ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 14
งานภาพดีเด่น
เรื่อง : กรกมล ศรีวัฒน์
ภาพ : ทิพย์มณี ตราชู
นักกีฬาเล่นว่าวระดับชาติ กำลังอธิบายถึงสิ่งที่เขารักด้วยแววตาเป็นประกาย
การหมกมุ่นกับอะไรสักอย่างเป็นระยะเวลามากกว่าค่อนชีวิตอาจจะไม่ได้มีเพียงแค่ความรัก แต่มันยังสะท้อนความผูกพัน เช่นเดียวกับความรู้สึกของบังดี้ ร้อยตรีรุ่งโรจน์ ภู่ไหมทอง แชมป์ว่าวปักเป้าที่กวาดรางวัลแทบทุกสนาม
หนุ่มใหญ่วัย 61 ปีอยู่ในชุดสบายๆ ณ บ้านไม้สองชั้นอันเก่าแก่ของครอบครัวที่ซุกซ่อนตัวอยู่ในชุมชนอิสลามย่านตลาดพลู ฝั่งธนบุรี เขานั่งลงบนพื้นปูนซีเมนต์ใต้ถุนบ้านก่อนจะเริ่มหยิบไม้ไผ่สีสุกที่ตากแดดมากว่า 1 ปี พร้อมกับหยิบมีดมาเหลาไม้ก่อนบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความผูกพันระหว่างตัวเขาและของเล่นเจ้าเวหา
“เดินได้ก็เล่นแล้ว เล่นว่าว ไปไหนก็ติดว่าวไป ไปเที่ยวก็ติดว่าวไป ก่อนนี้ไม่มีอะไรเล่น” บังดี้เล่าด้วยเสียงกลั้วหัวเราะ เขาเล่าว่าพอลืมตาเกิดขึ้นมาร้องอุแว้ ว่าวก็กลายเป็นเพื่อนคนแรกๆ ในชีวิต พื้นที่ตรงหลังบ้านนี้เองก็เป็นพื้นที่ที่เขาหัดขึ้นว่าวเป็นครั้งแรก บังดี้เริ่มพาเราย้อนไปในครั้งที่เขายังเด็ก ลมยังแรงมากพอที่ทำให้เมื่อมองบนท้องฟ้ายังมีว่าว ของเล่นเจ้าเวหาปรากฏกาย และจุดเริ่มต้นของความสนใจเพื่อนที่อยู่บนนภา
อาจกล่าวได้ว่านอกจากว่าวจะเป็นเพื่อนในวัยเด็กของเขา ว่าวยังเป็นเหมือนสิ่งที่ยึดโยงความสัมพันธ์พ่อลูกของบังดี้กับพ่อ วินัย ภู่ไหมทอง เจ้าของฉายาในวงการว่าว “อินทรีคิ้วขาว” ให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น ลูกไม้หล่นใต้ต้นอย่างบังดี้ซึมซับความสนใจในว่าวมาจากพ่อที่ชื่นชอบมาอยู่ก่อนแล้ว ทั้งวิธีการทำตัวว่าวและวิธีการเล่นว่าวเบื้องต้น พ่อวินัยได้ปลูกต้นอ่อนความรัก ความผูกพัน และความเคยชินให้กับบังดี้ ลูกชายคนโตที่เริ่มจะหลงใหลในสิ่งเดียวกัน
“ปิดเทอมจะไปนั่งดูว่าวสนามหลวง ตอนนั้นพ่อก็ยังไม่ได้ลงสนามหลวงนะก็พาไปดูทุกวัน หน้าว่าว 3 เดือนไปทุกวัน ไปทุกเย็น ถ้าวันไหนไม่ได้ไปร้องไห้เลย”
ว่าวที่เขาถนัดเล่นคือว่าวปักเป้า ซึ่งในการแข่งขัน จะต้องแข่งกับว่าวจุฬา
จุดเริ่มต้นทุกอย่างและแรงบันดาลใจ ถูกถ่ายทอดมาจากผู้เป็นพ่อ
“เสื้อสามารถ” จะมอบให้นักกีฬาที่มีความสามารถสมชื่อ และพ่อของเขาเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ได้รับเสื้อนี้ แต่หากสังเกตดูที่เสื้อจะพบว่าพ่อเขามีความสามารถในการเล่นว่าวจุฬา ซึ่งเป็นคู่แข่งกัน
บรรยากาศสีชาในความทรงจำของบังดี้เต็มไปด้วยความสนุกสนานและตื่นตาตื่นใจ คล้ายว่าสนามหลวงเป็นสนามเด็กเล่นที่ทำให้บังดี้เติบโต เขาจำได้ดีว่าสมัยก่อนจะมีตลกมาเล่น มีคนมานั่งปูเสื่อกินเมี่ยงคำ ไก่ย่างกับเบียร์ และมีคนมาพนันว่าวโดยคนที่เล่นพนันส่วนใหญ่จะเป็นเซียนมวยที่รอมวยเปิดวิกเลยมาพนันว่าวก่อน ซึ่งคนเหล่านี้แหละเป็นกองเชียร์แสนยอดเยี่ยม
เมื่อบังดี้อายุได้ 11 ขวบ ในปี 2511 พ่อของเขาจึงเริ่มลงเล่นที่สนามหลวงบ้างจากการชักชวนของเพื่อนฝูงหลังจากที่เล่นว่าวด้วยความสนุก พนันขันต่อมานาน และด้วยพรสวรรค์ทางด้านนี้จึงทำให้ผ่านไปเพียง 3 ปี พ่อก็ได้รับเสื้อสามารถ เสื้อสูทที่การันตีความเก่งกาจว่าในปีนั้นสามารถเล่นว่าวจนได้คะแนนรวมของห้าถ้วยใหญ่มากที่สุด ความสำเร็จของคนเป็นพ่อย่อมเป็นแรงผลักดันให้บังดี้ทุ่มเทกับว่าวมากขึ้น แต่ความชอบของบังดี้กับพ่อวินัยก็มีความแตกต่างกัน ในขณะที่บังดี้ไปดูว่าวที่สนามหลวงเมื่อครั้งยังเด็ก บังดี้ก็ตกหลุมรักกับว่าวปักเป้า ซึ่งเป็นว่าวคู่ปรับของว่าวจุฬาที่พ่อวินัยเล่น
“ปักเป้ามันไล่ครอบ สวยงาม ใช้คนน้อย ก็เลยหันมาเล่นปักเป้า” เขาพูด
ว่าวปักเป้าเป็นว่าวขนาดเล็กกว่าว่าวจุฬา ไม้อกแกนกลางมีขนาดที่กำหนด 34.5 นิ้ว เป็นว่าวมีหาง มีอาวุธที่เรียกว่าเหนียง ในการแข่งขันว่าวปักเป้าจะคอยหลอกล่อให้ว่าวจุฬาที่มีขนาดใหญ่กว่าลอยลงต่ำมาแล้วใช้เหนียงครอบ ซึ่งจะใช้กำลังคนในการชักน้อยกว่า ส่วนว่าวจุฬาเป็นว่าวที่มีขนาดใหญ่ มีอาวุธที่เรียกว่าจำปาสำหรับเกี่ยวเหนียง หาง และสายป่านของว่าวปักเป้า การหลอกล่อ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระหว่างการแข่งขันของว่าวทั้งสองจึงเป็นเสน่ห์ที่ใครหลายคนรวมถึงบังดี้ติดใจ
หลังจากที่บังดี้รู้ว่าตัวเองสนใจในการเล่นว่าวปักเป้า เขาก็เริ่มเข้าไปช่วยทีมว่าวปักเป้าโดยลองทำในทุกตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นคนทำว่าวปักเป้าเอง คนถือตะกร้าปั่นด้าย คนปล่อยว่าว หรือคนถือรอก ก่อนที่จะลงแข่งขันในปี 2517 ในฐานะคนชักว่าว และหลังจากนั้นไม่นานในปี 2518 บังดี้ก็เริ่มได้เหรียญรางวัลมาห้อยคอก่อนที่จะพัฒนาฝีมือมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันถ้วยรางวัลกว่า 100 ใบของบังดี้ปรากฏอยู่แทบทุกมุมในบ้าน
ความสัมพันธ์ทางสายเลือดของคนเล่นว่าวทั้งสองเป็นไปอย่างดีเยี่ยม บังดี้ถือว่าเป็นลูกชายคนโตในจำนวนพี่น้องสามคนที่สนิทกับพ่อมากที่สุด เขาเรียนรู้จากการเฝ้ามองผู้เป็นพ่อและสอบถามเมื่อมีข้อสงสัย แต่สำหรับการแข่งขันพ่อวินัยและบังดี้ต่างก็เป็นคู่แข่ง โดยทั้งสองเลือกที่จะป้องกันข้อครหาว่าโกงด้วยการที่พ่อวินัยจะไม่เป็นคนชักว่าวจุฬา หากจะต้องยืนอยู่บนพื้นสนามแข่งเดียวกัน
“อินทรีคิ้วขาว” ถือว่าเป็นคนเล่นว่าวที่มีชื่อยุคนั้น แต่สำหรับคนเป็นลูก พ่อยังไงก็เป็นพ่อ
“เขาก็จะสอน แต่เราไม่ค่อยเชื่อเขาหรอก เขาเก่งจุฬา ไอ้เราปักเป้า มันมีแทกติกไม่เหมือนกัน” บังดี้เล่าแล้วตบท้ายด้วยรอยยิ้ม
ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น…ภายในบ้านหลังนี้เราจะพบถ้วยรางวัลมากมายเป็นตัวการันตีถึงความสามารถที่เขาเอาชนะการแข่งขันต่างๆมาได้
การเหลาไม้เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ใช้สมาธิที่สุด และทำให้เขานึกถึงคำสอนของพ่อมากที่สุด
“เต็มไปด้วยสิ่งที่รัก” นอกเหนือจากรูปถ่ายและว่าวที่เป็นตัวแทนของพ่อ ภายในบ้านของช่างทำว่าว เราจะพบอุปกรณ์ต่างๆที่เก็บอยู่ตามหลืบตามมุมบ้าน
อดีตที่หอมหวานในช่วงที่ท้องฟ้าไม่เงียบเหงา วงการว่าวในยุคนั้นเหมือนกับว่าวที่ลอยค้างอยู่ในท้องฟ้า การเล่นว่าวเป็นที่นิยมมาก โดยบังดี้เล่าให้ฟังว่าด้วยความที่พ่อวินัยเป็นคนคุยสนุก มีเพื่อนฝูงเยอะ บางวันพ่อวินัยเดินรอบสนามหลวงก็ไปสอนเด็กแถวนั้นที่กำลังเล่นว่าวกันอยู่จนทำให้เด็กหลายคนที่สนใจว่าวอย่างจริงจังติดสอยห้อยตามกลับบ้านมาเรียนรู้การทำว่าวเต็มใต้ถุนบ้าน แถมด้วยความเก่งของพ่อทำให้ได้รับเชิญไปแสดงในงานว่าวนานาชาติในหลายๆ ประเทศ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปสายลมก็แผ่วลง กีฬาว่าวก็คล้ายจะคลายความนิยม ช่วงหลังจำนวนทีมที่เข้าแข่งขันก็ค่อยๆ ลดลงจนเหลือเพียงทีมหน้าเก่าที่เล่นกันตั้งแต่สมัยยังรุ่นๆ ระยะเวลาในการแข่งขันก็ลดลงจากที่เคยแข่งกันเป็นเดือน ปัจจุบันเหลือเพียง 20 กว่าวัน บรรยากาศที่เคยสนุกสนานก็เหลือเพียงคนที่ยังรักว่าวที่ยังคอยตามเชียร์ ยิ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่มีการย้ายการแข่งขันจากสนามหลวงไปยังวัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม คนที่ติดตามก็ยิ่งน้อยลง สายป่านทางด้านการเงินที่เคยให้การสนับสนุนก็ลดจำนวนเหลือเพียงไม่กี่เจ้า แต่บังดี้ก็ยังยืนหยัดที่จะเล่น เพราะความรู้สึกของเขาต่อการแข่งขันไม่เคยเปลี่ยนไป
“อยากจะเล่น กระตือรือร้นอยากแข่ง มันจะมีสัญญาณเป่านกหวีดเริ่มแข่งก็คิดว่าเมื่อไหร่มันจะเป่านกหวีดสักที อยากรีบเล่นเร็วๆ มันมีความสุข ไม่อยากให้หมดเวลาเลย”
บังดี้เองก็เหมือนกับคนรักว่าวอีกหลายคนที่ยังมีชีวิตเพื่อเฝ้ารอหน้าว่าว “คนที่เล่นว่าวพอถึงหน้าว่าวเขาจะแข็งแรงทันทีนะ อายุเยอะๆ ตอนประชุมก่อนแข่งก็บอกพี่ไม่รู้จะไหวไหม ถึงหน้าว่าววิ่งปร๋อเลย คนแก่ๆ เขาก็รอเล่นว่าว”
จนถึงวันนี้บังดี้เองก็ยังรอให้ถึงหน้าร้อนเดือนมีนาคม-พฤษภาคมของทุกปีที่จะมีการแข่งขันว่าว เมื่อถามว่าจะยังลงแข่งถึงเมื่อไหร่
“ก็ยันตาย ยันไม่ไหว” บังดี้ตอบกลับมาด้วยเสียงมุ่งมั่น ดวงตาเป็นประกาย
กรกมล ศรีวัฒน์
หญิงสาวหัดเขียน ผู้กำลังแสวงหาความสุข เชื่อว่าฤดูกาลของตนเองกำลังจะมา (เสียที)
……..
ทิพย์มณี ตราชู (พลอย)
เราชอบพูดผ่านภาพถ่าย ซึ่งเราหวังว่าคำพูดของเราจะสามารถสร้างสิ่งดีๆหรือเป็นพลังให้กับคนอื่นๆได้บ้าง