หลักหมายที่ 14 ค่ายสารคดี : สร้างคนบันทึกสังคม
วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี
ด้วยคอนเซ็ปต์ของคอลัมน์นี้ที่ว่าด้วยการเขียนสารคดี ผมจึงตัดสินใจเขียนเรื่องนี้ แม้ออกจะเป็นเรื่องส่วนตัว
เรื่อง “ค่ายสารคดี” ของพวกเราชาวสารคดี
บอกกันไว้แต่ต้นเรื่อง
จึงใครจะอ่านอย่างเรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง อ่านเพื่อถอดบทเรียน หรือไม่อ่านต่อขอเปิดผ่านไปก็ได้ทั้งนั้น
ค่ายสารคดีครั้งแรกกำเนิดเมื่อปี 2547 น่าจะตั้งต้นมาจากที่ก่อนหน้านั้นครูอรสม สุทธิสาคร เจ้าแม่สารคดีชีวิตในเวลานั้น มักเดินสายออกไปบรรยายเรื่องการเขียนสารคดีตามสถานศึกษาทั่วประเทศ ถึงจุดหนึ่งก็คิดว่าให้เด็กเป็นฝ่ายมาหาครูดีกว่า จึงร่วมกับคุณกาญจนา พุ่มพวย ฝ่ายกิจกรรมพิเศษของนิตยสารสารคดีในเวลานั้น หาทุนมาจัดค่ายอบรมการเขียนในชื่อ “ค่ายนักเขียนสารคดีสะท้อนปัญหาสังคม”
เปิดรับเยาวชนเข้ามาอบรมต่อเนื่อง 3 วัน แล้วนัดกลับมาพบกลุ่ม พาลงพื้นที่ เขียนงานส่ง ตรวจแก้ นัดมาติดตามงานกันเป็นระยะ
ค่ายสารคดีรุ่นแรกนอกจากครูอรสม ยังมีครูวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ครูสกล เกษมพันธ์ ครูสุวัฒน์ อัศวไชยชาญ เป็นกำลังหลักในการสอน
ตอนนั้นผมเพิ่งเข้ามาทำงานที่นิตยสารสารคดีเป็นปีที่ 2 ได้เข้าร่วมค่ายครั้งแรกในฐานะพี่เลี้ยง
ได้ผลิตผลคนค่ายกลุ่มหนึ่งซึ่งเติบโตต่อมาจนทุกวันนี้ยังชี้ตัวได้
แต่น่าแปลกมากที่ค่ายแรกนี้เราไม่มีภาพถ่ายเก็บไว้เลยสักใบ ไม่รู้ว่าเพราะอะไร…
ภาพจากค่ายสารคดี รุ่นที่ 2 ที่หาได้ก็ดูเหมือนว่ามาจากที่เด็กค่ายชักชวนกันถ่ายเอง ไม่ใช่การจัดถ่ายภาพหมู่อย่างเป็นทางการ
ค่ายนักเขียนสารคดีสะท้อนปัญหาสังคมครั้งแรกจัดที่สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ถนนพิชัย รุ่นที่ 2 เปลี่ยนมาจัดที่โรงแรมเอสซีปาร์ค ย่านทาวน์อินทาวน์ โครงสร้างและกระบวนการค่ายคล้ายเดิม ต่อเนื่องถึงรุ่นที่ 3 ซึ่งเปลี่ยนมาจัดที่โรงแรมดีลักซ์ เพลส ริมถนนเพชรบุรี ตรงข้ามปากคลองตันออกบรรจบคลองแสนแสบ
ในรุ่นที่ 3 นี้ผมได้เข้าร่วมทีมเป็นครูค่ายครั้งแรก
ค่ายอบรมการเขียนโดยทั่วไปอาจเรียกคนที่มาให้ความรู้ว่า วิทยากร พี่เลี้ยง เมนเทอร์ คอมเมนต์เตเตอร์ ฯลฯ แต่ค่ายสารคดีเราใช้คำว่าครู โดยไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูหรือมีใครแต่งตั้งให้เป็น แต่หยิบยืมคำนี้มาใช้ เพื่อให้ตรงความหมายตามบทบาทของการสร้างคน(บันทึกสังคม) ซึ่งคอยประคับประคองดูแลเป็นที่ปรึกษาแบบประกบติดชิดใกล้ตลอด 4 เดือนของกระบวนการ
รุ่นที่ 4 ยังอยู่ย่านถนนเพชรบุรี ริมคลองแสนแสบ โดยขยับมาที่มูลนิธิอมตะ และกร่อนชื่อค่ายลงว่า “ค่ายสารคดี” รับเยาวชนราว 30 คนเข้าร่วมโครงการ แต่อยู่จนจบค่ายแค่ 10 กว่าคน
ในรุ่นที่ 5 ลองปรับเปลี่ยนสร้างสีสันบรรยากาศใหม่แบบไต่บันไดสู่รอบสุดท้ายในจำนวนจำกัด มีการจัดประกวดงานเขียนชิงรางวัล ท้ายค่ายได้ผลงานรวมเล่มของผู้ผ่านถึงรอบสุดชื่อ “บางสิ่งไม่เคยหวนกลับ”
เป็นค่ายแรกที่ครูแดง-วิวัฒน์ พันธุวิทยานนท์ มาร่วมทีมครูฝ่ายเขียน และต่อมาเยาวชนนักเขียนคนหนึ่งจากค่าย รุ่นที่ 5 นี้คือ ฐิติพันธุ์ พัฒนมงคล ก็เติบโตไปเป็นครูเขียนในค่ายรุ่นที่ 13 ด้วย
มิติใหม่ของค่ายสารคดีเกิดขึ้นในรุ่นที่ 6 เมื่อมีการเปิดรับเยาวชนที่สนใจการถ่ายภาพเข้ามาร่วมค่าย เรียนรู้ควบคู่ไปพร้อมกันทั้ง “นักเขียน” และ “ช่างภาพ” จากนั้นค่ายสารคดีก็ได้ชื่อว่าเป็นค่ายแรกและค่ายเดียวที่สร้างคนสู่วงการสารคดีแบบควบคู่แหล่งเดียว
ต่อเนื่องมาถึงรุ่นที่ 7 และในรุ่นที่ 8 เราเสริมความเป็นค่ายด้วยกระบวนการสันทนาการ ในรุ่นที่ 9 เสริมสร้างความกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวกันในหมู่ชาวค่ายด้วยการออกไปค้างแรมในพื้นที่ เรียนรู้ภาคปฏิบัติเหมือนการทำงานจริง
ค่ายรุ่นที่ 10 ครบรอบศตวรรษค่ายสารคดี มีชุมนุมศิษย์ค่ายสารคดีครบทุกรุ่น และครบครับด้วยวิทยากรบันดาลใจ ที่เป็นนักสารคดีมืออาชีพ ทั้งด้านการเขียนและถ่ายภาพ
ค่ายสารคดีเป็นที่รู้จักกว้างขวางออกไป ได้รับความสนใจจากเยาวชนสมัครเข้ามาร่วมค่ายมากขึ้นเรื่อย แต่เรามีกำลังรับได้เท่าเดิม รุ่นละ 50 คน ขณะที่แต่ละรุ่นมีผู้สมัครเกือบ 500 คน นับแต่ค่ายครั้งที่ 11 เราจึงใช้การคัดเลือกรอบสุดท้ายด้วยการสอบสัมภาษณ์
โดยไม่ได้พิจารณาจากกรอบเกณฑ์ด้าน “ความเก่ง” เท่านั้น แต่เน้น “ความเหมาะสม” กับการเรียนรู้ในค่าย และ “การกระจายโอกาส” เป็นด้านหลัก
กระบวนการค่ายผ่านช่วงเวลาของการปรับตัว พร้อมกับการเรียนรู้พัฒนาตัวเองของคนทำค่าย ค่อยคลี่คลายกลายเป็นความลงตัวที่หนักแน่นในทางเนื้อหาขึ้นเรื่อยๆ
ขณะเดียวกันการแนะนำตัวและทำความรู้จักต่อกันก่อนตัดสินใจเข้าร่วมค่าย ทำให้ทุกฝ่ายได้รู้จักกัน และเห็นความฝันของตัวเองชัดขึ้นด้วย
ในค่ายจึงอุ่นอวลไปด้วยบรรยากาศแห่งมิตรภาพ และการใส่ใจเรียนรู้สู่ความเป็นมืออาชีพ
นับแต่ค่ายรุ่นที่ 9 เยาวชนนักเขียนและช่างภาพที่ผ่านค่ายสารคดี สามารถสร้างสรรค์งานที่ดีมีคุณภาพถึงขั้นเป็นเรื่องปกนิตยสารสารคดีได้ และจากนั้นมาเยาวชนค่ายสารคดีก็รักษามาตรฐานต่อกันมาได้ ทุกรุ่นมีผลงานได้ตีพิมพ์เป็นเรื่องปกนิตยสารสารคดีหลังจบค่าย
ในช่วงหลังๆ จนถึงค่าย รุ่นที่ 12 คน “หนีค่าย” ไปกลางคันลดน้อยลงเรื่อย กระทั่งล่าสุดค่ายรุ่นที่ 13 ที่เพิ่งจบไป สมาชิกค่ายอยู่ร่วมโครงการจบครบทั้ง 50 คน ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม
วันเสาร์แรกของเดือนมิถุนายน 2561 ได้ฤกษ์เบิกค่ายสารคดี รุ่นที่ 14 แล้วอีก 4 เดือนข้างหน้ามาดูกันว่ามีด้านเด่นด้อยในเรื่องใดกันบ้าง
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา