เครื่องทรง-ทรงเครื่อง

ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


ตามธรรมเนียมศาสนาฮินดูในอินเดีย ถือกันว่าเทวรูปที่ประดิษฐานประจำเทวาลัยนั้น มิได้เป็นเพียงรูปเคารพ “แทน” องค์เทพ หากแต่เปรียบประดุจเทพเจ้านั้นๆ ที่ลงมาปรากฏแก่ตามนุษย์

ในแต่ละวัน พราหมณ์ประจำเทวสถานจึงต้องมีขั้นตอนปฏิบัติมากมายอันเนื่องด้วยเทวรูปประธานนั้น นับแต่ปลุกบรรทมตอนเช้าด้วยดุริยดนตรี แล้วสรงสนานด้วยเครื่องหอม และของที่ถือกันว่าดีวิเศษต่างๆ มีนม นมเปรี้ยว น้ำผึ้ง เป็นอาทิ จากนั้นจึงแต่งเครื่องทรงด้วยผ้าอย่างดีมีราคา กับประดับด้วยถนิมพิมพาภรณ์ต่างๆ จนครบครัน แล้วจึงเปิดให้สาธุชนเข้าสักการะ ถวายเครื่องบูชา ถวายอาหารนานา

พอถึงตอนกลางวัน ก็จะมีช่วงปิดเทวสถาน ให้องค์เทพได้พักนอนกลางวัน ไปจนบ่ายๆ พราหมณ์จึงจะเปิดวัดให้คนเข้าไปไหว้พระใหม่อีกครั้ง จนไปจบลงด้วยการส่งเทพเจ้าเข้าที่บรรทมในตอนค่ำ จึงจะหมดภาระหน้าที่ของพราหมณ์

แม้แต่เทวรูปองค์เล็กองค์น้อย หรือที่สลักประดับไว้ตามผนังเทวสถาน บางทีก็มีผู้ศรัทธาถวายเครื่องทรงไว้ให้ด้วย

เทวรูปจึงจักไม่ปรากฏพระองค์เป็นเพียงหินสลักลุ่นๆ อย่างที่นำมาจัดตั้งวางไว้ในพิพิธภัณฑ์แบบที่เราเห็นๆ กัน แต่ในบริบทของการเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ เทวรูปที่จะให้คนเห็นได้ย่อมจะต้องมี “เครื่องทรง” อยู่ด้วยเสมอ

เมื่อไม่นานมานี้ยังเคยมีการขุดพบเครื่องทรงของเทวรูปที่ปราสาทหินแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ทำเป็นกระบังหน้า (มงกุฎ) กุณฑล (ต่างหู) กรองศอ (สร้อยคอ) เล็กๆ และทั้งหมดเป็นทองคำ

แม้จนถึงในคติพุทธศาสนา พระพุทธรูปหลายองค์ที่นับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ ก็ยังมีธรรมเนียมปฏิบัติที่ว่า มิได้เป็นเพียง “รูปแทน” องค์พระพุทธเจ้า หากแต่เป็นประดุจพระพุทธเจ้าผู้ทรงชีวิต

เช่นพระมหามัยมุนี ในเมืองมัณฑเลย์ ประเทศเมียนมา (หรือพม่า) ทุกวันก็จะมีพิธีประโคมปลุกพระบรรทม สรงพระพักตร์ด้วยน้ำอบน้ำหอม แล้วเช็ดด้วยผ้าที่ญาติโยมนำไปถวายในแต่ละวัน ซึ่งทางวัดก็จะคืนกลับไปให้ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นผ้าที่ได้ซับพระพักตร์พระมหามัยมุนีมาแล้ว

หรือตัวอย่างที่ใกล้ตัวเข้ามาอีกก็เช่นพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระแก้วมรกต ในวัดพระแก้ว ซึ่งจะมีการพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงตามฤดูกาล มีทั้งเครื่องทรงประจำฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว

แต่เดิม คติการ “แต่งองค์ทรงเครื่อง” ให้แก่พระพุทธรูปนี้ อาจมีเป็นธรรมเนียมของวิธีปรนนิบัติพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญบางองค์ที่เป็นที่นับถือกันเป็นพิเศษ

แต่ทำไปทำมาก็เลยมีการสร้างพระพุทธรูปที่ดูเหมือนจะ “ทรงเครื่อง” อยู่แล้ว คือปั้นหล่อมาให้มีเครื่องประดับต่างๆ พร้อมสรรพ อย่างที่ทางไทยเราเรียกกันว่า “พระพุทธรูปทรงเครื่อง”

คตินี้เป็นความนิยมที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น แม้วัฒนธรรมพุทธอื่นๆ ก็อาจไม่มีและไม่รู้จัก ดังเช่นจดหมายเหตุของราชทูตลังกาที่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาครั้งรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีบันทึกไว้ด้วยความประหลาดใจ ว่าได้พบพระพุทธรูปที่ทรงเครื่องดุจเดียวกับเทวรูป ซึ่งทางลังกาไม่เคยพบเห็นมาก่อน


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี