เคาะประตูบ้านผู้อ่านด้วย “การเปิดเรื่อง”
วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี
“เปิดเรื่อง” เป็นส่วนที่อยู่แรกสุดของเรื่อง เหมือนเป็นส่วนที่ใช้เคาะประตูบ้านคนอ่าน ว่าจะเปิดรับ (งานเขียน) เราไหม
จะมองเห็นภาพได้ง่ายขึ้นหากลองนึกถึงขนม “ชิ้นชิม” ตามร้านขายของฝาก
“ชิมก่อนค่ะๆ” ขนมชิ้นไล่แจกให้ชิมนั้นมักเพิ่งออกจากเตา สดใหม่ ดูดี ชิ้นใหญ่เต็มปากเต็มคำ เป็นสินค้าชิ้นตัวอย่างที่หวังใช้มัดใจ แบบว่าแทบจะป้อนใส่ให้ด้วย แล้วตามด้วยคำถาม “รับมั้ยค่ะ”
หากความอร่อย หวาน มัน ทำให้เราพยักหน้าว่ารับ นั่นแสดงว่าแม่ค้าเปิดเรื่องได้สำเร็จ
งานเขียนก็เช่นกัน ผู้เขียนต้องเฟ้นเอาส่วนที่คิดว่าเด่น โดน เร้าใจ จับ(ใจ)คนอ่านให้ยอมอ่านต่อ
นั่นความความว่า การเปิดเรื่อง และรวมถึงการเล่าเรื่องในงานสารคดีนั้น ไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับเวลาอย่างการเขียนจดหมายเหตุ
จุดไหนหรือเหตุการณ์ไหนก็ได้ ที่คิดว่าโดดเด่น น่าสนใจ คนอ่านต้องร้อง-ว้าว นั่นแหละหยิบมาเปิดเรื่องได้เลย
แต่หากยังไม่รู้ว่าจะเลือกหยิบอย่างไร อาจมองผ่านองค์ประกอบต่างๆ ในเรื่อง ดังนี้
- เปิดด้วยโคว๊ซ หากมีคำพูดเด่นๆ ของแหล่งข้อมูล
“กูเห็นจริงแล้วว่า คนเรามันต้องอ่าน ต้องฟัง และต้องเดินทาง ชีวิตจึงจะสมบูรณ์”
เพื่อนหนุ่มจากป่าบอน พัทลุง เผยทัศนะของตนออกมากลางวงเมรัยในค่ำคนหนึ่งที่ “ถ้ำฤาษี
(แรมรอนสู่เสม็ด ต้อยตามหาความหมายของชีวิต)
- เปิดด้วยเสียง ลองนึกภาพว่าหากเป็นหนัง จอยังดำ เสียงที่เด่นชัดลอยมาก่อน
ปัง! ปัง! ปัง!
เมื่อเสียงปืนดังขึ้น ทุกอย่างก็จบสิ้น ใบหน้าของเขายังอยู่ในความฝันของผมเสมอ ความทรงจำอันโหดร้าย ความทุกข์ที่ยาวนานยังตามหลอกหลอน ติดในหัวใจตราบนานแสนนาน ตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้ ไม่มีวันไหนที่ผมลืมเหตุการณ์นี้ได้เลย
(บ้านในเงามืด โดย พงษ์)
- เปิดด้วยการบรรยาย วิธีการธรรมดาๆ นี้ยังใช้ได้ หากผู้เขียนสะดุดเข้ากับมุมมองเด่นๆ จากในเรื่อง
ความจริงดอยไตแลงอยู่ห่างจากไทยแค่เพียงข้ามเส้นพรมแดน แต่อาจด้วยเงื่อนไขทางการเมืองและการทหาร ที่ทำให้ไตแลงยังเป็นคล้ายดินแดนลึกลับคลุมเครือ-เมื่อใครสักคนเอ่ยชื่อนี้ออกมา
(ไตแลง รอวันฉายแสงเหนือแผ่นดินฉาน)
- เปิดให้เห็นความสำคัญของเรื่อง คนนี้ สิ่งนี้ เหตุการณ์ต่อไปนี้…ที่อยู่ในเรื่อง มันสำคัญอย่างไม่ควรเปิดผ่าน
เหม เวชกร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยรับสั่งให้วาดพระบรมฉายาลักษณ์และภาพทิวทัศน์ไทย ลงบนม่าน-พบจุดจบของเขา
(สุทธิชัย หยุ่น เขียนถึง เหม เวชกร)
- ดึงดูดใจด้วยความน่าฉงน สะท้อนความประณีต การสรรค์สร้าง
ชายคนนั้นผวาเข้ามาในห้องรับแขกเหมือนโดนลมถีบ ความจริงเขาเพียงแต่เมาจนแทบจะทรงตัว ไม่ไหวเท่านั้น
(สนิมสร้อย โดย ’รงค์ วงษ์สวรรค์)
- เปิดด้วยการแนะนำตัวละคร โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นสารคดีชีวิต
คืนที่ผ่านมา เฉ่งฮิ้น หรือนิภาพร แซ่จ่าว ได้นอนในห้องของตัวเองเป็นคืนสุดท้าย เช้าวันนี้แล้วที่เธอต้องจากบ้านเกิดที่คุ้นเคยมา ๑๗ ปี ไปอยู่ในบ้านอีกหลังหนึ่ง จากอ้อมอกแม่ที่ให้กำเนิด ไปสู่อ้อมแขนของชายคนรัก
- เปิดด้วยบทสนทนา เลยก็ได้หากมีฉากตอนที่เข้มข้น
“พี่ยอมให้ลูกสาวขายตัวหรือ?”
“จะให้ผมตอบอย่างลูกผู้ชายไหม…”
“เอาอย่างนั้น”
“ยอม!”
(หุบๆ บานๆ เรื่องเล่าขานหมู่บ้านดอกไม้แดง)
- เปิดด้วยฉาก หากบรรยากาศในเรื่องนั้นมีฉากที่โดดเด่น
จานริมทางบางต้นบานดอกแล้ว ดวงดอกรูปจันทร์เสี้ยวสีเพลิงย้อยระย้ารับแดดจ้าหน้าหนาว ตอซังหลังฤดูเก็บเกี่ยวซีดเศร้าราวอาลัยกับการพรากจากไปของเรียวรวง ลมตะวันออกเฉียงเหนือพัด ความหนาวเย็นเข้ามา ก่อนจะพากันผ่านไป ท้องทุ่งอีสานกำลังผันสู่ฤดูแล้ง ขณะที่แม่ท่อน คำใบ เพิ่งเริ่มปักกล้าดำนา
ชาวนาในขนบหรือนักวิชาการเกษตรมาเห็นคงต้องแปลกใจ ! แต่นี่คือสามัญวิถีของคนริมฝั่งน้ำมูน
(ผองชีวิตในป่าทาม ป่าชายเลนน้ำจีดของแผ่นดินอีสาน)
ไม่มีข้อต้องห้ามแบบเด็ดขาด มีแต่ข้อพึงระวัง
- การเปิดเรื่องแบบชักแม่น้ำทั้งมาเกริ่นนำ เสี่ยงที่จะทำให้เรื่องเยิ่นเย้อตั้งแต่เริ่มต้น การเปิดเรื่องควรพุ่งเข้าสู่หัวใจของเรื่องให้เร็วที่สุด
- การอารัมภบท อาจชักนำการเปิดเรื่องของงานสารคดีให้กลายเป็น “บทนำ” ของเรียงความนักเรียน
- หากเลี่ยงได้ ไม่ควรขึ้นต้นด้วยบุรุษที่หนึ่ง ผม ฉัน ข้าพเจ้า
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา