จาก “พระพิมพ์” สู่ “พระเครื่อง” (๒) (อ่านต่อแรกได้ ที่นี่)
ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
แล้วจาก “ไทม์แคปซูล” ที่มุ่งหมายประกาศศาสนาแก่ผู้คนในอนาคต พระพิมพ์กลายเป็น “วัตถุมงคล” ที่นำมาไว้ติดตัวได้อย่างไร ?
ในที่นี้อยากเสนอว่า คนไทยน่าจะเพิ่งเริ่ม “ห้อยพระ” หรือ “แขวนพระ” กันเมื่อราว ๑๐๐ กว่าปีมานี้เอง และเริ่มต้นจากธรรมเนียมปฏิบัติของชนชั้นสูงก่อน
“จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาค ๑๙” มีบันทึกถึงเรื่องนี้ไว้ว่า ช่วงต้นรัชกาล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ ณ วันอังคาร แรมสี่ค่ำ เดือน ๘ ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ได้พระราชทาน “พระชัยเล็กซึ่งประดิษฐานในตลับทองคำมีสร้อยร้อยพระสอ” (ศอ คือคอ) กริ่งพร้อมสายสร้อย” แก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระราชโอรส ๔ พระองค์ที่กำลังจะเสด็จไปทรงศึกษาต่อในทวีปยุโรป และในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ก็ยังมีการระบุถึงการพระราชทาน “สายสร้อยตลับพระชัย” แก่พระบรมวงศานุวงศ์อื่นๆ ด้วย
ว่าที่จริง นี่ก็น่าจะเป็นความคิดที่นำเอาสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา คือ “พระชัยเล็ก” (ซึ่งคงเป็นการจำลองพระชัย หรือพระชัยวัฒน์ประจำรัชกาล) มาบรรจุในตลับ แล้วแขวนไว้ติดตัวกับสายสร้อยห้อยคอ ในทำนองเดียวกับที่นักบวชคาทอลิกหรือมิชชันนารีโปรเตสแตนท์ มีสร้อยห้อยไม้กางเขน แจกให้แก่ผู้เข้ารีต ไว้ห้อยคอแสดงตนเป็นคริสตศาสนิกชน
สันนิษฐานว่าจาก “สายสร้อยตลับพระ” ทำนองนี้เอง กลายเป็นสิ่งที่คนทุกระดับในสังคมก็ทำเลียนแบบตามอย่างเจ้านายกันลงมา ทำให้เกิดความนิยมเสาะแสวงหา “พระพิมพ์” เพื่อนำมา “เลี่ยม” แขวนกับสร้อย ทำนองเดียวกันนั้นบ้าง
พระพิมพ์ที่แต่เดิมสร้างไว้เพื่อสืบพระศาสนาจึงเกิดความหมายใหม่ ในฐานะวัตถุมงคล คือ “พระเครื่อง” (เครื่องราง) ขึ้นมา
และเพียงเมื่อถึงช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ พระพิมพ์โบราณก็กลายเป็นสินค้า หรือของซื้อของขายที่นิยมแพร่หลาย นำไปสู่การระดมขุดรื้อทลายหาพระเก่าตามเจดีย์วัดร้างที่ระบาดแพร่ไปทั่ว ดังที่ในหลวงรัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร ทรงพบเห็นเมื่อเสด็จประพาสหัวเมืองเหนือ พ.ศ. ๒๔๕๐ ดังที่ทรงบันทึกไว้ในพระราชนิพนธ์ “เที่ยวเมืองพระร่วง” ตอนหนึ่ง หลังจากทรงพบเห็นการลักลอบขุดหาพระเก่าที่เมืองกำแพงเพชรว่า
“เมืองกำแพงเพ็ชร์ต้องนับว่าเปนเมืองเคราะห์ร้าย ที่มีชื่อเสียงเสียแล้วว่ามีพระพิมพ์ดีๆ มีอภินิหารต่างๆ กันสาตราวุธ ฟันไม่เข้า ยิงไม่ออกเปนต้น…นึกๆ ดูก็น่าขันที่เอาพระพุทธรูปไปผูกคอไปเพื่อป้องกันตนในการที่คิดมิชอบต่างๆ มีปล้นสดมภ์ฤๅตีรันฟันแทงเกะกะต่างๆ เปนต้น…”
ธรรมเนียมการนำเอาพระพุทธรูปหรือพระพิมพ์มาห้อยคอนี้ จึงเริ่มมีปรากฏในวัฒนธรรมพุทธของไทยเท่านั้น คนในประเทศพุทธเถรวาทอื่นๆ เช่นลังกา หรือพม่า ก็ไม่ได้ทำกัน มีเราทำอยู่คนเดียว
ศรัณย์ ทองปาน
เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี