เก็บตกสาระ แนะนำสื่อภาพยนตร์ และสื่อแขนงอื่นๆ จากที่เห็นและเป็นไป ในและนอกกระแส
ภาพจากเพจ Apex Lido
วันที่ 31 พฤษภาคม 2561 เป็นวันปิดตัวอย่างเป็นทางการของโรงภาพยนตร์ ลิโด มัลติเพล็กซ์ มีผู้ไปดูหนังในวันสุดท้ายเพื่อร่วมอำลาโรงหนังแห่งนี้ และมีผู้คนเขียนระลึกถึงโรงภาพยนตร์แห่งนี้ไว้ไม่น้อย แน่นอนว่าหลังจากนี้ความผูกพันต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับสถานที่ซึ่งปิดตัวไป ย่อมต้องร่วงหล่นหายไปจากความทรงจำในไม่ช้า แต่ผูัเขียนก็คิดว่าสถานที่แห่งนี้มีปรากฎการณ์บางอย่างที่น่าสนใจสมควรบันทึกไว้
ลิโด ยุคมัลติเพล็กซ์ โรงภาพยนตร์สำหรับหนังทางเลือก
ลิโด เริ่มต้นฉายภาพยนตร์เมื่อ 17 มิถุนายน พ.ศ.2511 บริหารโรงหนังโดย พิสิฐ ตันสัจจา ตามหลังโรงภาพยนตร์ สยาม (เปิดตัวปี พ.ศ.2509) ตามด้วย โรงภาพยนตร์สกาล่าในปี พ.ศ.2512 ทั้งหมดอยู่ในพื้นที่สยามสแควร์ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ให้เช่าของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนับเป็นผู้ประกอบธุรกิจรายแรกๆ ที่บุกเบิกในพื้นที่ดังกล่าวที่เดิมยังเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ความนิยมของผู้คนนัก ก่อนที่ย่านดังกล่าวจะกลายเป็นสถานที่ยอดนิยมของวัยรุ่น
เดิมโรงภาพยนตร์ในไทยเป็นรูปแบบที่เรียกว่า Stand Alone หรือเป็นสถานที่ฉายหนังเพียงโรงเดียวเป็นหลัก ได้รับความนิยมสร้างกันมากในช่วงเวลาดังกล่าวอีกหลายย่าการค้า ซึ่งธุรกิจโรงภาพยนตร์แบบนี้ได้รับผลกระทบอย่างมากในการมาของวิดีโอที่แพร่หลายในไทย (เริ่มราวปี พ.ศ.2524) รวมถึงการมาของโรงภาพยนตร์แบบมัลติเพล็กซ์ ในปี พ.ศ.2537 ที่มีโรงภาพยนตร์ให้เลือกชมหลายเรื่องในห้างสรรพสินค้า มีระบบการฉายทั้งภาพและเสียงที่ทันสมัยขึ้น ตกแต่งอย่างสวยงาม และฉายในสถานที่ซึ่งคนเดินเที่ยวและจับจ่ายซื้อของอยู่แล้ว ทำให้โรงแบบ Stand Alone แบบเก่าที่แม้จะพยายามปรับตัวเป็นมินิเธียเตอร์แล้วต้องทยอยปิดตัวไปในที่สุด
สามโรงภาพยนตร์ดังกล่าวมีจุดเด่นที่ยังรอดพ้นจากความเปลี่ยนแปลงด้วยการอยู่ในทำเลยอดนิยม เดินทางได้สะดวก หรือหากเดินทางด้วยรถส่วนตัวก็มีที่จอดรถอยู่มาก ขณะเดียวกันทั้งสามโรงก็ปรับปรุงระบบการฉาย รักษาสถานที่ให้ดูดีอยู่
ลิโด พบจุดเปลี่ยนอีกครั้งจากเหตุเพลิงไหม้ในปี พ.ศ.2536 ก่อนจะปิดปรับปรุงใหม่เปิดตัวอีกครั้งในปลายปี พ.ศ.2537 ปรับเปลี่ยนเป็น ลิโด มัลติเพล็กซ์ มีโรงหนัง 3 โรง พร้อมร้านค้าติดแอร์ซึ่งเป็นพื้นที่ให้ผู้ประกอบธุรกิจอื่นๆ มาเช่า
การปรับตัวอีกครั้งของลิโดเกิดขึ้น ในฐานะโรงหนังทางเลือก ที่ฉายหนังนอกกระแสที่หาชมได้น้อยจากโรงอื่นๆ ซึ่งว่ากันว่าจุดเริ่มต้นนั้นมาจากการที่ทางผู้บริหารลิโดเอง ซึ่งเดิมเป็นผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ ได้นำหนังอิหร่านเรื่อง Children of Heaven มาฉายในปี พ.ศ.2543 ซึ่งได้รับผลตอบรับจากผู้ชมดีมาก และนับจากนั้นมาด้วยกระแสปากต่อปากทางออนไลน์ โรงหนังแห่งนี้ก็มีหนังทางเลือก หนังนอกกระแสจากทั้งไทย และต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหนังยอดนิยมจากญี่ปุ่น, หนังอเมริกาหรือหนังยุโรปที่ได้รับรางวัล
ผู้เขียนคุ้นเคยกับลิโด ในยุคหลังนี้เอง และน่าจะเป็นความทรงจำของคนจำนวนไม่น้อยในฐานะเช่นนั้น
โรงหนังเรียบง่ายจากอดีตที่ยังหลงเหลือ
ท่ามกลางความทรงจำที่พร่าเลือนและกำลังจะหายไป ผู้เขียนก็อยากบันทึกถึงความทรงจำต่อลิโดเสียหน่อย
น่าเศร้าเหมือนกันที่ตนเองเป็นคนไม่เก็บตั๋วหนังที่ดูที่นี่ไว้เลย แม้จะดูเป็นจำนวนมาก หนังเรื่องแรกที่ดูที่นี่คือเรื่องอะไรก็จำไม่ได้เสียด้วย ผิดกับหลายๆ ท่านที่ยังมีร่องรอยความทรงจำนั้นสะสมเอาไว้บ้าง
ความทรงจำที่ระลึกได้ทันที คือการไปชมภาพยนตร์เรื่อง Dolls ผลงานของ ทาเคชิ คิตาโน่ ใน ปี พ.ศ.2545 หลังเริ่มทำงานในกรุงเทพฯ ได้ไม่นาน ด้วยการเขียนถึงของสื่อ หรือเพราะชอบบรรยากาศเก่าๆ อย่างนั้นก็ไม่ทราบได้ ขณะกำลังนัดแฟนไปดูหนังเรื่องนี้ที่เมเจอร์ซีเนเพล็กซ์ สาขารัชโยธิน ซึ่งเป็นสาขาใกล้ที่พัก แล้วพบว่าหนังเรื่องนี้เป็นที่นั่งพิเศษอะไรสักอย่าง(สมัยนั้นยังไม่มีการแจ้งราคาชัดเจนที่หน้าจอบอกเวลาฉายภาพยนตร์) ราคาจาก 120 ในสมัยนั้น ขึ้นเป็น 160 บาท ขณะที่ยังเหลือเวลา 1 ชั่วโมงก่อนจะเข้าฉาย เมื่อเช็คในอินเทอร์เน็ตพบว่าที่ๆ ใกล้ที่สุดที่จะฉายคือลิโด เลยตัดสินใจนั่งรถเมล์ไม่ต่อรถไฟฟ้าไปยังโรงหนังย่านสยามสแควร์เพื่อดูหนังเรื่องนี้ ที่มีรอบฉายเริ่มอีก 1 ชั่วโมงกว่าๆ
ผลปรากฎว่าทันแบบเฉียดฉิว แต่สิ่งที่ได้รับคือการประหยัดเงิน ราคาตั๋ว 100 บาท(ในสมัยนั้น) ไม่มีการต้องรอคิวยาวเหยียด ไม่ต้องมาถามรายละเอียดราคาที่นั่งให้ซับซ้อน จากนั้นก็ดูหนังที่โรงนี้มาเรื่อยๆ แม้จะไม่ประจำเพราะไกลที่พัก ผู้เขียนไม่เคยกับคุยพนักงานท่านใดเป็นกิจลักษณะเลย แต่ได้พบปะบังเอิญเจอเพื่อนหลายๆ คน ทั้งเพื่อนสมัยเรียน ไปจนเพื่อนที่ได้รู้จักกันทางออนไลน์
หากใครติดตามอ่านความเห็นเกี่ยวกับโรงหนังแห่งนี้ จะพบความเห็นแย้งอยู่ไม่น้อย จากความไม่ได้ผูกพันอะไรกับโรงดังกล่าว ไม่เคยเข้าชม และเห็นว่าเป็นเพียงแค่โรงหนังโรงหนึ่ง เป็นธุรกิจที่ไม่ปรับตัวที่กำลังจะปิดตัวอีกธุรกิจหนึ่งเท่านั้น
ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากใครเคยไปชมมาบ้างก็จะพบว่าในยุคสิบปีให้หลังเมื่อเทียบกับความสะดวกสบาย ทันสมัย สะอาดสอ้านของโรงมัลติเพล็กซ์ ลิโดมันไม่ใช่โรงที่ดีอะไรนักไม่ว่าจะเป็นสภาพโรงที่เก่ามากแล้ว บางจุดเหม็นอับ มีกลิ่นบุหรี่ ห้องน้ำแฉะๆ จอที่เริ่มมืด ไปจนถึงอีกหลายต่อหลายเรื่อง แต่ในฐานะคนที่ไม่ค่อยมีรายได้มากนัก ลิโดเป็นมิตรกับตนเองมากๆ ด้วยสภาพเรียบง่ายเหมือนโรงหนังยุคเก่า มีร้านขายของ ร้านอาหารที่ราคาไม่แพงในนั้น เราไม่ต้องกังวลหรือหัวเสียกับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการดูหนังที่แพงขึ้นเรื่อยๆ การเสนอโปรโมชั่นต่างๆ หรือวิธีการซื้อตั๋วหนังที่มีหลากหลายราคา สิ่งล่อตาล่อใจที่มีอยู่ตลอดเวลาในโรงหนังมัลติเพล็กซ์ตามห้างสรรพสินค้า (ซึ่งแม้ระยะหลังจะปรับปรุงมากขึ้น แต่ก็ยังปรากฎปัญหาดังกล่าวอยู่เป็นระยะ)
มวลบรรยากาศบางอย่างอันแสนธรรมดาสามัญของที่นี่เองที่ชวนให้ตัวเราผ่อนคลายกว่าโรงหนังมัลติเพล็กซ์ ซึ่งจริงๆ ก็คงเป็นเรื่องรสนิยมของแต่ละคนที่ย่อมคิดแตกต่างกันไป แต่ในขณะเดียวกันก็ดึงดูดผู้คนจำนวนหนึ่งที่ยังรักการดูหนังทางเลือก รักโรงหนังบรรยากาศเช่นนี้ที่ยังผูกพัน แวะเวียนมาชมอยู่เสมอ
แม้ช่วงหลายปีหลังจากที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถแบกรับค่าเช่าพื้นที่ที่ปรับสูงขึ้นมาโดยตลอด และเห็นเค้าลางว่าจะต้องปิดตัวลงไป จะมีคนบ่นถึงสภาพที่ขาดการปรับปรุงมากขึ้นเรื่อย แต่ด้วยข้อได้เปรียบของพื้นที่ ลิโดก็ยังนับว่ามีคนแวะเวียนอยู่เรื่อยๆ โดยคงจุดเด่นในการฉายหนังนอกกระแสทั้งอเมริกา ยุโรป เอเชีย ไทย ควบคู่ไปกับหนังยอดนิยมที่ฉายทั่วไป จนถึงวันสุดท้ายที่ปิดกิจการ
ตัวอย่างพื้นที่สร้างสรรค์ที่เป็นรูปธรรมโดยไม่ได้ตั้งใจ
ในช่วงระยะหลังเริ่มมีคนความสำคัญ “พื้นที่สร้างสรรค์” พื้นที่ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน เพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ หลายองค์กรมักจัดพื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานที่ที่ดูดี ออกแบบสวยงามและมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ขณะเดียวกันหลายหน่วยงานก็ตื่นตัวกับแนวคิดดังกล่าวในการสร้างสรรค์พื้นที่เหล่านี้ในแต่ละจังหวัด
โรงหนังคือหนึ่งในตัวอย่างของพื้นที่สร้างสรรค์ในอดีต หากใครเคยอ่านเรื่องราวของผู้คนที่ประสบความสำเร็จจำนวนไม่น้อย จะพบว่าหนังหลายเรื่องเปลี่ยนแปลงชีวิตพวกเขา ช่วยเปิดโลกจินตนาการ ทำให้ขบคิดถึงประเด็นบางอย่างที่มองข้าม สร้างแรงบันดาลใจให้ลงมือทำสิ่งใหม่ๆ (โรงหนังมัลติเพล็กซ์ที่ฉายหนังยอดนิยมเองก็ดูเหมือนจะทราบจุดเด่นของมันเป็นอย่างดี เราจึงได้เห็นการจัดทำโครงการโรงหนังโรงเล็กตามโรงเรียนในต่างอำเภอ เผยแพร่เป็นโฆษณาก่อนฉายหนัง)
ผู้เขียนคิดว่าลิโดในยุคหลังเป็นตัวอย่างที่ดีของการบรรจบกันโดยบังเอิญ ทั้งการปรับตัวเองเลือกหนังอิสระมาฉายแทนหนังทั่วไปจนกลายเป็นที่นิยม เป็นทางเลือกให้กับผู้ชม ราคาไม่แพงสำหรับวัยรุ่นที่ยังมีรายได้ไม่มาก หรือการไปตั้งอย่างพอเหมาะพอดีบริเวณสยามสแควร์สถานที่อันจอแจคับคั่งของเมือง มันกลายเป็นเหมือนที่พักใจของคนจำนวนไม่น้อย ซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่าง เป็นบทเรียนที่ดีให้คนเอาไปปรับใช้ว่าคุณจะเพิ่มพื้นที่แห้งแล้งแลดูไร้ชีวิตให้กับเมือง หรือจะสรรค์สร้างพื้นที่บริเวณนั้นให้มีคุณค่าทางใจของคนอย่างไร
ข้อมูลจาก
- ธนาทิพ ฉัตรภูมิ. ตำนานโรงหนัง กรุงเทพฯ : เวลาดี, 2547
ยัติภังค์
อดีตนักวิจารณ์ภาพยนตร์ ที่มีงานหลักเลี้ยงลูก มีความบันเทิงจากการดูหนังฟังเพลงเป็นยาใจพอให้ได้ขีด