จบให้ดี หาที่ลงให้ได้พื้นที่

วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


สารคดีที่ดีต้องมีท่อนจบ เป็นหลักที่รู้ๆ กันอยู่ แต่บางทีก็นึกไม่ออกหรือทำไม่ง่าย แต่หากทำได้ก็มีสิทธิ์ได้คะแนนจากคนอ่านด้วยการลงทุนต่ำ อาจเพียงบรรทัดเดียว ย่อหน้าเดียว หรือบางทีก็ไม่ถึงครึ่งหน้า

หากย้อนความจากโครงสร้าง ๔ ส่วน ของงานสารคดี ปิดเรื่อง หรือท่อนจบเรื่อง คือส่วนท้ายสุด ที่คนเขียนต้องการบอก สรุป ปิดประเด็น หรือทิ้งท้ายสิ่งใดในงานเขียนชิ้นนั้น

อาจให้ความประทับใจ สอนใจ ฝากความหวัง ตั้งคำถาม เปิดจุดหักมุม คลี่คลาย ให้ข้อคิด ฯลฯ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องไม่สอนหรือสรุปตรงๆ แบบ นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…

หากควรคมคายอย่างแฝงนัยเยี่ยงงานวรรณศิลป์ชั้นดี ดังที่ขอยกตัวอย่างมาให้ลองพิจารณาเผื่อเป็นแนวทาง

  • ขยักประเด็นหนึ่งไว้ปิดเรื่อง

เป็นวิธีพื้นฐานที่ง่ายและใช้ได้กว้างขวางที่สุด โดยในขณะวางลำดับการเล่าเรื่องไปทีละประเด็น ก็เก็บประเด็นหนึ่งใดที่เห็นว่าเหมาะ-เอาไว้ใช้ปิดเรื่อง โดยไม่ต้องกังวลกับลำดับเวลาหรือลำดับของเหตุการณ์ เพราะงานเขียนสารคดีไม่มีข้อบังคับว่าต้องตายตัวกับทั้งสองสิ่งนี้เหมือนอย่างจดหมายเหตุ

งานเขียนเรื่อง “ต้นกล้าที่เข้มแข็ง แห่ง ‘บ้านสร้างสรรค์เด็ก’” ของ วุฒินันท์ ชัยศรี นักเขียนค่ายสารคดี รุ่นที่ ๔ ก็ใช้เทคนิคการปิดเรื่องดังว่านี้ เป็นสารคดีชีวิตชิ้นเล็กๆ เล่าเรื่องเด็กคนหนึ่งใน “บ้านสร้างสรรค์เด็ก” ของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ที่ขยายเชื่อมโยงให้เห็นภาพรวมของสถานสงเคราะห์เด็กแห่งนั้น ไปจนถึงปัญหาที่มาของ “เด็กที่พ่อแม่เลี้ยงไม่ได้” เหล่านั้น

ผู้เขียนฉายภาพในหนึ่งวันที่ได้คลุกคลีอยู่ด้วยกับเด็ก ทำกิจกรรม เดินเล่น กินข้าว ขัดห้องน้ำด้วยกัน นั่งพูดคุยกันแบบลึกๆ แบบสนิทคุ้นเคยเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของเด็กคนหนึ่งให้เป็นความอยู่ ภูมิหลัง สภาพแวดล้อม ไปจนถึงความใฝ่ฝันในวันข้างหน้า ให้คนอ่านเห็นและรู้จักเขาโดยไม่จำเป็นต้องเจอตัวเห็นหน้า โดยขยักเรื่องหนึ่งที่เขาได้คุยด้วย เป็นประเด็นคำถามหนึ่งซึ่งตอนคุยอาจไม่ใช่คำถามสุดท้าย แต่ผู้เขียนเห็นเหมาะจะใช้ปิดท้ายเรื่อง จึงกักไว้ใช้เป็นท่อนจบ

“อยู่ที่นี่มีความสุขดีไหม”

แทนคำตอบ…เด็กน้อยวิ่งไปกอดคอเพื่อนพลางหัวเราะอย่างเป็นสุข ทำเอาผมอดหัวเราะเบาๆ ตามเด็กน้อยไม่ได้

  • ปิดด้วยด้านตรงกันข้าม

อย่างสารคดีเรื่อง “มือมีดหมื่นศพ คุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์” ของ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ที่เล่าถึงชีวิตและงานของหมอพรทิพย์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่กับศพ ตลอดเรื่องคนอ่านเห็นแต่ภาพความตาย แต่ตอนท้ายสุดผู้เขียนใช้ฉากหนึ่งที่หน้าโรงพยาบาลมาใช้ปิดเรื่อง แบบชวนคนอ่านให้เห็นโลกด้านที่ดำเนินอยู่คู่กัน

พ.ญ.พรทิพย์ โรจนสุนันท์ เดินออกจากที่ทำงานพร้อมสามีที่มารออยู่ก่อนแล้ว และบางทีเขาและเธอ อาจไม่ทันสังเกตว่า หน้าหน่วยนิติเวชช่วงเที่ยงวันเสาร์เดียวกันนั้น มีหญิงคนหนึ่งอุ้มเด็กแรกเกิดผ่านมาพอดี

  • ปิดด้วยการเปิดมุมมองใหม่

สารคดีเรื่อง “ลิฟต์ ยา บันได” ของ ธันยพร วงศ์ธิติโรจน์ นักเขียนใหม่ ค่ายสารคดี รุ่นที่ ๑๔ นำเสนอเรื่องราวสองทางเลือกการรักษาพยาบาล ระหว่างการแพทย์แผนไทย ที่หมอสมุนไพรผู้เป็นแหล่งข้อมูลเปรียบว่า เหมือนการขึ้นบันได กับการแพทย์สมัยใหม่ที่การรักษาทันใจเหมือนขึ้นลิฟต์ เล่าคู่ขนานกันไปให้คนอ่านรู้เห็นข้อมูล ข้อดีข้อเสีย ข้อแตกต่างของทั้งสองแนวทางการรักษายามเจ็บป่วย ให้คนอ่านได้ความรู้และเลือกทางได้เอง โดยผู้เขียนไม่ตัดสิน

ผู้เขียนจึงปิดเรื่อง “ลิฟต์ ยา บันได” โดยไม่สรุปแต่ชวนคิดต่อ ดังนี้

ลิฟต์หรือบันได ดีกว่ากัน ?

คำตอบคงเป็นความเห็นส่วนบุคคล

แต่สลับขึ้นลิฟต์บ้างลงบันไดบ้างก็น่าจะดี

หรือบางที ระหว่างสถานการณ์ฉุกเฉิน ทางหนีไฟอาจเหมาะมากกว่า

หรือในวันที่ลิฟต์ไม่เหมาะสำหรับการใช้งาน บันได…อาจเป็นทางออก

  • ปิดแบบหักมุมก็ได้หากข้อมูลเอื้ออำนวย

สารคดีแต่งไม่ได้ แต่หักมุมได้หากรู้จักหยิบใช้ข้อมูลตามความเป็นจริง สารคดีเรื่อง “ครอบครัวรถเมล์ โลกใบเล็กของเด็กชายวัน” ของ ธีรนัย โสตถิปิณฑะ นักเขียนเยาวชน ค่ายสารคดี รุ่นที่ ๖ ยืนยันความจริงนี้ได้ ผู้เขียนเล่าถึงชีวิตคนขับรถเมล์วัยกลางคนที่เอาเด็กเล็กวัยยังไม่เข้าอนุบาลมาเลี้ยงบนรถ เด็กเรียกคนขับและกระเป๋ารถว่าพ่อแม่ ซึ่งเขาก็บอกกับใครๆ รวมทั้งนักเขียนหนุ่มว่าเด็กคนนี้เป็นลูก ในงานเขียนตลอดเรื่องผู้เขียนก็เล่าความตามที่ได้สัมผัสและแหล่งมูลเล่าให้ฟัง กระทั่งเอาต้นฉบับไปอ่านให้ฟังก่อนเผยแพร่ แหล่งข้อมูลถึงบอกความจริงกับผู้เขียนว่า เด็กคนนั้นเป็นหลาน ทั้งสองเป็นปู่และย่า ไม่ใช่พ่อแม่

ทีแรกผู้เขียนลังเลว่าต้องแก้เรื่องใหม่ทั้งหมดหรือไม่ นั่นเป็นทางเลือกหนึ่ง

แต่ทางที่ง่ายกว่า และทำให้งานเขียนมีชั้นเชิงการเล่าเรื่องในแง่การ “หักมุม” ด้วย ก็เพียงแต่เอาคำสารภาพนั้นมาใช้ปิดเรื่องได้เลย

“การเขียนสารคดีนี่มันต้องเป็นความจริงทั้งหมดหรือเปล่า” พี่แหวนถาม

“ใช่ครับ” เพียงแต่เป็นการเขียนความจริงนั้นให้น่าอ่าน”

“พอดีว่าพี่เองมีความจริงอยู่อย่างหนึ่งที่ไม่ได้บอกน้อง…”

พี่แหวนนิ่ง ราวกับกำลังตัดสินใจอีกครั้ง ก่อนที่สุดท้ายแกจะปล่อยให้ความลับนั้นหลุดออกมา

“ความจริงแล้วน้องวันไม่ได้เป็นลูกของพี่หรอก น้องวันเป็นลูกของเฟิร์สที่เอามาทิ้งไว้ แต่ที่เราบอกว่าเป็นพ่อเป็นแม่เพราะไม่อยากให้น้องต้องขาดอะไรอย่างที่พี่เฟิร์สขาด”

  • จบด้วยการหยิบใช้เทคนิคบางอย่าง

สารคดีเรื่อง “คนฟังเสียงปลา ภูมิปัญญาพรานทะเลแห่งจะนะ” ของ วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง เล่าถึงวิถีชีวิตชาวประมงที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งทำประมงแบบพื้นบ้านที่เอื้อต่อความยั่งยืนของทะเล แต่ภัยคุกคามกลุ่มชาวประมงหวั่นใจคือโครงการอุตสาหกรรมหมื่นล้านที่จะเข้ามาตั้งในชุมชน พวกเขาหวั่นว่าทะเลจะเสียหายจนไม่มีปลาให้จับ

ผู้เขียนจับเอาภาพในความรู้สึกนั้น มาซ้อนกับภาพตรงหน้าขณะพวกเขากำลังปลดปลาจากอวน เล่าผ่านหลักอินฟินิตี้ หรือการนับแกะข้ามรั้วไปจนกว่าจะหลับ

มือที่กร้านน้ำเค็มของพรานทะเลเริ่มสาวอวนขึ้นจากน้ำ ปลดปลาตัวแรก ปลดปลาตัว ปลดปลาตัวที่สอง ปลดปลาตัวสาม ปลดปลาตัวสี่ ปลดปลาตัวที่ห้า ปลดปลาตัวที่หก ปลดปลาตัวเจ็ด ปลดปลาตัวที่แปด ปลดปลาตัวที่เก้า ปลดปลาตัวที่สิบ … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … …

มีปลาให้ปลดจากอวนไม่มีวันหมด ถ้าไม่มีโรงงานแยกก๊าซที่ริมฝั่งทะเลจะนะ

เหล่านี้เป็นเพียงบางวิธีการ “ปิดเรื่อง” แต่เพียงสังเขป รอผู้เขียนรุ่นใหม่ช่วยเติมต่อ ซึ่งแน่นนอนว่าสร้างสรรค์กันได้ไม่มีที่สิ้นสุดเช่นเดียวกับการนับแกะข้ามรั้วฉันนั้น


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา