ทำไมไม่มีสารคดีบนเวทีซีไรต์

วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


ถามกันไปมาอยู่ในหมู่ผู้สนใจงานวรรณกรรมมานานแล้ว

ทำไมรางวัลซีไรต์ไม่ให้งานเขียนประเภทสารคดีด้วย?

ไม่มีคำตอบที่เป็นทางการจากกองประกวดหรือเจ้าของรางวัล

ซึ่งในแง่หนึ่งก็ถือเป็นด้านดีที่ทำให้เกิดการวิเคราะห์ ถกเถียง แลกเปลี่ยนกันเอง เพื่อจะหาคำตอบ ตั้งแต่วงเล็กวงน้อยย่อย-ใหญ่ไปจนถึงวงสัมมนาแบบเป็นงานเป็นการ

ถ้าได้สดับความเห็นว่าที่น่าสนใจ ผมจะรวบรวมมานำเสนอไว้เป็นบันทึกข้อมูลร่วมกัน

ครั้งหนึ่ง รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ หรือไพฑูรย์ ธัญญา เคยพูดถึงฐานะของงานสารคดี ซึ่งคาบเกี่ยวเชื่อมโยงถึงประเด็นนี้ด้วยว่า

“ความรู้/ความจริงที่นำเสนอในงานสารคดี เป็นความรู้ ‘นอกระบบ’ เมื่อนิยามเปรียบเทียบกับความรู้ทาง ‘ระบบวิชาการ’ ในอดีต ความรู้/ความจริงที่นำเสนอในงานสารคดีจึงเป็นความรู้ ‘ชั้นสอง’ ที่ถูกความรู้ ‘ชั้นหนึ่ง’ หรือความรู้ในระบบวิชาการเบียดดันให้ตกขอบ และถูกกีดกันในแง่ของการยอมรับ ความรู้และความจริงที่ได้รับการนำเสนอในงานเขียนสารคดีจึงดูเหมือนไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะนำไปอ้างอิง มันจึงเป็นไปได้ (อย่างดีที่สุด) เพียง ‘ข้อเท็จจริง’ ”

เหตุข้างต้นนำไปสู่ผลที่นักเขียนและนักวิชาการวรรณกรรมผู้นี้ชี้ว่า การสร้างความหมาย/การนิยามสารคดีในทำนองนี้ จึงกลายเป็นวาทกรรมที่ตอกตรึงให้สารคดีกลายเป็นงานเขียนชั้นสอง ที่ไม่อาจเทียบได้กับงานเขียนประเภทเรื่องสั้น นิยาย บทกวี ซึ่งเป็นวาทกรรมที่มีอำนาจและทรงอิทธิพลมาโดยตลอดในสังคมการอ่านของบ้านเรา

“ดังนั้นจึงไม่แปลกหรอกที่งานเขียนประเภทสารคดี ไม่ถูกนับรวมอยู่ในวรรณกรรมเชิงสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะในเวทีการประกวดวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซี่ยน (ซีไรต์) หรือเวทีการประกวดวรรณกรรมสำคัญๆ ในเมืองไทย”

ต่อเรื่องนี้ รศ.ดร.ธัญญาให้ความเห็นไว้ด้วยว่า

“ในทัศนะของคนที่ทำงานเขียนเชิงสร้างสรรค์เป็นหลักอย่างผม ไม่มองอย่างนั้น ผมคิดว่าสารคดีเป็นงานเขียนที่ควรแก่การพูดถึงให้มากกว่านี้ และโดยตัวของมันเองแล้ว หาได้มีฐานะเป็นวรรณกรรมชั้นสองเลย ในทางตรงข้ามมันกลับมี ‘ตัวตน’ ที่ทางที่ชัดเจน นี่ไม่นับรวมถึงบทบาทหน้าที่ทางสังคมอันโดดเด่น เป็นรูปธรรมและจับต้องได้กว่างานเขียนอีกหลายประเภท สารคดีค้นคว้า ขุดคุ้ย ตีแผ่ เปิดเผย และนำเสนอเรื่องราวอีกมากมาย ที่นักวิชาการไม่เคยสนใจศึกษาค้นคว้าออกมาให้สังคมได้รับรู้ เรื่องบางเรื่องส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง หลายเรื่องนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระยะยาว และอีกหลายต่อหลายเรื่องได้ก่อให้เกิดสำนึกที่ดีงามขึ้นในจิตใจของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นสำนึกในมนุษยธรรม สำนึกในเชิงนิเวศและอนุรักษ์ธรรมชาติ มองในแง่นี้แล้ว สารคดีดูจะ ‘ทำงาน’ มากกว่างานเขียนเชิงสร้างสรรค์ด้วยซ้ำไป”

‘แรง’ แบบตรงไปตรงมา จากนักวิชาการอาจารย์มหาวิทยาลัย และอีกภาคหนึ่งเขาก็เป็นนักเขียนที่เคยได้รับรางวัลซีไรต์มาแล้วด้วย

ต่อประเด็นของคำว่า วรรณกรรมสร้างสรรค์ นั้น รศ.ดร.ธัญญามองว่า

“มองในแง่ของการ ‘สร้างสรรค์’ ซึ่งมักจะเพ่งไปที่กลวิธี เทคนิควิธีการนำเสนอ รวมทั้งจินตนาการ มีแต่คนที่ไม่เคยเขียนสารคดีเท่านั้น ที่ไม่รู้หรอกว่าการเขียนสารคดีนั้นต้องใช้จิตนนาการและชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ไม่น้อยไปกว่างานเขียนประเภทนวนิยาย เรื่องสั้นเลย สารคดีไม่ใช่การนำข้อมูลมาเรียงต่อๆ กันให้พอเป็นเรื่อง ใครพูดแบบนี้ก็ต้องบอกว่า ไม่รู้จักสารคดี และเขียนสารคดีไม่เป็น”

เป็นหนึ่งแนวคิดต่อวงการงานเขียน ที่คงไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้าย แต่ถือเป็นมุมมองใหม่ๆ ที่ช่วยกันระดมถมต่อนิยามความเข้าใจ ขยายพรมแดนความรู้ว่าด้วยงานสารคดีให้กว้างขวางออกไปเรื่อยๆ การสร้างสรรค์สูงสุดในภาพรวม


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา