ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 14
งานเขียนดีเด่น
เรื่อง : อิทธิกร ศรีกุลวงศ์
ภาพ : ณัฐพนธ์ ปานอุดมลักษณ์
พื้นที่ความสุขเล็กๆ ของชาว สว.(สูงวัย) แห่งชุมชนตลาดพลู!
ทุกวันนี้คุณหาความสุขด้วยวิธีการไหนกันบ้างเหรอครับ?
ผมไม่ได้กำลังถามคุณผู้อ่านหรอก คำถามข้างต้นคือคำถามที่ผมตั้งใจเตรียมไว้ถามเด็กๆ ในชุมชนตลาดพลูตอนไปลงพื้นที่ต่างหาก ผมมองว่าตลาดมันเป็นพื้นที่ที่วุ่นวายและไม่ค่อยมีความเป็นสุขภาวะ เลยอยากรู้ว่าเด็กๆ ในชุมชนนี้เขาเติบโตไปพร้อมกับตลาดอย่างไร เวลาว่างๆ เขาไปเล่นกันที่ไหน แต่ปัญหามีอยู่ว่าวันนี้เป็นวันเสาร์ และผมเดินรอบตลาดมาหลายชั่วโมงแล้วแต่ผมยังไม่เจอเด็กๆ เลยสักคน ด้วยความท้อแท้และขี้เกียจผมจึงเริ่มมองหาม้านั่งสาธารณะในตลาด ที่ผมน่าจะเข้าไปนั่งพักได้โดยไม่ต้องควักเงินในกระเป๋า และที่นั่นเองที่ผมได้พบกับ “คุณลุง”
พื้นที่โต๊ะและม้านั่งสาธารณะเกือบทั้งหมดข้างบันไดขึ้นสะพานตลาดพลูนั้นถูกจับจองด้วยกลุ่มผู้สูงอายุมากหน้าหลายตากว่า 20 ชีวิต กำลังเล่นหมากฮอสเสียงดังต๊อกๆ แต๊กๆ กันอยู่ ซึ่งหลังจากผมแอบยืนมองกระดานหมากอยู่สักพักผมก็ตัดสินใจเดินเข้าไปแล้วบอกว่า “โห คุณตา เล่นไม่เซียนเลย มาครับเดี๋ยวผมสอนให้” (ซะที่ไหนกันล่ะ!) ผมแอบเห็นว่าเก้าอี้ด้านหลังมีคุณตานั่งอยู่คนเดียว น่าจะพอขอนั่งด้วยได้ เลยเดินเข้าไปขอนั่งด้วยต่างหาก
ผมเดินอ้อมวงหมากฮอสไปด้านหลังเพื่อหย่อนตูดและเหยียดขา ชายชรานั่งนิ่งไม่ไหวติง ผมมองแค่ผ่านๆ ก็พอรู้ว่าอายุไม่ต่ำกว่า 80 ปีแน่ๆ มือขวาของเขากำพัดจีนแบบมาตรฐานไว้แน่น หน้าเชิดมองตรงไปที่กระดานหมาก ทำเหมือนผมเป็นเพียงอากาศธาตุ
“โห คุณตาคนนี้หน้านิ่งชะมัด…” ผมคิดในใจ
ถ้าหากจะนับกันจริงๆ คุณตาคนนี้คงอายุเกินกว่าจะเป็นพี่ของพ่อผมอยู่หลายสิบปี แต่เผื่อมันจะทำให้คุณตารู้สึกว่าตัวเองอ่อนเยาว์ลงบ้าง ผมจึงเลือกทักไปด้วยความสุภาพว่า
“คุณลุงครับ ผมขอนั่งด้วยได้ไหมครับ?”
คุณตาหันมามองผมพร้อมกับบอกอย่างเป็นกันเอง แต่ยังทำหน้านิ่งๆ อยู่ “นั่งได้เลย ตามสบาย” (เพื่อความไม่งงในการอ่าน จากนี้ไปผมจะเรียกคุณตาท่านนี้ว่า “คุณลุง” นะครับ)
ผมเริ่มชวนคุณลุงคุยด้วยการสอบถามสารทุกข์สุกดิบทั่วไป เช่น วันนี้สบายดีไหมครับ? มาคนเดียวเหรอ? คุณลุงชอบกินกุยช่ายร้านไหน? หรือแม้แต่ คุณลุงว่าหวยงวดหน้าจะออกอะไร? หลังจากคุยกันไปได้สักพักคุณลุงก็เริ่มพูดสิ่งที่มันพอจะเป็นงานได้
โลกใต้สะพานตลาดพลู เราค้นหาพื้นที่แห่งความสุขเล็กๆ
ม้านั่งสาธารณะข้างบันไดขึ้นสะพาน ตรงข้ามกับสถานีรถไฟตลาดพลู แลนมาร์คสำคัญของตลาด ถูกจับจองด้วยเหล่าคุณลุงสำหรับความสุขประจำวัน
คุณลุง อา ลิ้ม แซ่เจียง ผู้ที่ได้เล่าให้เราฟังถึงความสุขคนชายวัยใกล้เลขเก้า ในการนั่งรถมาเล่นหมากรุกกับเพื่อน ๆ ทุกวันมาหลายปี
คุณลุงเริ่มเล่าให้ผมฟังว่า ที่ม้านั่งใต้สะพานตรงนี้คุณลุงกับเพื่อนๆ จะมาเล่นด้วยกันเป็นประจำ หมากที่เล่นก็มีหลากหลาย เป็นหมากฮอสบ้าง หมากรุกไทยบ้าง หมากรุกจีนบ้าง แยกกันเป็นโต๊ะๆ ไปแล้วแต่ความชอบ ความถนัด หมากที่คุณลุงคนนี้ตั้งใจมาเล่นคือหมากรุกจีนหรือหมากรุกเซี่ยงฉี คุณลุงยังโม้ถึงใจรักในหมากรุกจีนของแกให้ผมฟังว่า ที่มาเล่นๆ กันเนี่ยบางคนก็มาสองวันครั้ง สามวันครั้ง แต่อย่างคุณลุงเนี่ยมาทุกวัน จันทร์ถึงอาทิตย์ ผมแอบแซวคุณลุงว่าคุณลุงคงจะต้องชอบเล่นหมากรุกจีนมากแน่ๆ แต่คุณลุงบอกว่าไม่หรอก ลุงแก่แล้ว ทำอะไรไม่ค่อยได้ อยู่บ้านมันเบื่อๆ หนีลูกหลานออกมาเที่ยวข้างนอกสนุกกว่า (อ้าว…คุณลุง หนีเที่ยวซะงั้น)
คุณอาจจะกำลังนึกภาพบรรยากาศของบ่ายวันเสาร์มีกลุ่มผู้สูงอายุจำนวนมากนั่งประลองปัญญากันอยู่ใต้ต้นไม้อันร่มรื่น มีลมพัดเอื่อยๆ อากาศเย็นสบาย แต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่อย่างนั้นเลยครับ ความเป็นจริงคือพื้นที่ที่คุณลุงนั่งเล่นกันคือม้านั่งริมถนนอันเต็มไปด้วยมลพิษ มีผู้คนเดินผ่านไปมาตลอดเพราะเป็นทางเชื่อมไปยังตลาด ด้านหลังเป็นรางรถไฟทำให้จะมีเสียงระฆังและเสียงหวูดรถไฟดังเป็นระยะ อีกอย่างคืออากาศกรุงเทพฯ ตอนบ่าย 2 ก็ร้อนมาก โดยรวมแล้วบรรยากาศรอบตัวคุณลุงไม่ได้เหมาะกับการจับกลุ่มนั่งเล่นหมากรุกเลย แต่คุณลุงและเพื่อนๆ ยังก้มหน้าก้มตาเล่นหมากรุกกันอย่างมีสมาธิ ประหนึ่งกำลังอยู่ในค่ายเก็บตัวเตรียมไปแข่งงานหมากรุกโอลิมปิก
คุณลุงเล่าต่อว่าที่มาเล่นกันข้างตลาดนี้คือเพิ่งจะมีราวๆ 5-6 ปีก่อน เป็นเพื่อนๆ กันชวนกันมาเล่น ตอนนี้ก็เล่นกันจนเป็นกิจวัตรประจำวันไปแล้ว สมัยก่อนที่จะมีวงหมากรุกตรงนี้คุณลุงต้องนั่งรถนั่งเรือเข้าไปในกรุงเทพฯ เพื่อหาเพื่อนเล่นหมากรุกด้วย ลำบากมากเลย
“แล้วที่เล่นข้างตลาดพลู กับเข้าไปเล่นในกรุงเทพฯ นี่มันต่างกันไหมครับ” ผมถาม
“ต่างสิต่าง เมื่อก่อนสมัยลุงยังหนุ่มๆ นี่เล่นแบบกินตังค์ ตอนนี้แก่แล้วไม่มีตังค์ ก็เลยเล่นกันขำๆ แทน”
(ลุงโว้ย! ใจเย็นก่อนโว้ย! ผมไม่ได้หมายถึงเรื่องนี้!)
“ลุงชอบเล่นมากนะไอ้หมากรุกจีนเนี่ย แต่ลุงน่ะเล่นไม่เก่ง ไม่ค่อยได้กินเขาหรอก เปลี่ยนมาเล่นที่นี่ก็ดีนะใกล้บ้านลุงด้วย ไม่เสียตังค์ด้วย”(ยัง! ยังไม่ยอมหยุดอีก)
จริงๆ แล้วที่คุณลุงต้องเดินทางไกลทุกวันเพื่อหาเพื่อนเล่นหมากรุกด้วยนี่แอบเป็นประเด็นที่สะเทือนใจผมนะครับ คุณลุงเล่าว่าจริงๆ แล้วลูกหลานคุณลุงทุกคนเล่นหมากรุกจีนเป็นหมดนะ คุณลุงเป็นคนสอนเขาเองจะได้มาเล่นด้วยกัน แต่ลูกหลานบอกว่าไม่ชอบเล่นบ้าง ไม่ว่างบ้าง แค่เรียนก็ไม่ไหวแล้วบ้าง คุณลุงก็เลยต้องออกมาหาเพื่อนเล่นด้วยนอกบ้านจะได้ไม่เหงา เป็นเรื่องน่าเศร้าหน่อยๆ ที่ช่องว่างระหว่างวัยทำให้ครอบครัวไม่สามารถมีความสุขไปด้วยกันได้ แต่ก่อนที่ผมจะดราม่าไปมากกว่านั้นคุณลุงก็ตัดบทผมด้วยการบอกว่า “ครอบครัวลุงดีใจมากนะที่ลุงออกมาเล่นหมากรุก เขาคงเห็นว่าลุงมีความสุขดี ได้ทำในสิ่งที่ลุงรัก เขาก็เลยปล่อยให้ลุงออกมาเล่นได้ทุกวัน” มีการโม้แถมด้วยว่า “ลุงนี่ความจำดี ร่างกายยังแข็งแรง ให้เดินมาเองจากบ้านก็ไหวนะ แต่เราอายุมากแล้ว เดินช้า เสียเวลาเล่นหมากรุก ก็เลยนั่งรถรับจ้างเอาดีกว่า” (ครับ คุณลุงว่ายังไงผมก็ว่าตามนั้น)
วันนั้นคุณลุงนั่งอยู่กับผมอีกพักใหญ่ๆ เรานั่งคุยกันไปพลางดูเพื่อนคุณลุงเล่นหมากรุกกันไปพลาง (ซึ่งจริงๆ แล้วผมเล่นหมากรุกจีนไม่เป็นหรอก แค่ทำท่าทางตกใจแล้วบอกว่า “โอ้โฮ เดินหมากได้เฉียบขาดมาก” เฉยๆ) เราคุยกันสนุกเหมือนออกมาจากหนังซิตคอม คุณลุงปั้นหน้านิ่งและยิงตบมุกได้ยอด เล่นกันไปหลายมุก ก่อนคุณลุงจะย้ายกลับไปนั่งที่โต๊ะดูเพื่อนๆ เล่นกันต่อ
ทั้งฝ่ายรับ ฝ่ายรุก ยันฝ่ายลุ้น จองกันตาแทบไม่กระพริบ
หมากรุกจีน หรือ หมากรุกเซี่ยงฉี งานอดิเรกของเหล่าคุณลุงในชุมชนริมสะพาน ซึ่งไม่ค่อยมีให้เราเห็นในที่อื่นมากนัก
ไม่ว่าจะหมากรุกจีน หมากรุกไทย หมากฮอส ก็ปรากฏให้เห็น พร้อมทั้งสายตาเอาจริงเอาจังของลุงๆทุกคน
คุณอาจสงสัยว่าทำไมตั้งแต่เล่ามาคุณลุงยังไม่ได้เล่นเองเลยสักกระดาน คืออย่างนี้ครับ คุณลุงแกบอกว่าในบรรดาเพื่อนๆ กัน คุณลุงแก่ที่สุดแล้ว 89 ปีแล้ว เกมพวกนี้มันต้องคิดเยอะ ต้องวางแผน เล่นไปสักสี่ห้ากระดานคุณลุงก็ปวดหัวแล้วเลยต้องพกพัดไว้กันหน้ามืด กันเป็นลมนี่ไงล่ะ (อ้าวเฮ้ย! ที่คุณลุงพกพัดนี่คือแบบนี้เองเหรอ) ก่อนผมจะยอมปล่อยคุณลุงกลับไปดูเพื่อนเล่นหมากรุก ผมขอชื่อจริงแกไว้เผื่อจะมาคุยเล่นด้วยอีก ผมบอกลาอย่างสุภาพว่า “วันนี้ขอบคุณมากๆ นะครับ เอ่อ…คุณลุงอาลิ้ม แซ่เจียง”
ทุกวันนี้คุณหาความสุขด้วยวิธีการไหนกันบ้างเหรอครับ? คราวนี้ผมถามคุณนั่นแหละครับคุณคนอ่าน และแน่นอนว่าผมก็กำลังถามตัวเองด้วยคำถามเดียวกัน หลังจากการเดินสำรวจ พูดคุยกับชาวตลาดพลูอยู่พักใหญ่ๆ ผมก็ได้เห็นความสุขเล็กๆ ของโลกใต้สะพานนี้มาบ้างเหมือนกัน ในที่สุดผมได้เจอกับเด็กๆ ที่ผมตามหา พวกเขามาเล่นฟุตบอลกันที่สนามบอลเล็กๆ ซึ่งอยู่ใต้ทางขึ้นอีกฝั่งของสะพาน พวกเขาบอกว่าเป็นเรื่องปรกติของเด็กแถวนี้ คนที่ต้องช่วยพ่อแม่ขายของก็ต้องทำงาน บางคนก็ออกไปตกปลา เด็กคนอื่นๆ ช่วงวันหยุดถ้าไม่เข้าไปเล่นกันในเมืองก็อยู่บ้านพักผ่อน ดูทีวี เข้าร้านเกม ทำอะไรที่พอจะแก้เบื่อได้ ไม่ต่างจากคุณลุงเลย ชีวิตคนเราก็แบบนี้แหละครับ ไม่ว่าสภาพรอบๆ ตัวเราจะเป็นยังไง เราจะวิ่งตามสิ่งที่เรียกว่าความสุขอยู่เสมอ ชีวิตของชาวตลาดพลูที่ผมพบเจอบอกกับผมแบบนั้น
ผมได้มีโอกาสกลับไปหาคุณลุงอีกครั้งในอาทิตย์ถัดมา แต่เพราะฝนตกหนัก ยังไม่ทันจะได้คุยกัน คุณลุงก็เดินไปขึ้นรถกะป๊อกลับบ้านไปซะก่อน แผ่นหลังของคุณลุงค่อยๆ ลับสายตาผมไป ผมไม่เคยได้ถามคุณลุงว่าที่บ้านคุณลุงมีความสุขดีไหม ชีวิตครอบครัวคุณลุงอบอุ่นดีหรือเปล่า แต่ถึงคุณลุงจะตอบผมมา ผมก็คงไม่เข้าใจความรู้สึกเปลี่ยวเหงาของคนอายุเฉียด 90 อยู่ดี แต่ผมบอกได้อย่างหนึ่งว่าความสุขของคุณลุงในตอนนี้คือการมีเพื่อนเล่นหมากรุกสักคนเท่านั้นเอง
อิทธิกร ศรีกุลวงศ์
นักเขียนติดตลกที่จริงๆแล้วไม่ใช่คนตลก นักดองหนังสือข้ามปี อดีตนักเรียนแลกเปลี่ยนประเทศญี่ปุ่นที่ตอนนี้พูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้แล้ว(ก็คนมันลืมอะ) มีกิจกรรมโปรดยามว่างคือการไปดูหนังและเดินไปเดินมา ความใฝ่ฝันสูงสุดในตอนนี้คือการได้เติบโตอย่างมีความสุข : )
……..
ณัฐพนธ์ ปานอุดมลักษณ์
ช่างภาพ ในผลงาน หมากรุก : ความสุขยามบ่ายใต้สะพาน