สารคดี (ที่เขียนด้วย) ชีวิต

วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


ค่ายหอมกลิ่นลำดวน หรือโครงการเขียนชีวิตบุพการี รุ่นที่ ๑ เสร็จสิ้นไปเมื่อวันเสาร์ที่แล้ว หลังจากนั้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้ไปร่วมงานศพ ๒ งาน ทำให้ได้ฉุกคิดขึ้นมาว่า หอมกลิ่นลำดวนกับหนังสืออนุสรณ์งานศพดูจะมีความคาบเกี่ยวกันอยู่

เวลาไปร่วมงานศพนอกจากเพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้สูญเสียที่ยังอยู่ ยังเป็นโอกาสที่จะได้เรียนธรรมจากผู้จากไปด้วย ซึ่งอาจสอนเราทั้งโดยถ้อยคำที่ฝากไว้ หรือโดยรูปกายที่นอนนิ่งอยู่ในโลงตรงหน้า โดยบอกเป็นนัยแก่ผู้ที่มาร่วมงานว่า “ครั้งหนึ่งเราก็เคยเหมือนท่าน และไม่นานท่านก็จะเหมือนเราตอนนี้”

ในประวัติของผู้วายชนม์รายหนึ่งบอกว่า อาม่าเป็นคนชอบค้าขาย และสอนหลานให้รู้จักทำการค้ามาตั้งแต่หลานยังไม่เข้าใจคำนี้ อาม่าก็อธิบายว่า เอาของไปแลกให้ได้เงินมา นั่นแหละการค้าขาย

กับอีกคำหนึ่งอาม่าสอนลูกหลานว่า “ให้ขยันหมั่นเพียรในการทำงาน แต่ไม่ต้องหวังรวย เพราะคนจะรวยนั้นมันขึ้นอยู่กับวาสนาด้วย”

นี้เป็นประวัติในแบบที่ผู้จากไปเล่าหรือสอนอะไรไว้ แล้วลูกหลานได้นำมาเขียนบันทึกไว้

ในอีกงานหนึ่ง ทั้งผู้ผู้วายชนม์และลูกหลานไม่มีบันทึกอะไรเอาไว้ แต่เมื่อจากไปกะทันหันก็อยากทำประวัติเอาไว้บ้าง เจ้าภาพขอให้ช่วย ผมนั่งคุยกับญาติราวชั่วโมงหนึ่งเพื่อเขียนประวัติในแบบสารคดีชีวิตขนาดสั้นราว ๓ หน้า

ดังจะลองยกบางตอนมาให้อ่านกันเพื่อการศึกษาดังนี้ แต่ยังไม่ได้ขออนุญาตเผยแพร่ จึงขอสงวนนามผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด

…….

คุณแม่ … เกิดที่บ้านสวนย่านคลองตะนาวศรี เมืองนนทบุรี เมื่อวัน … เป็นลูกสาวคนโตของ … มีน้องอีก 7 คน คือ …

หลังเรียนจบศิลปะจากวิทยาลัยเพาะช่าง สมรสกับ … มีบุตร … คน คือ …

แม้มีภาระต้องดูแลครอบครัวแต่คุณแม่ยังเจียดเวลาไปเรียนต่อจนจบการศึกษาขั้นสูงสุดถึงระดับปริญญาโทจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

คุณแม่ … เป็นแบบอย่างในเรื่องความอ่อนโยนและความเมตตา ซึ่งลูกบอกว่าไม่ได้สอนด้วยคำพูด แต่ทำให้ดู

เมื่อลูกเข้าเรียนชั้นอนุบาล แม่เด็ดดอกจำปีหน้าบ้านใส่กระเป๋าเสื้อนักเรียนของลูก ให้เอาไปฝากคุณครูทุกวัน จนดอกจำปีหมดทั้งต้น

ในด้านความเมตตา คุณแม่เป็นแบบอย่างเรื่องการไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนชีวิตอื่น ครั้งหนึ่งเมื่อเห็นจับตะพาบน้ำถูกคนจับมาขังไว้เตรียมทำเป็นมื้อเย็น คุณแม่ก็ชวนลูกชายแอบเอาตัวมันไปปล่อยลงน้ำ

แม้กระทั่งขณะตัวเองนอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล คนแม่ก็ยังห่วงใยคอยถามไถ่ว่าสัตว์เลี้ยงที่บ้านจะอยู่กันอย่างไร

ความอ่อนโยนและมีเมตตาถือเป็นคุณธรรมประจำชีวิตคุณแม่เสมอมา

โดยคุณวุฒิคุณแม่สามารถหางานประจำทำได้ไม่ยาก แต่ด้วยปัญหาสุขภาพจากการผ่าตัดไตออกข้างหนึ่งตั้งแต่อายุราว ๓๐ ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรงพอจะออกไปทำงานนอกบ้าน คุณแม่เป็นแม่บ้านที่ไม่มีรายได้ประจำ แต่กระนั้นก็ยังทำงานศิลปะแกะไม้และวาดภาพส่งขายแกลลอรี พอมีรายได้ช่วยจุลเจือครอบครัวได้ตามสมควร

คุณแม่ยังเป็นคนช่างประยุกต์และช่างทดลองในงานศิลปะและอาหาร จนเกิดสูตรอาหารใหม่ๆ ของตนมากมาย คุณแม่ขยันกับการทำอาหารและขนม จนบางครั้งลูกบ่นเหนื่อยเพราะต้องช่วยเป็นลูกมือ แม้เมื่อเจ็บป่วยต้องไปไหนมาไหนด้วยรถเข็น คุณแม่ยังไปจ่ายตลาดเอง ซึ่งบางครั้งไปตั้งแต่เที่ยงคืน

บ่อยครั้งอาหารที่คุณแม่ทำจะถูกแจกจ่ายไปยังญาติมิตร พร้อมสิ่งของอื่นๆ ซึ่งจะให้ของกินของใช้แก่ใคร คุณแม่จะคัดสรรอย่างพิถีพิถันว่าต้องเป็นของที่ดีที่สุดสำหรับผู้รับ

การให้และมีใจเอื้อเฟื้อแก่คนอื่น นับเป็นอุปนิสัยที่โดดเด่นอีกด้านหนึ่งของคุณแม่กมลา

จะด้วยปัญหาเจ็บป่วยมาแต่วัยสาวหรือไม่ก็ตาม คุณแม่มีใจใฝ่ทางการทำบุญและการปฏิบัติธรรมมาโดยตลอด คุณแม่กล่าวว่าเป็นบุญวาสนาที่ได้เกิดมาในชีวิตนี้ แม้ว่าจะได้ “เครื่อง” (ร่างกาย) ที่เก่า

คุณแม่เดินทางธรรมตามสายพระวัดป่าอีสานมายาวนาน รวมทั้งปฏิบัติเองที่บ้าน ซึ่งแผ่ต่อมาถึงลูกและคนรอบข้างด้วย

คราวหนึ่งลูกกำลังใจเสียกับการป่วยของตน แม่ปลอบลูกว่า “ไม่มีใครที่ไม่เจ็บป่วย”

และใช้โอกาสนั้นในการชี้ทางธรรมแก่ลูกว่า “เพราะมีร่างกายถึงได้มีโรค เจ็บป่วยก็ดีจะได้ธุดงค์ในร่างกาย”

คุณแม่กมลาคือรูปธรรมของผู้มีธรรมนำชีวิต ที่สามารถเป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นหลังได้อย่างดีว่า ธรรมะเป็นสิ่งสำคัญของชีวิต ที่ได้ใช้จริงจนลมหายใจสุดท้าย

ขณะนอนป่วยระยะสุดท้ายอยู่ในโรงพยาบาล คนใกล้ชิดเล่าว่าบางช่วงคนแม่มีอาการเพ้อไม่ได้สติ แต่สิ่งที่พูดออกมามีแต่ถ้อยคำที่เป็นกุศล อย่างว่าไม่มีใครอีกแล้วที่จะเท่าพระพุทธเจ้า ขอให้ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ไม่ต้องเกิดอีกแล้ว ฯลฯ

โรคร้ายที่รุมเร้ามาแต่วัยกลางคน จนหนักหน่วงขึ้นในช่วงปัจฉิมวัย คุณแม่กมลามองว่านั่นเป็นการ “ผ่อนส่ง” แล้วในทางกายกรรม คุณแม่จึงไม่เดือนร้อนรำคาญกับการต้องไปพบหมอตามนัดเดือนละครั้งในช่วงแรก ต่อมาสัปดาห์ละครั้ง และสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งในระยะหลัง

การเข้าโรงพยาบาลครั้งสุดท้ายก็เป็นการไปพบหมอตามนัด แต่หมอตรวจเลือดแล้วพบภาวะโพแทสเซียมสูง จึงกักตัวให้นอนโรงพยาบาล ต่อมาคุณหมอมีความเห็นว่าต้องฟอกไต ขณะที่คุณแม่บอกคนใกล้ชิดว่าลิ้นเริ่มไม่รู้รส ไม่อยากกินอาหาร ร่างกายอ่อนแรง และมีอาหารเพ้อในบางช่วง

เย็นวันที่ 12 พฤษภาคม ๒๕๖๑ หลังลูกชายและลูกสะใภ้มารับช่วงดูแลคุณแม่ต่อจากน้าสาวได้ราว 10 นาที คุณแม่ร้องเรียกให้มาช่วยพยาบาลเปลี่ยนผ้าอ้อมสำเร็จหลังคุณแม่ถ่ายอุจจาระ ขณะพยาบาลหันหลังเมื่อเสร็จกิจ ลูกสะใภ้เห็นร่างคุณแม่กระตุก 2-3 ครั้ง จากนั้นคอพับลงหาอก หลังแนบเตียงที่ปรับเอนขึ้นมา

แล้วคุณแม่ก็แน่นิ่งไปพร้อมลมหายใจสุดท้าย ดุจตะเกียงที่หรี่ดับ เมื่อเวลา 18.30 น.

…….

ถอดบทเรียนในแง่วิธีการเล่าเรื่อง เรื่องนี้เป็นการเขียนจากการเขียนเรื่องบุคคลหนึ่ง จากการสัมภาษณ์อีกบุคคลหนึ่ง และเล่าเรื่องโดยไม่มีผู้เขียนอยู่ในเรื่อง แต่เล่าแบบผู้แบบเขียนรู้ทุกสิ่ง (มุมมองพระเจ้า) โดยโฟกัสที่เจ้าของเรื่องเป็นตัวละครหลัก

แม้เป็นการสัมภาษณ์เจ้าของเรื่องโดยตรง แต่ก็ยังมีอ้างตรง หรือโคว๊ซคำพูด หรือแสดงการสนทนาได้ ผ่านการฉายภาพให้เห็นเหตุการณ์ ซึ่งซึ่งใช้กับช่วงที่เป็นใจความสำคัญ เป็นจุดเด่นของเรื่อง และการได้แสดงให้เห็นเหตุการณ์นี้ยังช่วยให้เรื่องไม่ราบเรียบเนื่องจากมีแต่น้ำเสียงของผู้เขียนเพียงมุมเดียว

เป็นเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ พอเป็นน้ำย่อยในการเขียนสารคดี ประเภท “สารคดีชีวิต”

ถ้าเรามองเห็นแง่มุมในเชิงกลวิธีเหล่านี้ด้วย การอ่านหนังสืออนุสรณ์งานศพก็จะไม่เพียงแค่ให้เราได้เรียนธรรมจากผู้วายชนม์ แต่ยังมีส่วนช่วยเปิดมุมให้เราหากต้องเป็นผู้เล่าเรื่อง