คอลัมน์บันเทิง -คนบันเทิง มกราคม ๒๕๔๗
เพ็ญศิริ จันทร์ประทีปฉาย : เรื่อง
วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ภาพ

“พนักงานทุกคนที่นี่สามารถสร้างเสน่ห์ให้ตัวเองและโรงหนังได้ ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น เมื่อโทรศัพท์มา ผมคือด่านแรก” โอเปอเรเตอร์แสนอารมณ์ดีคนนี้ รับหน้าที่เป็นด่านแรกที่สร้างความสุขให้คนรักหนัง ทุกวันจันทร์-เสาร์ เก้าโมงเช้าถึงสามทุ่ม ส่วนวันอาทิตย์จะมีพนักงานคนอื่นมานั่งแทน ช่วงเวลาที่มีสายเข้ามากที่สุดคือวันศุกร์เย็น เพราะชาวกรุงเทพฯ กำลังวางแผนหาหนังดูหลังเลิกงาน ส่วนเสาร์-อาทิตย์หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ ก็มีสายเข้าเยอะไม่แพ้กัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโปรแกรมภาพยนตร์ที่เข้าฉายด้วย ภายในสำนักงานซึ่งอยู่ติดกับห้องฉายหนังของลิโด ๒ จะเป็นที่รวมพลพนักงานทุกแผนกทั้ง บัญชี พนักงานเดินตั๋ว พนักงานห้องตั๋ว พนักงานฉายหนัง พนักงานทำความสะอาด รปภ. ในบรรยากาศการทำงานแบบครอบครัวที่สนุกสนานและเป็นกันเอง

…..

ภายใน / สำนักงานโรงหนังเครือเอเพกซ์ซึ่งตั้งอยู่ในโรงหนังลิโด / บ่ายวันเสาร์ที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๖ สุดสัปดาห์แรกที่ The Lord of the Rings : The Return of the King ภาคสุดท้ายของหนังมหากาพย์ไตรภาคเรื่องยิ่งใหญ่ที่ทั่วโลกรอคอย เข้าฉาย

“ตู๊ด ตู๊ด” เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น พร้อมสัญญาณไฟแดงกะพริบอยู่บนเครื่องรับโทรศัพท์
“สวัสดีครับ โรงภาพยนตร์ลิโดครับผม ” โอเปอเรเตอร์ทักทายด้วยน้ำเสียงที่เกิดจากใบหน้าอันยิ้มแย้ม
“สวัสดีค่ะ ไม่ทราบว่าเรื่อง Love Actually ออกไปหรือยังคะ”
“ยังอยู่ แต่ว่ามีแค่สองรอบนะครับ สี่โมงสามสิบห้า กับหกโมงห้าสิบ คุณจะสะดวกเวลาไหนดีเอ่ย”
“ทราบมั้ยคะว่าจะอยู่ถึงวันไหน วันจันทร์ยังอยู่มั้ย”
“อยู่ถึงวันที่ ๒๕ แต่ผมแนะนำให้คุณจองตั๋วก่อนมาดูนะ คนมันเยอะ ถ้าคุณจอง จะได้เปรียบคู่ต่อสู้ทันที”
ลูกค้าหัวเราะก่อนจะพูดต่อว่า “อ๋อ โอเค งั้นจองเป็นวันจันทร์น่ะค่ะ”
“อุ้ย ไม่จองข้ามชอตขนาดนั้น เขาจองวันต่อวัน”
“อ้าวเหรอ งั้นวันจันทร์ค่อยจอง”
“เดี๋ยววันจันทร์โทรมาใหม่นะ”
“โอเค ขอบคุณค่ะ”
“เจอกันวันจันทร์นะ สวัสดีครับ”

ใครที่ชอบโทรไปถามรอบฉายหนังที่โรงหนังลิโด ซึ่งเป็นมัลติเพล็กซ์สามโรง ตั้งอยู่ระหว่างโรงหนังสยาม กับสกาลา ย่านสยามสแควร์ คงจะคุ้นเคยกับเสียงโอเปอเรเตอร์คนนี้ ที่ไม่เพียงแต่สุภาพและอารมณ์ดีกับลูกค้าอย่างจริงใจอยู่เสมอ แต่เขายังเป็นที่กล่าวถึงในหมู่แฟนโรงหนังลิโดว่า เป็นโอเปอเรเตอร์ที่ชอบยิงมุขตลกใส่ลูกค้าเป็นประจำ บางคนพูดถึงเขาว่า “พี่เขาฮาดีมาก วางหูแล้วยังยิ้มค้างอยู่เลย” ส่วนบางคนบอกว่า “งงจนขำไปเลย ไม่เคยเจอมาก่อน”

ผู้เขียนเป็นแฟนโรงหนังลิโดอีกคนหนึ่งที่โทรไปทีไร เป็นต้องได้รับรังสีความอารมณ์ดีกลับมาทุกครั้ง จนวันหนึ่งถึงกับต้องถามว่า “ชื่ออะไรคะ ทำไมอารมณ์ดีจัง” เขานิ่งไปสักพัก ก่อนจะตอบว่า “ชื่อเอ๋ครับ”

จนกระทั่งกลางเดือน ธันวาคม ๒๕๔๖ เวบไซต์ pantip.com ก็ปรากฏกระทู้หมายเลข A๒๕๗๙๑๐๕ ที่โต๊ะเฉลิมไทย หัวข้อย่อยภาพยนตร์ สนทนากันถึงโอเปอเรเตอร์คนนี้ มีผู้เข้ามาตอบประมาณ ๓๒ ความคิดเห็น และนั่นคือจุดเริ่มต้นให้ผู้เขียนได้มาคุยกับ “ตัวจริง” และ “เสียงจริง” ของเขา โดยไม่ต้องผ่านสายโทรศัพท์ แถมยังได้รู้ว่า “ชื่อจริง” ของเขาคือ สาโรจน์ สุขพราว

“ช่วยจดที่อยู่เวบไซต์ที่ว่าให้หน่อยได้มั้ย จะได้ไปเปิดดู” เขากล่าวกับเราด้วยใบหน้าและแววตายิ้มแย้ม เพราะตัวเขาเองยังไม่เคยได้อ่านกระทู้ที่ว่า แต่มีลูกค้าคนหนึ่งที่คุ้นเคยกับเขาดีและโทรมาบอก แถมยังอาสาเข้าไปตอบกระทู้ให้แทนในนามของ “เอ๋-โอเปอเรเตอร์” ด้วย หลังจากได้ที่อยู่เวบไซต์ไป เขาก็พร้อมให้สัมภาษณ์เรา สลับกับการรับโทรศัพท์ลูกค้า เป็นการให้สัมภาษณ์ที่ดูไม่ราบรื่นนัก แต่ก็สนุกไปอีกแบบและเราก็ได้เรื่องราวดี ๆ จากเขามาไม่น้อย…

เอ๋เริ่มงานโอเปอเรเตอร์ที่โรงหนังลิโดเมื่อปี ๒๕๔๕ โดยการชักชวนของ อุบล คล้ายทอง หัวหน้าพนักงานโรงภาพยนตร์ลิโด ก่อนหน้านั้น เขาเป็นดีเจอยู่ตามสถานบันเทิงยามค่ำคืนเป็นเวลากว่าสิบปี “การเป็นดีเจมันไม่ค่อยได้อยู่กับที่ เป็นงานกลางคืน สุดท้ายอยู่ที่เกาะสมุย แม่ผมอยู่ที่นี่ เขาไม่อยากให้ไปอยู่ไกล เขาก็บอกมาอยู่ที่นี่เถอะ

“หัวใจของโอเปอเรเตอร์คือใช้เสียง คล้าย ๆ กับดีเจคือการจอยแขก แต่การจอยแขกมันเป็นวงกว้าง เรายิงคำพูดไปคำหนึ่ง ได้ยินหลายคน ไม่รู้เขาชอบหรือไม่ชอบ แต่ตรงนี้เป็นการคุยแบบเดี่ยวต่อเดี่ยว ตอนแรกที่เข้ามาก็เกร็ง เพราะยังจับทางไม่ถูก ก็ได้ป๋าอุบลเขาช่วย เราใช้ไมโครโฟนเป็นอยู่แล้ว รู้ว่าทำยังไงให้เสียงน่าฟัง มันเลยเป็นงานถนัดของเราไปโดยปริยาย”

ตอนเริ่มงานใหม่ ๆ ป๋าอุบลสอนการทำงานโดยให้เอ๋นั่งดูเขารับโทรศัพท์ ชี้แนะว่าพูดอย่างไรให้ไพเราะ คำว่า “สวัสดี” และ “ครับ” ให้หมั่นใช้อยู่เสมอ ข้อมูลสำคัญที่ต้องรู้เพื่อคุยกับลูกค้าคือฉายหนังเรื่องอะไร มีรอบไหนบ้าง แนวไหน ใครแสดง เป็นหนังประเทศอะไร เสียงในฟิล์มหรือซับไตเติ้ลเป็นภาษาอะไร แหล่งข้อมูลหลักคือประชาสัมพันธ์เครือเอเพกซ์ แต่ถ้าคิดว่าแค่นั้นยังไม่พอ ก็ให้หาเวลาเข้าไปดูหนัง

หนังเรื่องหนึ่งที่เอ๋เคยเข้าไปดูมีชื่อว่า Naqoyqassi ซึ่งหาดูได้ที่ลิโดแห่งเดียว เขาว่าแค่ชื่อก็งงแล้ว แถมลูกค้าที่ลองซื้อตั๋วเขาไปดู ทั้งที่ยังอ่านชื่อหนังไม่ถูกก็กลับออกมาบ่นว่า “หนังอะไรวะ ดูไม่รู้เรื่องเลย” เมื่อความสงสัยก่อตัวขึ้น เขาจึงหาเวลาเข้าไปนั่งดูจนจบเรื่อง…เข้าใจ…และอธิบายให้ลูกค้าฟังได้

เอ๋จะเขียนข้อมูลสำคัญของหนังด้วยลายมือตัวบรรจง แปะไว้เหนือเครื่องรับโทรศัพท์เป็นประจำ เพื่อให้ตอบคำถามลูกค้าได้ง่ายขึ้น แถมยังเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้มือวางอันดับหนึ่งในการรับโทรศัพท์อย่างเขาสามารถออกไปพักกินข้าวหรือเข้าห้องน้ำได้อย่างสบายใจ เพราะมันช่วยให้คนที่มารับโทรศัพท์แทนเขา ซึ่งอาจมีทั้งพนักงานห้องตั๋ว พนักงานเดินตั๋ว หรือแม้กระทั่งแม่บ้าน สามารถคุยกับลูกค้าได้โดยไม่สับสน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเขียนชื่อหนังเป็นคำอ่านในภาษาไทย จะช่วยได้มาก “บางทีจะไปเข้าห้องน้ำ พนักงานห้องฉายเดินมา เราบอก…มานี่ เฝ้าให้ก่อน ไปห้องน้ำแว๊บเดียว…เขาก็เฝ้าให้ ทุกคนช่วยได้หมด เราเขียนภาษาไทยที่เขาอ่านแล้วเข้าใจง่ายที่สุด สื่อสารชื่อหนังให้รู้เรื่องก็ถือว่าโอเค ไม่จำเป็นต้องให้ออกเสียงถูกต้องเหมือนฝรั่ง เพราะบางทีเขาอ่านไม่ได้ มันจะงง”

แทนที่จะเป็นหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างที่เราคิดไว้แต่แรก อุปกรณ์หลักที่เอ๋ใช้ดูประกอบการแจ้งรอบฉายหนังแก่ลูกค้ากลับเป็นกระดานแผ่นนี้ ส่วนใหญ่ลูกค้าจะถามแต่ชื่อเรื่องและเวลาที่ฉาย เว้นแต่ลูกค้าถามมากขึ้น ก็จะหันมาหาตัวช่วยที่แปะอยู่เหนือโทรศัพท์ ปรกติหนังใหม่จะลงโรงทุกวันศุกร์ ดังนั้นทุก ๆ วันพฤหัสบดี เวลาประมาณสองทุ่ม เอ๋จะเขียนโปรแกรมใหม่ลงบนกระดานด้วยลายมือที่อ่านง่าย สบายตา โปรแกรมหนังอาจเปลี่ยนแปลงกะทันหันหากฉายแล้วไม่มีคนดู ซึ่งมักจะเห็นแววหลังการฉายเพียงหนึ่งวัน

” ตู๊ด ตู๊ด” เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นอีก ก่อนจะได้ยิงคำถามต่อไป
“สวัสดีครับ โรงภาพยนตร์ลิโดครับผม” เอ๋กล่าวทักทายด้วยน้ำเสียงและจังหวะที่ไม่ต่างจากครั้งแรก
“สวัสดีครับ เอ่อ ช่วงนี้มีหนังเกี่ยวกับความรักเข้าด้วยมั้ยครับ”
“นี่ อินเลิฟเข้าแล้วมั้ยล่ะ” เอ๋ได้ทีจึงหยอดมุขใส่ ลูกค้าหนุ่มหัวเราะตอบด้วยน้ำเสียงที่ปนอาการเขินเล็กน้อย
” งั้นเอานี่ไปก่อน The Classic คุณอยู่ตรงไหน ไกลมั้ย บ่ายสองโมงยี่สิบห้าคุณทันมั้ย” เอ๋แนะนำโปรแกรมหนังที่ยืนโรงมาเดือนกว่า ??? แล้ว แต่ยังมีคนมาดูเยอะเกือบทุกรอบ
“จะดูพรุ่งนี้ครับ หนังเกี่ยวกับอะไร ใครแสดงครับ”
“เป็นหนังเกาหลีนะ ดาราจะเป็น ซันยีจิน โอจุนวู และ โอวุนซอง คาดว่าคุณคงรู้จักแน่นอน”
“ไม่ใช่เกี่ยวกับคนที่พิการ ไม่ใช่ใช่มั้ย” ลูกค้าถามอาจเพราะเข้าใจว่ามันคือหนังเรื่อง Oasis
“ตาบอดใช่มั้ย” เอ๋ถามกลับไป
“ไม่เอาแล้ว มันเศร้าไป”
“เศร้าไปนะ เอาแบบโรแมนติก คอเมดี้เลยดีกว่า Love Actually อันนี้แจ๋วกว่า มี เอ็มม่า ทอมป์สัน ผู้ชาย ฮิวจ์ แกรนต์ คุณรู้จักแน่เลย หล่อ ๆ น่ะ…” เอ๋แนะนำหนังรักจากฝั่งอังกฤษที่ยังไม่ด่วนลาโรงไปเหมือนเรื่องอื่นๆ ลูกค้าสอบถามต่ออีกสองสามคำถาม ก่อนจะขอกลับไปปรึกษา “ใครคนนั้น” ที่เขาจะพาไปดูด้วย

“นั่งตรงนี้มันเครียดไม่ได้” เอ๋เอ่ยขึ้นเหมือนแอบเห็นโพยคำถามข้อต่อไป

“ถ้าวันไหนเครียด ผมทิ้งไว้ข้างนอกก่อนเดินเข้ามา พอนั่งปั๊บ “โกรธ” ต้องสะกดไม่ถูก “โมโห” ไม่รู้จัก สิ่งสำคัญคือคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้ เราไม่มีสิทธิ์ไปโกรธใครแม้แต่นิดเดียว ถ้าโกรธ สำเนียงเราจะออกมาเลย เราได้ยินแต่เสียง ไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร อารมณ์เป็นยังไง คิดได้อย่างนี้ เลยไม่เคยทำร้ายจิตใจลูกค้าแม้แต่ครั้งเดียว ไอ้ความหงุดหงิด มันมีอยู่แล้ว แต่ไม่เคยแสดงอาการให้ใครเห็น ผมจะแอบไปนั่งคนเดียวข้างนอก แล้วความโกรธจะหายไปเองโดยอัตโนมัติ

“ถ้าลูกค้าไม่พอใจอะไร แล้วโมโหใส่เรา เราจะนิ่มกลับไปเท่าที่เขาโมโหหรือเยอะกว่าด้วยซ้ำ บางครั้งจะค่อย ๆ บอกเหตุผลเพื่อให้เขาเปลี่ยนจากโกรธมาก ๆ เป็นผ่อนคลาย แล้วดีขึ้นในที่สุด อย่างวันนี้เขาโทรไปสกาลาแล้วไม่ติด เราก็บอกเขาว่าที่สกาลามีเบอร์เดียว แล้ววันนี้ Lord of the Rings เข้า สายจะเข้าเยอะมาก ให้เขาสู้หน่อย อย่ายอมแพ้ ลองโทรอีก เดี๋ยวก็ติดเอง ”

ความเชื่ออย่างหนึ่งที่ทำให้เขากลายเป็นโอเปอเรเตอร์จอมยิงมุขใส่ลูกค้าคือ…คนที่มาดูหนัง ย่อมต้องอยากมีความสุข…เขาจึงพยายามเพิ่มความสุขให้ลูกค้าด้วยการแถมมุขตลกแบบต่าง ๆ ให้คุ้มค่าที่เสียเงินดูหนัง แต่ถึงไม่มาดู แค่โทรมาถาม โอเปอเรเตอร์คนนี้ก็ยินดีแจกยาบรรเทาอาการอารมณ์เสียให้โดยไม่คิดมูลค่า

“เวลารับโทรศัพท์ ผมจะดีใจที่สุด ถ้าผมพูดไปแล้วมีคนหัวเราะ เห็นคนยิ้มแล้วชอบ มีความสุขดีออก

“เวลายิงมุข ผมไม่ได้ยิงพร่ำเพรื่อ ต้องแล้วแต่คำถามของเขา ถ้าหนังวัยรุ่นเข้าจะหยอกได้มากหน่อย แต่อย่างวันนี้เป็น Lord of the Rings มีคนดูทุกวัย เลยเล่นไม่ค่อยได้ เราต้องฟังจากเสียงเขา น่าหยอกมั้ย บางคนน้ำเสียงฟังดูไม่น่าเล่นเลย เราก็ไม่เล่น แต่ส่วนใหญ่ สิบสายจะเล่นไปเก้าสายแล้ว ถ้าวันไหนผมไม่เล่น แสดงว่าวันนั้นเป็นไข้ไม่สบาย มุขจะฝืดสนิท จริง ๆ แล้วมุขพวกนี้เกิดจากการที่ผมและเพื่อนนักดนตรีเป็นคนอารมณ์ดีอยู่แล้ว เพราะเราทำงานกับเสียงเพลง มีมุขที่เล่นกันสนุกทุกวัน มันเลยออกมาเองโดยอัตโนมัติ”

ถึงตรงนี้ ขอตัดเข้าตัวอย่างมุขที่ดูเหมือนลูกค้าจะคุ้นเคยกับเอ๋พอสมควร

“สวัสดีค่ะ จองภาพยนตร์ The Lord น่ะค่ะ เอาหลังสองทุ่มนะคะ ตัดตัวช่วยไปเลยค่ะ ”
“ตัดตัวช่วยไปเลยใช่มั้ย ไม่ต้องเรียกคุณไตรภพมาเล่นแล้วนะ สองทุ่มครึ่งที่สกาลา ทันหรือเปล่าเอ่ย”
“ยี่สิบนาฬิกาสามสิบนาที ?” ลูกค้าทวนเวลาเพื่อความแน่ใจ
“นั่นแหละอันเดียวกัน เป็นพี่น้องกันกับสองทุ่มครึ่งแหละไอ้ตัวนี้”…

โอเปอเรเตอร์มืออาชีพท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า…การจดจำเสียงและชื่อคนที่โทรมาได้ เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ควรหมั่นฝึกฝนเพื่อสร้างความรู้สึกเป็นกันเอง ยิ่งเราเป็นฝ่ายเอ่ยชื่อเขาก่อน ยิ่งสร้างความประทับใจมากขึ้น…

สำหรับเอ๋แล้ว เราเห็นว่าระบบธุรกิจที่เขาอยู่ คงเป็นไปได้ยากที่จะจดจำ “ชื่อ” หรือ “เสียง” ของลูกค้าได้ทั้งหมด และดูเผิน ๆ ก็เหมือนไม่ได้มีความจำเป็นนัก แต่… “ผมจำเสียงได้เยอะเหมือนกัน โทรเข้ามารู้เลยว่าเป็นใคร ทุกวันศุกร์จะมีประมาณแปดสายที่ผมไม่เคยถามชื่อเขา พอเขา “สวัสดีค่ะ” หรือ “สวัสดีครับคุณเอ๋” จะรู้เลยว่าเสียงนี้ดูแนวไหน คนนี้ชอบหนังอาร์ต หนังแปลก คนนี้ชอบดูหนังตลาด

“ส่วนชื่อจะอยู่ในหัวเราเยอะมาก จดไว้ในสมุดด้วย จำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ที่จำได้ก็มี กุ้ง เอ๋…เอ๋นี่มีหลายคนมาก มีหลายสายที่คุยแล้วเริ่มสนิทก็ถามว่า “พี่ชื่ออะไรน่ะ หนูโทรมาทีไร เจอแต่พี่เนี่ย” พอเราบอกว่าชื่อเอ๋ เขาก็ “เออ พี่เอ๋ คราวหน้าหนูจะเรียกพี่เอ๋แล้วนะ” บางคนมา “มีอะไรให้ดูบ้างน่ะเอ๋” เราจำเสียงได้ก็จะถามว่า “อ๋อ พี่จะเอาแนวเหมือนเดิมมั้ยล่ะ” ถ้าเราแนะนำว่าหนังเรื่องไหนดี เขาก็จะมาดู เขาดีใจที่เราจำเขาได้ เราก็ดีใจที่เขาโทรมาหาเรา แค่เขาคิดว่าอยากจะออกมาดูหนัง ยกหูโทรศัพท์ขึ้นมา “พี่ วันนี้เรื่องนี้เข้าหรือเปล่า” เราก็ดีใจมากแล้ว

“มีหลายสายที่โทรมา “ขอสายพี่เอ๋หน่อย” ต้องนึกแล้ว…ใครวะ…บางทีเรายังไม่รู้จักเขา เขาอาจจะชอบผมในการทำงานตรงนี้ พอทำงานแล้วมีคนรู้จัก อยากคุยกับเรา ผมถือว่าผมประสบความสำเร็จแล้ว ”

ถึงตรงนี้ เป็นจังหวะที่ต้องยิงคำถามยอดนิยมเวลาไปสัมภาษณ์ใครต่อใคร…ทำงานตรงนี้มีปัญหาอะไรบ้าง ?…

“ไม่มีปัญหา เราอยู่แบบสบาย ๆ ถ้ามีปัญหา เราก็จะมาทายเล่นกัน พอตอบได้ ปัญหามันก็หายไปเอง” เขาตอบพร้อมหัวเราะอย่างดีใจที่ได้โอกาสเล่นมุขอีก ก่อนจะตอบคำถามอย่างจริงจัง…

“ทำมาปีหนึ่งเต็ม ๆ บอกได้คำเดียวว่าสนุกกับงานตรงนี้ ไม่เคยเหนื่อย ไม่เคยเบื่อ วันไหนไม่ได้คุยกับลูกค้านี่แย่เลย เวลาคุย ผมจะยิ้มหน้าบานตลอด คนฟังเขาจะรู้สึกได้จากน้ำเสียง พนักงานแถวนี้เขาก็งง อะไรของมัน นั่งยิ้มได้ทั้งวัน

“สำหรับผม การทำงานตรงนี้ มันได้ความรู้สึก ทุกอาชีพมีความสุขได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นอาชีพที่โก้หรู ถ้าเรารักมัน แล้วทำอย่างเต็มที่ เราจะสนุกไปเอง แล้วก็จะไม่ท้อแท้ในการทำงาน

“ความสุขของผม นอกจากทำให้ลูกค้าอามรณ์ดีได้ ก็คือสามารถดึงลูกค้ามาเพิ่มได้ด้วย วันนี้ผมสร้างได้หนึ่งคน พรุ่งนี้อีกคน ผมขอสร้างวันละคนพอ ผมคิดว่าแค่นี้ เราอยู่สู้กับโรงหนังใหม่ ๆ ได้ เพราะโรงของเราก็พัฒนาอยู่เรื่อย ๆ เหมือนกัน”

“ผมอยู่มา ๓๔ ปี มีคนรับโทรศัพท์มาหลายคน เอ๋เก่งกว่าเขาหมด ชวนคนมาดูหนังได้เยอะ” ป๋าอุบลเอ่ยปากชม ทำเอาลูกน้องยิ้มแก้มแทบปริ

ประสบการณ์สามสิบกว่าปีของป๋าอุบล ทำให้เขารู้ว่าพนักงานรับโทรศัพท์ที่ดีมีผลต่อธุรกิจโรงภาพยนตร์มากแค่ไหน ยิ่งดึงคนมาดูได้เยอะ ก็ยิ่งทำให้พนักงานได้ทำงานกันเยอะ ๆ และนั่นคือช่วงเวลาที่พนักงานทุกคนในโรงหนัง…มีความสุขมากที่สุด