ณ ดอย
เรื่องเล่าคัดสรรโดยเหล่าคนภูเขาตัวเล็ก-ฝันใหญ่ที่จะมาทำให้ใครๆ ตกหลุมรักบ้านนอก


เรื่อง : พิณ คืนเพ็ญ
ภาพ : สุชาดา ลิมป์ / บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

อากาศบนดอยแม่ลิดยามวิกาลสงบเย็นเป็นที่สุด

น้ำในห้วยไหลเอื่อยนวดหูแข่งกับแมลงกลางคืน

ด้วยความสูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๑๘๙ เมตรของอำเภอแม่สะเรียง เพียงพอจะทำให้อากาศเย็นสบายตลอดปี หากไม่มีธุระส่วนตัวหรือกิจราชการที่ไหนผมจะกอดลมห่มไพรอยู่ที่บ้านพักครูโรงเรียนบ้านแม่ลิดอย่างนี้เสมอ นอนชมจันทร์ ดูดาว ให้ลมไล้กายคลายเหนื่อยล้า

ไม่นานมานี้ผมไปในตัวเมืองแม่ฮ่องสอน พาตัวแทนนักเรียนไปร่วมนำเสนอกิจกรรมส่งเสริมรักการอ่านของโรงเรียน โดยฉายภาพให้เห็นตั้งแต่การป้องกันเด็กนักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ในระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ ๑ ส่วนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมรักการอ่านผ่านมุมหนังสือในห้องเรียนที่มีเนื้อหาหลากหลายสอดคล้องกับวัย และอนุญาตให้ยืมกลับไปอ่านที่บ้านได้เพื่อกระตุ้นการแสวงหาความรู้ ผลการนำเสนอเป็นที่พอใจของรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ใหญ่ระดับสูงอีกหลายท่านที่ให้เกียรติเยี่ยมชมนิทรรศการ

หลังกลับถึงโรงเรียนเป็นเวลาค่ำมืด ผมขดตัวใต้ผ้านวมนอนฟังเสียงน้ำไหลด้วยหัวใจรื่นรมย์จนสุดคืน

นึกถึงเด็กหญิงปิ่นมุก นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒

จากเด็กกะเหรี่ยงผู้มีรูจมูกสีแดงไม่เคยแห้งน้ำมูก ผ่านไปหนึ่งปีเธอฉายแววน่ารัก ยิ้มและคุยเก่ง

วันหนึ่งขณะที่ผมนั่งเตรียมรายงานที่จะส่งไปเข้าประชุมในกรุงเทพฯ เจ้าตัวเล็กเดินอมยิ้มมาหาจึงชวนเธอมานั่งคุย พอเริ่มออกรสผมหยิบหนังสือ “การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร” เขียนโดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ให้ออกเสียงเพื่อทดสอบการอ่านว่าพัฒนาไปถึงไหน ปรากฏว่าเธออ่านได้คล่องปรื๋อ สะกด ร.เรือ ชัดแจ๋ว เมื่อพลิกปกหลังให้อ่านอีกครั้งก็อ่านได้ทุกถ้อยคำ ผมปรบมือรัวดังมากด้วยความพอใจ

“หนูชอบอ่านนิทานที่อยู่ในห้องเรียน”

เธอพูดไทยไม่ชัดแต่จริงใจต่อคำพูด

ผมชวนให้เธอเลือกหนังสือที่ชอบนำมาอ่านให้ฟังอีกในเวลาว่าง เรายกนิ้วก้อยแตะกันเชิงสัญญา เธอแถมยิ้มจนเห็นฟันหน้าสองซี่โตแล้วลากลับไปขึ้นห้องเรียน

ก่อนเลิกเรียนเล็กน้อย ครูประจำชั้นปล่อยให้นักเรียนลงมาเข้าแถวรวมกันหน้าเสาธง

เด็กหญิงนักอ่านคนเดิมเดินลงบันไดมาพร้อมรอยยิ้ม เมื่อเห็นผมเธอแสดงอาการเขินนิดๆ ยืนบิดตัวไปมาเล็กน้อยข้างต้นกระถินณรงค์ รวบรวมความมั่นใจเดินเข้ามาหา ล้วงมือขวาในย่ามที่สะพายบ่าหยิบบางสิ่ง

หนังสือ “หนอนแก้วเจ็ดสี” ปกสีเขียวสดใสคือสิ่งที่เธอเผย

“มีอะไรจะมาเล่าให้ครูฟังหรือครับ”

ผมเปิดฉากตัดบทเหนียมให้เธอเฉลยความต้องการ

“นิทานค่ะ”

“ดีมาก มาเลย ครูอยากฟังอยู่พอดี”

“นึกว่าจะเป็นพรุ่งนี้เสียอีก ดีจัง ครูจะฟังวันนี้”

เมื่อได้ที่นั่ง หนังสือที่ตั้งใจเลือกมาอ่านและจะนำกลับบ้านด้วยก็ได้รับการพลิกทีละหน้าอย่างตั้งใจ เพื่อนอีกสองคนที่ตามมายืนให้กำลังใจข้างๆ บางขณะก็อ่านไปด้วยเบาๆ

เมื่อหน้าสุดท้ายจบลงทุกคนปรบมือให้ เด็กหญิงยิ้มเขินบิดตัวไปมาอีกแล้ว

ภาพโดย ยศกร พันธุรักษ์

กิจกรรมหน้าเสาธงหลังเลิกเรียนเสร็จสิ้น นักเรียนทุกระดับชั้นทยอยกลับบ้าน ผมยังนั่งอยู่ที่เดิมเหม่อไปตามทางบนไหล่ภู แดดยามเย็นสาดแสงสีส้มทาบดอยกะหล่ำงดงามไม่แพ้แสงเอิบอาบที่ทาบไล้ในดวงใจ

เช่นเดียวกับคืนอื่นที่ผมมักนึกถึงเหล่าหนอนป่ากำลังไต่ภูช้าๆ ไม่รู้เส้นทางข้างหน้าจะเป็นเช่นไร

แต่พออุ่นใจได้ว่าอย่างน้อยเจ้าหนอนหนังสือตัวนั้นน่าจะมีทุนคืบย่างจากถนนอักษราพอสมควร


พิณ คืนเพ็ญ
หรือ สายัญ โพธิ์สุวรรณ์ เกิดและโตกลางนา หมู่วัว และไร่มันสำปะหลัง บ้านโคกลี่ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม หลงเสน่ห์มนต์ภูเพราะที่บ้านมีแต่โพน (จอมปลวกตามหัวไร่ปลายนา) จึงมุ่งสู่ดอยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่ลิด อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีความสุขที่ได้เรียนรู้ฝึกเกลาตนและยินดีปันเพราะทางสายภูของชีวิตนั้นไม่ได้ยาวนานอย่างที่เข้าใจเลย

…….

สุชาดา ลิมป์
นักเขียนกองบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี ผู้เสพติดการเดินทางพอกับหลงใหลธรรมชาติ-วิถีชาติพันธุ์ ทดลองขยับเป็นบรรณาธิการปรุงฝันให้ทุกอาชีพในชนบทได้แปลงประสบการณ์หลากรสออกมาเป็นงานเขียน