เป็นผู้น้อยต้องก้มประนมกร
ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
มุมหอสวดมนตร์ในวัดแห่งหนึ่งแถบอยุธยา ก็มีงานเก่าหลายสิบปี ทำหน้าบันมุขเป็นไม้แกะสลักรูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งประนมมือ เดาเอาเองว่าช่างอาจคิดทำให้เข้ากับหน้าที่การใช้งานของหอสวดมนตร์ก็เป็นได้
เคยได้ยินเรื่องนี้ไหม ?
มีเด็กคนหนึ่งถามขึ้นมาว่า วันครู เด็กก็ต้องไหว้ครู วันพ่อวันแม่ เด็กก็ต้องไหว้พ่อไหว้แม่
แต่พอถึงวันเด็ก ทำไม ไม่เห็นครูหรือพ่อแม่มาไหว้เด็กบ้าง ?
อาจฟังดูเหมือนคำถามเด็กๆ ไร้สาระ แต่นี่คือ “แก่นแกน” แห่งอำนาจอย่างหนึ่งของสังคมไทยทีเดียว
เพราะการ “ไหว้” เป็นการแสดงความเคารพของ “ผู้น้อย” ต่อ “ผู้ใหญ่” อย่างที่สำนวนเก่าเขาบอกว่า “เป็นผู้น้อยค่อยก้มประนมกร”
“ผู้น้อย” นั้น หมายถึงคนที่ต่ำต้อยด้อยกว่า ไม่ว่าจะด้วยวัยวุฒิ ชาติวุฒิ หรือคุณวุฒิ คืออายุ สถานะทางสังคม หรือตำแหน่งหน้าที่การงาน
ในบริบทของวัฒนธรรมไทย การไหว้จึงเป็นการประกาศต่อหน้าธารกำนัล ให้เห็นกันชัดๆ ไปเลย ว่าใคร “ใหญ่” กว่าใคร
ในโปสเตอร์หาเสียง นักการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งจึงต้องประนมมือไหว้ผู้ลงคะแนน (ที่มองไม่เห็น) เพราะ ณ เวลานั้น เขาต้องอ้อนวอนขอความเมตตา ขอคะแนนเสียง (ส่วนผู้นำเผด็จการที่สถาปนาตัวเองขึ้นมานั้น ก็ย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ปั๊ดโธ่…)
ของแบบนี้ “ฝรั่ง” หรือคนในวัฒนธรรมอื่น (ซึ่งมาจากโลกที่มีความเสมอภาคกว่าคนไทย) มักไม่เข้าใจ ถูกโฆษณาขายการท่องเที่ยว อย่างที่มีรูปคนใส่ชฎายืนยิ้มพนมมือไหว้ พร้อมกับมีคำว่า Sawaddee หลอกเอา เลยไปทึกทักว่าการไหว้เป็นการทักทาย “สวัสดี” แบบเดียวกับการจับมือ หรือเป็นการแสดงความขอบคุณ ก็เลยเที่ยวไหว้เขาไปทั่ว ไหว้คนขับตุ๊กตุ๊ก ไหว้แม่ค้า ไหว้เด็กนักเรียน คนไทยดูแล้วก็จะขำๆ เพราะ “ไม่มีใครเขาทำกัน”
พระพุทธรูปของไทยเราแต่โบราณมา จึงไม่ทำปางที่พระพุทธเจ้าพนมมือไหว้ เพราะในโลกทัศน์แบบพุทธไทยๆ พระพุทธเจ้ายิ่งใหญ่ที่สุด สูงสุดในจักรวาลแล้ว จึงไม่ต้องประนมมือไหว้ผู้ใดอีก
แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะหาไม่ได้ ผู้เขียนเคยเห็นตรงมุมหอสวดมนตร์ในวัดแห่งหนึ่งแถบอยุธยา ก็มีงานเก่าหลายสิบปี ทำหน้าบันมุขเป็นไม้แกะสลักรูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งประนมมือ เดาเอาเองว่าช่างอาจคิดทำให้เข้ากับหน้าที่การใช้งานของหอสวดมนตร์ก็เป็นได้
ส่วนประติมากรรมที่สร้างเป็น “พระ” ปางประนมมือ ส่วนใหญ่เป็นรูปพระสาวก คือลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า อย่างที่เห็นรูปพระอัครสาวกยืนหรือนั่งพนมมืออยู่ซ้ายขวาพระประธานในโบสถ์ ที่ว่ากันว่า ข้างหนึ่งคือพระโมคคัลลานะ อีกข้างหนึ่งคือพระสาริบุตร หรือไม่อีกทีหนึ่งก็จะเป็นรูปหล่อพระเกจิอาจารย์ อย่างเช่นรูปพระสังฆราชแตงโม (ทอง) ในอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณาราม เมืองเพชรบุรี นั่นเอง
ศรัณย์ ทองปาน
เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี