ถอด หรือไม่ถอด (๒)

ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


คนไทยไปเมืองพม่าทุกวันนี้จะรู้สึกว่าคนพม่าเคร่งครัดในพุทธศาสนาด้วยศรัทธาอย่างสูง เวลาเข้าวัดก็ต้องถอดรองเท้าตั้งแต่ข้างนอกกำแพง ที่รู้สึกเช่นนั้นเพราะในเมืองไทย เวลาไปวัด ทั้งภิกษุและฆราวาสถอดรองเท้าก็เพียงแค่หน้าบันไดประตูเข้าโบสถ์เท่านั้น แต่ถ้าอยู่ข้างนอกอาคาร โดยทั่วไปก็ไม่เห็นใครถอดรองเท้ากัน

สันนิษฐานได้ว่าตั้งแต่สมัยโบราณ เมื่อคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยเดินเท้าเปล่ากันเป็นปกติ ความเดือดร้อนเรื่องต้องถอดรองเท้าคงไม่มี เพราะทุกคนไปไหนมาไหนก็ไม่ได้ใส่รองเท้าอยู่แล้ว เวลาเดินขึ้นบ้านขึ้นเรือนใครๆ จึงต้องล้างเท้าเสียก่อน อันเป็นที่มาของสำนวนไทย “หัวกระไดไม่แห้ง” คือมีแขกไปไทยมาอยู่ตลอดเวลาจนพื้นดินตรงหัวบันได คือพื้นก่อนจะก้าวขึ้นบันไดบ้านไม่เคยแห้งเลย เพราะมีคนมาล้างเท้าให้เปียกไม่หยุดไม่หย่อน

เมื่อเป็นดังนั้น ประเด็นว่าต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าวัด ตรงไหน หรือไม่ ก็ย่อมไม่ใช่ปัญหา

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญคงมาถึงในสมัยรัชกาลที่ ๕ นับแต่ปี ๒๔๑๖ ช่วงต้นรัชกาลในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ ขณะเมื่อมีพระชนมายุ ๒๐ พรรษา ดังมีประกาศยกเลิกการหมอบคลานในเวลาเข้าเฝ้า ให้เปลี่ยนเป็นการยืนเข้าเฝ้าและถวายคำนับแทน

ความเปลี่ยนแปลงนี้มิได้เกิดขึ้นลำพัง แต่ดำเนินไปควบคู่กับการเปลี่ยนแปลง “เสื้อผ้าหน้าผม” ของชนชั้นสูงชาวสยามทั้งหมดให้เป็นแบบตะวันตก ดังที่ข้อเขียนเรื่องหนึ่งใน วชิรญาณวิเศษ นิตยสารยุคต้นรัชกาลที่ ๕ เมื่อปี ๒๔๓๕ บันทึกไว้ด้วยความอัศจรรย์ใจว่า “ถ้าเปนในรัชกาลที่ ๓ มีผู้กล่าวว่าอีกไม่ถึง ๓๐ ปี จะคิดให้ข้าราชการเข้าเฝ้าสรวมเสื้อแลรองเท้ายืนเฝ้าเช่นนี้ แทบเถียงว่าพ้นวิไสยจะเปนได้…”

เหตุที่กล่าวเช่นนั้นก็เพราะในรัชกาลที่ ๓ หลักฐานจากพระราชานุกิจ ระบุว่าไม่โปรดให้ขุนนางสวมเสื้อเข้าเฝ้า นอกจากในฤดูหนาวที่อากาศหนาวจัด ดังนั้นในเวลา “ออกขุนนาง” พระเจ้าแผ่นดินและขุนนางทั้งหลายก็คงมีแต่ผ้านุ่งตามลำดับชั้นยศ แต่มิได้สวมเสื้อ ส่วนรองเท้าก็แน่นอนว่าไม่มีอยู่แล้ว ผู้เขียนบทความดังกล่าวจึงบอกว่า ถ้ามีใครพูดว่าอีกหน่อยคนจะสวมเสื้อใส่รองเท้าเข้าเฝ้าในหลวง คนยุครัชกาลที่ ๓ ก็คงต้องเถียงว่าไม่มีทางเป็นไปได้

ขนบธรรมเนียมราชสำนักสมัยตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ ให้ข้าราชการใช้เครื่องแบบเครื่องยศอย่างฝรั่ง และสวมถุงน่องรองเท้า เวลาที่มีเหตุให้ต้อง “เข้าวัด” เช่นในการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองขณะนั้นคงเห็นว่าการต้องมาคอยถอดคอยสวมรองเท้าพร้อมๆ กันจำนวนมาก แล้วไหนจะต้องไปนั่งเท้าเปล่าเปลือยขณะที่แต่งองค์ทรงเครื่องอย่างฝรั่งประดับเหรียญตราสายสะพายเต็มยศ ย่อมดูประดักประเดิดและไม่เสริมส่งสง่าราศีแต่อย่างใด จึงอนุโลมกันมาแต่สมัยนั้นว่า ก็ในเมื่อรองเท้าถือเป็นส่วนหนึ่งของ “เครื่องแบบ” ก็อนุญาตให้สวมเข้าไปในวัด หรือกระทั่งเข้าไปนั่งเก้าอี้ในพระอุโบสถระหว่างการพระราชพิธีด้วยก็ย่อมได้ ถือเป็นการแสดงความเคารพแก่สถานที่ตามแบบใหม่


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี