ขอบคุณที่มาให้รู้จัก

วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


ขอบคุณที่มาให้รู้จัก

เป็นประโยคแรกที่ผมกล่าวกับว่าที่นักเรียนค่ายสารคดี รุ่นที่ ๑๔

พวกเขายังเป็น “ว่าที่” เพราะการเจอกันครั้งแรกนี้ยังเป็นรอบสัมภาษณ์

ช่วงหลังมานี้ค่ายสารคดีเป็นที่รู้จักกว้างขึ้น มีเยาวชนสนใจอยากเข้ามาร่วมเรียนเพิ่มมากขึ้น รุ่นละไม่ถึงพันแต่ก็หลายร้อยคน

แต่กำลังเรามีเท่าเดิม จึงจำเป็นต้องมีการคัดเลือก เลือกจากใบสมัครแล้วเชิญมาสัมภาษณ์ ๑๐๐ คน ซึ่งสามารถรับเข้าร่วมค่ายเป็นตัวจริงได้เพียง ๕๐ คนต่อรุ่น

ส่วนอีกครึ่งที่ไม่ได้ไปต่อก็ถือว่าได้มาจับมือรู้จักกันแล้ว

นี่จึงต้องขอบคุณที่มาให้รู้จัก

การได้มารู้จักกันที่ว่านี้ ไม่ใช่เราได้รู้จักคนที่จะมาเรียนแต่ฝ่ายเดียว พวกเขาก็ได้รู้จักค่ายสารคดีเป็นเบื้องต้นด้วย

ได้มาเห็นห้องเรียน เห็นหน้าครู รู้แนวทางของค่าย กติกา หลักสูตร วิธีการเรียนรู้ ฯลฯ แล้วพวกเขาอาจจะเป็นฝ่ายปฏิเสธก็ได้หากไม่ถูกกับจริต

การได้มารู้จักกันจึงไม่ใช่แค่ให้ค่ายเป็นฝ่ายเลือก แต่เขาก็มีโอกาสได้เป็นฝ่ายเลือกค่ายด้วย

มาเจอกันเพื่อให้เรามีโอกาสได้บอกว่า การคัดคนมาเรียนไม่ได้มุ่งแต่ความเก่ง ตั้งแต่รอบใบสมัคร (และตัวอย่างผลงาน) จนถึงรอบสัมภาษณ์ เราเน้นดูความเหมาะสมกับการเรียนรู้ในค่าย และการกระจายโอกาสด้วย

ดังจะเห็นได้ว่าในค่ายสารคดีทุกรุ่นที่ผ่านมา มีผู้เรียนมาจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ มาจากสถาบันการศึกษาตามหัวเมืองไกลๆ จนถึงเด็กดอยจากแนวชายขอบ

ซึ่งในแง่ฝีมือเมื่อตอนเริ่มต้นอาจยังห่างไกลจากเยาวนในส่วนกลาง แต่เมื่อผ่านกระบวนการค่ายไปแล้ว ผลงานของเขาก็พิสูจน์ตัวผู้สร้างว่าการเขียนนั้นเรียนเท่าทันกันได้

ค่ายสารคดี เป็นห้องเรียนการเขียนและถ่ายภาพ มีช่วงที่เป็นการ “บรรยาย” เพื่อช่วยย่นย่อเส้นทางการเรียนรู้ให้นักเขียนใหม่ไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกเองกับสิ่งที่ตายตัวแน่นอนอยู่แล้ว เป็นการแบ่งปันประสบการณ์และให้หลักการที่เป็น “สูตรพื้นฐาน” ของงานศิลป์แขนงนี้

ค่ายมีช่วงของการฝึกปฏิบัติ ออกไปทำงานจริงในภาคสนาม ซึ่งนักเขียนสารคดีต้องไม่บอบบางและไม่สำอางเกินไปจนออกไปสู่โลกกว้างกลางแจ้งไม่ได้

มีช่วงที่ต้องนำเสนอผลงาน รับฟังความเห็น ข้อติชม วิพากษ์วิจารณ์ เพื่อพิจารณาปรับปรุง เหล่านี้เป็นทางผ่านที่คนค่ายต้องเจอ

ผลงานที่แต่ละคนสร้างสรรค์มาอย่างตั้งใจและทุ่มเท ต้องสามารถ “แตะ” เพื่อการเติบโตด้านฝีมือจะไปได้เร็ว

โดยแน่นอนว่าครูไม่ได้เป็นเจ้าขององค์ความรู้แต่ผู้เดียว หากมาจากการระดมความคิดความเห็น ร่วมสังเคราะห์ จุดประกายการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

ค่ายสารคดีเป็นห้องเรียนฟรีที่เป็นเสมือนภาค “บริการสังคม” ของนิตยสารสารคดี ซึ่งทำนิตยสารมานับ ๓๔ ปี ก็อยากมีส่วนสร้างนักเขียนและช่างภาพรุ่นใหม่ๆ ให้กับวงการบ้าง ด้วยการจับมือกับภาคีเครือข่ายระดมทุนเพื่อกิจกรรมนี้

คนมาเรียนควรได้รู้ความจริงนี้ เพื่อตระหนักว่าตนเป็นนักเรียนทุน และใช้ต้นทุนที่ได้มาอย่างคุ้มค่า

๕๐ ตัวจริงที่ได้เข้ามาเรียน ควรมั่นใจด้วยใจจริงว่าสามารถร่วมค่ายได้ต่อเนื่องตลอด ๔ เดือน อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยครบทุกครั้ง พบกลุ่มที่ห้องเรียนช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และมีเวลาทำงานส่งตามโจทย์

กับสิ่งที่เป็นความปรารถนาสูงสุดของค่าย คือการได้เจอคนที่ใฝ่ฝันว่าจะสร้างสรรค์งานเขียนและภาพถ่ายสารคดีต่อไป

กว่าจะเข้ามาร่วมค่ายได้ คล้ายว่าจะเต็มไปด้วยเงื่อนไขยิบย่อยรุงรัง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อให้การได้มาชุมนุมกันเป็นเรื่องไม่เสียเปล่า

การได้เลือกเส้นทางอย่างตรงใจและมีเป้าหมาย ย่อมเป็นแรงจูงใจในการเรียนรู้และก้าวต่อ

และคนจะเป็นเพื่อนกัน ถ้ายิ่งรู้จักรู้ใจกันมิตรภาพก็ย่อมมีแต่จะยืนยาว


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา