ห้องเรียนในห้องขัง : หากต้องเขียนโดยไม่ได้ลงพื้นที่

วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


เข้าไปสอนการเขียนในเรือนจำกันอีกครั้ง หลังห่างร้างเว้นช่วงมา ๒-๓ ปี คราวนี้ไปกันที่เรือนจำกลางระยอง

สำหรับผู้ถูกคุมขังอยู่ในพื้นที่กำจัด อุปสรรคหลักใหญ่ในการเขียนสารคดี คือข้อจำกัดด้านการเสาะหาข้อมูลที่จะนำมาเขียน แต่ในช่วง ๘ ปีที่ผ่านมา ที่ครูนักเขียนสารคดีทั้ง ๓ คือ อรสม สุทธิสาคร วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์ และวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง ได้เข้าไปสอนการเขียนให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำต่างๆ กว่า ๑๐ แห่งทั่วประเทศ ผลงานเขียนของนักเรียนในเรือนจำอย่างน้อย ๒ เล่ม เคยได้รางวัลระดับชาติมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๓ ครั้ง เป็นสิ่งบ่งชี้ว่างานเขียนดีๆ เกิดขึ้นได้ภายใต้ขอจำกัด

สิ่งที่ทำได้ในกรณีที่ผู้เขียนไม่สามารถออกไปสัมผัสพื้นที่เก็บข้อมูลใหม่ คือการใช้ความรู้ ความจำ ประสบการณ์ที่อัดแน่นพลุ่งพล่านอยู่ในตัวผู้เขียนหลากหลายวัยหลายที่มา

ขอเพียงแต่ให้เขาเหล่านั้นได้ศึกษาเรียนรู้วิธีการเล่าเรื่องด้วยภาษาเขียน

กลุ่มเป้าหมายของห้องเรียนในเรือนจำกลางระยองครั้งนี้ มีทั้งผู้ต้องขังชายและหญิง แต่ตามกฎของเรือนจำแยกแดน ชาย-หญิงออกจากกันเด็ดขาด จึงต้องแยกห้องเรียนเป็นสองห้อง เรียนคู่ขนานไปพร้อมกันในวิชาเดียวกันเรื่อง “การเขียนเรื่องเล่าเพื่อการสื่อสาร”

หลักสำคัญของสื่อสารด้วยการเขียนคือการ “คิดก่อนเขียน” ซึ่งจะส่งผลอย่างสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้เขียน ศิลปะการเขียนจึงนับเป็นหนึ่งในแนวทางปัญญาบำบัด

การได้คิดก่อนจะเขียนออกมานั้น สิ่งแรกที่เกิดขึ้นในทันทีคือการได้ทบทวนตัวเอง หลายเรื่องที่เคยรู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่โต หนักหนาสาหัส ยอมไม่ได้ หากมีโอกาสได้นิ่งย้อนมองกลับไปเมื้อผ่านช่วงเวลามาแล้ว บ่อยครั้งจะพบว่าเหตุการณ์เหล่านั้นเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ไม่ได้สลักสำคัญต่อเราหรือโลกเลย จึงไม่ยากที่จะปล่อยผ่านด้วยการให้อภัยตัวเอง และให้อภัยคนอื่นด้วย

การได้เขียนเพื่อสื่อสารแทนการพูด จะช่วยยั้งความเกรี้ยวกราดรุนแรง คำว่า ยับยั้งชั่งใจ เกิดได้มากจากการเขียน และการเขียนออกมาเป็นการสื่อสารที่มีหลักฐาน ทำให้เราได้เห็นร่องรอยความคิดจิตใจตัวเอง ซึ่งหากยังไม่ส่งไปสู่ผู้รับก็ไม่มีใครต้องรับสิ่งไม่ดีจากเรา และบทเรียนนั้นย่อมสอนใจเราให้รู้จักกลั่นกรองก่อนสื่อสารสู่คนอื่น

เขียนได้ก็นับเป็นผลงาน ยังไม่ต้องหวังอื่นไกล สิ่งที่เกิดขึ้นในทันทีคือเห็นคุณค่าของตัวเองในแง่การเป็นผู้สร้างสรรค์ เหมือนเป็นแง่มุมเล็กๆ แต่สำคัญนัก ความหวัง ความฝัน ความใฝ่ดี มักมีจุดตั้งต้นมาจากการมองเห็นคุณค่าและศักยภาพในตัวเองนี้แล

ตัวอย่างผลงาน ๒ ชิ้นของนักเขียนหัดใหม่จากกเรือนจำกลางระยอง ในหัวข้อ “ความดีที่ฉันภูมิใจ” งานเขียนสั้นๆ จากท้ายชั่วโมงเรียนครั้งแรก จากทั้งหมด ๖ ครั้ง

นักเขียนหญิงคนหนึ่งเล่าเหตุการณ์ในแดนหญิงที่เธอใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ในงานเขียนเรื่อง “บทเรียนและความสุขหลังกำแพง”

มีเรื่องราวบางอย่างทับซ้อนอยู่กับการใช้ชีวิตประจำวันอันเร่งรีบ ที่ต้องทำให้ทันก่อนปี๊ด

ในขณะที่เรานั่งคุยเล่นอย่างใจเย็น จู่ๆ เสียงผู้คนวุ่นวาย ตะโกนโหวกเหวกขึ้นมา กลายเป็นเสียงที่เราได้ยินชินหูไปแล้วเป็นประจำวันของชีวิต

การที่เราผิดพลาดเข้ามาอยู่ในนี้ สอนให้เราเข้มแข็งขึ้น โตขึ้น มีสติ คิดอะไรได้หลายๆ อย่าง แต่นึกย้อนกลับไป คนเรามีผิดพลาดกันได้ ไม่มีใครที่ไม่เคยทำผิดพลาด การอยู่ข้างในนี้สอนให้เรารู้ว่า อดทนสะกดยังไง และเหตุผลต้องอยู่เหนืออารมณ์

ส่วนความดีที่ฉันภูมิใจ การมีน้ำใจต่อเพื่อนๆ แม้จะเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้เราภูมิใจในสิ่งนั้น โดยไม่ต้องคิดเยอะ เราให้ด้วยใจ ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน คิดแค่ว่าอะไรที่เราทำแล้วมีความสุขก็อยากให้อยากทำ

เหมือนทุกเช้าที่ต้องซักผ้าปกติของเรา ๑ ชุด แต่มีรุ่นพี่เขาซักหลายชุด ในช่วงเวลาที่เร่งรีบ เราก็ไปช่วย กลัวเขาจะซักไม่ทันเวลาก่อนปี๊ดกินข้าวเช้า

ไม่รู้ว่าทำทำไม รู้แค่ว่าใจอยากช่วยทำ แค่นี้ก็มีความสุข

ส่วนนักเขียนชายคนหนึ่ง เขียนจากความทรงจำที่ตราตรึง เรื่องหนึ่งที่เขาเคยทำต่อแม่ ชื่อเรื่อง “แทบเท้าแม่”

แม่เป็นผู้หญิงที่ผมรักมากที่สุด

ทุกๆ วันเกิดของแม่ ผมจะแอบไปกราบเท้าตอนที่แม่หลับ คงเพราะว่าผมอายแม่จึงไม่กล้าแสดงออกต่อหน้า แต่แอบทำอย่างนี้อยู่ทุกๆ ปี ในวันเกิดของแม่

มีครั้งหนึ่งที่ผมเข้าไปหาแม่เหมือนอย่างเคย วันนั้นเป็นวันเกิดของแม่อีกปีหนึ่ง แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะเมื่อผมเข้าไปในมุ้ง ขณะที่ผมกำลังก้มลงกราบแม่ ผมไม่รู้ตัวเลยว่าแม่ยังไม่หลับ พอผมเงยหน้าขึ้นมาก็พบกับแววตาคู่หนึ่ง กำลังจับจ้องมาที่ผม

ในแววตาคู่นั้นเต็มไปด้วยน้ำตา พร้อมกับมีเสียงพูดขึ้นเป็นคำถาม “หนุทำอะไรลูก”

เป็นครั้งแรกที่พูดอะไรไม่ถูก เหมือนคนเป็นใบ้ชั่วขณะ นั่งเงียบอยู่ครู่หนึ่ง แล้วตอบแม่ไปว่า

“สุขสันต์วันเกิดครับ”

และอีกประโยคหนึ่งก็ตามมาว่า “หนูรักแม่ครับ”

เป็นคำพูดที่พูดทั้งน้ำตา แล้วก็เข้าไปหอมแก้มแม่สองข้าง แล้วผมก็ค่อยๆ ขยับตัวเข้าไปโอบกอดแม่ไว้ แม่ก็กอดผมไว้แน่นไม่ยอมปล่อย

เป็นเวลาที่ผมมีความสุขที่สุด และคงเป็นความดีของผมที่ทำให้แม่มีความสุข ที่ได้ทำสิ่งดีๆ ให้กับแม่ที่ผมรักมากที่สุด

ผลงานเขียนทั้งสองชิ้นนับเป็นรูปธรรมของคำกล่าวที่ว่า ในวิกฤตมีโอกาส

เขาและเธอต้องไปอยู่ในที่ซึ่งใครก็ไม่อยากย่างกราย แต่ก็ยังได้ใช้ช่วงเวลาอันน่าเบื่อหน่ายนั้นเพื่อการคิด เขียน สร้างสรรค์งานวรรณศิลป์ ซึ่งยากเย็นในการเสาะหาค้นคว้าข้อมูล แต่เขาและเธอก็หยิบใช้จากขุมพลังที่มี ความทรงจำส่วนตัวซึ่งแต่ละคนต่างมีไม่เหมือนกัน กับเรื่องราวในโลกหลังกำแพงที่น้อยคนจะได้สัมผัสโดยตรง นำมาแปรให้เป็นงานเขียน

เป็นเรื่องเล่าที่สื่อสารเรื่องราว และเยียวยาใจคน(เขียน)เล่าไปพร้อมกัน


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา