหารประดิษฐานเป็นการเฉพาะต่างหาก
ขณะที่วัดอีกหลายแห่งนิยมสร้างรูปพระคเณศไว้ให้คนกราบไหว้ พระคเณศเป็นเทพเจ้าฮินดูที่มีรูปกายเป็นมนุษย์ แต่มีเศียรเป็นช้าง ถือเป็นโอรสของพระศิวะกับพระอุมา
และมีอีกมากกว่ามากที่ประดิษฐานเทวรูปพระพรหมสี่หน้า อันคงมีต้นทางมาจากศาลพระพรหมเอราวัณ ที่แยกราชประสงค์ในกรุงเทพฯ
แต่วัดเหล่านั้น ทั้งที่ประดิษฐานรูปเจ้าแม่กวนอิม พระคเณศ หรือพระพรหม ก็ยังเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อย่างไทยๆ จำพรรษา มิได้เป็นวัดมหายานของหลวงจีน หรือเป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดูที่มีพราหมณ์เดินขวักไขว่แต่อย่างใด
และว่าตามที่รับรู้กัน เรื่องทำนองนี้ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับศาสนาพุทธมหายานหรือศาสนาฮินดูด้วยซ้ำ เพียงแต่ทางวัด (หรือผู้สร้าง) คิดเห็นว่าจะดึงดูด “พุทธศาสนิกชน” ได้ด้วยการสร้างรูปเคารพเหล่านี้
“พุทธศาสนิกชน” ชาวไทย ผู้นับถือทุกสิ่งและไหว้ได้ทุกอย่าง ตั้งแต่กุมารทอง แม่นางตะเคียน พ่อแก่ฤาษี พระพรหม พระอุมา พระคเณศ เทพทันใจ จนถึงเจ้าพ่อกวนอู เจ้าแม่กวนอิม
ดังนั้น บางทีเราก็อาจต้อง “คิดใหม่” เหมือนกัน ในเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น เพราะบ่อยครั้ง วิถีการประพฤติปฏิบัติ หรือ “วัฒนธรรม” ของมนุษย์ ก็มีเลื่อนไหลไปต่างๆ ไม่จำเป็นต้องดำเนินไปตามหลักการ หรือหลักศาสนา “ที่ถูกต้อง” เพียงอย่างเดียว
ก็ในเมื่อคนทุกวันนี้ยังทำเช่นนี้ แล้วทำไมเราจะนึกว่าคนแต่ก่อนก็อาจจะทำอย่างนั้นบ้าง ไม่ได้?
ศรัณย์ ทองปาน
เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี