เตรียมตัวก่อนลงพื้นที่
วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี
กล่าวสู่กันฟังอีกครั้งว่า หากบันไดการเรียนรู้สู่การเป็นนักสารคดีมืออาชีพมีอยู่ 10 ขั้น ส่วนที่จะสอนหรือบอกต่อกันได้คงมีไม่เกิน 3 4 หรือ 5 ขั้นแรก ที่เป็นเรื่องพื้นฐานหลักการเบื้องต้นเท่านั้น
ที่เหลือในขั้นถัดๆ ไป เป็นสิ่งที่แต่ละคนต้องไปต่อเอง
สิ่งที่จะเอามาร่วมเรียนรู้เล่าสู่กันฟังในค่ายหรือในห้องเรียนฝึกการเขียน จึงว่าด้วยเรื่องเบื้องต้นหรือบันไดขั้นแรกๆ บนหนทางยาวไกลนี้แล
หากอิงตามหลักสูตรการเรียนรู้ในค่ายสารคดี
บันไดขั้นแรกจะเป็นการปูพื้นฐานของงานสารคดีในภาพกว้าง ความหมาย ความเข้าใจ หลักการวิธีการว่าด้วยการทำงานสารคดี
เป็นการฟังบรรยาย ซึ่งนักฝึกอบรมสมัยใหม่อาจมองว่าเชยหรือคร่ำครึ
แต่ว่าตามจริงเราเชื่อว่าสิ่งนี้ยังเป็นสิ่งสำคัญ เป็นการ “บอกทาง” อย่างรวบรัดตรงไปตรงมา เพื่อนักเขียนใหม่ไม่ต้องเสียเวลาคลำทางซ้ำย่ำรอยเดิมกับสิ่งที่ชัดเจนแน่นอนอยู่แล้ว
ฟังเพื่อเป็นแนวทาง ให้พอเห็นทางที่จะเริ่มต้นออกเดินไปได้สำหรับมือใหม่
เป็นวิธีการสอนที่อาจถูกมองว่าล้าหลังนัก แต่ “สูตร” สำหรับสอนการเขียนสารคดีมีส่วนที่ต้องถ่ายทอดกันด้วยการบอกเล่า ก่อนจะออกไปปฏิบัติการจริง
เมื่อรู้หลักเชิงทฤษฎีในเบื้องต้นแล้ว ก้าวต่อไปคือการลงมือฝึกปฏิบัติ ซึ่งมีเรื่องที่ควรรู้ก่อนคือ การเตรียมตัวก่อนลงพื้นที่
การลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลสำหรับงานสารคดี ไม่มีข้อแนะนำเรื่องปลีกย่อยอย่างการเตรียมร่ม แว่นตา ยากันยุง ครีมกันแดด ยาประจำตัว นั้นเป็นเรื่องส่วนตัวที่นักสารคดีต้องจัดการตัวเอง
-เรื่องแรกที่นักสารคดีมือใหม่ควรรู้คือ การเก็บข้อมูลเพื่องานสารคดี ต้องมีการบันทึก
อย่างง่ายและเป็นธรรมชาติที่สุดคือ “บันทึกด้วยความจำ” ของเราเอง แต่ความชัดเจน แม่นยำ ครบถ้วน อาจได้น้อยกว่าวิธีถัดมาคือ “บันทึกด้วยการจด” ซึ่งสะดวก ลัด ง่าย และรวดเร็วทั้งในระหว่างทำงาน และเมื่อจะนำมาใช้ แต่หากจะให้ละเอียดแน่นอนและมีหลักฐาน ต้องใช้การ “บันทึกด้วยเครื่อง” บันทึกเสียง แต่วิธีการที่เก็บข้อมูลได้ชัดเจนแน่นอนที่สุดนี้มีข้อด้อยที่อาจทำให้แหล่งข้อมูลบางกลุ่มบางคนรู้สึกไม่ไว้วางใจ การพูดคุยอย่างเป็นธรรมชาติจะหายไป และระวังคำพูดจาจนอาจทำให้นักสารคดีพลาดเรื่องสำคัญไปก็ได้ เมื่อคนพูดเห็นเครื่องมือบันทึกเสียงที่เป็นทางการ
-ไม่ใช่แต่เรื่องเครื่องมือ ในด้านเนื้อหายิ่งควรต้องเตรียม
การค้นข้อมูลล่วงหน้าไปก่อนแบบให้ “รู้เขา” รู้จักพื้นที่ รู้ข้อมูลพื้นฐานตามประเด็นที่วางไว้ให้มากที่สุด ตั้งแต่ภาพรวมในมุมกว้างจนถึงจุดโฟกัสตามที่เราสนใจ จากแหล่งอ้างอิงที่เข้าถึงได้ ไม่ว่าออนไลน์ หนังสือ สิ่งพิมพ์ แผ่นพับ ภาพถ่าย คลิป หนัง วิดีโอ หรือสืบถามจากแหล่งข้อมูลบุคคลแวดล้อม
การค้นข้อมูลความรู้พื้นฐานไปก่อน ช่วยให้เราไม่ต้องถามซ้ำหรือมัวเสียเวลาไต่สวนในเรื่องเบื้องต้นผิวเผินที่รู้ๆ กันโดยทั่วไปอยู่แล้ว ข้อมูลในข่ายนี้ เช่น ประวัติสถานที่ ข้อมูลสถิติ พิกัดพื้นที่ ไปจนถึงโปรไฟล์ของแหล่งข้อมูลที่เราจะไปสัมภาษณ์
-ไม่จำเป็นต้องกล่าวซ้ำเรื่องมารยาทพื้นฐานซึ่งทุกคนย้อมรู้อยู่แล้ว แต่ต้องย้ำว่า หากมีนัดหมายต้องตรงเวลา
นี้เป็นกฎข้อสำคัญของนักสารคดี ในการรับผิดชอบต่อคนอื่น ตั้งแต่คนที่เราขอความอนุเคราะห์นัดหมาย ต่อเนื่องมาจนถึงในการเขียนและการส่งต้นฉบับ ซึ่งต้องตรงต่อเวลาอย่างเคร่งครัด
-กับอีกข้อสำหรับสมาชิกค่ายสารคดี คือการใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไปที่ไหนต้องคำนึงถึงการไม่สร้างขยะเพิ่มให้ที่นั่น เรื่องง่ายที่สุดที่ทำได้ทันทีคือการพกกระบอกน้ำ เพื่อช่วยลดขยะขวดพลาสติก
การลงพื้นที่เก็บข้อมูลสำหรับงานสารคดี ไม่ใช่แนวสืบค้นแนวสอบสวนหรือล้วงความลับ เราสามารถแนะนำตัวและสื่อสารกับคนในพื้นที่และแหล่งข้อมูลได้อย่างตรงไปตรงมา ว่าเราเป็นใครมาจากไหนจะเอาข้อมูลไปทำอะไร
กระบวนการควรดำเนินไปอย่างมีมิตรภาพ รู้สึกน่ายินดีที่ได้พบเพื่อนใหม่ๆ และรักษาความสัมพันธ์ให้สามารถกลับสอบทานถามทวนข้อมูลอีกได้ ในส่วนที่ยังไม่มั่นใจหรือยังไม่เต็มอิ่ม
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา