อุตสาหกรรมแห่งความศักดิ์สิทธิ์
ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
ในโลกสมัยใหม่ที่ติดต่อไปมาหาสู่กันได้สะดวกรวดเร็ว ผู้คน สินค้า และข่าวสารข้อมูลเคลื่อนย้ายไปมาอย่างทะลักทลาย เครื่องรางของขลังก็เดินทางไปมาข้ามเส้นเขตแดนของรัฐชาติอย่างมหาศาล
ยิ่งเมื่อผนวกกับการผลิตระดับ “อุตสาหกรรม” ของเครื่องรางของขลังในเมืองไทย ยิ่งทำให้ “วัตถุศักดิ์สิทธิ์” ของไทยเรา แพร่กระจายไปทั่วในประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ
คนเรามักมีแนวโน้มที่เชื่อว่า “พลังอำนาจ” นอกวัฒนธรรมของตนเอง มีความ “เข้มขลัง” กว่า “ลึกลับ” กว่า โดยเหตุนั้นคนไทยเวลาพูดถึงเรื่อง “คุณไสย” หรือเวทมนต์คาถา ก็มักจะให้เครดิตแก่ของ “เขมร” หรือหมอ “แขก”
“คนอื่น” นอกสังคมวัฒนธรรมไทยออกไป ก็คิดในกรอบเดียวกันนั้นด้วย
ยกตัวอย่างเช่นในมาเลเซีย เครื่องรางไทยได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะในหมู่คนเชื้อสายจีนที่นั่น มีร้านจำหน่ายเป็นการเฉพาะตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วไป มีกระทั่งแผงพระในตลาดสด เหรียญพระเกจิ รูปนางกวัก หรือแม้แต่ผ้ายันต์ มีให้เห็นได้ตามร้านอาหารร้านกาแฟของคนจีน
แม้แต่ในกลุ่มคนที่ไม่ใช่คนเชื้อสายจีนก็ยังนับถือด้วย
ครั้งหนึ่งเคยเห็นในรถแท็กซี่ที่กัวลาลัมเปอร์ คุณลุงโชเฟอร์เป็นแขกหน้าตาแบบคนอินเดียใต้ เดาว่าน่าจะนับถือศาสนาฮินดู แต่หน้ารถตั้งรูปสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ใบเล็กๆ ไว้ ลองคุยดู เขาก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร รู้แต่ว่าเป็นพระสงฆ์ไทย สอบถามได้ความว่ามีผู้โดยสารคนไทยให้มา และ “เขาว่ากันว่า” ตั้งไว้บูชาแล้วดี แถมคุณลุงแขกยังบอกด้วยว่า เคยมีผู้โดยสารบางรายขอซื้อต่อ ทั้งที่ให้ราคาสูง แต่คุณลุงก็ไม่ยอมขาย
ในทางตรงกันข้าม “รูปเคารพ” จากเพื่อนบ้าน ก็ข้ามพรมแดนเข้ามาเป็นที่นับถือแพร่หลายในเมืองไทยเช่นกัน
ดังที่คนไทยจำนวนไม่น้อยนับถือ “เทพทันใจ” หนึ่งในบรรดา “นัต” หรือชุดผีตนสำคัญๆ ในวัฒนธรรมพม่า แล้วนำไปสู่ “ประเพณีประดิษฐ์” ชนิดที่แม้แต่ในเมืองพม่า-ต้นกำเนิดของคติความเชื่อนี้เอง-ก็ไม่มี เช่นการเอาหน้าผากไปแตะกับนิ้วชี้ของ “นัต” ตนนั้น ในความหมายทำนองว่าเป็นการ “เจิม” เพื่อศิริมงคล
และ “อุตสาหกรรม” วัตถุมงคลของไทยยังพัฒนาความเชื่อนี้ต่อไป จนถึงการสร้าง “เทพทันใจ” องค์น้อยๆ ใส่ “หลอด” ไว้ห้อยคอ ทำนองเดียวกับ “พระเครื่อง” หรือเหรียญพระเกจิของไทยด้วย
ผู้นับถือรายหนึ่งเล่าว่า เมื่อ “ขอ” แล้วได้จาก “เทพทันใจ” ตามที่ขอ ก็ต้องนำเอาหลอดที่ว่านั้นไป “เลี่ยม” ให้ท่านด้วย
ตั้งแต่เมื่อราว ๑๐ ปีมาแล้ว เคยมีรายงานจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของธนาคารแห่งหนึ่ง ระบุว่ามีเม็ดเงินหมุนเวียนในธุรกิจพระเครื่องถึง ๔ หมื่นล้านบาทต่อปี ว่ากันว่า หากเศรษฐกิจดี เงินสะพัด วงการนี้ก็ยิ่งเฟื่องฟู หรือเมื่อสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ค้าขายไม่คล่อง คนจะเลิกตั้งความหวังลมๆ แล้งๆ กับรัฐบาล หรือการเลือกตั้งที่ไม่มีใครรู้ว่าจะมาถึงในอีกกี่สิบกี่ร้อยปี แต่หันไปพึ่งพาเครื่องรางของขลังแทน
ดังนั้น ไม่ว่าเศรษฐกิจจะฟุบเพียงใด อุตสาหกรรมวัตถุมงคลของไทยก็ยังน่าจะไปได้ดีกว่าอย่างอื่นๆ…