ชื่อจริงและชื่อเล่น (๒)
ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
ในสังคมที่ใหญ่ขึ้น ยิ่งเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ยิ่งไม่มีใครบังอาจไปเรียกขานพระนาม ยิ่งไปกว่านั้น พระปรมาภิไธยของกษัตริย์โบราณที่จารลงในพระสุพรรณบัตรยังมักซ้ำๆ กันเป็นสูตรสำเร็จตามธรรมเนียม การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยส่วนใหญ่จึงต้องหันไปยึดเอาพระนามอย่าง “ลำลอง” มาใช้ เพื่อให้ทราบว่ากล่าวถึงพระองค์ใด
พระนามของกษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยาหลายพระองค์ที่รู้จักกันในปัจจุบันล้วนเป็นพระนามทำนองนี้ทั้งสิ้น เช่น พระเจ้าท้ายสระ ก็เรียกตามคำขุนนางในยุคนั้นที่หมายเอาสถานที่ประทับของพระองค์ คือพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ซึ่งอยู่ท้ายสระน้ำทางทิศเหนือของพระบรมมหาราชวัง ส่วนกษัตริย์พระองค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยาผู้เสด็จไปประทับ ณ พระที่นั่งสุริยาสอมรินทร์หรือสุริยามรินทร์ จึงมีพระนามรัชกาลเรียกตามนามพระที่นั่งดุจเดียวกัน
ในบรรดาพระบุรพกษัตริย์ของอยุธยา มีที่ออกพระนามแปลกพิเศษไปพระองค์หนึ่ง คือพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศในยุคอยุธยาตอนปลาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระราชพิธีสิบสองเดือน” ตอนพระราชพิธีเดือน ๓ ว่า
“…ขออธิบายนอกเรื่องหน่อยหนึ่ง ว่าการที่เรียกพระบรมราชาธิราชพระองค์นี้ ว่าพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศติดมาจนปัจจุบันนี้นั้น เพราะเป็นพระราชบิดาของเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต ที่เรียกกันว่าขุนหลวงหาวัด ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ ๓๒ และเจ้าฟ้าเอกทัศน์ ซึ่งเป็นกรมขุนอนุรักษ์มนตรีพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเรียกว่าพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ที่สุดบรมราชวงศ์นั้น คำที่เรียกในพระบรมโกศ เรียกมาแต่แผ่นดินของพระองค์ที่ออกพระนามก่อนแต่อยู่ในราชสมบัติน้อยวัน และยังทรงพระชนม์อยู่ ไม่ได้เป็นที่ในพระบรมโกศแทนพระองค์ก่อน ฉายาบรมโกศจึงได้ติดอยู่ในพระบรมราชาธิราชซึ่งเป็นผู้อยู่ในพระบรมโกศภายหลังใครๆ หมด การซึ่งเรียกติดต่อมาถึงที่กรุงเทพฯ นี้ก็ด้วยเหตุว่า เจ้านายและข้าราชการก็ล้วนแต่เป็นขุนนางเก่า เคยเรียกติดปากมาแต่กรุงยังไม่เสียแล้ว…ในพระบรมโกศเก่าท่านไม่มีฉายาอื่น ก็คงเรียกในพระบรมโกศอยู่ตามเดิม แต่มักจะเข้าใจกันเฉๆ ไป มีผู้ถามข้าพเจ้าว่าทำไมท่านถึงชื่อโกศเช่นนั้น…ก็ต้องอธิบายตามเช่นกล่าวมานี้…”
สรุปความให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ กษัตริย์องค์ที่เรียกกันว่า “พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” นั้น ที่จริงก็มีพระนามเฉพาะแต่ภายหลังเสด็จสวรรคต กษัตริย์รัชกาลต่อมาอีกสองพระองค์ล้วนเป็นพระราชโอรส ข้าราชการยุคนั้นจึงออกพระนามติดปากกันว่า “พระเจ้าอยู่หัว(ในพระ)บรมโกศ” แล้วหลังจากนั้นก็สิ้นราชวงศ์บ้านพลูหลวงไปพร้อมกับกรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึกในปี ๒๓๑๐ คนรุ่นหลังจึงออกพระนามนี้ติดปากเรื่อยมา จนบางคนเผลอคิดไปว่าเป็นพระนามจริงๆ
ดังนั้นหากมีนิยายประเภทย้อนยุคข้ามเวลาอย่างที่นิยมกันสมัยนี้ ประมาณว่ากลับไปสมัยอยุธยาตอนปลาย แล้วพระเอกในอดีตบอกว่า “ออเจ้ารู้ไหม นี่เราอยู่ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศกันนะ” ก็ไม่มีทางอื่น นอกจากผู้เขียนจะต้องถูกประณามว่า “มั่ว” และ “ชุ่ย” !