ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 14
งานภาพดีเด่น
นันทิศา แดงนรรักษ์รัศมี : เรื่อง
แพรว ศิริอุดมเศรษฐ : ภาพ

ขนมบดิน- บันทึกชีวิตบดินแห่งสวนพลู

เดิมขนมบดินเป็นขนมที่ทำขึ้นเฉพาะวันพิเศษและเป็นที่รู้จักกันแค่ละแวกมัสยิดสวนพลู แต่ทุกวันนี้ขนมบดินเป็นที่รู้จัก มีลูกค้าสั่งซื้อจากทั่วประเทศ และกลายเป็นของดีของย่านตลาดพลู

วันนี้วันที่ 15 มิถุนายน 2561 ตรงกับเทศกาลฮารีรายอ วันสิ้นสุดเดือนรอมฎอนและสิ้นสุดการถือศีลอดของชาวมุสลิมซึ่งกินเวลาตลอดทั้งเดือนที่ผ่านมา ร้านขนมบดินชุมชนมัสยิดสวนพลูของป้าเล็ก ยุพินดูเงียบกว่าปรกติ ไม่มีการตั้งร้านขายขนมเช่นทุกวัน

ต่างจากตลอดสี่ห้าวันก่อนอย่างสิ้นเชิง ตอนนั้นที่นี่กลายเป็นโรงงานผลิตขนมบดินขนาดย่อม ทุกคนต้องตื่นเช้ากว่าปรกติ เดิมเคยตื่นตี 5 6 โมง ก็ต้องปรับเป็นตี 3 ถาดไข่ไก่หลายแถวตั้งเป็นชั้นสูงท่วมหัวคุณยายที่กำลังนั่งตอก กระป๋องนมข้นเปิดวางเรียงซ้อนกันเยอะจนนับไม่ไหว ถาดขนมเปล่าสีเงินวางซ้อนสลับเหลี่ยมเหมือนรูปดาวแปดแฉก ส่วนที่เสร็จแล้ววางเรียงรายอยู่บนโต๊ะไม้ตรงข้ามกับเตาอบที่เปิดอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับทุกๆร้านในย่านนี้ และเฉพาะในช่วงนี้เปลี่ยนจากเน้นขายหน้าร้านมาเน้นทำตามออร์เดอร์แทน

เราเดินไปหาและสวัสดีคนในร้าน บี ลูกสาวของยุพินบอกว่าผู้คนไปรวมตัวกันที่มัสยิด วันนี้ขนมของร้านเองส่วนหนึ่งก็ส่งไปที่นั่นตามออร์เดอร์ของลูกค้าที่ต้องการทำบุญ

ตามถนนเห็นพี่น้องชาวมุสลิมเดินผ่าน จุดหมายคือมัสยิดสวนพลู วันนี้คนมากกว่าปรกติหลายเท่า ดึงดูดความสนใจให้เราตามไปที่นั่น ผู้คนเรือนพันทุกเพศทุกวัย รวมถึงคนต่างชาติต่างภาษาอย่างพม่า อินโดนีเซีย อินเดีย ปากีสถาน และชาวมุสลิมจากที่อื่นมากันเต็มไปหมด เสื้อผ้าที่ใส่มีทั้งชุดโต๊บแบบดั้งเดิม และเสื้อผ้าสมัยใหม่แล้วแต่คนจะเลือกใส่แบบไหนไม่มีการบังคับ ชั้นล่างของโรงเรียนศาสนธรรมวิทยาสวนพลูมีสำรับอาหารคาวหวานวางเต็มไปหมด เตรียมไว้เลี้ยงผู้มาทำบุญหลังเสร็จงาน เท่าที่เห็นมีแกงเขียวหวาน ขนมจีน ข้าวมันไก่ ข้าวหมกไก่ มัสมั่น ไข่เจียวชะอม ปลาทูทอด ทองหยอด ฝอยทอง ขนมถ้วยฟู มังคุด ลองกอง สารพัดสารพัน รวมไปถึงเป้าหมายหลักของเรื่องราวครั้งนี้ “ขนมบดิน”

ขนมบดินแต่ละร้านจะมีการแต่งหน้าขนมแบบเฉพาะตัว แต่โดยหลักจะใช้ของคล้ายๆ กัน คือ ลูกเกด ถั่วลิสง มะเขือนำเข้าจากจีน และฟักเชื่อม

เมื่อใกล้สิ้นเดือนเราะมะฎอน ร้านขนมบดินทุกร้านในย่านจะมียอดสั่งซื้อเข้ามามากกว่าปรกติ ในร้านจะเต็มไปด้วยกระป๋องนมข้นหวาน ถุงแป้ง น้ำตาลและแผงไข่จำนวนมาก

ที่ร้านกำลังช่วยกันตรวจสอบและห่อขนมสำหรับส่งไปรษณีย์ไปให้ลูกค้าที่สั่งขนมจากทั่วประเทศในช่วงก่อนออกบวชเราะมะฎอน

เรามาที่นี่หลายครั้ง แต่หากจะพูดถึงครั้งแรกที่มาตลาดพลูนั้นจำได้ว่าเป็นช่วงสายๆ แดดจ้ามาก คณะของเราเดินตามกันเข้าไปในซอยเล็กๆ ซอยหนึ่งตรงข้ามสำนักงานเขตธนบุรี โชคดีที่อากาศวันนั้นไม่ได้ร้อนจนเกินไป เดินเข้าไปสักพักหนึ่งเกือบถึงทางเลี้ยว เราก็ได้เจอกับร้านบ้านขนมบดิน สวนพลู ตัวร้านสังเกตไม่ยาก จะมีซุ้มที่ใช้ทำโรตีและวางขนมบดินที่ทำเสร็จใหม่พร้อมขายอยู่หน้าร้าน แม่ค้าสามสี่คนแทบทุกคนสวมฮิญาบ มองเผินๆ ไม่มีใครอยู่ว่าง ต่างคนต่างง่วนอยู่กับการทำขนมแบบต่างๆ ทั้งโรตี มะตะบะ สาคู และขนมบดิน พอเห็นพวกเรามาถึงก็รีบออกมาต้อนรับ ยิ้มหวานให้ทั้งปากและตา แอบนับถือในใจ กลุ่มของเรามากัน 20 กว่าคน มาทั้งเก็บภาพและสอบถาม แน่นอนว่าต้องใช้เวลาพอสมควร จะไหวกันไหมนะ แต่สุดท้ายตั้งแต่ต้นจนจบเราก็ไม่เคยเห็นเค้าความหงุดหงิดใดๆ ปรากฏบนตัวพวกเขาเลย

ทำไมถึงชื่อตลาดพลู ชื่อนี้มีที่มาจากการเป็นพื้นที่ปลูกและค้าขายพลูใหญ่ที่สุดในประเทศตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีล่วงมาจนรัตนโกสินทร์ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป การปลูกและค้าขายพลูเสื่อมความนิยมลง เกิดเอกลักษณ์ใหม่ขึ้นมาภายใต้ชื่อเดิม แต่เพิ่มเติมคือเลื่องชื่อมากด้านอาหารการกิน ทางราชการเองก็ทราบและส่งเสริมในจุดนี้ มีการเปิดตลาดกลางคืนเป็นช่วงๆ ทำให้สามารถดึงดูดผู้คนได้จากทุกสารทิศ ของกินที่ขึ้นชื่อส่วนใหญ่จะเป็นอาหารของคนจีน เช่น หมี่กรอบจินหลีที่เคยถวายเป็นเครื่องเสวยในหลวงรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จฯ ผ่านมายังย่านตลาดพลู ข้าวหมูแดงหมูกรอบ หรือก๋วยเตี๋ยว แต่ในฝั่งของหวานนี้ต่างกัน เพราะนอกจากขนมของชาวจีนที่ขึ้นชื่อแล้วยังมีขนมของชาวมุสลิมที่ก็ขึ้นชื่อไม่แพ้กัน ขนมบดินถือเป็นหนึ่งในนั้น ความพิเศษคือที่นี่เป็นต้นตำรับ ขนมบดินถือกำเนิดเป็นครั้งแรกที่นี่

“เดี๋ยวนี้ทุกๆ ที่รู้จักขนมบดินแล้ว แต่ต้นกำเนิดจริงๆ อยู่ที่นี่ ตลาดสวนพลู บางคนไม่รู้นึกว่าสวนพลูสาทร ไม่ใช่สวนพลูสาทรนะ มีการเปลี่ยนแปลงจากขนมเค้กเพราะว่าญาติผู้ใหญ่สมัยก่อนเขาไปทำงานอยู่ที่สีลม บางรัก แม่บ้านเขาทำขนมเค้กเขาก็กลับมาทำขนมบดิน เปลี่ยนเนยเค้กเป็นเนยกี และไม่มีไส้คล้ายๆ บัตเตอร์ รุ่นแรกที่ทำคือคุณแม่ ได้สูตรมาจากคุณแม่ พี่ป้าน้าอารุ่นแม่มาทำแล้วเราก็ช่วยทำ แล้วเราก็มาดัดแปลง ธรรมดาขนมจริงๆ มันจะเละเหมือนขนมหม้อแกง การทำขนมบดินมีแค่เฉพาะแถบๆ นี้ ภาคกลางอยุธยาก็มีจะเป็นรูปหัวใจๆๆๆ แล้วก็เป็นถาดใหญ่ๆ แล้วก็จะฟู” ยุพิน น้อยปลา วัย 73 ปี เจ้าของบ้านและร้านแห่งนี้เอ่ย น้ำเสียงเล็กกังวานหนักแน่นให้ความรู้สึกอบอุ่นแบบคนสมัยก่อน แววตาที่มองพวกเราสดใสเป็นประกายเหมือนมีความสุขอยู่ตลอดเวลา เทียบจากข้อมูลของผู้รู้ประวัติศาสตร์ชุมชนฝั่งธนบุรี สุดารา สุจฉายา เคยเล่าให้พวกเราฟังว่า ชุมชนมุสลิมที่อยู่ในสวนพลูนั้นโดยเชื้อสายเป็นมลายู มาลงหลักปักฐานกันตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1-3 ตอนนั้นยังไม่มีการคิดค้นขนมบดินขึ้น นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมภาคใต้ไม่มีขนมนี้

ขนมบดิน (จานสีชมพูริมขวาล่างบนถาด) บนถาดอาหารในงานเฉลิมฉลองอีดิ้ลฟิฏริ หรือวันอีดเล็ก ที่มัสยิดสวนพลู ชาวมุสลิมจำนวนมากเดินทางมาร่วมรับประทานอาหารกับครอบครัว

สุชาดา บุญประมาณ (ยามีละห์) ลูกหลานป้าเล็ก เจ้าของร้านบ้านขนมบดินในชุดโต๊บ กำลังตักส่วนผสมใส่ถาดที่ทาด้วยเนยกี หรือเนยใสที่มีกลิ่นเฉพาะตัวแบบอินเดีย

“ขนมนี่สมัยก่อนจะไม่มีขายนะนอกจากช่วงเทศกาลใหญ่ แต่งงาน อะไรอย่างนี้ สมัยก่อนไม่มีขาย จะทำแค่เฉพาะเวลามีโอกาสพิเศษเท่านั้น” ยุพินเล่ายิ้มๆ ระหว่างเล่าบางช่วงก็หันไปถามลูกสาวเสียงดังว่าขนมเสร็จหรือยังจะได้ให้พวกเราลองชิม ก่อนหน้านี้ขนมบดินมีสถานะเป็นขนมกินตามบ้าน รู้จักเฉพาะกลุ่ม ไม่มีใครรู้จักขนมบดินนอกจากมุสลิม (แต่ สุพร วิทยุ ปราชญ์ชุมชนมุสลิมสวนพลูที่มานั่งฟังด้วยเสริมขึ้นว่า มุสลิมบางคนยังไม่รู้จักก็มีนะ) ใครใคร่กินก็ทำกันเองเป็นครั้งๆ แล้วแต่โอกาส พอมีงานบุญ งานแต่งงาน เทศกาลใหญ่ จึงจะมีการทำออกมามากๆ และพอมีคนเข้าถึงขนมมากขึ้นจึงมีการบอกเล่ากันปากต่อปาก

“แล้วแต่ใครอยากทาน อยากจะทำบุญ ตำบลอื่นเขาก็จะสั่งกันไปเป็นของฝาก บางทีเขาอยากทานก็จะโทร.มาให้เราส่งไปให้ ขนมบดินมีมานาน แต่เราไม่ได้ทำออกขาย ของเรามาได้ออกรายการก็มีคนรู้จัก”

ยุพินเล่าว่ามีดาราเคยมาทำข่าวร้านของเธอหลายคน เช่น รถเมล์ คะนึงนิจ “หมึกแดง” น้ำตาล พิจักขณา ซึ่งหากใครช่างสังเกตสักเล็กน้อยจะพบว่ามีภาพถ่ายของเธอร่วมกับคนดังหลายๆ คนประดับไว้หน้าร้านรวมกับประกาศนียบัตรอื่นๆ จริง หรือรายการชิม เช่น รายการ “วิถีชาวบ้าน” รายการ “ตลาดสดพระรามสี่” ที่หลังรายการออกอากาศก็ทำให้ขนมบดินยิ่งเป็นที่รู้จัก ผู้คนเดินทางมาซื้อแน่นมากจนถนนหน้าร้านไม่มีที่จอดรถ ในตอนนั้นยุพินถึงกับตกใจเพราะไม่เคยเจอสถานการณ์แบบนี้มาก่อน พอคนมากินแล้วก็รีวิวลงเว็บไซต์ สื่อออนไลน์ต่างๆ ทั้งทางไลน์ เฟซบุ๊ก พันทิป ฯลฯ ทำให้รายการอื่นๆ เกิดความสนใจและติดต่อเข้ามาอีก มากพอให้เกิดเป็นธุรกิจได้ และสำหรับยุพินแล้วนี่ถือเป็นโอกาสดีที่จะสืบทอดขนมบดินไว้ไม่ให้สูญหายไป

“คือมันเป็นขนมของตำบลเราเราก็ไม่อยากให้มันสูญหาย เราก็อยากจะเรียนเอาไว้ ทำเอาไว้ต่อ” น้ำเสียงหนักแน่นกังวานชัดเจน ริมฝีปากประดับด้วยรอยยิ้มเจือความเมตตา

“ขนมเนี่ยเราไม่อยากให้ตายไปไง ถ้าเกิดป้าเป็นอะไรไปขนมบ้านเราที่คนรู้จักก็จะไม่มีแล้วไง ก็เลย เอ้า ลูกทำหลานทำ ทุกคนทำเป็นหมด ถ้าเราไม่อยู่สักคนเขาก็ยังทำได้สืบต่อไป ไม่ให้สูญหายไปจากที่ตรงนี้ค่ะ”

บอกได้แค่ว่าลูกทั้งสี่คนของเธอทำขนมเป็นทุกคน ตอนนี้รุ่นหลาน เด็กๆ เล็กๆ ก็มาช่วยผู้ใหญ่ทำขนม ฟาดโรตีกันเป็นหมดทั้งหญิงและชาย ทุกคนได้รับการถ่ายทอดแบบเดียวกันไม่มีข้อยกเว้น หากแต่ในวันข้างหน้าจะยังทำต่อหรือไม่นั้นไม่มีการบังคับ

“เขาจะเอาไม่เอา แต่ให้เขาเป็น” ยุพินเอ่ย

ในตอนนั้นขนมอบเสร็จพอดี ขอเล่าถึงวิธีการทำให้ฟังสักเล็กน้อย ขนมบดินนี้ทุกขั้นตอนมีความยาก ต้องอาศัยความใส่ใจอย่างมาก ตั้งแต่การนวดแป้ง การอบ การผิง ซึ่งไม่สามารถตั้งเวลาแน่นอนได้เหมือนการทำเค้ก แต่ต้องอาศัยความเคยชินจากการทำบ่อยๆ ขนมที่สุกแล้วจะมีสีเหลืองนวลอมน้ำตาลส้ม แต่งหน้าด้วยมะเขือเทศใส่สีนำเข้าจากประเทศจีน ลูกเกด เม็ดมะม่วงหิมพานต์ อินทผลัม และฟักเชื่อม ในถาดสเตนเลสสีเงินใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส

ลูกสาวของยุพินยิ้มหวาน เธอยื่นถาดพร้อมกับคำเชิญให้พวกเราลองชิมดู

รสชาติที่ได้นั้นคือความหวานมันหอม เนื้อสัมผัสมีความแน่น ประกอบกับความร้อนหน่อยๆ เพราะเพิ่งออกจากเตา สำหรับคนชิมอย่างเราแล้วมันคือความอร่อยที่ชวนให้อยากกินต่อไปอีก สาวๆ หันมายิ้มให้กัน อุทานเป็นคำเดียว แต่หนุ่มๆ ดูจะเฉยๆ หน่อย ตามด้วยเสียงกระซิบทีหลัง

“หวานมากเลย หวานไปหน่อย”
“จริงเหรอ เราว่ากำลังดีแล้วนะ เพื่อนไม่ค่อยกินหวานใช่ไหม”
“อืม จริงๆ นี่เขาลดหวานแล้วนะ” อีกหนึ่งสาวพูดเสริม

เรื่องอร่อยไม่อร่อยนั้นเป็นที่รู้กันว่าเป็นเรื่องรสนิยมเฉพาะบุคคล แต่ถ้าอยากรู้เหตุผล ยุพินเล่าว่าสมัยก่อนนี้ขนมบดินจะมีความหวานมันนำจากความเข้มข้นของเนยและน้ำตาล แต่พอได้ไปออกรายการหรือเข้าร่วมการประชุมต่างๆ บ่อยเข้าก็ได้รับข้อแนะนำให้ลดความหวานลง แต่ยังคงความอร่อย ประกอบกับค่านิยมเรื่องรักสุขภาพมีมากขึ้น คนทั่วไปกินหวานน้อยลง ส่วนการใส่เนยก็มีการปรับลดลงเช่นเดียวกัน แต่ด้วยสาเหตุที่แตกต่าง ต้องอธิบายก่อนว่าเนยที่ใช้ใส่ขนมบดินนี้คือเนยกีหรือเนยใส ซึ่งทางอินเดียชอบใช้กัน เอกลักษณ์คือมีกลิ่นแรง แรงที่ว่านี้คือความหอมแรง หรืออาจกลับเป็นตรงข้ามกันเลยก็ได้แล้วแต่ความเคยชินของแต่ละคน ซึ่งตรงนี้แหละที่เป็นปัญหา

“เมื่อก่อนผู้ใหญ่บอกว่าใส่เนยมากๆ สิดีเพราะถือว่าเนยเป็นของดีหายากมาจากเมืองนอกมีราคาแพง คนทำรุ่นหลังก็ค่อยๆ ปรับมาเนยอินเดียก็ใส่ให้มันน้อยลงเพราะคนบ้านเราไม่ชอบกลิ่นแรงๆ แบบทางอินเดีย คนไม่เคยกินก็จะบอกว่าเหม็นเนย แต่จริงๆ แล้วใส่ให้หอมเนยนี่มันจะหอม ปัจจุบันพอกินแล้วจะรู้เลยว่ากลิ่นเนยจะไม่ค่อยออก อย่างวันนี้ป้าแกงก็จะใส่เนย (ใช้ใส่ได้ทั้งของคาวของหวานหลายอย่าง)” สุพรอธิบาย

“มันเป็นขนมดัง คนก็จะซื้อกลับบ้านทำบุญ ซื้อไปแจก ใครๆ ก็มานะ ไม่ใช่แค่คนในพื้นบ้าน คนที่รู้ว่าเราขายตรงนี้เขาก็มาหา โทร.สั่ง คนที่กินก็ไม่ใช่แค่อิสลามอย่างเดียว คนพุทธคนฝรั่งคนตุรกีมากันเยอะเลย”

ยุพินเอ่ยบ้าง และเมื่อนำข้อมูลมารวมกับบี ลูกสาวของเธอที่เคยเล่าให้เราฟัง ก็ทำให้รู้ว่าคนไทยพุทธเชื้อสายจีนซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ถือว่าเป็นอีกกลุ่มหลักที่มาอุดหนุน สำหรับที่มาของชาวจีนในตลาดพลูนั้น หากสืบย้อนไปจะพบว่ามีการอพยพเข้ามาในพื้นที่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้วและยังมีมาเรื่อยๆ จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ความแตกต่างทางเชื้อชาติหรือศาสนาก็ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาหรือความขัดแย้งแต่อย่างใด สุพรเคยพูดเรื่องนี้ให้เราฟังว่า

“ไม่มีความแตกแยกเพราะว่าคนเขาเข้ามาก็ปรับตัวให้เข้ากับคนพื้นที่และคนพื้นที่ก็ไม่ได้รังเกียจเขา ใครเป็นใครตายก็ไปมาหาสู่กันเยี่ยมเยียนกัน สนิทกันมากไม่มีความขัดแย้ง ต่างคนที่เข้ามาอยู่เขาก็ให้เกียรติพวกเรานะ ไปไหนก็ทักทายเรา ก็เขาให้เกียรติเราเราก็เลยดีกับเขาก็เลยกลายเป็นเหมือนสนิทไปใหญ่”

เมื่อชุมชนเข้มแข็ง ทุกอย่างในนั้นก็เข้มแข็งตามไปด้วย เหมือนชุมชนที่มีเอกลักษณ์เด่นเป็นอาหารอย่างตลาดพลู ที่บางร้านขายดีถึงขนาดแค่ทำขายในชุมชนก็ไม่พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาคนจากข้างนอกก็สามารถอยู่กันได้

มัสยิดสวนพลูในวันเทศกาลฮารีรายอช่วงสายๆ คนเริ่มทยอยกลับเพื่อมาอีกครั้งในงานฉลองช่วงเย็น เราเจอผู้หญิงใจดีวัยกลางคนคนหนึ่งชื่อน้อย เป็นหนึ่งในผู้ร่วมงานและคอยดูแลเรื่องอาหารในงานพิธี เอ่ยชวนเรากับน้องช่างภาพกินข้าวด้วยกัน และแน่นอนว่ามาขนาดนี้แล้วมันก็ต้องใช้โอกาสนี้พูดคุยไปด้วยสักหน่อย หรือหากเป็นภาษาวัยรุ่นก็คือชวนเมาท์ โดยเฉพาะเรื่องขนมบดินซึ่งเป็นเนื้อหาหลักของเรา

“พูดถึงขนมบดินนี่มันมีหลายแบบนะ บางคนไม่รู้ก็ว่าไปนั่น บางร้านกรอบ บางร้านนุ่ม แต่ก็เป็นขนมบดินเหมือนกัน แล้วแต่สูตรเขา เขาก็จะไม่บอกกัน แล้วแต่คนชอบ แถวนี้ขายดีหมดทุกร้าน จะกินขนมบดินน่ะรู้จักขนมบดินดีแค่ไหน”

เป็นการเปิดเรื่องที่ชวนอึ้ง เพราะมันส่งผลกระทบอย่างหนึ่งโดยตรง

ก่อนหน้าเราเคยได้ข้อมูลมาว่ามันสามารถแยกลักษณะขนมแท้หรือไม่แท้ได้ ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลเดิมที่มี แต่เรื่องพัฒนาการของขนมก็มีเพียงการบอกเล่าแบบปากต่อปากเท่านั้น ไม่ได้มีบันทึกชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร แล้วเราจะรู้ความจริงในข้อนี้ได้อย่างไร เราค้นและค้น จนมาพบกับความจริงข้อหนึ่งว่า

บางทีความไม่ชัดเจน ก็คือความชัดเจนนั่นแหละ


นันทิศา แดงนรรักษ์รัศมี
ชอบความสงบ คนน้อยๆยิ่งดี เวลาไม่กดดันหรือเครียด สมองจะแล่นปรู๊ดๆ การได้รู้เรื่องเชิงลึกหรืออะไรใหม่ๆ มักจะจุดประกายความอยากแบ่งปัน คิดแค่ว่าอยากให้ทุกคนได้เห็นมุมใหม่ๆ แต่เราก็ไม่กล้าจะไปตัดสินอะไรหรอกนะ

……..

แพรว ศิริอุดมเศรษฐ
มนุษย์ก้ำกึ่ง / ก้ำกึ่งมนุษย์

นักศึกษาด้านการออกแบบที่กำลังตามหาวิธีการเล่าเรื่องและสื่อสารกับมนุษย์