งานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 14
งานภาพดีเด่น
อิสรากรณ์ ผู้กฤตยาคามี :เรื่อง
ธนกาญจน์ ชุ่มจิตต์ : ภาพ

บรรยากาศเก่าๆแบบเมื่อก่อนยังคงพบเห็นได้ในร้าน

ใครบางคนเคยเปรียบเทียบ เพื่อนก็เหมือน “เครื่องดื่ม” ที่มีอยู่มากมาย บางชนิดน่าดื่มเห็นแล้วเย็นชื่นใจชวนให้ลองลิ้มสัมผัส แต่ก็ไม่รู้ว่าถ้าได้ดื่มแล้วเป็นอย่างไรจนกว่าจะได้เข้าถึงรสชาติ

แล้วอะไรเล่าจะทำให้เรารู้จักรสชาติเพื่อนได้ดีเท่ากับการพูดคุย

สภาจึงเป็นเหมือนสถานที่ให้คนมากมายต่างมาพูดคุยสังสรรค์แลกเปลี่ยนแต่งเติมรสชาติเครื่องดื่มให้เข้ากับตนเองในยามเช้าเช่นทุกวันไม่ว่าจะเป็นชา กาแฟ โอยัวะ แล้วแต่ใครจะชอบเครื่องดื่มแบบใด

ร้านสุริยากาแฟ ร้านเก่าแก่ในตลาดวัดกลาง อยู่ริมคลองบางหลวงหรือคลองบางกอกใหญ่ในปัจจุบัน

ภาพบนตู้กระจกบอกถึงเรื่องราวกิจการน าเที่ยวเล็กๆของสุริยาทัศนา ก่อนจะมาเปิดร้านสุริยากาแฟ

นอกสภา

“เอ้ก…อีเอ้ก…เอ้ก” เสียงสัญญาณยามเช้ามาเยือน

ยามฟ้าใกล้สว่าง หลายคนกำลังตกอยู่ภายใต้ห้วงการหลับใหล แต่อีกไม่น้อยกำลังลุกลี้ลุกลนรีบตื่นนอน จัดข้าวของเตรียมเปิดร้านให้ทันต้อนรับผู้คนที่จะเข้ามาจับจ่ายเมื่อฟ้าสว่างในทุกเช้าที่ตลาดวัดกลางย่านตลาดพลูแห่งนี้

เสียงเจี๊ยวจ๊าวของผู้คนมากมายที่ต่างเดินทางมาซื้อของกินของใช้ ร้านรวงสองข้างทางต่างตะโกนเรียกแขกกันไม่หยุดหย่อน ผสานเสียงเรือยนต์ที่วิ่งผ่านลำน้ำคลองบางกอกใหญ่อย่างรวดเร็ว

ย่านตลาดพลูเคยเป็นตลาดที่สำคัญไม่แพ้ที่ใด เป็นพื้นที่ที่มีลำคลองพาดผ่าน และตั้งในจุดที่สบกันของคลองสำคัญสามสาย คือ คลองบางหลวง คลองสนามชัย และคลองภาษีเจริญ (ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4) ตรงนี้เองเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำที่สามารถออกสู่อ่าวไทยได้

“ตลาดพลูกลายเป็นศูนย์กลางการค้าในย่านนี้ มีทั้งสินค้าขาเข้าและขาออกที่สำคัญ ทำให้บริเวณนี้มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา โดยเฉพาะชาวจีน เนื่องจากประเทศไทยทำการค้าขายกับจีนมาอย่างยาวนาน จึงไม่แปลกที่ย่านตลาดพลูมีชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นจำนวนมาก ซึ่งในย่านนี้เป็นชุมชนจีนแต้จิ๋วเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสินค้าขึ้นชื่ออย่างพลูที่มีขายและปลูกกันมากในพื้นที่นี้ พลูจึงกลายมาเป็นชื่อเรียกตลาดและเรียกขานกันจนถึงปัจจุบัน” สุดารา สุจฉายา นักคิดและนักเขียนผู้รอบรู้ข้อมูลในพื้นที่อธิบาย

ทุกอย่างดูวุ่นวาย คนมากมายต่างกุลีกุจอซื้อข้าวปลาอาหารตามประสาตลาดสดทั่วไป

แต่กลับมีมุมหนึ่งในท้องตลาด ไม่ทราบว่าความเร่งรีบเข้าไม่ถึงหรืออย่างไร ช่างน่าประหลาดใจ

ภาพชายหลายคนในวัยบั้นปลายชีวิต บนหัวเต็มไปด้วยไฮไลต์สีขาวแซมเทาตามธรรมชาติ บ้างก็ไร้ผม กำลังหัวเราะพูดคุยกันอย่างสบายใจ ริ้วรอยบนใบหน้าและไม้ค้ำเป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาอย่างโชกโชน กำลังนั่งบนเก้าอี้ไม้ล้อมรอบโต๊ะที่ประดับประดาไปด้วยแก้วชาร้อนและกาแฟ นั่งในคูหาไม้ขนาดไม่ใหญ่นัก

บ้างกำลังนั่งไขว่ห้างยกถ้วยชาจิบอย่างสบายใจ บ้างกำลังจับจ้องคู่สนทนาชนิดไม่วางสายตา บ้างก็หยิบหนังสือพิมพ์ยามเช้ามาอ่าน

เสียงสนทนาและท่าทางที่ดูไม่เร่งรีบกลบเสียงอื้ออึงของตลาดสดได้อย่างราวกับหยุดเวลา ภาพตรงหน้าช่างต่างกับบรรยากาศตลาดที่เร่งรีบเสียเหลือเกินในร้าน “สุริยากาแฟ” แห่งนี้

เฮียตือเจ้าของร้านเผยเคล็ดลับในการเก็บรักษาชาให้คงคุณภาพความหอมไม่เสื่อมคลาย

ลีลาในการชงกาแฟของเฮียตือยังเหมือนเดิม

ที่ประจำ สภาสุริยากาแฟ

“กริ๊งๆ…วันนี้เหมือนเดิม โอยัวะกะชาร้อน” หลังเสียงกริ่งจักรยานของชายสูงวัยซึ่งกำลังปั่นมาจอดหน้าร้านกาแฟสองคูหาพร้อมกับสั่งเครื่องดื่ม เสื้อผ้าและผมของเขาเป็นสีขาว สวมสร้อยพระเส้นใหญ่ที่คอ

สิ้นเสียงสั่งชายชุดขาวก็เข้ามานั่งโต๊ะที่ดูเหมือนจะเป็นที่ประจำ ชายในวัยไม่ต่างกันนักในชุดเขียวเข้มผู้นั่งหัวโต๊ะอยู่แล้วตอบกลับอย่างรวดเร็ว

“ทำไมวันนี้มาสาย” วิชัย เลิศธานินทร์วณิช ชายวัย 82 สวมเสื้อเขียว หรือที่ชาวบ้านในย่านนี้เรียก “เฮียตือ” เจ้าของร้านสุริยากาแฟ ร้านเก่าแก่อายุกว่า 120 ปี ถามกลับ

ไม่นานก็มีชายอีกหลายคนในวัยใกล้เคียงตามมาสมทบที่โต๊ะตัวเดียวกัน หลังจากนั้นบทสนทนาอีกมากมายตามมาอย่างไม่หยุดหย่อน

เฮียตือเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว ถือกิจการทำกาแฟต่อจากคุณพ่อที่มาจากประเทศจีน แต่สมัยนั้นยังไม่มีชื่อร้าน มีเพียงหาบหาบกาแฟขาย ด้านหนึ่งใส่เตาถ่าน อีกด้านใส่ถ้วยชากาแฟ จนถึงสมัยของเฮียตือจึงได้มาตั้งเป็นร้านขึ้นมาอย่างเป็นทางการ

ชายในชุดลำลองสีเขียวสดเจ้าของร้านคนนี้ยังเล่าให้ฟังว่า ส่วนใหญ่ลูกค้าที่มามักจะเป็นลูกค้าประจำ ร้านเป็นเหมือนสภากาแฟให้ได้มาพบปะพูดคุยสังสรรค์กัน กาแฟและชาเป็นเหมือนเครื่องดื่มที่ทำให้การพูดคุยสนุกสนานยิ่งขึ้น

ภาพวัฒนธรรมการนั่งดื่มน้ำชากาแฟในยามเช้าเป็นภาพที่อยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน หนึ่งย่านชุมชนมักจะมีหนึ่งร้านกาแฟให้นั่ง มีโต๊ะและเก้าอี้ล้อม เก้าอี้จะมีกี่ตัวนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าวันนั้นจะมีผู้ร่วมวงสนทนากี่คน ในหนึ่งโต๊ะอาจจะมีสมาชิกห้าถึงเจ็ดคนหรือมากกว่านั้นก็ได้ ตรงนี้เองจึงเป็นภาพคุ้นตาของสภากาแฟในบ้านเรา

ขณะกำลังพูดคุยก็มีชายวัยใกล้เคียงกับเฮียตือที่นั่งอยู่ในโต๊ะเดียวกันกล่าวขึ้นมาเป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว ซึ่งเฮียตือก็ได้อธิบายและแปลให้ฟังว่า

“กาแฟและชาของที่นี่รสชาติดั้งเดิมอร่อย ทั้งโต๊ะนี้รู้จักกันมานาน ยิ่งชาชงฝีมือเฮียแกอร่อยที่สุด” หลังจากได้ยินเช่นนี้มีหรือจะพลาดรสชาติกาแฟที่เฮียตือชงเองกับมือ

เฮียตือเดินไปยังที่ชงกาแฟ มือเหี่ยวย่นจับเครื่องมือได้อย่างทะมัดทะแมง เฮียตือชงกาแฟแบบดั้งเดิม ใส่ผงกาแฟเติมน้ำร้อน ใส่นมข้นหวานจากกระป๋อง และขั้นตอนสุดท้ายการกรองผงกาแฟ ซึ่งทั้งหมดเฮียตือทำอย่างรวดเร็ว

จนเสร็จสิ้นได้กาแฟและชามาอย่างละแก้ว พร้อมเสียงเฮียตือกล่าวว่า

“ต้องกินคู่กันนะกาแฟกับชาร้อน”

สาเหตุที่ให้กินคู่กันเนื่องจากสมัยก่อนคนจีนแถบนี้นอกจากที่เป็นชาวสวนพลูกับพ่อค้าแล้ว ก็มีที่เป็นจับกังซึ่งชื่นชอบการกินโอยัวะกับกาแฟมากเพราะมีรสเข้มข้นทำให้ร่างกายตื่นตัวมีแรงในการทำงาน พอยุคสมัยเปลี่ยนคนไม่นิยมกินกาแฟเข้มข้นขนาดนั้น แต่ที่ร้านยังคงใช้สูตรเดิม จึงต้องใช้น้ำชาเข้ามาช่วย นานเข้าจึงกลายเป็นความลงตัวระหว่างชากับกาแฟ

เฮียตืออธิบายเพิ่มเติมว่าชาที่นี่นั้นเป็นชาชง ใช้ชาอินโดนีเซียใส่ในถังที่เก็บอย่างดี เพราะชาชนิดนี้มีกลิ่นหอมในตัว แต่ชาชนิดนี้ดูดซับกลิ่นได้ดีเช่นกัน ดังนั้นชาจึงเสียง่ายมากหากมีกลิ่นยากันยุงหรือสารจากน้ำเจือปน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นต้องทิ้งทั้งหมดทันที ที่สำคัญชาที่นี่ไม่มีการแต่งสีและกลิ่นเพิ่มเติมด้วย

“ใช้มาตั้งแต่ต้นเป็นชาของอินโดฯ เพราะว่ามันหอมแล้วลูกค้าติดใจ ก็เลยทำใจไม่ได้ที่จะไปใช้พวกชาใส่สี เพราะสีมันติดมือ ติดลิ้น รู้สึกว่ามันแรงไปกลัวว่าจะเป็นอันตราย และชาตัวนี้ก็มีกลิ่นหอมดี” อุดมศรี เลิศธานินทร์วณิช ลูกสาวของเฮียตือกล่าวเสริม

ถึงตอนนี้ระหว่างที่อยู่ในบทสนทนา อีกกลุ่มสนทนาขะมักเขม้นยิ่งกว่า ถ้านับอายุคนทั้งโต๊ะรวมกันก็เกือบ 500 ปีเห็นจะได้ แต่ละคนหน้าดำคร่ำเครียด พอเข้าร่วมวงฟังไปสักพักจึงเข้าใจว่ากำลังคุยกันเรื่องหลานสาวกำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย เลยกำลังหารือว่าเข้าที่ไหนดี

“เรื่องเพื่อนก็เหมือนเรื่องเรา” หลังจากเฮียตือกล่าวคำนี้ ทั้งวงต่างส่งเสียงหัวเราะออกมาอย่างสนุกสนาน

ไม่นานนักเรื่องพูดคุยก็เปลี่ยนไปอีก กลายเป็นเรื่องการเมืองบ้าง เรื่องสัพเพเหระทั่วไปผสมปนเปกันสุดแล้วแต่ใครในโต๊ะจะเปิดประเด็นคุยเรื่องอะไร แต่เรื่องทั้งหมดกลับคลุกเคล้ากันอย่างออกรสชาติกลมกล่อม ไม่มีใครค้าน ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ

หลังจากคุยไปอย่างสนุกสนานเฮียตือก็หันมากล่าวว่า

“นี่คือบรรยากาศสภากาแฟ คุยกันแบบนี้ทุกวัน”

หลังจากร่วมพูดคุยและฟังมานานจึงเข้าใจได้ทันทีว่าสภาแห่งนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเก่งหรือเป็นนักการเมือง ไม่มีฝ่ายนำเสนอหรือฝ่ายค้าน ไม่มีประธานมานั่งเคาะโต๊ะดังปัง! ให้หยุดพูด ไม่มีกฎข้อบังคับใดๆ ทั้งสิ้น สภาที่เป็นอิสระใครอยากพูดอะไรก็พูด บนโต๊ะมีเพียงชา กาแฟ และอาหารเช้า เป็นสื่อกลางช่วยให้บทสนทนามีรสชาติที่หอมอร่อยยิ่งขึ้นในทุกเช้าของวัน

ชาเย็นและกาแฟเย็นฝีมือเฮียตือ

มาคุยกับเพื่อน

นั่งคุยกันมาอย่างยาวนาน รู้ตัวอีกทีเวลาก็วิ่งนำความรู้สึกไปเสียแล้ว

บรรยากาศของตลาดที่เคยพลุกพล่านตอนนี้เริ่มเงียบกริบ อากาศเริ่มร้อนขึ้น พระอาทิตย์กำลังยิ้มร่าอยู่บนหัวพอดิบพอดี เป็นสัญญาณของเวลาเที่ยงใกล้เข้ามา คงจะได้เวลาที่ต้องกลับ

ถามทิ้งท้ายว่า “ทำไมถึงชอบมาพูดคุยกันที่ร้านแห่งนี้”

“คนรุ่นเราเป็นรุ่นเก่า เคยกินกาแฟรสชาติเดิมๆ แล้วก็มีคนในวัยเดียวกันมานั่งคุยสังสรรค์กัน รุ่นไล่กันน้องๆ พี่ๆ เฮียเจ้าของร้านนิดหน่อย คนคุ้นๆ กันแถวนี้ มานั่งที่นี่หลายสิบปีขึ้นไป รู้จักตั้งแต่เปิดร้านเลย” เสียงของคนในโต๊ะกล่าวขึ้นถึงสาเหตุที่ชอบมาที่ร้านนี้

“วันหนึ่งถ้าไม่ได้มานั่ง ไม่มาเจอเพื่อนฝูง มันจะหงุดหงิดเหมือนชีวิตขาดอะไรไป” ประวิทย์ จิตต์โกสน ชายรุ่นราวคราวเดียวกับเฮียตือกล่าวพร้อมกับลูบคลำพระบนอกอย่างภูมิใจ

ในขณะนั้นเมื่อทุกคนเริ่มรู้สึกถึงเวลา หลายคนบนโต๊ะก็เริ่มล่ำลากันพร้อมกับลุกจากเก้าอี้เดินทางกลับ ทำให้บนโต๊ะเหลือเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

“เชื่อไหมสำหรับคนจีนแต้จิ๋วอย่างเรา คำว่าเพื่อนนั้นสำคัญ เค้าเรียกว่าเผ่งอิ้ว” เฮียตือหันมากล่าว

“เผ่งอิ้ว” นั้นในภาษาจีนแต้จิ๋วหมายถึงเพื่อน “เผ่ง” แปลว่าคนใกล้ชิด คนที่อัธยาศัยเดียวกัน ส่วนคำว่า “อิ้ว” นั้นแปลว่าเพื่อนหรือคนที่รักกันเสมือนพี่น้องที่สามารถปรับทุกข์ด้วยได้ ซึ่งสำหรับชาวแต้จิ๋วจะไม่ใช้คำนี้เรียกบุคคลอื่นหากไม่ได้มีความสัมพันธ์กันในระดับของเพื่อนที่สนิทกันมากๆ

“คนที่ลุกไปก่อนหน้าอายุเท่ากัน สมัยเด็กเคยวิ่งเล่นที่ท่าน้ำ ใครจะรู้ตอนนี้มันได้ดิบได้ดีเป็นหลงจู้มือใหญ่ไปแล้ว แต่คำว่าเพื่อนนี้แหละที่ทำให้มันไม่เคยลืม มันก็ยังกลับมานั่งดื่มน้ำชา นั่งกินหัวเราะด้วยกันที่โต๊ะตัวนี้แหละ อยู่กันตั้งแต่ตลาดเบียดกันเดินจนตอนนี้คนบางลงเยอะก็ยังมา” เฮียตือเล่าถึงเพื่อนรุ่นเดียวกันที่เพิ่งลุกออกไปจากโต๊ะไม่นานนัก

“กว่าเราจะรู้จักเพื่อนเราก็ต้องเข้าใจเพื่อนเสียก่อน เพื่อนมีหลายแบบเราค่อยๆ เรียนรู้กันไป เพื่อนที่ดีเราก็คบเอาไว้ เพื่อนที่ไม่ดีก็ออกห่างออกมา” ชายสวมสร้อยพระกล่าว และเขายังอธิบายถึงความสัมพันธ์ของเพื่อนโดยการนำไปเปรียบกับเครื่องดื่มได้อย่างน่าสนใจว่า

เพื่อนก็เหมือนเครื่องดื่ม เรายังไม่รู้จักรสชาติจนกว่าเราจะดื่มเข้าปากไปแล้ว บางอย่างรสชาติอาจจะดีบ้างก็แย่ ถ้าเราไม่ดื่มไม่ทำความรู้จักเราก็จะไม่รู้ แต่สุดท้ายแล้วเราจะเจอกับเพื่อนที่ดีกับเราเอง

อย่างไรก็ตามคงถึงเวลาที่ต้องกลับ หลังจากล่ำลากับเฮียตือและเพื่อนๆ บนโต๊ะ ระหว่างอยู่บนรถไฟฟ้าก็นึกขึ้นได้ถึงคำพูดของเพื่อนเฮียตือที่กล่าวขึ้นมา ซึ่งคำนี้คงจะจำเก็บเป็นที่ระลึกในใจครั้งนี้ว่า “แม้ตลาดจะเปลี่ยนไป แต่เพื่อนมันไม่เปลี่ยนแปลง”

อ้างอิง

  • คุณสุดารา สุจฉายา
  • คุณวิชัย เลิศธานินทร์วณิช
  • คุณประวิทย์ จิตต์โกสน
  • คุณอุดมศรี เลิศธานินทร์วณิช
  • ถาวร สิกขโกศล. อัตลักษณ์จีนแต้จิ๋ว (3). ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2552, หน้า 138-153.
  • ปิลันธน์ ไทยสรวง. “ตลาดพลู” ไชน่าทาวน์ฝั่งธนฯ ในวันที่ไร้พลู. มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์.

………………..

>>สภาสุริยากาแฟ 344 ถนนเทอดไท แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ 10600 โทรศัพท์ 09-3565-4247<<


อิสรากรณ์ ผู้กฤตยาคามี
นักเขียนฝึกหัดผู้หลงรักในการอ่าน หลงใหลน้องหมาเป็นที่สุด เดินทางจากใต้ขึ้นไปเรียนถึงเชียงใหม่แต่มาใช้ชีวิตที่กรุงเทพเมืองฟ้าทุกวันนี้

………….

ธนกาญจน์ ชุ่มจิตต์
ชื่อเล่นโปงครับ ฝึกถ่ายภาพได้ปีครึ่ง รักธรรมชาติชอบเดินป่า ถ่ายภาพแมลง ชอบมองท้องฟ้าดูก้อนเมฆ ดูพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก ตั้งใจจะทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกข้าวด้วย