เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


ความตายของหมีควายบนถนนสาย 304

ซากหมีควายบนทางหลวง ๓๐๔ กบินทร์บุรี-ปักธงชัย ช่วงหลักกิโลเมตรที่ ๒๒๐ อ.นาดี อ.ปราจีนบุรี สันนิษฐานว่าถูกรถชน เวลานี้กำลังมีการขยายช่องจราจรจาก ๒ เลนเป็น ๔ เลน (ภาพ : เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าและประชนชนที่พบเห็น)

ยามเช้าของวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ชาวบ้านที่สัญจรผ่านทางหลวงหมายเลข ๓๐๔ ช่วงกบินทร์บุรี-ปักธงชัย พบซากหมีควายตายริมถนน เมื่อแจ้งไปยังเขตการจัดการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่ ๒ เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ ขญ.๔ (คลองปลากั้ง), ขญ.๕ (กม.๘๐), กำนันตำบลวังน้ำเขียว, เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าฯ เขาแผงม้า และตำรวจก็เดินทางมายังสถานที่เกิดเหตุ

จุดพบซากหมีควายอยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๒๒๐ บนทางหลวงสายหมายเลข ๓๐๔ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเวลานี้กำลังมีการขยายช่องจราจรจาก ๒ เลนเป็น ๔ เลน ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นหมีควายเพศผู้ อายุ ๑๑-๑๒ ปี น้ำหนักประมาณ ๑๕๐ กิโลกรัม คาดว่าเป็นหมีควายที่อาศัยอยู่ในป่าแถบนี้ ข้ามถนนเพื่อไปกินขนุนที่กำลังสุกคาต้นของชาวบ้าน ก่อนถูกรถยนต์ที่ขับมาด้วยความเร็วพุ่งชน น่าจะเป็นรถคันใหญ่ เนื่องจากหลังจากชนหมีควายตัวโตเต็มวัยจนตายแล้วยังสามารถขับต่อไปได้

หมีควาย (Ursus thibetanus) เป็นหมี ๑ ใน ๒ ชนิดที่พบในประเทศไทย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามบัญชี พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕ สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติหรือ IUCN กำหนดให้เป็นชนิดพันธุ์ถูกคุกคามเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (ภาพ : เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าและประชนชนที่พบเห็น)

หมีควายมีลักษณะเด่นคือแถบขนสีขาวหรือเหลืองอ่อนรูปตัววีคาดกลางอก ในภาพถูกเลี้ยงไว้ในกรงเพื่อดูดน้ำดีจากช่องท้องออกมาขาย ชานกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

หมีควาย (Ursus thibetanus) เป็นหมี ๑ ใน ๒ ชนิดที่พบในประเทศไทย (อีกชนิดคือหมีหมา) มีลักษณะเด่นคือแถบขนสีขาวรูปตัววีคาดกลางอก เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามบัญชี พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕ สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ หรือ IUCN (International Union for Conservation of Nature and Natural Resources) กำหนดให้เป็นชนิดพันธุ์ถูกคุกคามเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความสะเทือนใจให้ผู้ที่พบเห็น ซากหมีควายมีกะโหลกยุบลงมาถึงปาก ภายในช่องปากมีกระดูกแตกละเอียด ร่างสีดำไร้วิญญาณแน่นิ่งอยู่ริมถนนซึ่งกำลังตัดขยายเพิ่มอีก ๒ ช่องจราจร

ทางหลวงหมายเลข ๓๐๔ มีระยะทางประมาณ ๓๐๐ กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ปลายทางด้านทิศเหนืออยู่ที่อำเภอเมืองนครราชสีมา เป็นทางหลวงสายหลักที่เชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่งสินค้าจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมายังภาคตะวันออก เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์รองรับการขนส่งสินค้าจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่ท่าเรือแหลมฉบัง

เส้นทางทั้งหมดแบ่งออกเป็น ๘ ช่วง อาทิ ช่วงถนนรามอินทรา ช่วงฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี ช่วงกบินทร์บุรี-ปักธงชัย โดยช่วงกบินทร์บุรี-ปักธงชัยเป็นถนนตัดผ่านผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ขึ้นบัญชีให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ สองข้างทางโอบล้อมด้วยต้นไม้ ฝั่งหนึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่มีสภาพเป็นป่าทึบ อีกฝั่งเป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน มีไร้อ้อย ไร่มันสำปะหลังของชาวบ้าน และมีแหล่งน้ำธรรมชาติ

ความตายของสัตว์ป่าขณะข้ามทางหลวงหมายเลข ๓๐๔ ไม่ได้เกิดขึ้นกับหมีควายเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้เคยมีสัตว์ป่าหลายชนิดถูกรถชนตายหรือได้รับบาดเจ็บมาแล้ว ยกตัวอย่างปี ๒๕๕๘ กระทิงเพศผู้ หนักร่วม ๑ ตัน อายุมากกว่า ๒๐ ปี ถูกถนนเก๋งชนบริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๒๑๖ สภาพตัวรถบริเวณหลังคาบุบบี้ กระจกด้านหน้าและด้านข้างแตกละเอียด ฝากระโปรงรถมีคราบเลือดและขนวัวกระทิง บนพื้นถนนเต็มไปด้วยคราบเลือดและมูลวัวกระทิง ขณะที่ซากกระทิงมีแผลที่คอ เขาข้างซ้ายหัก คาดว่าตายคาที่ ในปีต่อมาก็มีกระทิงถูกรถชนตายอีกบริเวณใกล้เคียงกัน

หลังเกิดเหตุ ครรชิต ศรีนพวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ว่าอุบัติรถชนสัตว์ป่าขณะสัตว์ป่าเดินข้ามถนนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะพื้นที่ระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่กับอุทยานแห่งชาติทับลานที่มีถนนสาย ๓๐๔ ตัดผ่านกลาง ในอดีตมักเกิดขึ้นช่วงหน้าแล้งที่สัตว์ออกจากป่าข้ามถนนมาหาอาหารและแหล่งน้ำ หากแต่อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นช่วงหน้าฝน เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะสัตว์ป่าเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้ส่วนหนึ่งต้องออกมาหาแหล่งอาหารใหม่

ทางหลวงหมายเลข ๓๐๔ ตัดผ่านผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโกขึ้นบัญชีให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ (ภาพ : แผ่นพับโครงการก่อสร้างทางเชื่อมผืนป่า และการขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๐๔ ของกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม)

งานก่อสร้างอุโมงค์ชนิดขุดดินและถมดินกลับสาหรับสัตว์ป่าข้ามทางหลวง เดือนมิถุนายน ๒๕๖๑ (ภาพ : แผ่นพับโครงการก่อสร้างทางเชื่อมผืนป่า และการขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๐๔ ของกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม)

ภาพจำลองทางเชื่อมผืนป่าที่มีทั้งอุโมงค์และทางยกระดับ ( animal overpass และ animal underpass) (ภาพ : แผ่นพับโครงการก่อสร้างทางเชื่อมผืนป่า และการขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๐๔ ของกรมทางหลวง กระทรวง)

ก่อนนี้เคยมีแนวคิดให้ยกเลิกการใช้ถนนสาย ๓๐๔ เพื่อเชื่อมผืนป่าสองฝั่งเข้าหากัน แต่สิ่งที่ตามมาคือแทบจะไม่มีใครเห็นด้วย ไม่ว่าภาครัฐหรือประชาชนต่างต้องการถนนสายสั้นๆ ช่วยร่นระยะทาง ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย มิหนำซ้ำยังมีโครงการขยายถนนเป็น ๔ ช่องจราจร เพื่อแก้ปัญหารถติด

แนวทางที่ถูกนำมาใช้ลดอุบัติเหตุกับสัตว์ป่าคือการสร้าง “คอริดอร์” (corridor) หรือ ทางเชื่อมผืนป่า มีลักษณะเป็นอุโมงค์ให้รถวิ่งลอดใต้ดินและทางยกระดับให้สัตว์ป่าลอดข้ามไปมาได้

การทำทางข้ามสัตว์ป่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจและดำเนินการก่อสร้างมาจนเกือบเปิดใช้ ตั้งอยู่ไม่ไกลจากจุดเกิดเหตุ แต่สร้างยังไม่ทันแล้วเสร็จก็มีมัจจุราชมาพรากชีวิตหมีควายตัวนี้เสียก่อน

หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งตรวจสอบเพื่อตามหาคนขับรถชนหมีควาย หากขับรถโดยประมาททำให้สัตว์ป่าคุ้มครองเสียชีวิตจะต้องดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕

ขณะที่ซากหมีควายถูกขนย้ายไปยังเขตการจัดการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่ ๒ เพื่อผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการตายและฝังกลบ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าถ้าอุบัติเหตุรถชนสัตว์ป่ายังเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ต่อไปอาจมีการทำรั้วกั้นตลอดแนวถนนช่วงจุดเสี่ยง

ทางเลือกสำหรับสัตว์ป่าดูจะเหลือไม่มากแล้วในเวลานี้

  • เก็บตกจากลงพื้นที่ : ดีหมี แกะรอยขบวนการค้าสัตว์ป่าที่เวียดนาม นิตยสารสารคดี ฉบับที่ ๓๔๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗