กอด ก็เป็นประเด็น(ได้)

วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


(ภาพ 1 โดย สหธรณ์ ลิ่นบาง)

ในค่ายการเขียนชีวิตบุพการี “หอมกลิ่นลำดวน” ผมได้รับมอบหมายจากพี่ธีรภาพ โลหิตกุล ศิลปินแห่งชาติ ผู้เป็นเจ้าภาพจัดงาน ให้พูดเรื่องศิลปะในการวางโครงเรื่อง ซึ่งต่อเนื่องมาจากเรื่องการจับประเด็นที่เขาบรรยายก่อน และผมได้พูดคาบเกี่ยวเชื่อมโยงไปถึงศิลปะในการเล่าเรื่องด้วย เพื่อให้เต็มประโยชน์สำหรับผู้เขียนหัดใหม่

บรรยายกันไปแล้วเมื่อปลายเดือนเมษา แต่ค่ายยังมีต่อเนื่องถึงกลางเดือนพฤษภา และยังมีรุ่นที่ 2 ในเดือนถัดไป จึงคงไม่เสียเปล่าที่จะเล่าเรื่องนี้กันไว้อีกครั้ง

ช่วงหนึ่งของการอบรมครั้งแรก ชาตินวภพ สมกำลัง นักเรียนการเขียนจากโครงการเรื่องเล่าจากแดนประหารบางขวาง ซึ่งเคยเขียนชีวิตบุพการี (แม่)ของตัวเองเรื่อง “หญิงโชคร้ายกับชายโชคดี” เขาเพิ่งได้รับอิสรภาพและได้รับเชิญให้มาแบ่งปันประสบการณ์ด้วย

ช่วงหนึ่งเขาเล่าว่า ระหว่างรอความตายอยู่ในแดนประหารอย่างห่อเหี่ยวสิ้นหวังมานานหลายปี วันหนึ่งมีใครคนหนึ่งมากอดเขาอย่างปรานี
อ้อมกอดนั้นเปลี่ยนชีวิตเขาให้ตื่นฟื้นลุกขึ้นยืนได้อีกครั้ง กระทั่งได้ออกมาเริ่มต้นชีวิตใหม่นอกกำแพงในบัดนี้

อ้อมกอด-มีพลังมากถึงเพียงนั้นเลยหรือ?

ผมนึกสงสัยเมื่อได้ฟัง

(จุดที่ทำให้เราฉุกคิด สะกิดใจ หรือก่อความสงสัยในใจเช่นนี้ สามารถเป็นหัวข้อประเด็นในงานเขียนสารคดีได้ / ชาตินวภพอาจเป็นแหล่งข้อมูลหลัก / คำพูดของเขาเป็นข้อมูลสด ที่ผู้เขียนรู้เห็นได้ยินเอง)

ท้ายการสนทนา ชาตินวภพเดินลงจากเวที พี่ธีรภาพเดินช้าๆ เข้ามาสวมกอดเขา ดวงตาของทั้งคู่เอ่อรื้นความสุข คนในห้องประชุมบางคนน้ำตาไหล

(ธีรภาพเป็นหนึ่งแหล่งข้อมูลเสริม ภาพที่เขาเข้ามาสวมกอดชาตินวภพ รวมทั้งสีหน้าอารมณ์ของผู้คนในห้องประชุม เป็นข้อมูลที่ผู้เขียนได้สัมผัสจากการสังเกตการณ์ สามารถนำมาใช้บรรยายเป็นภาพได้)

ต่อมาพี่ธีรภาพนำเรื่องนี้ไปเขียนโพสต์ในเฟซบุ๊ค Teeraparb Lohitkun

มีคนแชร์ต่อจำนวนมาก

ในหน้ากระดาษออนไลน์ สิ่งนี้สะท้อนความชื่นชมยอมรับกว่ายอดไลน์ หรือแม้กระทั่งคอมเมนต์ เพราะการเอาไป “แปะหน้าบ้านตัวเอง” นั้นหมายถึง-ฉันยินดีช่วยบอกต่อเรื่องนี้

ข้อความในโพสต์ของธีรภาพกล่าวว่า

“กอดอาจารย์คนสำคัญที่มาเปิดใจเป็นวิทยาทาน ในฐานะอดีตนักโทษประหารจากเรือนจำบางขวาง แต่ปฏิบัติตัวดี จนได้ลดโทษ และเป็นนักโทษชั้นดี จนได้เรียนจบปริญญามหาบัณฑิต

…..

ได้เป็นลูกศิษย์ ” แม่ใหญ่” ครูอรสม สุทธิสาคร ครูวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง ฯลฯ ที่เข้าไปจัดอบรมการเขียนให้ผู้ต้องโทษ และยังได้เรียนการปั้นพระพุทธรูป ปัจจุบัน พ้นโทษแล้ว

….

สิ่งที่ได้ติดตัวมาจากเรือนจำ คือเป็นนักเขียนที่มีชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ระดับแถวหน้า แถมแต่งเพลงได้ไพเราะ กินใจ จนหลายคนน้ำตาซึม

…..

ขอบคุณจากส่วนลึกของหัวใจ และจากดวงจิตคารวะ “ชาตินวภพ สมกำลัง” คนผู้ยืนเด่นโดยท้าทาย แม้ผืนฟ้าในชีวิตเขาเคยมืดดับลับละลายไปแล้ว…”
(นักเขียนสารคดีสามารถหยิบมาใช้ต่อได้ เป็นข้อมูลแห้ง หรืออ้างอิง)

บางคอมเม้นต่อโพสต์ของธีรภาพบอกว่า

“ชื่นชมที่เห็นครูธีรภาพสวมกอดครูชาตินวภพ น้ำตาแห่งความตื้นตัน มันเอ่อออกมาไม่รู้ตัวเป็นภาพที่ประทับใจมากค่ะ ยินดีกับครูชาตินวภพด้วยนะคะ ที่ได้เข้ามาในแวดวงของคนที่เข้าใจและได้รับสัมผัสความรู้สึกที่อบอุ่นเป็นมิตรและร่วมกันแบ่งปันต่อสังคมค่ะ”
(ผู้เขียนสามารถเลือกหยิบมาใช้ได้ในฐานะข้อมูลแห้งเช่นเดียวกัน และเม้นนี้นังหนุนเสริมการบรรยายภาพจากผู้เขียนที่เล่าไปก่อนแล้วว่า “คนในห้องประชุมบางคนน้ำตาไหล”)

ถ้าจะทำสารคดีเรื่อง “กอด” ให้หนักแน่นรอบด้านขึ้น เราอาจหาค้นคว้าเพิ่มเติมข้อมูลอื่นๆ จากนอกห้องประชุมที่จัดงานค่า “หอมกลิ่นลำดวน” ด้วย

(ภาพ 2 ปกหนังสือเด็กเรื่อง กอด)

แม้แต่ในหนังสือภาพสำหรับเด็ก ก็เป็นแหล่งข้อมูลให้นักเขียนผู้ใหญ่ได้ อย่างเรื่อง “กอด” ของ มากิ ซาซากิ ที่ปลูกความรักความอ่อนโยนลงในใจเด็กๆ (ผู้อ่าน) ด้วยการนำไปรู้จักและสัมผัสกับอ้อมกอดแบบน่ารักๆ ของใครต่อใคร

เล่าเรื่องง่ายๆ ด้วยภาพวาดง่ายๆ ตัวหนังสือน้อยๆ
(เปิดเรื่องด้วยฉาก…) ณ ชายหาดเงียบสงบ
(ภาพตัวละคร อูฐ) “อ๊ะ คุณม้าลาย”
(ภาพตัวละคร ม้าลาย)“อ้าว คุณอูฐ”
“คิดถึงจังเลย”
“ขอกอดได้ไหม”
(ภาพสัตว์ทังสองกอดกันหลับตาพริ้ม ใต้ตัวหนังสือตัวใหญ่คำเดียว)
กอด

ซ้ำเรื่องราวการกอดด้วยตัวละครอื่นๆ อีก 3 คู่
ก่อนนำไปสู่ตอนจบเรื่องว่าทุกคน “ดีใจจังที่ได้เจอกัน”
และปิดเรื่องในหน้าสุดท้ายด้วยการเชื่อมไปสู่ธรรมชาติ
“ดวงตะวันลงมากอดกับทะเล”

(ภาพ 3)

อีกหนึ่งข้อมูลแห้ง ผมค้นเจอในหนังสือ “สันติภาพทุกย่างก้าว” ของ ติช นัท ฮันห์ ท่านแนะนำให้หายใจอย่างมีสติขณะสวมกอด

ดังความตอนหนึ่งว่า “ฉันขอแนะนำให้เธอหายใจเข้าและออกลึกๆ และมีสติอยู่กับปัจจุบัน แล้วโอบเขาหรือหล่อนไว้ในอ้อมแขนของเธอ หายใจอย่างมีสติสามครั้ง เธอจักเป็นสุขกับการสวมกอดมากกว่าที่เคยๆ ทำมา”

โดยอาจตบหลังเพื่อนเบาๆ ขณะที่กอดเขา เพื่อพิสูจน์ว่าเราอยู่ตรงนั้นจริงๆ

“ทันใด เธอทั้งสองจะรู้สึกว่าตัวเธออยู่กับขณะนั้น มันอาจจะเป็นปัจจุบันขณะที่วิเศษสุดในชีวิตของเธอ”

วันนั้นผมได้แบ่งปันสูตรเบื้องต้นเกี่ยวกับขั้นตอนในการเขียนสารคดีให้นักเขียนมือใหม่ลองลงมือทำเป็นขั้นๆ เมื่อจะเขียนสารคดีสักเรื่อง

คิดประเด็น-เก็บข้อมูล-ลงมือเขียน
เทียบตามสูตรนี้
ประเด็น-กอด
ข้อมูล-ในห้องประชุม : ชาตินวภพ ธีรภาพ ผู้คนในห้องประชุม ที่ผู้เขียนได้ร่วมรู้เห็นและรับฟัง, ค้นคว้า : โพสต์เฟซบุ๊คของธีรภาพ หนังสือ กอด, สันตภาพทุกย่างก้าว ฯลฯ

เหลือขั้นตอนสุดท้ายซึ่งถือได้ว่าสำคัญที่สุด และเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของงานเขียนชิ้นหนึ่ง นั่นคือการลงมือเขียน

จากตัวอย่างเรื่อง กอด นี้ผมได้วางโครงเรื่องและเก็บข้อมูลไว้ให้แล้ว

ใครจะลองหยิบมาทำเป็นงานเขียน ผมก็ไม่หวงครับ


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา