ชื่อจริงและชื่อเล่น (๑)
ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
คนไทยโบราณแบ่งคนออกเป็นชั้นๆ ตามชาติกำเนิด เช่นมีคนชั้นนาย คนชั้นไพร่ หรืออาจพอเรียกรวมๆ ได้ว่า มี “ผู้น้อย” กับ “ผู้ใหญ่” อย่างที่เคยเล่ามาแล้วว่า เมื่อตัว “เป็นผู้น้อย” ก็ “ต้องก้มประนมกร” คือต้องมีแบบแผนในการพูดจาและปฏิบัติตัวกับ “ผู้ใหญ่”
เช่นเอาส่วนที่สูงที่สุดของตัว ได้แก่หัวหรือสิ่งที่อยู่บนหัว เช่น “ผม” หรือ “เกล้ากระผม” มาใช้แทนตัว พร้อมกับเอ่ยอ้างถึงอีกฝ่ายหนึ่งที่เป็น “ผู้ใหญ่” ซึ่งเหนือกว่า ได้เพียงส่วนที่ต่ำที่สุด เช่น “ใต้เท้า”
หรือในกรณีที่ยิ่งกว่านั้นขึ้นไปอีกก็ถึงกับต้องลดตัวลงไปเป็น “สัตว์” ดังที่มีผู้ค้นคว้าไว้ว่า “ดิฉัน” หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า “ฉัน” กร่อนมาจากคำดั้งเดิมที่ใช้เรียกตัวเองว่า “เดรัจฉาน” คือสัตว์ที่เคลื่อนที่ไปในแนวราบ มิได้ยืนตัวตรงเยี่ยงมนุษย์
เมื่อเป็นดังนี้ การที่ “ผู้น้อย” หรือใครก็ตาม จะไปเรียก “ผู้ใหญ่” ด้วยการออกชื่อตัวย่อมเป็นสิ่งต้องห้าม
ธรรมเนียมนี้มีอยู่ทุกระดับชั้น ตั้งแต่ในครอบครัว
ลูกๆ จึงไม่อาจเรียกพ่อแม่ด้วยชื่อตัว เหมือนเด็กอนุบาลสมัยนี้บางทีจะเรียก “พ่อ” หรือ “แม่” ตามด้วยชื่อเล่นของพ่อแม่ เช่น พ่อเบิร์ด แม่แอน แต่คนโบราณย่อมไม่อาจแม้แต่จะคิด เด็กๆ มีสิทธิเรียกบิดามารดาเพียงว่า “พ่อ” หรือ “แม่” เฉยๆ เท่านั้น ถ้าพ่อมียศถาบรรดาศักดิ์ ก็ต้องบวกรวมเข้าไปด้วย เช่นพ่อเป็นพระยา ลูกก็ย่อมต้องเรียกว่า “เจ้าคุณพ่อ” เป็นต้น
ในหนังสือชีวประวัติของคนรุ่นเก่าๆ ที่เคยผ่านตา มีไม่น้อยที่ลูกๆ เรียกบุพการีตามบ่าวไพร่ในบ้านซึ่งเป็นพี่เลี้ยงเด็กด้วยซ้ำ หลายบ้านจึงมีธรรมเนียมเรียกแม่ว่า “นาย” “นายแม่” หรือ “คุณท่าน” ตามอย่างที่เด็กได้ยินคำเรียกขานเจ้านายของบ่าวไพร่ จนคุ้นหู แล้วเลยติดปาก เรียกกันมาตลอดทั้งชีวิต
กระทั่งชื่อหลายกลุ่มชาติพันธุ์ตามท้องถิ่นต่างๆ ในอดีต ล้วนถูกเรียกด้วยทัศนะในสายตาของ “นาย” ณ เมืองหลวง พวกเขาจึงเป็นได้เพียง “ข่า” (ข้ารับใช้) เป็น “ยาง” (คนป่า) เป็น “เงาะป่า” หรือแม้แต่เป็น “ส่วย” (เครื่องบรรณาการที่ถูกส่งมาแทนเงินภาษี)
ในรัฐชาติสมัยใหม่ที่พลเมืองมีสถานะเท่าเทียมกัน กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ในอดีตถูกกดเรียกให้เป็นคนต่างชั้น เป็นคนป่าคนดง หรือเป็นสิ่งของ จึงย่อมมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะเรียกร้องให้สังคมเรียกพวกเขาเสียใหม่ ด้วยนามอันแท้จริงของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกต้องเหมาะสม
ศรัณย์ ทองปาน
เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี