ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 14
งานเขียนดีเด่น
เรื่อง : ธันยพร วงศ์ธิติโรจน์
ภาพ : จิตราภา บำรุงใจ

ลิฟต์ ยา บันได

การทำยาของที่ร้านอินทรโอสถแตกต่างจากที่อื่นเพราะใส่ใจทุกขั้นตอนของการผลิต

“ยาสมุนไพรขึ้นบันได…ยาสมัยใหม่ขึ้นลิฟต์”
ปรัชญาจากปราชญ์ยา แวบผ่านเข้ามาในโสตประสาทหูชั้นใน
ทำให้ฉุกคิดว่า… ลิฟต์ หรือบันได…อันไหนดีกว่ากัน?

ลิฟต์/ยาปัจจุบัน
ง่ายและสบาย สิ่งประดิษฐ์ที่สร้างโดยเครื่องจักรสมัยใหม่สามารถพาไปถึงจุดหมายได้โดยเร็ว พื้นที่สี่เหลี่ยมแคบที่หลายคนเลือกที่จะเอาตัวเบียดเสียดเข้าไปกระจุกอยู่ในนั้นเพื่อแลกกับการไม่ต้องพยายาม ไม่ต้องทำอะไรมากก็ถึงจุดหมายแล้ว สภาพร่างกายที่ผ่านแรงดันความเร็วสูงจะเสื่อมโทรมหรือไม่…ใครจะไปรู้

บันได/ยาสมุนไพร
ใช้มือทำและแรงงานคนในการสร้าง เป็นสิ่งที่คิดค้นขึ้นมาได้ก่อนการเกิดลิฟต์ การที่จะไปสู่จุดหมายชั้นบนต้องใช้ความมานะบากบั่น เหนื่อยหน่อย หน่ายง่าย แต่ระหว่างทางทุกย่างก้าวล้วนมีความหมาย ยิ่งก้าวขึ้นยิ่งได้เหงื่อมาก แต่ทุกหยดที่แลกไปนั้นช่วยเสริมสร้างสุขภาพร่างกายได้ดี

จะมีบันไดไปทำไม…ในเมื่อทุกคนขึ้นแต่ลิฟต์?
“เหม็นจะตาย ขมจะตาย ช้ากว่าจะหาย ต้องกินไปเรื่อยๆ”
ในขณะที่ใครๆ แห่เข้าร้านยาแผนปัจจุบันเพราะความสะดวกและมั่นใจ ยอมรับได้ในระดับสากล ทำให้กระแสความต้องการยาของโลกพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนนับได้ว่าเป็นตลาดที่ทำกำไรมากที่สุดในโลก นักการตลาดยิ่งพุ่งตัวเข้ามา ปวดหัวนิดก็ให้ฉีกซองพาราฯ กินกันแล้ว

กรมพัฒนาธุรกิจการค้ารายงานว่า ธุรกิจร้านขายยา-เวชภัณฑ์เติบโตแบบก้าวกระโดด เพิ่มขึ้นถึง 9,000 รายภายใน 3 ปี เครื่องจักรผลิตยาก็ต้องเร่งกำลังขึ้นไปทุกวัน ข้อมูลจากบริษัทขายเครื่องผลิตยายักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศไทยระบุว่า สเปกเครื่องผลิตยาที่เร็วที่สุด ณ เวลานี้มีกำลังการผลิตถึง 1,200 เม็ดต่อนาที หรือเพียง 1 นาทีก็มียากินรักษาโรคได้ทั้งปี

ฝั่งเทคโนโลยีวงการยากำลังพัฒนากันอย่างคึกคัก แต่ในทางกลับกันสายอาชีพเดียวแต่ต่างสุดขั้วต้องสุ่มเสี่ยงกับการรับมือกับกระแสนี้ …อาชีพเภสัชกรร้านขายยาสมุนไพรโบราณ …หลายร้านจำต้องปิดตัวลงเพราะไม่อยากทนรับกับความเจ็บปวดทางใจ เลยเลือกที่จะผันตัวไปรักษาความเจ็บปวดทางกายให้กับคนอื่นด้วยการขายยาปัจจุบันตามแบบกระแสหลัก

ทว่ามีบุคคลใจแกร่งที่ไม่เคยแม้สักนิดที่จะคิดกังวลใจ ใช้เวลาอย่างน้อย 6 ชั่วโมงในการตำ บด สับ ยาสมุนไพรอย่างขะมักเขม้น เพื่อที่จะได้ยาออกมาหนึ่งชนิดไว้ปรุงหุงต้มรักษากาย ขอท้าทายอำนาจคลื่นยักษ์ใหญ่ด้วยพลังแห่งธรรมชาติและอุดมการณ์ที่มั่นคงของวงศ์ตระกูล…

ลุงนพดล หรือที่ชาวบ้านในตลาดเรียกกันว่าหมอเล็ก

การสับยา เพื่อให้สรรพคุณได้ออกฤทธิ์ได้ดียิ่งขึ้น โดยยาทุกตัวที่ทำที่ร้านอินทรโอสถ คุณลุงเป็นคนทำเองทุกขั้นตอน

กำลังสาธิตวิธีการจัดยาต้มให้ดูว่า กว่าจะมาเป็นยาต้มให้เราได้ต้มกินนั้นมีส่วนผสมมาจากอะไรบ้าง

อินทรโอสถ บางยี่เรือ ธนบุรี

ณ ห้องแถวขายยาขนาดกำลังน่ารักแห่งหนึ่ง หน้ากว้างประมาณ 4 เมตร ด้านบนติดป้ายไม้สีเขียวที่ลงจารึกด้วยหยดหมึกสีเหลืองทองอร่าม เขียนลายมือแบบอักษรโบราณว่า “อินทรโอสถ บางยี่เรือ ธนบุรี”

เปิดมาใกล้ 100 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2468 โดยจ่านายสิบเหม็ง ทหารเรือชาวจีน ปัจจุบันที่แห่งนี้เป็นร้านยาสมุนไพรไทยในตำนานแห่งเดียวที่เหลืออยู่ในใจกลางตลาดพลู ชุมชนย่านวัดราชคฤห์

เดินลัดเลาะจากสถานีรถไฟฟ้าตลาดพลูเพียง 15 นาทีก็จะพบกับร้านยาที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นต่างจากร้านค้าเพื่อนบ้าน ด้วยการที่ใช้บานประตูไม้เก่าแก่ลงกลอน ในขณะที่บ้านอื่นๆ ใช้ประตูเหล็กกันหมดแล้ว มีลิ้นชักเก็บยาพร้อมป้ายชื่อยาสมุนไพรกว่า 100 ชนิด

“นี่คือลิ้นชักปืน… ใครมาก็พร้อมควักสมุนไพรออกมาสู้โรค” เจ้าของร้านพูดแกมหัวเราะติดตลก

ตาชั่งทองเหลืองแท้ตั้งวางอยู่บนโต้ะหน้าร้านเป็นสัญลักษณ์แห่งการผดุงความยุติธรรมเอาไว้ชั่งจ่ายยาตามจำนวนที่กำหนดไว้ คนในย่านตลาดพลูจะรู้จักปราชญ์ยาแห่งสมุนไพรไทยวัย 56 ปีในชื่อ “หมอเล็ก” หรือ นพดล สรแพทย์​ ผู้ที่แค่เห็นเงาใบไม้ก็สามารถหยั่งรู้ได้ว่าเป็นพิษหรือเป็นยา

ยาสมุนไพรของหมอเล็กจะแตกต่างจากของที่อื่น แม้หน้าตาจะคล้ายกันไปหมด ลักษณะคล้ายขอนไม้สีน้ำตาลหรือใบไม้แห้งๆ จริงๆ แล้วสมุนไพรพวกนี้ต่างกันมาก ผู้รู้เท่านั้นถึงจะสามารถจัดเรียงจัดยาได้ถูกต้อง

“มีบางคนเข้ามาทำเป็นถามแล้วซื้อไปเลียนแบบสูตร แต่พวกเขาทำไม่ได้หรอก” หมอเล็กกล่าวพร้อมรอยยิ้มมุมปาก “ถึงตัวยาสมุนไพรจะเหมือนกัน แต่รสชาติและการรักษาให้หายนั้น…ต่างกันสิ้นเชิง!”

หมอเล็กได้ยื่นผงยาหอมให้ลองชิม นุ่มเมื่อสัมผัสกับปลายลิ้น วินาทีที่กลืนกินลงไปในลำคอ รู้สึกได้เลยถึงความหวานเย็นชุ่มสุดทะลุไปถึงใจ ที่น่าสนใจคือกลิ่นของยาหอมก็รักษาใจให้ผ่อนคลายลงไปด้วย เนื้อยาที่ละเอียดยิบทำให้สามารถเข้าไปเกาะได้ในทุกส่วนของร่างกาย

วิธีร่อนยาหมอเล็กจะร่อนบนแร่งยาที่ทำมาจากผ้าแก้วคล้ายผ้าคลุมผมเจ้าสาวชนิดพิเศษ ละเอียดราวกับใช้นาโนเทคโนโลยีในการผลิตให้เล็กทุกอณู แต่จริงๆ แล้วนี่คือของแฮนด์เมด (hand-med) หรือยาที่ทำด้วยมือ ทำให้เข้าใจแล้วว่าสูตรลับของร้านอินทรโอสถที่ทำให้มีชื่อยาวนานเกือบ 100 ปี แท้จริงแล้วไม่มีอะไรเลยนอกจากการรักษาด้วย “ใจ”

การชั่งน้ำหนักยาก่อนจะบรรจุลงในถุง ทุกอันชั่งด้วยตาชั่ง หน่วยวัดเดียวกับทองคำ คือชั่งเป็นบาท 1 บาทเท่ากับ 15 กรัม

ภาพคุณพ่อของคุณลุงนพดลที่เป็นคนสอนการจัดยาให้กับคุณลุงนพดล

หลังจากที่จัดยาเสร็จแล้วคุณลุงนพดลก็เล่าถึงสรรพคุณของยาต้มให้ฟัง

 

สูตรยาใจทั้ง 5 (แบบฉบับอินทรโอสถ)

1. ใจรัก : ตอนสมัยเรียนเชื่อว่าหลายคนคงเคยผ่านตาบ้างกับการท่องจำสรรพคุณของพืชในการรักษา เป็นวิชาที่ค่อนข้างได้คะแนนน้อยเพราะตัวอยู่ห่างไกลจากธรรมชาติ ทำให้ไม่เข้าใจถึงแก่นแท้ แต่หมอเล็กสามารถจำได้พืชสมุนไพรทุกชนิดในหนังสือหนังสือตำรับยาสมุนไพรไทยโบราณ ชื่อยา/ชื่อวงศ์/คุณลักษณะ/สรรพคุณ

“อ่านมันทุกเล่มแล้วจำได้หมดด้วย” หมอเล็กพูดพลางหยิบคลังหนังสือสมุนไพรเก่าให้ดู

ตำราแต่ละเล่มล้วนบาง เก่า รุ่ย ต้องจับด้วยความทะนุถนอมเป็นอย่างมาก เพราะกระดาษแต่ละหน้าได้ผ่านมาแล้วหลายมือของบรรพบุรุษ สืบทอดหลายทศวรรษ ทุกๆ ครั้งที่ฟังหมอเล็กบรรยายเกี่ยวกับยาสมุนไพรจะเห็นนัยน์ตาเปล่งประกายเสมอ

2. ใส่ใจ : ในทุกขั้นตอนการผลิตหมอเล็กจะตรวจเช็กคุณภาพยาก่อนนำไปสู่กระบวนการห่อยาส่งรักษาเสมอ เริ่มตั้งแต่การไล่ความชื้นจากเนื้อยา การตากยาให้แห้ง การบดร่อนยา ไปจนถึงการคั่วไฟอ่อนให้ยาอยู่นานขึ้น เขาเชื่อว่าร่างกายก็เปรียบเหมือนบ้านที่ต้องทำให้สะอาด ยาที่ดีจะเข้าไปล้าง รักษาให้เกิดผลดี ลูกค้ากินอย่างไรครอบครัวหมอเล็กก็ต้องกินเหมือนกัน ดังนั้นยาสมุนไพรของที่นี่จะรับประกันความปลอดภัย ผ่านการตรวจสอบจากกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้หมอเล็กยังใส่ใจสารทุกข์สุกดิบผู้อื่น มีลูกค้าหลายคนมารักษาโรคปวดใจกับหมอเล็ก หลักการปล่อยวางเป็นสิ่งที่ปราชญ์ยาผู้นี้ย้ำสอนเสมอ

3. ภูมิใจ : ยาไทยหล่อเลี้ยงอยู่ในสายเลือด ปู่ของหมอเล็กไม่ธรรมดา จ่านายสิบเหม่ง เคยเคียงบ่าเคียงไหล่ช่วยรักษาโรคร่วมกับกรมหลวงชุมพรฯ องค์บิดาของทหารเรือไทย ด้วยคุณงามความดีของบรรพบุรุษนี้ทำให้หมอเล็กได้ร่วมใช้นามสกุลสรแพทย์ซึ่งเป็นนามสกุลพระราชทาน เป็นแรงบันดาลใจผลักดันให้หมอเล็กดำเนินกิจการมาได้ทุกวันนี้

4. จริงใจ : “จริงๆ แล้วธุรกิจยาทำกำไรได้เป็นอันดับต้นๆ ของโลกเพราะทุกคนเลี่ยงการป่วยไม่ได้”

เภสัชกร ดร.แสงสุข พิทยานุกุล เคยกล่าวไว้ในงานสัมมนาพารวยแห่งหนึ่ง ยาสมุนไพรบำรุงอายุวัฒนะหนึ่งถุงตามร้านขายยาอื่นๆ สามารถคิด 500-700 บาทได้เพราะมีสมุนไพรที่หลากหลายและหาได้ยาก

แต่หมอเล็กคนนี้ไม่ทำ ด้วยแนวความคิดที่ว่าเขาซื้อเราเพื่อนำไปรักษาโรค เราเห็นเขาหายเท่านี้ก็พอใจแล้ว หมอเล็กกล่าวพร้อมไม่รีรอจัดชั่งยาบำรุงปรับสมดุลร่างกายให้อย่างคล่องแคล่ว สมุนไพรไทยกว่า 20 ชนิด รสหวานอ่อนๆ ชุ่มคอ มีราคาเพียง 350 บาทต่อถุง ซึ่งสามารถนำไปต้มกินบำรุงกันทั้งบ้าน…ได้เป็นเดือน…

เกิดการบอกต่อเพราะความดีปิดไม่มิด

5. ห้ามใจ : อีกหนึ่งสูตรสำคัญที่สุดของหมอเล็กคือการกินอาหารที่ถูกต้องกับร่างกาย ทุกวันนี้ความเร่งรีบทำให้อาหารการกินเปลี่ยนไปด้วย “ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับอาหารการกิน” จะกินอะไรหมอเล็กเตือนให้ระมัดระวังเสมอ เช่น กรดไหลย้อนควรหยุดกล้วยหอม อาการแพ้ควรหยุดปลาร้า/อาหารรสจัด หรือปวดประจำเดือนควรหยุดมะระกับหน่อไม้ เป็นต้น ศาสตร์เหล่านี้ผ่านการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า รุ่นสู่รุ่น สังเกต จดจำ และบอกต่อ ในยุคที่ไม่มียาเม็ด มีแต่เพียงธรรมชาติที่หยิบยื่นมาช่วยรักษา เหลือเพียงว่าเราจะเห็นคุณค่าของพืชพรรณไหม

…….

ลิฟต์หรือบันไดดีกว่ากัน?
คำตอบคงเป็นความเห็นส่วนบุคคล
แต่สลับขึ้นลิฟต์บ้างลงบันไดบ้างก็น่าจะดี
หรือบางทีระหว่างสถานการณ์ฉุกเฉิน ทางหนีไฟอาจเหมาะมากกว่า
หรือในวันที่ลิฟต์ไม่เหมาะสำหรับการใช้งาน บันได…อาจเป็นทางออก


ธันยพร วงศ์ธิติโรจน์
Simpear – ธันยพร วงศ์ธิติโรจน์​ 24 ปี
หลง : ในเสียงธรรมชาติ
ใหล : ในความสงบเย็น
รัก : ในสารคดี เพราะสารคดี คือสาระ+ความดี

เป็นคนกรุงเทพฯ ตัวย้ายมาอยู่เชียงใหม่
เพราะรายล้อมเต็มไปด้วยสิ่งที่”หลงใหล”และได้ทำในสิ่งที่ใจ “รัก”

……..

จิตราภา บำรุงใจ
ช่างภาพ “สารคดีเรื่อง ลิฟต์ ยา บันได”