คุณผู้อ่านที่รัก นิตยสาร สารคดี

ฉบับเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑ เป็นฉบับที่ ๔๐๐ แล้วครับ

เลขสวยแบบนี้ทีมงานช่วยกันคิดมาแต่ต้นปีว่าควรทำเรื่องอะไรขึ้นปก เพื่อให้ตัวเลข ๔๐๐ มีความหมายพิเศษ

ย้อนไป ๔๐๐ ปี หาดูว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อในอดีต

สัมภาษณ์คน ๔๐๐ คนที่น่าสนใจ

หรือจัดอันดับสิ่งของประดามี ๔๐๐ จำพวกที่สำคัญต่อโลก

ยังมีอีกหลายความคิด แต่ดูเหมือนจะไม่มีทางไหนชัดเจน

ที่สุดตัวเลข ๔๐๐ มาลงที่อายุ

ไม่ใช่อายุของใคร แต่เป็นของ “พลาสติก” วัสดุมหัศจรรย์ที่อยู่รอบตัวเรา

ตามการประเมิน เขาว่าขวดน้ำดื่มพลาสติกใช้เวลา ๔๕๐ ปีถึงจะย่อยสลายหมด

บางสำนักว่า ๕๐๐ และบ้างว่าอยู่ยาวไปถึง ๑,๐๐๐ ปี

ตัวเลขเหล่านี้มาจากสถานการณ์สมมุติว่าขวดพลาสติกถูกปล่อย

ทิ้งกลางแจ้งให้รับรังสียูวีไปทุก ๆ วันจนมันค่อย ๆ แตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ  แหลกเป็นผุยผงและกลายเป็นอณู

เอาเข้าจริงไม่ใช่การนับปีเป๊ะ  สาระสำคัญคือ มันหมายถึงเวลาที่นานมาก หลายชั่วรุ่นคน

ย้อนไปในทศวรรษ ๑๙๘๐ ในป่ารัฐมิสซูรี ลูกเต่าตัวหนึ่งเผลอเดินเข้าไปในห่วงขยะพลาสติก ลักษณะเป็นห่วงหกวงสำหรับยึดแพ็กกระป๋องเครื่องดื่มครึ่งโหล

สิบปีต่อมามันได้รับการช่วยเหลือ ตัดห่วงรัดกลางตัวออก และได้รับการตั้งชื่อว่า Peanut

ห่วงพลาสติกที่ว่านี้ ข้อมูลจากหน่วยงานดูแลป่าไม้ของสหรัฐฯ ระบุว่าใช้เวลาย่อยสลาย ๔๐๐ ปี

เต่าอายุยืนที่สุดประมาณ ๒๐๐-๒๕๐ ปี

วาฬชนิดที่อายุยืนที่สุดก็ประมาณ ๒๐๐ ปี

อายุของพลาสติกยืนยาวกว่าอายุของ Peanut และสัตว์ส่วนใหญ่

แม้กระดองกลางตัวที่คอดกิ่วของ Peanut จะไม่คืนสภาพมาเหมือนเต่าปรกติ แต่มันก็มีอายุยืนมาถึงปัจจุบัน ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงสะท้อนปัญหาขยะพลาสติกแก่คนทั่วโลก

เร็ว ๆ นี้นักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบสัตว์ที่อายุยืนถึง ๔๐๐ ปี คือฉลามกรีนแลนด์ โดยการตรวจสอบอายุด้วยคาร์บอน-๑๔ ที่เลนส์ตาของฉลาม

แต่นิตยสาร สารคดี รู้ตัวดีว่าคงอยู่ไม่ถึงปีที่ ๔๐๐ จึงขอใช้ฉบับที่ ๔๐๐ เชิญชวนคุณผู้อ่านที่รัก มาทบทวนอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของการอยู่ร่วมกับพลาสติก

เพราะมันจะยังอยู่กับเราไปอีกนาน ไม่ว่าจะรักหรือชัง - แต่ขอให้รัก สารคดี นาน ๆ นะครับ

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสาร สารคดี
suwatasa@gmail.com